สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ว่าด้วยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ระดมสมอง โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

การเติบโตของเศรษฐกิจ (economic growth) เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของนโยบายเศรษฐกิจ ขนานไปกับวัตถุประสงค์อื่น ๆ คือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (economic stability) การมีงานทำ (full employment) ดุลการชำระเงินที่เหมาะสม (satisfactory balance of payments) และความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (economic justice)

วัตถุประสงค์ของนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในการสร้างความมั่นคง ความพอเพียง และความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

การเติบโตของเศรษฐกิจมิใช่เป้าหมายโดดเดี่ยวและโดดเด่นที่จะนำมา ประเมินความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นนอกจากนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจก็มิได้เป็นหลัก ประกันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการมีงานทำ ดุลการชำระเงินที่เหมาะสม และความยุติธรรมทางเศรษฐกิจแต่ประการใด อย่างมากก็เพียงแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

เช่นเดียวกัน การเติบโตของเศรษฐกิจ ก็มิได้หมายถึงการพัฒนาการเศรษฐกิจ (economic development) และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ (economic progress) แต่ประการใด พัฒนาการเศรษฐกิจก็ดี ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจก็ดี มีความหมายที่แตกต่างไปจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การเติบโตของเศรษฐกิจหมายถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติ (national income) ขณะที่รายได้ประชาชาติหมายถึงมูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการที่มีการผลิตขึ้นภายในประเทศในแต่ละปี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ "มูลค่าเพิ่ม" ทั้งหมดที่ได้สร้างขึ้นจากการผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศในรอบปีซึ่งมูลค่าดังกล่าวเป็นประมาณการ(estimates)

ประมาณการรายได้ประชาชาติกระทำได้3วิธีวิธีแรกคือการคำนวณ "ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ" ซึ่งหากถือเอา "มูลค่าเพิ่ม" ที่สร้างขึ้นภายในประเทศเป็นหลัก ก็เรียกว่า "Gross Domestic Product" (GDP) แต่ถ้าหากถือเอา "มูลค่าเพิ่ม" ที่สร้างขึ้นโดยพลเมืองของประเทศเป็นหลัก ก็เรียกว่า "Gross National Product" (GNP)

การคำนวณตามคำจำกัดความต่าง ๆ เป็นงานเทคนิค ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการรับผิดชอบตามหลักการและวิธีการที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้เป็นมาตรฐานสากล

สำหรับสินค้าและบริการที่การผลิตได้สร้าง"มูลค่าเพิ่ม"ก็แยกเป็นสาขาต่างๆ คือ เกษตรและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เหมืองแร่ อุตสาหกรรม การก่อสร้าง การคมนาคมและการขนส่ง สาธารณูปโภค การค้า การธนาคารและการประกันภัย อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ธุรกิจบริการ การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ

วิธีที่ 2 คือการคำนวณรายได้ทั้งหมดอันเนื่องมาจากการผลิตสินค้าและบริการในรอบปี ได้แก่ เงินเดือนและค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร ขณะที่วิธีที่ 3 คือการคำนวณรายจ่ายทั้งหมดในรอบปี อันได้แก่ รายจ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน รายจ่ายเพื่อการก่อสร้างสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคาร โรงงาน เครื่องจักรอุปกรณ์ ฯลฯ รายจ่ายของภาครัฐในการจัดหาสินค้าและบริการ และมูลค่าสินค้าและบริการส่งออกซึ่งผลิตโดยพลเมืองของประเทศ หักด้วยมูลค่าสินค้าและบริการนำเข้าในรอบปี

รายได้ประชาชาติเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญและมีประโยชน์หลายประการอาทิเพื่อใช้วัดขนาดและระดับการทำงานของเศรษฐกิจใช้ศึกษาแนวโน้มและการเติบโตของเศรษฐกิจ ใช้ศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างของเศรษฐกิจทั้งในภาพรวมและในแต่ละสาขา ใช้คาดหมายอนาคตของการพัฒนาเศรษฐกิจ และช่วยในการวางโครงการเศรษฐกิจทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน และใช้ในการเปรียบเทียบเศรษฐกิจในต่างวาระและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ดัง นั้นจะเห็นว่าความสำคัญและประโยชน์ของรายได้ประชาชาติส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้อง กับเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าเศรษฐกิจในระยะสั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ ว่าด้วยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหรืออัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติ

