สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เบื้องหลังการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สมาน สุดโต

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในอดีตราบรื่นไม่มีข้อกังขา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระเถระอาวุโสโดยพรรษา สละสิทธิในการเสนอชื่อเพื่อขอรับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ดังเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเล่าให้ฟังดังนี้

ร.อ.อดุลย์ รัตตานนท์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา เล่าเรื่องนี้ต่อหน้าพระพรหมเมธี (จำนงค์) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ และ พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการกิตติมศักดิ์ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เมื่อค่ำวันที่ 25
ม.ค. 2559

การที่ ร.อ.อดุลย์ ยกประเด็นเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 มาพูดในที่ประชุมวงเล็กๆ ที่กุฏิวัดสัมพันธวงศ์ เนื่องจากไปอ่านข้อเขียนเรื่อง ปลดล็อก ---สมเด็จพระสังฆราช โดย รุจิระ บุนนาค ในคอลัมน์โลกทัศน์ใหม่ แห่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงวันที่ 25 ม.ค. 2559 ซึ่งท่านอธิบดีอ่านแล้วอยากเขียนแก้เนื้อหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ในพารากราฟก่อนสุดท้าย ที่เขียนว่า

ในคราวที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ในปี พ.ศ. 2532 ได้มีสมเด็จพระราชาคณะที่มีพรรษาสูงสุดในตอนนั้น ไม่ขอรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แทน

ข้อความที่ท่านอธิบดี ในวัย 86 ปี ต้องการแก้ไข คือ สมเด็จพระราชาคณะที่มีพรรษาสูงสุดในตอนนั้น ไม่ขอรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งความเป็นจริงสมเด็จพระราชาคณะ มีลิขิตถึงอธิบดีกรมการศาสนาว่า ท่านขอสละสิทธิในการเสนอชื่อ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช (ย้ำ) ไม่ได้สละสิทธิตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

เบื้องหลังการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

ร.อ.อดุลย์ เล่าว่า ในชีวิตของท่านนั้นผ่านสมเด็จพระสังฆราชมา 6 องค์ เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจมบพิตร (องค์ที่ 14) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ (องค์ที่ 15) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม (องค์ที่ 16) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (องค์ที่ 17) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (องค์ที่ 18) และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร (องค์ที่ 19)

ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะอธิบดีกรมการศาสนา คือ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ท่านอธิบดี เล่าว่า เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 18 วันที่ 18 มี.ค. 2532 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องจัดเตรียมการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (มาตรา 7) ที่บัญญัติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น

แสวง อุดมศรี เขียนเล่าในเรื่องคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตอนหนึ่งว่า

สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

ภายหลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสนมหาเถระ) เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2532 แล้ว บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่สนใจในเรื่องของคณะสงฆ์ก็เริ่มวิจารณ์กันอย่างลึกๆ ว่า สมเด็จพระราชาคณะรูปใดควรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไป

ดุสิต โสภิตชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุบลราชธานี พรรคกิจสังคม ได้เสนอความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวันพาดหัวข่าวหน้า 1 ด้วยอักษรตัวไม้ว่า “สงฆ์เคลื่อนไหวตั้งสังฆราช 2 องค์” ซึ่งมีรายละเอียดของข่าว โดยสรุปว่า

พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอในภาคอีสานมีความเห็นสอดคล้องกันว่า สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ควรเป็นพระเถระจากฝ่ายมหานิกาย เพื่อสลับกันกับพระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เพราะสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่แล้วเป็นพระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

สมเด็จพระราชาคณะ ฝ่ายมหานิกาย 2 รูป ที่สมควรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่มี 2 รูป คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ ป.ธ.8) วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา

สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร และพระเถระในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ควรจะแสดงท่าทีสนับสนุนสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกายเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ก็ควรจะให้มีการเปิดซาวเสียงพระสงฆ์ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง

หากมีการตั้งสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช โอกาสที่จะมีการตั้งสมเด็จพระสังฆราช 2 องค์ ก็มีอยู่สูงมาก เพราะความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ตราไว้เพียงว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช” ไม่ได้ตราไว้ว่ากี่องค์หรือต้องสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เท่านั้น...

ส่วนมาตรา 10 เปิดช่องไว้ว่า ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในตอนนั้นสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสโดยพรรษามี 2 รูป คือ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุที่ท่านเกิดวันที่ 8 พ.ย. 2446อุปสมบทวันที่ 18 มิ.ย. 2466

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) วัดสามพระยา เกิดวันที่ 20 มี.ค. 2448 อุปสมบทวันที่ 20 มิ.ย. 2469

และสมเด็จพระญาณสังวร เกิดวันที่ 3 ต.ค. 2456 อุปสมบท (แปลงจากมหานิกาย เป็นธรรมยุต) วันที่ 15 ก.พ. 2476

เมื่อนับอาวุโสโดยพรรษา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) อาวุโสกว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) 3 พรรษา และสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) อาวุโสกว่าสมเด็จพระญาณสังวร 7 พรรษา

ถ้าดูตามนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) ต้องได้รับการสถาปนา

