สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เพิ่มอาวุธองค์กรอิสระ สะเทือนการเมือง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่อยู่ในความสนใจไม่น้อย สำหรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

เรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

อย่างกระบวนการสรรหาก็ต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยคณะกรรมการสรรหาแบบเก่ามีองค์ประกอบ ได้แก่ 1.ประธานศาลฎีกา 2.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3.ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.ประธานสภาผู้แทนราษฎร 5.ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 6.บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และ 7.บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน

ส่วนของใหม่มีความเข้มข้นในสัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาที่มาจากสายตุลาการ ซึ่งประกอบด้วย 1.ประธานศาลฎีกา 2.ประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้านในสภา 3.ตุลาการในศาลปกครอง ที่ไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 4.บุคคลภายนอกที่มาจากการเลือกของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระองค์กรละหนึ่งคน

ขณะที่อำนาจหน้าที่ ปรากฏว่ามีหลายส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการให้องค์กรอิสระมีภารกิจร่วมกัน ซึ่ง กรธ.ได้มอบภารกิจที่ว่านั้นไว้สองเรื่อง

1.การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม โดยในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 192 บัญญัติว่า “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการและผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยธุรการขององค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้มีผลใช้บังคับ

ในการจัดทำต้องรับฟังความคิดเห็นของ สส. สว. และ ครม. ประกอบด้วย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับใช้แก่ สส. สว. และ ครม.ด้วย ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าการฝ่าฝืนจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง”

เดิมทีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่ควบคุมเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องการจัดทำประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรธ.จึงกำหนดสภาพบังคับของการควบคุมเรื่องจริยธรรมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยจะให้มีผลต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย หากเกิดกรณีที่มีนักการเมืองปฏิบัติที่เข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมทางการเมือง

2.การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอแนะการบริหารราชการแผ่นดินให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ และไม่ก่อให้เกิดผลในทางรูปธรรมเท่าไหร่ เนื่องจาก ครม.จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามก็ได้

ด้วยเหตุนี้ กรธ.ได้แก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 227 ให้องค์กรอิสระ 3 องค์กร คือ ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่ร่วมกันเสนอความเห็นไปยัง ครม. หากพบว่าการบริหารงานของ ครม.ในเรื่องใดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

“เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลัง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา

ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมร่วมกันเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย” เนื้อหาในมาตรา 227

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ได้รับภาระหน้าที่และอำนาจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการให้มีหน้าที่วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่สำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีสถานะเป็นปลายทางของการชี้ขาดในเรื่องต่างๆ ด้วย เช่น คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยจากการกระทำผิดจริยธรรมที่เข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

การเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระ เป็นความตั้งใจของ กรธ.ที่ต้องการให้มีกลไกอย่างเป็นทางการสำหรับควบคุมไม่ให้ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งจะเป็นประตูสู่การปฏิรูปประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม สถานะขององค์กรอิสระที่ได้รับเพิ่มขึ้นมานั้นไม่ต่างอะไรกับเหรียญสองด้าน ตรงนี้จะเป็นประเด็นให้ฝ่ายการเมืองในปัจจุบันนำไปเคลื่อนไหวระหว่างการทำประชามติว่ากำลังมีการสืบทอดอำนาจผ่านการออกแบบองค์กรอิสระ ดังจะเห็นได้จากท่าทีของสองพรรคการเมืองใหญ่ที่เริ่มไม่แฮบปี้กับร่างรัฐธรรมนูญที่ทยอยเปิดเผยออกมาเท่าไหร่นัก จึงเป็นสถานการณ์ลำบากที่ กรธ.ต้องเผชิญอีกครั้ง และต้องตัดสินใจให้ดีเพื่อไม่ให้การเมืองเกิดความขัดแย้งรุนแรง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เพิ่มอาวุธองค์กรอิสระ สะเทือนการเมือง

view