สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุดสำคัญๆ ของ ข้อตกลงปารีส เพื่อต่อสู้ภาวะโลกร้อน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ผู้แทนจาก 195 ชาติทั่วโลกตกลงกันอย่างเป็นทางการ ณ การประชุมซัมมิตที่เลอบัวเช นอกกรุงปารีสเมื่อวันเสาร์ (12 ธ.ค.) ในข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ ซึ่งมุ่งหมายที่จะสกัดกั้นและรุกไล่ภาวะโลกร้อนให้ล่าถอย รวมทั้งเสริมแนวป้องกันต่างๆ เพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก
       
       จุดสำคัญๆ ของ “ข้อตกลงปารีส” ฉบับนี้ มีดังต่อไปนี้:
       
       ปัญหาที่ท้าทาย
       
       ข้อตกลงฉบับนี้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก เป็น “ภัยคุกคามอันเร่งด่วนและมีศักยภาพที่จะกลายเป็นสิ่งซึ่งมิอาจแก้ไขให้กลับ คืนดีได้ ทั้งต่อสังคมต่างๆ ของมวลมนุษย์ และต่อพิภพใบนี้”
       
       ข้อตกลงกล่าว “ด้วยความวิตกกังวล” ว่า คำมั่นสัญญาที่มีอยู่ในขณะนี้ของประเทศทั้งหลาย ในเรื่องการลดทอนการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจก เมื่อพิจารณาเป็นภาพรวมแล้วจะยังคงล้มเหลวไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ เพื่อการสกัดกั้นภาวะโลกร้อนได้

        เป้าหมาย
       
       วัตถุประสงค์ของข้อตกลงนี้ก็คือ เพื่อฉุดรั้งให้อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของโลก อยู่ในระดับ “ต่ำลงไปกว่า” (well below) 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิโลกในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ซึ่งก็คือไม่เพียงแค่ประคับประคองอย่าให้อุณหภูมิร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่จะต้องพยายามทำให้ต่ำลงไปกว่านั้น) อีกทั้งควรต้องพยายามหาทางทำให้ร้อนขึ้นมาเพียงแค่ 1.5 องศาเซลเซียส หากสามารถกระทำได้
       
       การก้าวเดินไปให้ถึงเป้าหมาย
       
       ข้อตกลงระบุว่า โลกจะตั้งจุดมุ่งหมายทำให้การปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อยู่ในระดับสูงสุด “โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้” ต่อจากนั้นก็จะทำให้มี “การลดต่ำลงมาโดยเร่งด่วน”
       
       เมื่อถึงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษนี้ จะต้องบังเกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยไอเสียที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เป็นต้นว่า การผลิตพลังงานและการทำการเกษตร กับปริมาณไอเสียที่ “แหล่งดูดซับ” คาร์บอนต่างๆ เป็นต้นว่า ป่าไม้ หรือ เทคโนโลยีเก็บกักคาร์บอน สามารถเก็บกักเอาไว้ได้
       
       การแบ่งปันภาระ
       
       ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างมลพิษมายาวนานกว่า ควรที่จะแสดงตนเป็น “ผู้นำ” ด้วยการดำเนินมาตรการต่างๆ ในการตัดลดไอเสียอย่างเต็มที่ สำหรับพวกชาติกำลังพัฒนาที่ยังจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่าง ถ่านหิน, น้ำมัน, แก๊ส เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าสำหรับให้ประชากรที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นได้ใช้สอยนั้น จะได้รับการสนับสนุนให้เพิ่มพูนความพยายามของพวกตนในการตัดลดการปล่อยไอเสีย คาร์บอน และทำการตัดลดได้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

        ความช่วยเหลือทางการเงิน
       
       พวกประเทศพัฒนาแล้วรับ “จะจัดหา” เงินทุนสำหรับช่วยเหลือบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ในการปรับเปลี่ยนอันมีค่าใช้จ่ายสูง จากการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนในการยกระดับการป้องกันตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ดังเช่น ภัยแล้ง และระดับน้ำทะเลขึ้นสูง
       
       เงินทุนช่วยเหลือนี้จะต้องเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยข้อตกลงบอกว่าพวกชาติร่ำรวยต้องยื่นรายงานทุกๆ 2 ปีในเรื่องระดับความช่วยเหลือทางการเงินของพวกตน ทั้งความช่วยเหลือที่เป็นจริงในปัจจุบัน และความช่วยเหลือที่ตั้งเจตนารมณ์เอาไว้
       
       ข้อตกลงนี้ได้โยกย้ายข้อความว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน จากที่ในร่างก่อนๆ เคยอยู่ในส่วนแกนกลางซึ่งจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย ไปอยู่ใน “ภาคการตัดสินใจ” ที่แยกออกมาต่างหากและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ระบุอย่างชัดๆ ว่าความช่วยเหลือทางการเงินปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งพวกประเทศร่ำรวยได้เคยให้สัญญาเอาไว้ว่าจะรวบรวมให้ครบภายใน ปี 2020 นั้น ข้อตกลงนี้จะถือว่าเป็น “ระดับต่ำสุด” โดยจะต้องมีการปรับเพิ่มตัวเลขนี้ภายในปี 2025

       ความเสียหายจากภูมิอากาศ
       
       เหล่าประเทศซึ่งเป็นเกาะที่พื้นที่ต่ำ และพวกชาติยากจนซึ่งมีความเสี่ยงที่สุดจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงหรือผลกระทบ อื่นๆ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมว่า จำเป็นที่จะต้องช่วยกันหาทาง “หลีกเลี่ยง, ลดทอนให้เหลือน้อยที่สุด, และแก้ไขบรรเทา” ความเสียหายทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จุดสำคัญๆ ข้อตกลงปารีส ต่อสู้ภาวะโลกร้อน

view