สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก.คลัง เตรียมบี้ข้าราชการ 6 หมื่นราย เบี้ยวจ่ายหนี้ กยศ. จ่อนำระบบภาษีมาใช้ติดตาม

ก.คลัง เตรียมบี้ข้าราชการ 6 หมื่นราย เบี้ยวจ่ายหนี้ กยศ. จ่อนำระบบภาษีมาใช้ติดตาม

จากประชาชาติธุรกิจ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังจะมีการเร่งรัดการบูรณาการเชื่อมโยงระบบภาษีของ 3 กรม คือ สรรพสามิต ศุลกากร และสรรพากร โดยการเชื่อมโยงดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดการรั่วไหลของภาษี ทำให้การจัดเก็บรายได้มากขึ้น และปิดทางกรณีโกงภาษีไม่ให้เกิดขึ้นอย่างในอดีตที่มีการโกงถึง 4-5 พันล้านบาทแล้ว ยังเป็นการดำเนินการเพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเปย์เมนต์ คาดว่าการบูรณาการนั้นจะแล้วเสร็จใน 6 เดือนข้างหน้า

"ในฐานะประธานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมเข้าไปดำเนินการกับข้าราชการทั่วประเทศที่เบี้ยวหนี้ กยศ.ประมาณ 6 หมื่นราย โดยในส่วนนี้เป็นคนคลังประมาณ 1 พันรายให้มาจ่ายหนี้โดยเร็ว รวมถึงจะมีการระบบภาษีของสรรพากรเพื่อให้คนกู้ กยศ.มาจ่ายหนี้ให้ตรงตามกำหนดด้วย" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว




ที่มา : มติชนออนไลน์


คลังทวงหนี้กยศ.2 ล้านรายยอด 5.6หมื่นล้าน จ่อออกกม.บังคับนายจ้างหักเงินส่งสรรพากร

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) กล่าวว่าได้ส่งหนังสือไปยังทุกส่วนราชการ รวมถึงรัฐวิสาหกิจทุกแห่งเพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบรายชื่อว่า มีข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดของตนเองเป็นบุคคลที่ค้างชำระหนี้เงินกู้แก่กยศ.หรือไม่ หากพบว่า มี ขอให้แจ้งบุคคลนั้นๆ เพื่อเข้ามาทำข้อตกลงในการชำระหนี้ โดยขอให้แจ้งความจำนงภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะมีการลงนามทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันไม่เกินปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยกยศ.จะให้เวลาในการเริ่มชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนนี้เป็นต้นไป

นายสมชัย กล่าวต่อว่าจากข้อมูลค้างชำระหนี้เงินกู้กยศ.จะพบว่า มีผู้ค้างชำระหนี้กยศ.จำนวนประมาณ 2 ล้านราย จากผู้กู้ทั้งหมด 4.5 ล้านราย ในจำนวนผู้ค้างชำระนี้ เป็นผู้ค้างชำระที่เป็นข้าราชการทั้งหมด 6 หมื่นราย ในจำนวนนี้ประมาณ 1 พันราย เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง และในจำนวนข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลังที่ค้างชำระหนี้ เป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพากรประมาณ 700 ราย

“การดำเนินงานติดตามหนี้เงินกู้นั้นกระทรวงได้ทำปูพรมไปทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนแห่งต่างๆด้วย และตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎหมายกองทุนกยศ. มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมหนี้กยศ. กำหนดให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างที่ค้างชำระหนี้เงินกู้กยศ.เพื่อนำส่งให้กยศ.ผ่านกรมสรรพากรพร้อมกันกับการนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ปลัดก.คลัง กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าในปัจจุบันมีผู้กู้กยศ.ค้างชำระ 2 ล้านรายมูลหนี้ 5.6 หมื่นล้านบาท อาทิ ผู้กู้ค้างชำระทั่วไปจำนวน 1.2 ล้านราย มูลหนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท ผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีจำนวน 7 แสนราย มูลหนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท

ที่มา มติชนออนไลน์


“ดาว์พงษ์” หึ่ม ครูเบี้ยวหนี้ ขู่โทษวินัย

โดย MGR Online

       ครม.ไฟเขียวมาตรการแก้หนี้ครู “ดาว์พงษ์” ฉะ สกสค.-แบงค์ เปิดช่องให้กู้ง่าย ระบุนายกฯกำชับก่อนช่วยครูให้ตรวจสอบด้วยว่าครูไม่ใช้หนี้เพราะไม่มีเงิน จริง หรือมีเงินแต่ส่อเบี้ยวหนี้ ถ้าเจตนาไม่ใช้หนี้ หึ่ม!ลงโทษทางวินัย
       
       พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยจะผ่อนปรนหนี้ให้ครูด้วยการนำเงินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครู และบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการ ศึกษา (สกสค.) ที่ใช้ค้ำประกันเงินกู้มาตั้งวงเงินในการรีไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งต่อไปครูที่เป็นหนี้และเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้ปรับลดเงินต้นลง ประมาณ 3-4 แสนบาท นั่นหมายความว่าจะทำให้การผ่อนส่งแต่ละงวดลดลง แต่จะปรับลดเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้แต่ละคนด้วย
       
