สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จัดระเบียบ สะพานเหล็ก หลุดกรอบหรือชอบธรรม? ชะตากรรม คนจนเมือง จริงหรือ?

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย เชตวัน เตือประโคน และ

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร


คลองโอ่งอ่าง โบราณสถานสำคัญของชาติ ขุดสมัยรัชกาลที่ 1 ในภาพมองเห็นสะพานดำรงสถิต (ภาพจาก ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ และไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์. สมุดภาพรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์, 2535)


"....กรุงเทพมหานครจึงขอความร่วมมือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกจากบริเวณคลองและที่ดินริมคลองโอ่งอ่าง หากไม่มีการดำเนินการใดๆ กรุงเทพมหานครจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ 44 เข้าดำเนินการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกจากที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป..."

เป็นบางส่วนของประกาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ขึ้นป้ายผ้าสีเขียว เขียนด้วยตัวอักษรสีขาว ตั้งตระหง่านอยู่บน "สะพานเหล็ก" ริมคลองโอ่งอ่าง ขณะเดียวกันก็ยังมีประกาศแบบเดียวกันนี้ ติดอยู่ตามร้านต่างๆ ของของผู้ค้ากว่า 500 ราย ของผู้ค้าในตลาดขายของมือสองเลื่องชื่อแห่งนี้ ต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน คือต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งหากครบกำหนดแล้วยังไม่ทำการด้วยตนเอง กทม.จะเป็นผู้เข้ามาจัดการให้เสร็จสิ้น โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรื้อถอนนั้น ผู้ค้าจะต้องเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะประธานการประชุมแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกคลองโอ่งอ่าง, พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, จักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัด กทม., โสภณ โพธิสป ผอ.สำนักเทศกิจ พร้อมตัวแทนเจ้าหน้าที่ทหาร ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง และนโยบายอันมาแต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัฒน์ ผู้ว่าฯกทม. ที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์และพื้นที่ริมคลองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสัญจรทางเรือด้วย 

น้ำตา, เสียงร้องไห้ ดังเล็ดลอดมาจากผู้ค้าบางรายที่ได้ทราบข่าว เสียงครวญตรงกันที่สะท้อนกลับมาคือว่า ไม่เคยทราบข่าวจาก กทม.มาก่อนหน้านี้ว่าจะมีการรื้อถอนและขอคืนพื้นที่ บางคนก็บอกว่าไม่พร้อมจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ที่จัดให้ขายของ เพราะไกลจากที่พัก และไม่รู้ว่าจะขายได้เหมือนกับในบริเวณนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักมานานหรือเปล่า แน่นอน ทุกคนเข้าใจดีถึงข้อกฎหมาย แต่ทางออกสำหรับปัญหาการบุกรุก รุกล้ำ กระทั่งมาสู่การขอคืนพื้นที่แบบปุ๊บปั๊บฉับพลัน 

นำมาสู่คำถามว่า นี่คือทางออกที่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้วหรือ ? 

ทว่า อีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้มองว่าที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าวซึ่งอยู่ในเขตโบราณสถาน คือคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นคลองขุดสมัยรัชกาลที่ 1 ถูกจับจองมานานเกินควรแล้ว จึงถึงเวลาที่ควรดำเนินการขอคืนพื้นที่อย่างจริงจังเสียที 

นอกจากนี้ ที่ห่วงกันว่าชาวบ้านจะไร้ที่ทำกินนั้น ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่าผู้ประกอบการในย่านที่ว่านี้ จะมี "คนจน" (ตัวจริง) สักกี่ราย ? และเป็นไปได้หรือไม่ว่าธุรกิจการค้าบริเวณสะพานเหล็ก แท้จริงนั้น เกิดจากการขยายตัวของกลุ่มผู้ค้าที่ "มีอันจะกิน" เสียมากกว่า

ความเห็น 2 ด้านที่แตกต่างกันนี้ ชวนให้น่าขบคิดว่าปัญหาดังกล่าว ควรมี "ทางออก" อย่างไรกันแน่ ?


http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14442761241444276331l.jpg
สะพานดำรงสถิตในปัจจุบัน ถูกหลงลืมความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ และผ่านการดัดแปลงรูปแบบไปบ้างแล้วบางส่วน (ภาพจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์www.thapra.lib.su.ac.th/ratanagosin)


รุกล้ำนับสิบปี
ถึงนาทีคืนสมบัติชาติ ?


