สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละร่าง พรบ.จีเอ็มโอ เปิดช่องโหว่-เอื้อบรรษัทข้ามชาติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … (จีเอ็มโอ) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเกษตรอินทรีย์

ล่าสุด กลุ่มเกษตรกรจาก 21 จังหวัด ประกาศชัดว่าจะเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา สภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย “จีเอ็มโอ” ได้จัดประชุมวิเคราะห์ร่างกฎหมาย พร้อมจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สาระสำคัญตลอดระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมง ของการประชุมเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งภาคการเกษตร ภาคการส่งออก ไปจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์เกษตรไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศในกลุ่มอียูจำนวนถึง 16 ประเทศ ที่ประกาศแบนพืชจีเอ็มโอ หรือแม้แต่สหรัฐเองที่เริ่มไม่ยอมรับในพืชจีเอ็มโอ จนมี 3 รัฐ ที่ออกกฎหมายควบคุมแล้ว

“เห็นได้ว่าในขณะที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังต่อต้านเรื่องนี้มากขึ้น ประเทศไทยกลับกำลังสวนกระแส และกระโจนเข้าสู่ตลาดจีเอ็มโอ” วิฑูรย์ ระบุ

วิฑูรย์ บอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมการพิจารณาทั้งหมดก็เป็นฝ่ายที่สนับสนุนจีเอ็มโอทั้งสิ้น เนื้อหาของกฎหมายจึงเอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทข้ามชาติ ขาดหลักความปลอดภัยต่อชีวิต ขาดการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขาดมาตรการป้องกันและความรับผิดชอบหากเกิดการปนเปื้อน

“หากรัฐบาลอนุมัติให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอได้ ย่อมมีโอกาสสูงมากที่เกสรของพืชจะปลิวไปผสมข้ามกับพันธุ์พืชของเกษตรกรในรัศมีหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เกษตรเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ถูกฟ้องว่าละเมิดสิทธิบัตร ทั้งที่พันธุกรรมของตัวเองถูกปนเปื้อนโดยไม่พึงปรารถนา ซ้ำร้ายผลผลิตยังถูกตีกลับจากตลาด ยังไม่รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว” วิฑูรย์ ฉายภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น

ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คุณค่าทางพันธุกรรมที่แท้จริงคือความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งก็หมายรวมถึงความมั่นคงของชาติด้วย แต่น่าแปลกที่รัฐบาลกลับผ่านกฎหมายที่มีรูรั่วมากมายเช่นนี้ ซึ่งจะทำลายรากฐานทรัพยากรตลอดจนทำลายความมั่นคงของชาติ

“กฎหมายมีการเปิดช่องโหว่ให้บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบการปนเปื้อนหากเป็นเหตุสุดวิสัย แต่เมื่อพืชทุกชนิดมีโอกาสผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติตามธรรมชาติ เรายังจะเรียกว่าเหตุสุดวิสัยได้อยู่หรือ และสิ่งนี้เองก็จะนำมาซึ่งการล่มสลายของพันธุกรรมท้องถิ่น โดยกระบวนการเหล่านี้หากเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถย้อนกลับได้ หากพืชเกิดการปนเปื้อนจะทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังสูญเสียสิทธิสภาพ นอกอาณาเขต”นักวิชาการรายนี้ระบุ

ในส่วนของภาคธุรกิจการเกษตรที่กระทบ ปรีชา จงประสิทธิ์ บริษัทผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน กล่าวว่า ประเทศไทยวางเป้าหมายการเป็นครัวของโลก ซึ่งก็มีความเหมาะสมในการส่งออกทุกด้าน เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ ผลิตผลที่ได้เกินความต้องการบริโภคในประเทศ แต่ข้อได้เปรียบนี้รัฐไม่เคยให้ความสนใจ กลับไปสนใจกับธุรกิจและอุตสาหกรรมหนักทั้งสิ้น จึงไม่เคยตระหนักว่าหากจีเอ็มโอเข้ามาทำลายความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์เกษตรในประเทศแล้ว จะมีประโยชน์ใดอื่นนอกจากเป็นการทำลายครัวของโลกซึ่งเป็นเป้าหมายประเทศ

ปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า รัฐเองพยายามแก้ปัญหาการส่งออกสินค้าและพยายามขยายผลยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ที่เป็นจุดเด่น และเป็นความเข้มแข็งว่าเรายังเป็นประเทศที่ปลอดจากจีเอ็มโอ แต่ขณะนี้รัฐก็กำลังส่งเสริมนำเอาเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามาปลูก แล้วหลังจากนี้ตลาดเกษตรอินทรีย์ของประเทศยังจะได้รับความเชื่อถือจากตลาดโลกได้อย่างไร

สำหรับการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นตัวกลางในการรวบรวมรายชื่อเกษตรกรผู้คัดค้านทั้งหมด พร้อมกับข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนบนเวทีเพื่อนำส่งต่อ ครม.ภายในสัปดาห์นี้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ชำแหละร่าง พรบ.จีเอ็มโอ เปิดช่องโหว่ เอื้อบรรษัทข้ามชาติ

view