การบริหารเศรษฐกิจระดับชาติในระยะสั้นจะให้ความสำคัญไปที่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความสมดุลของบรรดาปัจจัยต่างๆที่ "เสนอ" และ "สนอง" การจัดการดูแลให้ "กำลังแรงงาน" ได้รับการจ้างงานอย่างทั่วถึง และเช่นเดียวกัน ให้ปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ได้รับการใช้ประโยชน์ ไม่ถูกทอดทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการได้รับการตอบสนองในด้านของอุปทาน ให้ระดับราคาสินค้าทั่วไป (general price level) มีเสถียรภาพ และให้มูลค่าของสินค้าและบริการส่งออกสมดุลกับมูลค่าของสินค้าและบริการนำเข้าเหล่านี้เป็นต้น นอกเหนือไปจากนั้นมี อาทิ การดูแลทุนสำรองระหว่างประเทศ ปริมาณเงิน อัตราแลกเปลี่ยน การเงินการคลัง ฯลฯ ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการบริหารเศรษฐกิจระดับชาติในระยะสั้น

การดูแลให้รายได้ประชาชาติอยู่ในระดับที่เอื้อต่อความสมดุลดัง กล่าวข้างต้นเป็นภารกิจที่จำเป็นในขณะเดียวกันการให้ความเอาใจใส่ที่เกิน ความจำเป็นต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเช่น อัตราการขยายตัวของ GDP เสมือนเป็นมาตรที่ใช้วัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจ เป็นความสับสนอันเกิดจากการใช้ "common sense" ในการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจ โดยอาจมิได้ทบทวนเหตุผลทางทฤษฎีให้ถ่องแท้

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ได้พบเสมอ ๆ คือความเข้าใจอันสับสนที่ว่า หากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยิ่งสูง ก็ยิ่งดี ซึ่งยากต่อความเข้าใจในตรรกะ ความสับสนในความคิดปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อกล่าวว่า จะยึดเอา "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นกรอบความคิดทางเศรษฐกิจในการสร้างความมั่งคั่ง

นอกจากนั้นตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ก็เป็นเพียงผลการคำนวณจากข้อมูลสถิติเท่าที่มีอยู่และพอที่จะเชื่อถือได้ ขณะที่ "เศรษฐกิจ" ประกอบด้วยข้อมูลอีกมากมายที่ไม่อาจแสดงเป็นตัวเลข หรือหากแสดงได้ก็อาจไม่ครบถ้วนและเชื่อถือได้อย่างบริบูรณ์

ดังนั้นการ "เอาเป็นเอาตาย" กับตัวเลข มาพิจารณาตัดสินเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ จึงน่าจะ...ขาดความรอบคอบ

เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ศาสตราจารย์ จาน ทินเบอร์เกน นักเศรษฐศาสตร์ 1 ใน 2 คนคู่แรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้สอนลูกศิษย์ของท่านว่า "พวกตัวเลขอะไรเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งที่มาเสริม หากมิใช่สิ่งที่มาทดแทนการใช้สติปัญญา"

เมื่อสมัยกึ่งพุทธกาล นักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์กำลังตื่นเต้นกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ "เศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ" (quantitative economics) ซึ่งปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ชาวดัตช์ ผู้สำเร็จปริญญาเอกทางฟิสิกส์ ท่านนี้เป็นผู้บุกเบิกที่โดดเด่น ดร.ทินเบอร์เกน ท่านเกรงว่าลูกศิษย์จะหลงตัวเลขจนลืมใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจ จึงได้กล่าวปรามข้างต้น

เรื่องอัตราความเติบโตของเศรษฐกิจนี้ ความจริงก็เป็นอะไรที่มีความสำคัญอยู่ จึงเห็นสมควรที่จะ "ติดเอาไว้ข้างฝา แล้วชำเลืองดูบ้างเป็นครั้งคราว..."


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ว่าด้วยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

view