สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้เป็น สตาร์ตอัพ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย เชอรี่ประชาชาติ cheryd@gmail.com

ความสำเร็จของ "มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก" เจ้าพ่อ Facebook, Twitter ของ "แจ็ก ดอร์ซี" และผองเพื่อน หรือ "อีลอน มัสก์" ผู้ก่อตั้ง PayPal และอีกมากมายในยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้ใคร ๆ ก็อยากเป็น "สตาร์ตอัพ" แม้ในนับหมื่นนับแสน มีคนที่ประสบความสำเร็จน้อยยิ่งกว่าน้อย ไม่ต่างจากงมเข็มในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล

การพัฒนา "แอปพลิเคชั่น" หรือ "เกม" ขึ้นมาสักอย่างแล้วโด่งดังเป็นพลุแตก ทำเงินมหาศาลในเวลาไม่นานนั้นเป็นเรื่องยากพอ ๆ กับการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง

ถึงอย่างนั้นก็ยังคุ้มที่จะลองดูสักตั้ง

"สตาร์ตอัพ" ต่างจากเอสเอ็มอีทั่วไปอย่างไร

"ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์" ซีอีโอ "อุ๊คบี" เจ้าของแพลตฟอร์ม "อีบุ๊ก" ชื่อดังเพิ่งไปขึ้นเวที TEDxBangkok พูดถึงการเปลี่ยน SMEs ไทยให้เป็น "สตาร์ตอัพ"

"ณัฐวุฒิ" เล่าว่า เขาก็เป็นเหมือนกับคนอื่น ๆ ที่เริ่มต้นธุรกิจจากความรัก จนเมื่อ 4 ปีที่แล้วมีโอกาสเปิดธุรกิจที่คนทั่วไปเรียกกันว่า บริษัทเทคสตาร์ตอัพ

"ผมเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดา ๆ ในกรุงเทพฯ คุณแม่เป็นแม่บ้าน คุณพ่อเป็นนักบัญชี ตอนเด็ก ๆ คุณแม่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ผมใช้ชีวิตอยู่กับคุณพ่อสองคน จริง ๆ ครอบครัวที่มีแต่คุณพ่อสองคนก็มีความอบอุ่นดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร ปิดเทอมหรือเวลาคุณพ่อไปทำงาน ผมก็ใช้เวลาอยู่กับเพื่อน อยู่กับคอมพิวเตอร์กับเกม เริ่มใช้คอมฯตอนอายุ 12 รู้สึกว่าชอบเลยออกไปเรียนเขียนโปรแกรม เสาร์-อาทิตย์ก็ไปใช้ชีวิตอยู่ที่พันธุ์ทิพย์ฯ ไปเป็นเด็กหลังร้านช่วยประกอบคอมพิวเตอร์ ได้เงินเครื่องละ 70 บาท"

นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นเจ้าของกิจการ

"ณัฐวุฒิ" เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 3 เริ่มจากการเขียนให้บริษัทญาติก่อนที่จะมีการแนะนำต่อกันไปจนมีลูกค้าหลายสิบบริษัท ซึ่งจุดประกายให้เขารู้สึกว่า ถ้าสามารถสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างแล้วมีคนใช้เยอะ ๆ คงเป็นความรู้สึกที่สุดยอดมาก

"เมื่อเรียนจบผมได้ทุนไปเรียนต่อ แต่ไปบอกคุณพ่อว่าจะไม่เอาทุนเพราะอยากเปิดบริษัทเอง ปีแรกทำคนเดียวก็โอเค ปีที่ 2-3 เมื่อมีพนักงานสิบกว่าคนก็เริ่มรู้ว่าตนเองไม่มีประสบการณ์ในการบริหาร คนที่จ้างมาก็เป็นเพื่อน ๆ น้อง ๆไม่มีประสบการณ์ พอทำงานไม่เสร็จ เก็บเงินไม่ได้ สิ้นเดือนหลายครั้งไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนบางวันตื่นขึ้นมารู้สึกว่าวันนี้ ต้องออกไปขายอะไรให้ได้สักอย่างเพื่อเก็บเงินมาจ่ายเงินเดือน"

และหลายครั้งทำไม่ได้ต้องกลับไปขอยืมเงินคุณพ่อไปจ่ายเงินเดือน

จากเด็กเรียนดีได้เกรด4.0 มาตลอด จากที่เคยคิดว่าเราจะทำอะไรก็ได้ก็เริ่มคิดหนัก บางครั้งเห็นเพื่อนไปเรียนต่อต่างประเทศแล้วกลับมาได้งานดี ๆ ก็เกิดคำถามในใจว่า เรากำลังทำอะไรอยู่

