สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักเศรษฐศาสตร์ไม่หนุนไทยเข้าร่วมทีพีพี

จาก โพสต์ทูเดย์

นักเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ไม่หนุนไทยเข้าร่วมทีพีพี ชี้ผลเสียด้านสังคมมากกว่าผลดีเศรษฐกิจ

นายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในงานเสวนา “มุมมองนักวิชาการต่อการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ของไทย ใครได้ ใครเสีย” ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) ว่า ในส่วนตัวสนับสนุนจุดยืนที่ไทยจะไม่เข้าร่วมข้อตกลงทีพีพี แม้จะมีผลดีต่อภาคเศรษฐกิจไทยแต่ก็มีผลเสียต่อภาคสังคมไทยที่มูลค่าความเสียหายมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยาของภาคประชาชน เพราะหากมีการเข้าร่วมทีพีพี ซึ่งไทยจะต้องทำตามข้อตกลงที่มีการขยายอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา รวมถึงการผูกขาดข้อมูลการทดลองยาใหม่ 5 ปี จะทำให้ไทยมีใช้จ่ายสะสมต่อการเข้าถึงยาสามัญมากถึง 1.1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อตกลงทีพีพีฉบับอย่างเป็นทางการที่สหรัฐฯนำออกมาเผยแพร่ในเบื้องต้น พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้จากการเข้าทีพีพีมีไม่มาก อย่างที่รัฐบาลกำลังกังวลว่าถ้าไทยไม่เข้าร่วมทีพีพีจะทำให้ไทยเสียโอกาสทางด้านการลงทุนและมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียอื่นที่เข้าร่วมทีพีพี เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งสหรัฐฯจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์อีโค คาร์ ให้สมาชิกในกลุ่มทีพีพีจากที่เคยเก็บภาษีนำเข้า 2.5% เหลือ 0% ถือว่ามีสัดส่วนการลดภาษีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งภาครัฐต้องไปพิจารณาดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ต่อการเข้าร่วม

“หากมองในประเด็นเรื่องการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าประเทศสมาชิกในทีพีพี และจะทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศที่เป็นสมาชิก มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะสิทธิประโยชน์ทางการค้าเป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น แต่นักลงทุนจะลงทุนประเทศใดจะมองที่ปัจจัยหลายอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน อีกทั้งหากกลัวว่าญี่ปุ่นจะย้ายฐานยานยนต์จากไทยไปแห่งอื่น ถามว่าคุ้มหรือไม่กับการลดภาษีในตลาดสหรัฐฯลง 2.5% แลกกับการลงทุนใหม่ที่ใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท” นายปิติ กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สหรัฐฯจะลดภาษีนำเข้าจาก 17-21% เหลือ 0% ให้กับสมาชิกทีพีพ อุตสาหกรรมไทยแทบไม่ได้ประโยชน์ เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยเป็นธุรกิจดาวร่วง ที่มีการย้ายฐานผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว มีเพียงอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเล ที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีและแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯได้ ขณะที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูป ไทยจะเสียประโยชน์จากการทะลักเข้ามาของสินค้าเนื้อแดงจากสหรัฐฯที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย

“ผลศึกษายังไม่รวมเรื่องที่ไทยจะต้องจ่ายชดเชย ในกรณีที่ประเทศสมาชิกทีพีพีเดิมเรียกร้องแลกเปลี่ยนกับการที่จะสนับสนุนไทยเข้าร่วมทีพีพี ดังนั้นรัฐบาลไทยควรจะศึกษาผลดีผลเสียอย่างละเอียดและรอบคอบ มียุทธศาสตร์เจรจาการค้าที่ชัดเจน และต้องวางตำแหน่งว่าไทยอยู่ตรงจุดไหนในเวทีโลก และสุดท้ายไทยควคจะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจก่อน โดยควรจะยกระดับมาตรฐานในทุกด้านให้ได้ก่อนที่จะเข้าทีพีพี ไม่ใช่เข้าไปแล้วแล้วค่อยมายกระดับ แม้ว่ามาตรฐานที่ใช้ในทีพีพี จะเป็นมาตรฐานการค้าในศตวรรษที่ 21 ก็ตาม”นายปิติ กล่าว

น.ส.ชุติมา อรรคลีพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า จากการศึกษาข้อตกลงทีพีพีเบื้องต้น ในประเด็นการขยายความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา พบว่าหากมีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร 20 ปีออกไป โดยปีที่ 1 ไทยจะมีค่าใช้จ่ายในระบบยาสามัญ 2,834 ล้านบาท และหากขยายระยะเวลาสิทธิบัตรออกไป 10 ปี จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2.32 แสนล้านบาท และกรณีที่มีการผูกขาดข้อมูลการทดลองยาใหม่ (เคมีและชีววัตถุ) โดยให้สิทธิ 5 ปี ไทยจะมีค่าใช้จ่ายสะสม 5 ปี ถึง 7.3 แสนล้านบาท-1.18 ล้านล้านบาท

“เท่าที่ดูรายละเอียดคร่าวๆในข้อตกลงทีพีพี มีข้อตกลงที่ให้ประเทศสมาชิกทีพีพีจะต้องชดเชยการคุ้มครองสิทธิบัตรกรณีที่มีความล่าช้าในการกระบวนการรับจดแบบไม่สมเหตุสมผล เช่น การคุ้มครองสิทธิบัตรไทยมีระยะเวลา 20 ปี แต่สหรัฐฯอาจเห็นว่ากระบวนการรับจดควรจะเสร็จในปีที่ 5-8 แต่หากลากยาวออกไปเกินกว่านี้ ก็ต้องขยายความคุ้มครองให้ยาวเกินจาก 20 ปี เป็นต้น”

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) กล่าวว่า กลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาลหยุดกระบวนการเข้าร่วมทีพีพี โดยจะต้องมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน และต้องผ่านความมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาคประชาชน เพราะการเข้าร่วมทีพีพี จะทำให้ไทยต้องยอมรับการผูกขาดข้อมูลทางยาเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ปี ส่งผลให้ยาชื่อสามัญไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ จะทำให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้นอีก 8.13 หมื่นล้านบาท/ปี เมื่อรวมกับการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาอีก 5 ปี จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มอีก 2.78 หมื่นล้านบาท/ปี ส่งผลให้ประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากเกินไป

“ทางกลุ่มจะมีการแสดงจุดยืน โดยในสัปดาห์หน้าจะไปยืนหนังสือต่อรมว.สาธารณสุข ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยขอให้รัฐหยุดกระบวนการเข้าร่วมทีพีพี และต้องเร่งดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยยึดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และต้องมีการเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,##สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักเศรษฐศาสตร์ ไม่หนุน ไทย เข้าร่วมทีพีพี

view