ก่อนอื่น มาทราบเรื่องราวของคลองโอ่งอ่าง ซึ่งมีความสำคัญโดยเป็นคูเมืองในอดีต ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างราว 20 เมตร เชื่อมต่อจากคลองบางลำพู บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สิ้นสุดที่เชิงสะพานพระปกเกล้า แล้วไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2519 

อย่างไรก็ตาม แม้คลองและสะพานดังกล่าวจะเป็นโบราณสถาน แต่กรมศิลปากรมอบให้กรุงเทพมหานครดูแล โดยอยู่หว่างระหว่างการถ่ายโอนภารกิจ เช่น การซ่อม กทม. ดำเนินการ โดยต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลป์ โดยเฉพาะการซ่อมที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสภาพ 

หลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดกรมศิลป์จึงปล่อยให้ผู้ค้ารุกล้ำอยู่นานถึงนับสิบปี โดยไม่มีการปราบปรามจริงจัง

แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าว่า ติดที่ปัญหา "มวลชน" ที่สำคัญคือ กรมศิลป์ไม่มีหน้าที่ในการขับไล่ ทำได้เพียงดูแลโบราณสถาน หากพบว่ามีการรุกล้ำ ก็ประสานงานกับทางเทศกิจ หรือแจ้งความกับตำรวจเพื่อฟ้องร้อง หากติดขัดที่ขั้นตอนใด ก็เป็นอันจบ 

"เป็นปัญหามวลชนที่เคลียร์ไม่ออก เข้าไปก็โดนแม่ค้าด่ายับทุกครั้งไป ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของการทำงานในลักษณะนี้ ลุยมากไม่ได้ กรมศิลป์ไม่มีภารกิจเรื่องการไล่ ได้แค่ประสานงานกับเทศกิจว่าบริเวณนี้เป็นโบราณสถาน ไม่ควรมีแผงค้า แต่ถ้าไม่มีใครดำเนินการต่อ ก็ทำอะไรไม่ได้"

http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14442761241444276327l.jpg
"สะพานดำรงสถิต" ข้ามคลองโอ่งอ่าง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมเรียกว่า "สะพานเหล็กบน" คู่กับสะพานอีกแหง่ ที่ใช้ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ถือเป็นโบราณสถานที่แสดงถึงพัฒนาการการก่อสร้างสะพานที่แปลกใหม่สำหรับชาวสยามในอดีต เพราะสร้างจากเหล็กด้วยโครงสร้างแปลกตา จนเป็นที่โจษขานทั่วพระนคร (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5จาก www.wikiwand.com/th)



โบราณสถานแล้วไง ? 
ที่ต้องใส่ใจคือ′ปากท้อง′


"คลองขุดโบราณ แล้ว So What ?" 

ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ตั้งคำถามต่อการไล่รื้อแผงค้าย่านสะพานเหล็ก ที่มีประเด็นเรื่องการผิด พ.ร.บ.โบราณสถาน

"กฎหมายที่ผิดศีลธรรมก็มีเยอะแยะ การดูแลคนที่ต้องอยู่ต้องกินสำคัญกว่าไหม คลองที่พระเจ้าขุดให้ มีมาก่อนสมัยอัลไตอีก ก็ไม่เห็นเป็นไร (หัวเราะ)" 

นอกจากนี้ ยังมองว่า การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็น "การปัดกวาดทางสังคม" คือ คือไล่คนที่ต่ำต้อยทางเศรษฐกิจและสังคมออกไปอยู่ไกลๆ พร้อมแสดงความเห็นว่า ประเทศไทยควรดูแลปัจจัยพื้นฐาน 4 อย่างของคนในสังคม ซึ่งก็ทำกันอยู่บ้าง เช่น เรื่องยารักษาโรค และการศึกษา แต่พอเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน กลับไม่ค่อยสนใจ

