สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ดร.กรกนก สารภิรมย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) หรือระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism) ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) และระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจหลักที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนิยมใช้พัฒนาประเทศให้เติบโตทางเศรษฐกิจ

ในขณะที่ความนิยมระบบเศรษฐกิจแบบที่สองและที่สาม เริ่มลดน้อยลง ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กลับมีผู้ยอมรับมากขึ้น เพราะเป็นเศรษฐกิจเสรี เอกชนมีเสรีภาพดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมาย โดยรัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซง โดยมีกำไรเป็นแรงจูงใจทำให้เศรษฐกิจเสรีเติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมนี้ ยิ่งนำมาใช้นานเท่าไร ก็มีผู้สงสัยมากขึ้น ว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและมีเสถียรภาพตามความคาดหวังได้จริงหรือ ? ในเมื่อทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนกว้างขึ้น นอกจากนั้น การส่งเสริมการบริโภค การแสวงหากำไรของผู้ผลิต ยังนำไปสู่การแข่งขันทางราคาที่สูงมาก มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และเกิดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม

ผลที่ตามมาของการพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจทุนนิยม ที่มองเห็นชัดเจน คือ "วัฒนธรรมบริโภคนิยม" ที่กำลังขยายไปทั่วโลก วัฒนธรรมนี้ให้ความสำคัญแก่ "วัตถุ" เช่น "เงิน" เหนือ "คน" และ"จิตใจ" มาก จนถือว่าวัตถุเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและความสุข และใช้มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) เป็นดัชนีชี้วัดระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความสุขของประชากรในประเทศ


การวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยจีดีพี หรือจีเอ็นพี ที่เพิ่มอำนาจการซื้อ หรือพีพีพี (Purchasing Power Parity) เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่เมื่อนำไปวัด "คุณภาพชีวิต" และ "ความสุข" ที่มีหลายมิติ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจนี้ มีปัญหาเรื่องความเที่ยงตรงทันที เพราะความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศและรายได้ของประชากร ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิตและความสุขเสมอไป การให้ความสำคัญแก่วัตถุเกินความเป็นจริง เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้คนละโมบโลภมาก เห็นแก่ตัว และไขว่คว้าหาวัตถุมาเสพมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ชีวิตและธรรมชาติขาดความสมดุล และมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา

การมองเห็นผลดีและผลเสียของเศรษฐกิจทุนนิยม ทำให้ประเทศทุนนิยมหลายประเทศ ปรับปรุงระบบเศรษฐกิจของตนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ แตกต่างจากเศรษฐกิจทุนนิยมทั่วไป

เช่น เศรษฐกิจแบบตลาดที่รับผิดชอบต่อสังคม (Social Market Economy) ของประเทศเยอรมนี ได้ชื่อว่าเป็น เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และรูปแบบใหม่การพัฒนามนุษย์และเศรษฐกิจที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและในโลก

แนวความคิดใหม่ที่ท้าทายการใช้ดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ได้แก่ ปรัชญาการพัฒนาของภูฏาน ที่นำความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness-GNH) มาเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชากร โดยให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าความสุขที่มีคุณธรรมจริยธรรม

ในทำนองเดียวกัน "ทฤษฎีใหม่" หรือ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" (Sufficiency Economy) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่คนไทยทุกหมู่เหล่า เป็นอีกรูปแบบใหม่ของการพัฒนา และการดำเนินชีวิต ทั้งระดับปัจเจกชน ครอบครัว ชุมชน และระดับภาครัฐ บนพื้นฐานของความพอเพียง ความมีเหตุผล ความสมดุล (ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม) และการมีภูมิคุ้มกัน (การเตรียมพร้อมที่จะรับผลกระทบจากภายในและภายนอก) โดยมีความรู้ (ความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง) และคุณธรรม เป็นสายใยร้อยรัดเข้าด้วยกัน

นัยหนึ่ง วิถีชีวิตและการพัฒนาประเทศตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการสร้าง วัฒนธรรมพอเพียง ให้เป็น วัฒนธรรมใหม่ ของประเทศ แทนวัฒนธรรมบริโภคนิยม ชีวิตจะได้มีดุลยภาพในทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม

ลักษณะเด่นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำเนินชีวิตและการพัฒนาแบบ "ทางสายกลาง" เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นเกราะกำบังให้ทุกคนมีกินมีใช้อย่างมั่นคง ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของโลกจะปรวนแปรแค่ไหน หรือเมื่อเผชิญวิกฤตต่าง ๆ

ทั้ง ๆ ที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญเช่นนี้ และประเทศไทยนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่คนไทยจำนวนมาก รวมทั้งนักศึกษาและนักวิชาการก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับ "ทฤษฎีใหม่" ไม่เพียงพอ ที่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นตามความมุ่งหมายของทฤษฎี ดังนั้น บุคคลเหล่านี้จึงยังอยู่ในวังวนของบริโภคนิยม ตามแรงผลักดันของความโลภ และห่างไกลจากความสุขออกไปทุกที ทั้งไม่รู้วิธีเอาตัวรอดในยามเศรษฐกิจถดถอยหรือวิกฤตเศรษฐกิจ

ทำนองเดียวกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงวิชาการนานาประเทศ โดยเฉพาะผู้แสวงหารูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รวมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมของการกระจายรายได้ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติเข้าด้วยกัน

ดังนั้น ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2558 วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดทำโครงการ "ศึกษาและเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเพื่อศึกษาลักษณะต่าง ๆ ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งวิเคราะห์เปรียบเทียบกับแนวความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ปรัชญาการพัฒนาของมหาตมะคานธี และปรัชญาการพัฒนาของภูฏาน ในงานนี้มีการอภิปรายที่น่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ "จริยธรรม ความสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน" ส่งเสริมให้คนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เพื่อยกคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น และสร้างสันติสุขในสังคม การประชุมทางวิชาการครั้งนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00-16.00 น. ที่ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ดูรายละเอียดได้ที่ www.sep2015.org

การพัฒนาประเทศในกรอบเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อคนทุกคน ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นำปรัชญานี้ไปใช้ให้เป็นจริง ทั้งเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และการบริหารกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงจะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในชีวิตและในสังคม


สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศึกษา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

view