สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิสาหกิจชุมชน ศก.ฐานราก ระวัง...กับดักภาษี

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย รัตนา จีนกลาง

ใครรู้จัก "วิสาหกิจชุมชน" บ้าง...?

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักวิสาหกิจชุมชนว่าเป็นองค์กรธุรกิจแบบไหน แม้ว่าวิสาหกิจชุมชนจะมีกฎหมายรองรับสถานะ และได้ก่อร่างสร้างตัวมานานครบ 10 ปีแล้วนับตั้งแต่พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 บังคับใช้ตั้งแตวันที่ 19 มกราคม 2548 โดยมีจุดประสงค์ให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจ สร้างรายได้ การพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และการสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน

ที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่จะรับรู้เพียงว่าเป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าในหมู่บ้านหรือไม่ก็เป็นผู้ผลิตสินค้าโอท็อปหากเป็นโอท็อป 5 ดาว ก็ถือเป็นวิสาหกิจชุมชนแถวหน้า

จะว่าไปแล้วกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ กำเนิดจากฐานรากจริง ๆ โดยยกระดับมาจากกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มงานฝีมือในหมู่บ้านนั่นเอง ก็ประมาณว่า "ฉายเดี่ยวตาย รวมกัน (อาจ) รอด" เพราะเป็นกิจการขนาดเล็ก ทุนน้อยทั้งทุนที่เป็นตัวเงิน ทุนเทคโนโลยี และทุนความรู้ในการบริหารจัดการยุคใหม่

แต่ที่แน่ ๆ เป็นการเข้าสู่ระบบ ทางการสามารถให้การสนับสนุนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเข้าสู่ระบบ "ภาษี" อีกด้วย

คำว่า "วิสาหกิจชุมชน" (Small and Micro Community Enterprise : SMCE) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 นั้น หมายความว่า "กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้าการให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการ ไม่ว่าจะเป็นรูปนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน"

สำทับด้วย 7 ลักษณะสำคัญ คือ 1.ชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ 2.ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบ ทรัพยากร ทุน แรงงานในชุมชนเป็นหลัก 3.ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมของชุมชน 4.มีฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานภูมิปัญญาสากล 5.บูรณาการ เชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ 6.มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจ และ 7.มีการพึ่งพาตนเองของครอบครัวและชุมชน

รูปแบบของวิสาหกิจชุมชนมี 2 แบบ คือ 1.บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งจะต้องขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับหน่วยงานแม่ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาทต่อปี จะต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2.นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ขอย้ำว่า...เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ เพราะวิสาหกิจชุมชน ยังมี "หน้าที่ทางภาษี" จะต้องเข้าสู่ระบบภาษีของกรมสรรพากรอย่างน้อย 2 ตัว คือ 1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) และ 2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต (VAT)

นั่นคือ...หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

และเมื่อขายสินค้าหรือให้บริการ ต้องออกใบกำกับภาษี เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการ รวมถึงต้องจัดทำรายงานต่าง ๆ และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกเดือน ไม่ว่าจะมีรายรับหรือไม่ ทั้งนี้การคำนวณภาษีที่ต้องเสียคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในเดือนภาษีนั้น ๆ

นี่แหล่ะ...คือโจทย์ที่ยากขึ้นสำหรับกิจการขนาดเล็ก ที่จำเป็นต้องมีผู้รู้ทำบัญชี-ทำภาษีเป็นแบบเป๊ะ ๆ ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินกำลังสำหรับผู้ประกอบการฐานรากในต่างจังหวัดที่ขาดแคลนนักบัญชีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ฉะนั้น...หากไม่ตั้งหลักให้ดี อาจถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียในอัตราร้อยละ 7

ที่สำคัญยังต้องจ่าย "เบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม" เช่น หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีต้องชำระ, ยื่นแบบแสดงรายการภาษีแต่ชำระภาษีขาดไป เสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีที่ชำระขาดไป

สำหรับ "เงินเพิ่ม" กฎหมายกำหนดไว้ว่า ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีต้องชำระ นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบ จนถึงวันที่ชำระภาษี, ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลา แต่ชำระภาษีขาดไป เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ชำระขาดไป จนถึงวันที่ชำระภาษี

ดังนั้น...ผู้นำวิสาหกิจชุมชนจะต้องทำความเข้าใจข้อกฎหมายให้ถ่องแท้ เพราะค่าภาษีแวต บวกกับเบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม หากถูกคิดย้อนหลังไปหลายปีจะกลายเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ส่งผลกระทบหนักวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งสะดุด ซวดเซ เป็นหนี้เดินหน้าต่อไปไม่ได้

เช่นเดียวกัน หน่วยงานพี่เลี้ยงก็ต้องลงมาติวเข้ม เพิ่มองค์ความรู้ด้านการทำบัญชี และภาษีอย่างเร่งด่วน หลังจากที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาคุณภาพการผลิต มาตรฐาน การทำแพ็กเกจจิ้ง-ดีไซน์ที่สวยงาม หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่เช่นนั้นก็จะเจอกับดักบัญชีและภาษี

ที่สุดแล้วนโยบายพัฒนา "เศรษฐกิจฐานราก" จะเป็นจริงได้ จึงไม่อาจละเลย "วิสาหกิจชุมชน" ที่มีอยู่นับแสนกลุ่มทั่วประเทศคู่ขนานไปกับกลุ่มเอสเอ็มอี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิสาหกิจชุมชน ศก.ฐานราก ระวัง กับดักภาษี

view