"เมื่อก่อนมีการปัดกวาดทางชาติพันธุ์ ตอนนี้สิ่งที่ทำอยู่เป็นการปัดกวาดทางสังคม ซึ่งทำหลายวิธีแล้วแต่จะอ้าง เช่น การปักเสาตอม่อทางด่วน ทำไมไปลงพื้นที่คนจนอยู่ กรณีชุมชนบ้านครัวก็เหมือนกัน แต่คนบ้านครัวสู้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ จุฬาฯ ไล่ที่ไปจนถึงถนนบรรทัดทอง ไหนว่าจะเอาพื้นที่ไปใช้เพื่อการศึกษา แล้วคอนโดมิเนียม ที่จะขึ้นเยอะแยะย่านปทุมวัน คือพื้นที่เพื่อการศึกษาหรือเปล่า มันเป็นเหตุผลที่อ้างไปได้เรื่อยๆ เลยอยากถามว่า ตกลงแล้ว ใครมีสิทธิอยู่ในกรุงเทพฯบ้าง"


http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14442761241444276320l.jpg
ร้านค้าย่านสะพานเหล็ก วอน กทม.ยกเลิกคำสั่งรื้อแผงค้า เพราะอยู่มานานกว่า 20 ปี ห่วงกระทบครอบครัว ในขณะที่มีเสียงค้านในด้านว่าร้านค้าเหล่านี้ เป็นของเจ้าของกิจการที่มีฐานะร่ำรวย ไม่น่าส่งผลกระทบตามที่กล่าวอ้าง



กฎหมาย คือกฎหมาย 
อ้างไม่ได้ว่า′อยู่มานาน′


ด้าน จุฑามาศ ประมูลมาก อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองต่างมุมว่า ด้วยความเป็นพื้นที่โบราณสถานซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองอย่างชัดเจน นับเป็นข้อตกลงร่วมกัน ไม่สามารถอ้างได้ว่าต้องการพื้นที่ค้าขายหรืออยู่มานานแล้ว มิฉะนั้น ต้องมีข้อตกลงที่ 2 เพื่อประนีประนอม 

"เมื่อมีกฎหมาย ก็ต้องทำตามกฎหมาย โบราณสถานมีกฎอยู่แล้วว่าห้ามบุกรุก เราเถียงไม่ได้ ไม่อาจพูดได้ว่าเราอยู่มานานแล้วนะ ต้องการพื้นที่ค้าขาย คุณรู้อยู่แล้วว่านี่คือโบราณสถานตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าขอเหอะ เราอยู่มานานแล้ว ก็ต้องมาสร้างข้อตกลงที่ 2 เช่น ถ้ามองว่าก่อนจะได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ที่นี่เคยเป็นที่อยู่ของคนมาก่อน คงต้องมาดูว่าควรมีพื้นที่อะไรแค่ไหน ปกติ ณ ปัจจุบัน การดำเนินการ คือ เคลียร์คัตออกไปให้หมด แต่ส่วนใหญ่พื้นที่ซึ่งถูกไล่รื้อ สัก 2 เดือนผู้ค้าก็กลับมาใหม่ สิ่งที่อยากเห็นคือ ทำอย่างไรให้การเคลียร์ตรงนี้ มีการตกลงร่วมกัน มีความลงตัวระหว่างความเป็นระเบียบกับวิถีชีวิต อาจอนุญาตเฉพาะผู้ค้าดั้งเดิม ไม่ให้คนนอกมาหาผลประโยชน์ หรือเช่าพื้นที่ต่อ" 


อย่าใช้แค่มุมมองรัฐ

แม้จุฑามาศยืนกรานเรื่องการยึดหลักกฎหมาย แต่ประเด็นทิ้งท้ายเรื่องการตกลงร่วมกัน สอดคล้องกับความเห็นของ อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมด้านสังคมซึ่งเคลื่อนไหวในกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตโบราณสถาน ให้ความเห็นว่า โบราณสถานจะมีหน้าที่ใช้สอยหากถูกบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม และการไล่รื้อแผงค้าเป็นเพียงปลายทาง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง 

