สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถอดรหัส กระสุน 4 นัด กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

รายงานพิเศษ

"มาตรการทั้งหมดที่ออกมาเพียงพอแล้วสำหรับการประคองเศรษฐกิจในปี 2558 ต่อจากนี้จะไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก แต่จะเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ แก้ปัญหาฐานรากของประเทศ"

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังรัฐบาลลุยอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชนิดที่เรียกว่าได้กัน "ทั่วฟ้า"

หาก ย้อนรอยมาตรการทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้การชูธงเรือรบของนายสมคิด ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือน ส.ค.2558 ที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้ นายสมคิด และทีมเศรษฐกิจ "ลั่นกระสุน" กระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ๆ ออกมารวม 4 นัด!

กระสุน นัดแรก ลั่นไกโดยกระทรวงการคลัง เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ มาตรการด้านเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรเพื่อให้เกิด การหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก และเพื่อช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมามากขึ้น

มาตรการดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร และ 2.การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเศรษฐกิจ วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท

ประกอบ ด้วย 1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน การปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านระดับ A และ B หมู่บ้านละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อไปปล่อยกู้ต่อให้กับสมาชิก วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระยะเวลา โครงการ 7 ปี

2.มาตรการ ส่งเสริมความเป็น อยู่ระดับตำบล เพื่อช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัด จัดสรรงบประมาณให้ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 7.25 พันตำบล คิดเป็นวงเงิน 3.62 หมื่นล้าน

และ 3.มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ สำหรับโครงการไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมการลงทุน วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง กระสุนนัดที่ 2 จึงกลั่นออกมาในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา โดย ครม.มีมติเห็นชอบ มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาด ย่อม (เอสเอ็มอี) ในระยะเร่งด่วน

ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาในช่วงเศรษฐกิจถดถอย และเพื่อช่วยสร้างความ เข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจในอนาคต

แบ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือออกเป็น 2 ส่วน คือมาตรการบรรเทาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงที่ลำบาก

ประกอบ ด้วย 1.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ผ่านการดำเนินการของธนาคารออมสิน โดยเป็นการปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% และการปล่อยกู้ให้เอกชน คิดอัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน 4% ต่อปี

2.การ ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีที่ขาดหลักประกันในการกู้ยืมเข้าถึงแหล่งเงินได้มาก ขึ้น มีวงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกัน 7 ปี

และ 3.การจัดตั้งกองทุนร่วมทุนผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารกรุงไทย วงเงิน 6 พันล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งสำหรับเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ยังลด อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิมเสียภาษีในอัตรา 15% และ 20% ของกำไรสุทธิ ให้เหลือ 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน คือรอบบัญชีที่เริ่มหลังวันที่ 1 ม.ค. 2558 จนถึงรอบบัญชีวันที่ 31 ธ.ค. 2559

กระสุนนัดที่ 3 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นข้อเสนอและเป็นแรงจูงใจพิเศษให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ระหว่างการ ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.นักลงทุนที่ได้รับบัตร ส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว หากสามารถลงทุนในช่วง ม.ค. 2557-มิ.ย. 2559 คิดเป็นสัดส่วน 70% ของกรอบเวลาที่กำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มอีก 4 ปี และหากลงทุน 50% ของกรอบเวลาที่กำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่ม 3 ปี

แต่หาก ลงทุนไม่ทันภายใน 50% แต่ยังอยู่ในช่วงเดือน ธ.ค. 2559 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่ม 2 ปี หรือลงทุนไม่ทันตามเกณฑ์ที่กำหนดทั้งหมด แต่สามารถเริ่มดำเนินงานได้ในปี 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่ม 1 ปี โดยทั้งหมดรวมแล้ว จะต้องไม่เกิน 8 ปี

และ 2.สำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ แต่สามารถลงทุนภายในปี 2558- วันที่ 31 ธ.ค. 2559 ในส่วนนี้กระทรวงการคลังให้สิทธิพิเศษในการนำรายจ่ายจากการลงทุนมาหักลด หย่อนภาษีได้ 2 เท่าของรายจ่ายเพื่อการลงทุน โดยจัดทำเป็นแผนงานหรือโครงการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับการ ดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ

ก่อนทิ้งท้ายกระสุนนัดที่ 4 มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.มาตรการทางการเงิน ดำเนินการโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ผ่านมาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและ ปานกลาง เพื่อกู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคาร ห้องชุด หรือเพื่อปลูกสร้างอาคาร วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี มีกลุ่มเป้าหมายในส่วนนี้ราว 5-6 พันราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สุทธิต่อเดือนไม่เกิน 3 หมื่นบาท

และ 2.มาตรการทางการคลัง ลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ในกรณีการโอน และ 1% ของมูลค่าที่จำนอง แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท ในกรณีการจำนอง ให้เหลือ 0.01% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเร่งให้เกิดการทำนิติกรรมได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 20% ของมูลค่าอสังหา ริมทรัพย์ สำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด ในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน

โดยให้แบ่งลดภาษีเป็นงวดๆ ติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์

มี ข้อแม้ว่าผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ มาก่อน และมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการซื้อครั้งแรกและเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริง มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2559

ขณะเดียวกัน ยังปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% เป็นมาตรการถาวร จากเดิมที่จะสิ้นสุด ใน ปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและคลายข้อกังวลให้กับภาคธุรกิจ

ทุกมาตรการ สะท้อนให้เห็นถึงการเร่งเครื่อง "ใช้จ่ายในประเทศ" แทนเครื่องยนต์สำคัญอย่าง "ภาคการส่งออก" ที่ถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจโลก และสมมติฐานเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ทุกสำนักต่างพากันฟันธงว่าไม่ถึง 3%

แม้ ว่าตัวผลลัพธ์ชี้วัดจะยังไม่ออกมาอย่างที่คาดไว้มาก แต่ผลในเชิงการ "ฟื้นความเชื่อมั่น" ต้องถือว่ามาถูกทาง โดยเฉพาะถูกใจอย่างยิ่งกับภาคเอกชน เพราะทุกมาตรการเอื้อให้มองเห็นโอกาสการทำธุรกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ ตามภาคเอกชนกระซิบดังๆ มาตลอด ต้องการให้รัฐเร่งส่งเงินให้ถึงมือ "รากหญ้า" ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวจริง ซึ่งหากทำได้ตามนั้น การจับจ่ายจะมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจหมุนไปตามต้องการ

ส่วนกระสุนทั้ง 4 นัดจะส่งผลเชิงประจักษ์เท่าใด คงต้องรอฟังรัฐบาลแถลงผลงานชุดใหญ่อีกครั้งในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้

 

 

 

 

ที่มา : นสพ.ข่าวสด


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถอดรหัส กระสุน 4 นัด กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

view