เมื่อกลับมาคิดใคร่ครวญครั้งแล้วครั้งเล่า เขายังพบคำตอบว่า ต่อให้ไปเรียน ต่อให้ไปทำอะไร การทำบริษัทของตนเองยังเป็นสิ่งที่อยากทำอยู่ดี

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือต้องเรียนรู้และปรับตัว ปรับปรุงพัฒนาขึ้นมา

"10 ปีกับการเป็นเอสเอ็มอี บริษัทพัฒนาขึ้นมาทีละนิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเป็นเอสเอ็มอี ไม่เคยขยายไปมากกว่านั้น มีทีมงานอยู่ 30 กว่าคน ไม่เคยมากกว่านั้น ดังนั้น สิ่งที่คิดว่าต้องทำคือพยายามมองหาโอกาส จะทำอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจขยายไปมากกว่านี้"

ช่วงปี 2010 ตอน "แอปเปิล" เปิดตัว "ไอโฟน" ใหม่ ๆ "ณัฐวุฒิ" มองเห็นโอกาสจึงพยายามพัฒนาแอปพลิเคชั่นออกมาขายในแอปสโตร์ หนึ่งในนั้นชื่อ "ไทยบิวตี้คล็อก"

"ถ้าไปเสิร์ชในแอปสโตร์ก็ยังมีอยู่ ผมเอาน้อง ๆ ที่ออฟฟิศไปถ่ายรูปสาว ๆ ที่สยามสแควร์หลายร้อยคน ถ่ายเสร็จก็บอกว่า ถ้าเราเขียนแอปเสร็จจะส่งไปให้ แอปจะคล้ายนาฬิกา คือในหนึ่งนาทีจะเปลี่ยนรูปสาว ๆ หนึ่งคน มือถือตอนนั้นยังทำอะไรไม่ได้มาก เราขายแอป 1 เหรียญ วันแรกที่ขึ้นไปในแอปสโตร์ได้เงินกลับมา 500 เหรียญก็รู้สึกว่าสุดยอด ตั้งแต่นั้นก็พยายามหาบิสซิเนสโมเดลที่ทำซ้ำได้"

มีไอเดียอยู่อันหนึ่งที่กลับมาในหัวครั้งแล้วครั้งเล่า คือการนำ "นิตยสารภาษาไทย" ขึ้นมาให้คนอ่านได้บนโทรศัพท์มือถือและแท็บเลต

ณัฐวุฒิเล่าว่า วันที่คิดได้ตื่นขึ้นมาเรียกเพื่อนเข้ามาในห้อง และบอกว่าจะทำอันนี้กัน คิดชื่อไว้แล้วด้วย "อุ๊คบี" ผวนมจากคำว่า "อีบุ๊ก" "อุ๊คบี" เริ่มต้นจากทีมงาน 5 คน ใช้เวลา 9 เดือน และวันแรกที่อัพไปบนแอปสโตร์มีนิตยสาร 40 ฉบับ ผ่านไป 1 ปี ทีมงานเพิ่มเป็น 30 กว่าคน มีคนใช้งานอยู่ประมาณล้านคน ผ่านไปอีกปี ทีมงานจาก 35 เป็น 85 คน และมีคนใช้ 2 ล้านคน

จนถึงปัจจุบัน "อุ๊คบี" มีสมาชิกเกือบ 7 ล้าน มีทีม 200 กว่า มีออฟฟิศที่กรุงเทพฯ เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กลายเป็นร้านหนังสืออีบุ๊กที่ใหญ่ที่สุดในเซาท์อีสต์เอเชีย

"4 ปีผ่านไปมีหนังสือ 20 ล้านเล่ม ลองคิดง่าย ๆ ถ้าหนังสือเล่มหนึ่งสูง 3 ซม. กองหนังสือกองนี้จะสูง 600 กม. เท่ากับความสูงของตึกเอ็มไพร์สเตต 1,500 ตึกซ้อนกัน ลองนึกถึงสาระความรู้ที่คนได้นึกถึงกระดาษที่เราประหยัดไปได้จากหนังสือกองนี้"