"การจัดการอย่างมีผู้คน มีชีวิต จำเป็นต้องถูกออกแบบโดยเจ้าของพื้นที่ด้วย ไม่ใช่ว่าอยากให้อยู่โดยไม่มีเหตุและผล แต่แค่อยากได้วิธีการที่นำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่การแก้ปัญหาจากมุมมองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่นเดียวกับวิธีของสะพานเหล็กหรือคลองโอ่งอ่าง ซึ่งถ้าผลของมันจะทำให้คนต้องออกนอกพื้นที่ อาจไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ควรเกิดจากกระบวนการของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยและหาทางออกร่วมกัน" 

http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14442761241444276323l.jpg
ป้ายประกาศของกรุงเทพมหานคร แจ้งให้ผู้ค้ารื้อสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่าง มิฉะนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย


ความจน คือมายา
เศรษฐี′เงินหนา′คือของจริง ?


จากความเห็นเทียบเคียงของนักกิจกรรมป้อมมหากาฬ ก็ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า กรณีสะพานเหล็กไม่อาจเปรียบเทียบได้กับกรณีของชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ เพราะแม้บริเวณรอบคลองโอ่งอ่างเป็นย่านเก่าก็จริง แต่จุดที่ถูกรุกล้ำโดยแผงค้า ไม่เคยมีคนอยู่อาศัยหรือค้าขายมาก่อน เนื่องจากเดิมไม่ใช่ตลาดเก่าหรือชุมชน เพราะเป็นพื้นที่รกร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากมีการทุบวังเก่าเพื่อขยายถนน ต่อมา มีการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดลานกว้าง จึงมีผู้ค้ามาจับจองพื้นที่ขายของอย่างผิดกฎหมายสืบเนื่องมานาน จนเข้าใจผิดกันว่าเป็นตลาดเก่าหรือชุมชนดั้งเดิม 

ไม่เพียงเท่านั้น วัฒนธรรม "แผงลอย" ยังเป็นสิ่งเกิดขึ้นใหม่ ไม่ปรากฏบนท้องถนนในภาพถ่ายใดๆ สมัยรัชกาลที่ 5 

ผศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัณชลี อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ให้ข้อมูลว่า หาบเร่แผงลอยเป็นวัฒนธรรมไทยที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ จากภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ตามถนนไม่ อาจมีในพื้นที่ตลาด ไม่ใช่บนถนน การยึดทางเท้าเป็นการเห็นแก่ตัว และโหนวัฒนธรรมไทย ว่า มีการค้าขายริมทางแต่อย่างใด 

"กรณีสะพานเหล็ก เป็นการหาพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย แล้วสร้างให้เป็นย่านขึ้นมา คนไทยเลยรู้สึกว่าเป็นชุมชน เป็นวิถีชีวิต เป็นตำนาน พอมีกระแสการอนุรักษ์ชุมชนเก่าเลยมีการโหนกระแส เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน"

ส่วนประเด็นที่น่าเห็นใจ อย่างคนค้าขายรายย่อย ซึ่งถูกมองว่าเป็น "คนจน" นั้น แหล่งข่าวอีกรายให้ข้อมูลว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะแผงค้าบริเวณนี้เกิดจากการขยายตัวของผู้ค้าชาวไทยเชื้อสายจีน โดยเฉพาะจากย่านสำเพ็ง ซึ่งมีร้านถาวรอยู่แล้ว แต่มาเปิดแผงเพิ่มให้ลูกจ้างขายแทน 

"ใครๆ ก็รู้กัน ว่าเป็นการขยายตัวของคนจีนสำเพ็งที่ขยายแผงค้าเพิ่มให้ขายได้เยอะที่สุด เหมือนกับกรณีโบ๊เบ๊ เวลาโดนไล่ ก็อ้างว่าเพื่อคนจน แต่ความจริงเจ้าของแผงเป็นเศรษฐี คนจนจะมีเงินที่ไหนกักตุนสินค้าในมือหลายๆ หมื่น ต้องคนมีตังค์" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งหมดนี้ คือมุมมองหลากหลาย ที่ต่างฝ่ายก็มีข้อมูลและเหตุผลของตนเอง ท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์นี้จะลงเอยอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไปด้วยใจระทึกพลัน


นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 ต.ค.2558


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จัดระเบียบ สะพานเหล็ก หลุดกรอบ ชอบธรรม ชะตากรรม คนจนเมือง จริงหรือ?

view