สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยอดบริโภคต่ำสุดรอบ7ปี เลิกช้อป-เน้นสินค้าถูก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คาเร็ต อิลิส,กันตาร์,ยอดบริโภคต่ำสุดรอบ7ปี,เศรษฐกิจถดถอย,พฤติกรรมจับจ่ายสินค้าอุปโภค บริโภคไทย

กันตาร์"สำรวจพฤติกรรมจับจ่ายสินค้าอุปโภค บริโภคไทย ระบุปีนี้โต 1.2% ต่ำสุดในรอบ 7 ปี ชี้ปัจจัยเศรษฐกิจถดถอยฉุดกำลังซื้อวูบ หั่นค่าใช้จ่าย

สถานการณ์กำลังซื้อที่อยู่ในภาวะถดถอยปีนี้ เกิดขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจรวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูง (Fast Moving Consumer Goods : FMCG) แม้จะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าในหลายประเภทมีแนวโน้มลดลง  

นายคาเร็ต อิลิส ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิลด์พาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค เปิดเผยว่าบริษัทได้สำรวจและวิจัยพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคใน ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2542 ภายใต้รูปแบบ “คอนซูเมอร์ พาแนล” (Consumer Panel) จากกลุ่มตัวอย่าง 4,000 ครัวเรือนทั่วประเทศทั้งเขตเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวแทนแสดงผลพฤติกรรมการซื้อของประชากรทั่วประเทศกว่า 23 ล้านครัวเรือน

จับจ่ายอุปโภคบริโภคไทยโตต่ำสุดรอบ7ปี

การสำรวจพฤติกรรมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย ล่าสุดช่วง 3 ไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าเติบโต 1.2% ถือเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี นับจากปี 2552 ทั้งนี้ การเติบโตของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ต่ำสุดในเอเชีย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เติบโต 4.6%

อย่างไรก็ตาม พบว่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ย 50% โดยปี 2556 เอเชียโต 10% ปี 2557 โต 5.1% และปี 2558 โต 4.6% ขณะที่ประเทศไทยปี 2556 โต 9.6% ปี 2557 โต 3.3% และปี 2558 โต 1.2%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคไทย และเอเชียเติบโตลดลง มาจากกระทบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้าลดลง แม้กระทั่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ต่างจังหวัด

“กำลังซื้อผู้บริโภคไทยปีหน้ายังชะลอตัวต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ กันตาร์คาดการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปีหน้าจะเติบโตราว 1-2% เท่านั้น”

 ลดค่าใช้จ่ายสินค้าพรีเมียม

นายคาเร็ต กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าผู้บริโภคไทย มีพฤติกรรมซื้อสินค้ากลุ่มพรีเมียม เช่น รังนก นมผงสำหรับผู้ใหญ่ เครื่องดื่มชาเขียวลดลง เห็นได้จากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ปีนี้มีเพียง 34% ที่เติบโต แสดงให้เห็นว่าอีก 2 ใน 3 ของสินค้ากลุ่มนี้ “ไม่เติบโต” ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในกลุ่มเพอร์ซันนอล แคร์ และสินค้าที่ใช้ภายในครัวเรือนหลายประเภทยังมีอัตราการเติบโตสูง

นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมผู้บริโภคไทยซื้อสินค้า “แพ็คใหญ่” ที่มีราคาแพงลดลง และหันไปซื้อสินค้า “แพ็คเล็ก” เพิ่มขึ้น เห็นได้จากจำนวนเงินที่ใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่อครั้งปีนี้ลดลงเทียบปี ก่อน แต่จำนวนครั้งที่ในการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น

สะท้อนได้จากปี 2557 สินค้าอุปโภคบริโภคที่จัดทำแพ็คใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้น 35% แต่ปีนี้เพิ่มขึ้น 22% เนื่องจากผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าแพ็คเล็กมากกว่าสินค้าแพ็คใหญ่เพื่อลดค่า ใช้จ่าย และมีการจับจ่ายด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

เน้นซื้อสินค้าโปรโมชั่น

ในการสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคไทย เลือกซื้อสินค้าที่มีการ “โปรโมชั่น” ที่น่าสนใจ โดยชื่นชอบโปรโมชั่นประเภท สินค้าที่ให้อินเซ็นทีฟต่างๆ เช่น การลดราคา แถมของฟรี ให้พรีเมียม จับฉลากชิงโชค ทำให้กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีโปรโมชั่น ได้รับการตอบรับและมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยพบว่าปี 2556 ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มาจากการจัดโปรโมชั่นมีสัดส่วนอยู่ที่ 28.1% ปี 2557 สัดส่วนเพิ่มเป็น 30.6% และปีนี้สัดส่วนอยู่ที่ 33.4% ทั้งยังพบแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 และ 3 คาดการณ์ปีหน้าสัดส่วนยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีการจัดโปรโมชั่นจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 40%

“โชห่วย-คอนวีเนี่ยน”ยอด FMCG โต

อย่างไรก็ตาม พบว่าในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง พฤติกรรมผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จากร้านโชห่วยและคอนวีเนียน สโตร์ใกล้บ้านมากขึ้น เนื่องจากลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังไฮเปอร์ มาร์เก็ต โดยเห็นว่าสินค้าอุปโภคบริโภค 50% ที่จำหน่ายในโชห่วยและคอนวีเนียน สโตร์ ไม่แตกต่างจากไฮเปอร์ มาร์เก็ต

จากสถิติพบว่า ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่โชห่วยและคอนวีเนี่ยนสโตร์ เพิ่มขึ้น “เท่าตัว”

จากปี 2550 สัดส่วนอยู่ที่ 7% เพิ่มเป็น 15% จากในปีนี้ เห็นได้จากการขยายตัวต่อเนื่อของค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น, เทสโก้ เอ็กเพรส, แฟมิลี่ มาร์ท 108 ช็อป และ มินิ บิ๊กซี

ขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ อย่างไฮเปอร์ มาร์เก็ตและซูเปอร์ มาร์เก็ต ชะลอตัวลง นอกจากนี้ยังสูญเสียส่วนแบ่งจำนวนลูกค้าเข้าออกร้านค้า, ปริมาณการซื้อต่อ ครั้ง และจำนวนกลุ่มสินค้าที่ซื้อลดลงเมื่อเทียบกับช่องทางโชห่วยและร้านสะดวกซื้อ

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคไทยมีพฤติกรรมซื้อสินค้าหลากหลายช่องทาง “มัลติ แชนแนล” ประมาณ 12 ประเภทร้านค้า โดยกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในตัวเมือง นิยมซื้อสินค้าจาก “สเปเชี่ยลตี้ สโตร์” เช่น ร้านขายยา ร้านขายสินค้าเด็ก, ร้านสุขภาพและความงาม, ร้านขายสินค้าสัตว์เลี้ยง, ไฮเปอร์ มาร์เก็ต, ห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านโชห่วย, ตลาดนัด ช่องทางออนไลน์ และการขายตรง

“จากสถิติเฉลี่ยนักช้อปไทยกลุ่มคนเมืองเลือกช่องทางเพื่อซื้อสินค้าประมาณ 5.4 ช่องทาง ต่อปี เป็นไปในทางเดียวกันกับกลุ่มอาเซียน”


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยอดบริโภคต่ำสุด รอบ7ปี เลิกช้อป เน้นสินค้าถูก

view