       “มาตรการดังกล่าวลดภาระหนี้ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ สกสค.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารออมสินสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มาหารือแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครูรอบแรก แต่พบประเด็นปัญหาว่าที่ผ่านมา สกสค.และธนาคาร ปล่อยกู้ง่ายเกินเหตุ เช่น ปล่อยกู้วงเงิน 3 ล้านบาทโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้เพียงผู้ค้ำ10 คน ที่สำคัญผู้กู้และผู้ค้ำ ยังหมุนเวียนกันค้ำ อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดว่าผู้ค้ำต้องมีเงินเดือนมากกว่าผู้กู้หรือไม่ เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะเปิดช่องให้กู้ง่าย ถ้าต้นสังกัดมีการตรวจสอบบัญชีเหลือจ่ายอย่างเข้มข้นก็จะไม่เกิดปัญหานี้ แต่ที่ผ่านมาก็ทำงานลูบหน้าปะจมูกกันทั้งที่ในบัญชีไม่เงินเหลือแล้วก็ยัง ปล่อยกู้กันไป จนเกิดปัญหาสะสม ซึ่ง ศธ.ต้องมาแก้ไขปัญหานี้” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
       
       พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบว่าครูไม่ใช้หนี้ เพราะไม่สามารถชำระหนี้จริงหรือเปล่า หรือมีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ หากพบว่ามีเจตนาไม่ชำระหนี้ จะต้องพิจารณาให้ดำเนินการลงโทษทางวินัยด้วย เหมือนกับกรณีนักเรียนทุนไม่กลับมาใช้ทุนคนค้ำประกันก็เดือดร้อนไปด้วย จากนี้จะต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน


“คลัง” เตรียมปราบคอร์รัปชันในระบบราชการ เริ่มจากเคสเบี้ยวหนี้ “กยส.” 6 หมื่นราย

โดย MGR Online

      “คลัง” แฉ “ขรก.” เบี้ยวหนี้ “กยศ.” ยอดพุ่ง 6 หมื่นราย ลั่นการปราบปรามคอรัปชันในระบบราชการจะเริ่มจากเงินกู้ “กยศ.” ก่อนลุยจัดการทั้งระบบ
       
       นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้หน่วยงานราชการปลอดการทุจริตคอรัปชัน โดยจะนำร่องนโยบายในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อ การศึกษา (กยศ.) ลงนามร่วมกับทุกกระทรวงในวันที่ 15 ก.พ.นี้ เพื่อให้ข้าราชการที่ผิดสัญญาชำระเงินกู้ต่อ กยศ. ทั้งประเทศกว่า 60,000 ราย มาเข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเป้าหมายจะให้ข้าราชการกระทรวงการคลังที่ผิดชำระหนี้ต่อ กยศ. กว่า 1,000 ราย ปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จทั้งหมดในปีนี้
       
       ทั้งนี้ การดำเนินการต่อข้าราชการที่ผิดชำระเงินกู้ กยศ. จะเป็นการดำเนินการตามความสมัครใจ โดยข้าราชการที่เข้าร่วมโครงการจะถูกหักเงินจากบัญชีเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ ทันที และปรับโครงสร้างการชำระหนี้ตามความเหมาะสม ไม่เดือดร้อนในกรณีที่จ่ายเงินคืนทั้งก้อนให้กองทุนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะต้องไปพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ผู้ที่จ่ายคืนทั้งก้อนอาจจะมีเงินคืนบางส่วนให้ เป็นต้น
       
       “การปราบปรามคอรัปชันจะเริ่มจากเงินกู้ กยศ. ในส่วนของข้าราชการทั้งระบบ พบผู้ผิดนัดชำระกว่า 60,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก และต้องการเจรจาเคลียร์หนี้ทั้งหมดอย่างประนีประนอม แต่ในรายที่ไม่เข้าโครงการ และยังไม่ยอมชำระหนี้คืนซึ่งมีข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จะถือว่ามีความผิด มีโทษตามระเบียบราชการ และจะเอาผิดต่อไป” นายสมชัย กล่าว
       
       สำหรับการติดตามการชำระคืนเงินกู้ กยศ.ในปี 2559 ตั้งเป้าทำให้ได้ขั้นต่ำ 1.9 หมื่นล้านบาท หลังจากที่การชำระหนี้คืนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 มีการชำระคืน 1.1 หมื่นล้านบาท ปี 2557 ชำระคืน 1.3 หมื่นล้านบาท และปี 2558 ชำระคืน 1.7 หมื่นล้าน จากการออกมาตรการส่งเสริมการชำระคืน ปัจจุบันกองทุนปล่อยกู้ไปแล้ว 4.5 ล้านราย เป็นเงินปล่อยกู้ 4 แสนล้านบาท มีค้างชำระ 2 ล้านราย เป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท เป็นการค้างชำระในกลุ่มทั่วไป 1.2 ล้านราย วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท เป็นการค้างชำระที่อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย 1 แสนราย วงเงิน 7,000 ล้านบาท และเป็นการค้างที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง 7 แสนราย วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ก.คลัง เตรียมบี้ ข้าราชการ เบี้ยวจ่าย หนี้ กยศ. จ่อนำ ระบบภาษี มาใช้ติดตาม

view