สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นวัตกรรม อนาคตใหม่เศรษฐกิจไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ช่วยกันคิด โดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ประเทศไทยมีความสามารถพอสมควรในด้านนวัตกรรมต่าง ๆ หลายนวัตกรรมสามารถไปสู่ระดับโลกแล้ว เช่น นาฬิกาตรวจสุขภาพ หุ่นยนต์ดินสอ แต่เรื่องของ การพัฒนานวัตกรรม ยังเป็นเพียงข่าวเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ถูกสร้างเป็นวาระแห่งชาติ

หากย้อนไปสิบกว่าปีที่แล้ว คำว่า "นวัตกรรม" ยังไม่เป็นที่รู้จัก เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมมาก จากการได้ไปศึกษาในต่างประเทศ และได้ทำงานเกี่ยวข้องกับนวัตกรรม คำว่า "นวัตกรรม" นั้นมีความหมายมากมาย แต่โดยสรุปคือ Thing that perceive as new หรือสิ่งที่คนมอง/รับรู้ว่าเป็นสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความคิดใหม่ ๆ สิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ กระบวนการใหม่ ๆ รวมทั้งของเก่าที่นำมาบริหารจัดการด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ล้วนเป็นนวัตกรรมทั้งสิ้น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสิ่งใหม่เสมอไป

ในหนังสือ Innovation and Entrepreneurship ซึ่งเป็นหนังสือคลาสสิกของวิชาเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดนวัตกรรมต้องมี 3 ตัวละครหลัก คือ 1.นวัตกรรม (Innovation) 2.ผู้ประกอบการ(Entrepreneur) 3.สิ่งสร้างสรรค์เชิงทำลาย(Destructive) แนวคิดนี้คือประเทศจะพัฒนาได้ต้องได้รับการพัฒนา "นวัตกรรม" จากแนวคิด การค้นคว้าใหม่ และเกิดการสร้าง คือ ผู้ประกอบการที่เห็นโอกาส เห็นคุณค่าของนวัตกรรมนั้นแล้วนำไปสู่เชิงพาณิชย์ และเมื่อเกิดสิ่งใหม่มีความก้าวหน้าก็จะเกิดการทำลายสิ่งเดิม ดังที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวันนี้ เช่น การเกิดขึ้นของแอปเปิล (สมาร์ทโฟน) ไปทำลายรูปแบบโทรศัพท์แบบเดิม เป็นต้น

หนังสือนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศจะพัฒนาได้ ไม่ได้มาจากการผลิตแบบแมส แต่มาจากสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาแล้วทำให้เป็นการค้าเชิงพาณิชย์ และหากสามารถทำลายสิ่งเดิมได้ ประเทศจะเกิดความก้าวหน้าทางการค้าได้

แนวคิดนี้มีมานานกว่า 80 ปี และกลับมาอีกครั้งเมื่ออเมริกาเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในปี 2008 ซึ่งประธานาธิบดี บารัก โอบามา กล่าวสุนทรพจน์ว่าจะให้อเมริกากลับมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก ด้วยการสร้างผู้ประกอบการโดยมี 2 คอนเซ็ปต์ คือ 1.การทุ่มงบประมาณเข้าไปเพื่อให้เกิดนวัตกรรม 2.การสร้างฐานเศรษฐกิจของประเทศเป็นสังคมผู้ประกอบการ ไม่ใช่มีเพียงบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท และสายการทำงานมี 2 สาย คือ สายเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม และสายนวัตกรรมในการสร้างผู้ประกอบการ

ไอเดียนี้ยังเห็นได้ในประเทศจีน โดย นายเวิน เจียเป่า นอกจากการทุ่มเงินหลายล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังทุ่มงบฯมหาศาลในการสร้างนวัตกรรมในจีน ชี้ให้เห็นประเทศในโลกเริ่มพลิกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจไปเรื่อย ๆ และไปสู่การสร้างรากฐานในการพัฒนาประเทศในระยะยาวด้วยนวัตกรรม

ประเทศไทยพูดเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปีแล้วเช่นกัน แต่ทุกวันนี้เราพูดกันถี่ขึ้นเพราะเริ่มเห็นตัวเลขการส่งออกที่ถดถอย ซึ่งหากย้อนไปดูตัวเลขการส่งออกของไทยเคยเติบโตถึง 20% ในช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว แล้วตกลงมาเหลือ 2.9% ในช่วงปี 2554-2555 และขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นฟันปลาอยู่เช่นนี้อีก 2 ปี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


มาปีนี้เมื่อโดนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ คาดว่าจะติดลบเฉลี่ย 5% ในสิ้นปีนี้ ชี้ให้เห็นว่าการเติบโตของการส่งออกไม่ได้เพิ่งเป็น แต่เป็นมาสักพัก สถานการณ์ส่งออกก็ตกลงมาตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขการส่งออกขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งที่ขึ้นก็มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สุดท้ายจบลงที่ 0.9-0.7 เมื่อปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าฐานะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการส่งออกเริ่มเปราะบางจนเราไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้แต่เพียงอย่างเดียว

สถานะการส่งออกที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตที่สะกิดให้เราตื่นว่าสินค้าของเราพึ่งพาได้มากน้อยแค่ไหน สินค้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาด สินค้าเกษตรมูลค่าลดลง แม้จะส่งออกปริมาณมาก รวมถึงสาเหตุที่เอกชนไม่ค่อยออกมายอมรับ คือสินค้าของเขามีความสามารถในการแข่งขันได้หรือไม่ เดิมทีอาศัยความได้เปรียบด้านต้นทุน แล้วไม่ยอมปรับเปลี่ยน พัฒนา เมื่อการแข่งขันเข้มข้นขึ้น ก็ค่อย ๆ ตกลงมา เพราะการใช้นวัตกรรมในสินค้าไทยในการส่งออกมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับความสามารถในเชิงนวัตกรรมของต่างประเทศที่ก้าวกระโดดขึ้นเรื่อย ๆ

อีกปัจจัยคือเรื่องของ "แผนธุรกิจ" โมเดลการทำธุรกิจในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นนวัตกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่ตัวสินค้า แต่เป็นนวัตกรรมทางความคิดในการทำการค้า ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องใช้เวลาติดต่อธุรกิจจากข้ามปีเป็นระยะข้ามวัน

ยกตัวอย่างดีไซเนอร์ชาวฮอลแลนด์ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ว่าปัจจุบันคนเปลี่ยนโทรศัพท์บ่อยขึ้นเพราะต้องการใช้สินค้าที่ทันสมัย เกิดมาจากการที่ธุรกิจมีการ Shorten Life Cycle เขาจึงสร้าง Phone Block เป็นการแยกส่วนฮาร์ดแวร์โทรศัพท์ เมื่อต้องการอัพเกรดเทคโนโลยีก็ซื้อเฉพาะส่วน ไม่ต้องซื้อทั้งเครื่อง ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยนำเสนอผลงานผ่านยูทูบ จนได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ซื้อไปทำสมาร์ทโฟน คาดจะผลิตออกมาภายในปีนี้ จะเห็นว่าการค้าขายในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่การผลิตสินค้าให้เป็นจำนวนมากเพื่อให้ต้นทุนต่ำ