"เอสเอ็มอี" เปลี่ยนเป็น "สตาร์ตอัพ" ได้อย่างไร ? และต่างจาก "สตาร์ตอัพ" อย่างไร ?? ในเมื่อทุกสตาร์ตอัพเป็นเอสเอ็มอี แต่ทำไมทุกเอสเอ็มอีไม่ได้เป็น "สตาร์ตอัพ"

"หลายคนอาจนึกว่าคำว่า สตาร์ตอัพเป็นคำพูดเท่ ๆ ที่ใช้เรียกเอสเอ็มอีเปิดใหม่ แต่จริง ๆ แล้วสตาร์ตอัพเป็นเอสเอ็มอีที่พยายามมองธุรกิจที่ทำซ้ำได้ และเติบโตแบบก้าวกระโดดได้"

หัวใจของมันคือทำซ้ำได้ และเติบโตแบบก้าวกระโดด ถ้าคิดอย่างนี้ธุรกิจอะไรก็เป็นสตาร์ตอัพได้ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์บัคสหรือร้านก๋วยเตี๋ยวในบ้าน ถ้าเปลี่ยนเป็น "ชายสี่ บะหมี่ เกี๊ยว" ก็จะโตก้าวกระโดด ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจด้านไอที แต่ทุกธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักนำเทคโนโลยีไอทีมาใช้เป็นหัวใจสำคัญ

"หลายคนอาจนึกถึงเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซใหญ่ ๆ นึกถึงเว็บจองโรงแรมใหญ่ ๆ หรือการซื้อขายหุ้นออนไลน์ จริง ๆ แล้วดิจิทัลอีโคโนมีเกิดจากคนตัวเล็ก ๆ ใครก็ได้เปิดร้านบนเฟซบุ๊ก พ่อค้าแม่ค้าฝากร้านบนไอจี มีลูกค้าอย่างพวกเราที่แชตไลน์คุยกันกับพ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้น มีการสั่งของโอนเงิน"

ปัจจุบันเราเห็นแต่ความสำเร็จของสตาร์ตอัพระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล อเมซอน กูเกิล เฟซบุ๊ก หรืออาลีบาบา แต่อย่าลืมว่าทุกบริษัทกว่าจะใหญ่มาได้ ย้อนไปที่จุดเริ่มต้นล้วนเกิดจากคนแค่ 1-2 คนที่มีความฝัน

"ณัฐวุฒิ" บอกว่า ทุกสตาร์ตอัพเริ่มจากไอเดียที่ต้องการแก้ปัญหาบางอย่างในสเกลที่ใหญ่ เช่น ปัญหาเรียกแท็กซี่ไม่ไป ถ้ามีบริษัทสักแห่งแก้ปัญหาได้ บริษัทนั้นคงประสบความสำเร็จแน่นอน และนั่นคือที่มาของ "แอปพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่" ทั้งหลาย

หรือปัญหาระดับชาติของคนส่วนใหญ่ที่มักไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี เวลาไปที่ใหม่ ๆ ไม่รู้ว่ามีร้านอะไรแนะนำก็เกิดมาเป็นสตาร์ตอัพชื่อ "วงใน" แนะนำร้านอาหารที่วันนี้มีสมาชิกมากกว่า 1.8 ล้านคน มีข้อมูลร้านอาหารมากกว่า 1.5 แสนร้าน และมีคนใช้งานกว่า 2.5 แสนคนต่อวัน

เท่ากับมีสนามศุภฯ 6 สนามที่บรรจุคนหิวที่พร้อมจะออกไปกินอะไรก็ที่ "วงใน" แนะนำ

"ถ้าคุณเป็นเจ้าของเอสเอ็มอี คุณเปลี่ยนไอเดียไปคิดแบบสตาร์ตอัพได้ เราเห็นสตาร์ตอัพระดับโลกจากอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีมาเยอะแล้ว ความฝันของผมที่คิดว่าเป็นความฝันของหลายคนด้วย คืออยากเห็นสตาร์ตอัพไทยเติบโตในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้"

ถ้าเราเปลี่ยนเอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่หลายแสนหรือหลักล้านรายวันนี้เป็นสตาร์ตอัพได้สักครึ่งเศรษฐกิจไทยคงไปได้ไกลกว่านี้มาก

อย่าลืมว่าหัวใจของ "สตาร์ตอัพ" คือ "เอสเอ็มอี" ที่พยายามมองหาธุรกิจที่ทำซ้ำได้ และเติบโตแบบก้าวกระโดดได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้เป็น สตาร์ตอัพ

view