ทฤษฎีสินค้านวัตกรรมแบบเก่า คือการผลิตเพื่อพุ่งเป้าไปที่ Early Adopter ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมสินค้าใหม่ ถัดมาก็ไปสู่กลุ่ม Early Majority ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อเมื่อเห็นว่าสินค้านี้มีความชัวร์ มีความคุ้มค่าแล้วจึงซื้อ สมัยนี้คงต้องใช้เวลาเป็นปี แต่โมเดลใหม่ใช้เวลาไม่ถึงปี คนจับจองเป็นล้าน แสดงให้เห็นว่า นอกจากนวัตกรรมใหม่ ๆ โมเดลธุรกิจ คือตัวชี้วัดว่าสินค้าของคุณสำเร็จหรือไม่ การมีนวัตกรรมเป็นก้าวหนึ่ง แต่การทำให้ประสบความสำเร็จต้องส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่ถูกต้อง เพราะมีผลการวิจัยพบว่า ธุรกิจที่เริ่มต้นเหมือนกัน แต่โมเดลถูกต้องจะสร้างการจ้างงานได้มากกว่า และประสบความสำเร็จได้มากที่สุด

ประเทศไทยมีการสร้างนวัตกรรมอยู่แล้ว แต่ต้องมีเจ้าภาพที่เป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือตื่นตัว เอาเอกชนที่มีศักยภาพเป็นแกนกลางเชื่อมโยงทุกฝ่าย วางยุทธศาสตร์แต่ละปี เจเนอเรตไอเดียไปสู่ส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้เรื่องโมเดลธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยหลายหน่วยงานของรัฐสร้างความตื่นตัวของภาคเอกชนและประชาชน

เศรษฐกิจไทยนับจากวันนี้เป็นต้นไปไม่สามารถพึ่งพิงการส่งออกได้อีกต่อไป แต่ต้องดึงเศรษฐกิจของท้องถิ่น การท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน โอท็อปมาชดเชย ที่ผ่านมาแม้จะมีการตื่นตัวของหน่วยงานต่าง ๆ กันมาก แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ นั่นเพราะต่างคนต่างทำ

เดิมโฟกัสว่าหน้าที่ให้การช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร คือ กระทรวงเกษตรฯ แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ควรมีแนวคิดให้ชาวนาปลูกอย่างอื่นบ้าง เพื่อลดความเสี่ยง ตรงกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องกระจายความเสี่ยงจากแรงเหวี่ยงของภัยธรรมชาติ มีการโซนนิ่งพื้นที่ เช่น พื้นที่น้ำน้อยปลูกข้าวไม่ได้ผล สามารถแก้ได้โดยการเช่าที่ของชาวนา ให้เขามีรายได้ในส่วนแรกแล้วให้พันธุ์พืชที่ทนแล้ง จ้างชาวนาปลูก เป็นรายได้ส่วนที่ 2 เมื่อปลูกแล้วก็หาพื้นที่จำหน่าย โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เกิดเป็นรายได้ส่วนที่ 3 กลายเป็นการเกิดรายได้ที่จับต้องได้ถึง 3 ทางย่อมดีกว่าการไปกระตุ้นเปล่า ๆ วิธีนี้ลดความเสี่ยงของเกษตรกรและสร้างแรงจูงใจ เมื่อชาวนาสนใจปลูกมากขึ้นแล้ว หน่วยงานจึงมายกระดับสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น

การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่ดึง การส่งออกขึ้นมา แต่เป็น การสร้างจากสิ่งที่มีห่วงโซ่คุณค่า เราต้องใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะวิกฤตการส่งออกเกิดมานานกว่า 10 ปีแล้ว ไม่ใช่มากังวลว่าจะดึงตัวเลขส่งออกกลับมา แต่ต้องพิจารณาดูว่าโมเดลธุรกิจแข่งขันได้หรือไม่ แบรนด์ขายได้หรือไม่ สินค้าเป็นที่ต้องการหรือไม่

ส่วนแนวคิดใหม่ ๆ เช่น การแปรรูปสินค้าจากข้าวเป็นสบู่ เหล่านี้เริ่มจากนวัตกรรมแล้วพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ใช้วิธีการสมัยใหม่ไปสู่ระดับโลก ทั้งนี้ เราเริ่มต้นถูกทางแล้ว แต่ต้องมีเจ้าภาพ คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหัวหอกประสานทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดพลังระดับประเทศ


สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นวัตกรรม อนาคตใหม่ เศรษฐกิจไทย

view