ร.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตอนนี้ตนทำเรื่องด้วยตนเอง และเป็นที่น่ายินดีที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) ท่านมีอุปนิสัยในการปรองดอง จึงมีลิขิตถึงอธิบดีกรมการศาสนา ลงวันที่ 20 มี.ค. 2532 ว่า ขอไม่รับการเสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ขณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) มีลิขิตลงวันที่ 21 มี.ค. 2532 ว่า ขอไม่รับการเสนอชื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน เรื่องก็จบลงโดยดี สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 จึงตกแก่สมเด็จพระญาณสังวร ด้วยประการฉะนี้

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ใช้เวลาสั้นๆ จากวันพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน วันที่ 18 มี.ค. 2532-21 เม.ย. 2532 ก็มีพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ยังมีประเด็นให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาก กาลเวลาจึงล่วงเลยมานาน นับแต่พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช วันที่ 16 ธ.ค. 2558 เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย คัดค้านที่จะให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง) ผู้อาวุโสโดยพรรษา และปฏิบัติหน้าที่ได้ ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แม้ว่ามหาเถรสมาคมลงมติไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2559 ก็ตาม

อดุลย์ พูดให้คิดว่า งานนี้ไม่มีปัญหา ถ้าทุกฝ่ายยึดกฎหมายเป็นหลัก


"พระพยอม"ชูปฏิรูปวงการสงฆ์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เอกชัย จั่นทอง

 

ภาพกลุ่มพระสงฆ์ออกมาชุมนุมเรียกร้องจนนำไปสู่ความรุนแรง ส่งผลให้เกิดรอยด่างพร้อยในวงการผ้าเหลือง หลายฝ่ายมองว่าพระควรจะอยู่ในธรรมวินัย การออกมารวมตัวเช่นนี้อาจไม่เหมาะสม ขณะที่บางกลุ่มเห็นด้วยและสนับสนุนการออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้อง โดยอ้างว่าปกป้องพระพุทธศาสนาห้ามใครมาย่ำยี

พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว  กล่าวว่า  มีความหนักใจกับภาพพจน์ของพระสงฆ์ในขณะนี้ เพราะภาพที่ออกมาเสียหายทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากมีพระสงฆ์ล็อกตัวเจ้าหน้าที่ทหารตรงนี้ไม่ทราบว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม นั่นถือเป็นด้านลบกับวงการสงฆ์ หากออกมาชุมนุมกันตามปกติก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
  
"พระพุทธเจ้าสรรเสริญคนที่ไม่ใช้ความรุนแรง สงสัยพระรูปนั้นไม่ได้ขออนุญาตพระพุทธเจ้าก่อน อาตมาจึงขอให้พระที่จะทำเช่นนั้นถามพระพุทธเจ้าก่อนว่า หากทำแบบนี้หรือล็อกตัวทหาร พระพุทธเจ้าจะว่าอย่างไร เชื่อว่าถ้าถามพระพุทธเจ้าสักนิดคงไม่เกิดภาพความเสียหายอย่างที่ผ่านมา" พระพยอม ระบุ

เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังอยู่  อย่างในอดีตพระพุทธเจ้าห้ามพระบางกลุ่มยังไม่เชื่อฟังเลย ตัวอย่างในเมืองโกสัมพีพระทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าเข้าไปห้ามแต่พระพวกนั้นกลับสอนพระพุทธเจ้าว่า "ขอพระองค์อยู่ให้เป็นสุขเถอะ พวกเราจะทำกันให้เห็นดำเห็นแดง" จึงขอฝากชาวพุทธอย่าไปคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้นเป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุและมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
 
สำหรับข้อเรียกร้องของพระบางกลุ่มที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลมาก้าวก่ายในทางธรรมนั้น พระพยอม มองว่า เรื่องนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ที่ศาสนาจะลอยตัวอยู่เป็นเอกเทศ หากรัฐบาลไม่อุ้มวงการศาสนา ไม่ทะนุบำรุง พระจะเอากำลังที่ไหนมาปกป้อง ดังนั้นจึงต้องมีบ้านเมืองค่อยอุปถัมภ์ ศาสนาลอยๆ ดูไม่มีผู้อุปถัมภ์ทะนุบำรุง จะอยู่ได้อย่างไร

"ตอนนี้อาจเรียกร้องไม่ต้องการให้รัฐมายุ่งเกี่ยวกับสงฆ์ แต่อีกระยะหนึ่งพอเกิดกรณีใหม่ขึ้นอาจจะขอให้รัฐช่วยอุปถัมภ์คุ้มครอง พอช่วงไหนที่เอาตัวไม่รอดก็จะเรียกร้องให้คุ้มครอง เป็นเรื่องธรรมดาแบบนี้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนไว้แล้ว แต่จู่ๆ จะมาถึงจุดยุติไม่เกี่ยวข้องรัฐโดยเหตุผลแค่นี้เป็นไปไม่ได้"

พระพยอม กล่าวว่า การปฏิรูปศาสนาต้องทำอยู่แล้ว ศาสนาก็อยู่ด้วยบ้านเมือง ถ้าบ้านเมืองอยากทำ มหาเถรสมาคม (มส.) จะไปคัดค้านได้หรือ  หากออกมาคัดค้านเชื่อว่าก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะคงต้องมีจุดจบวันหนึ่ง ในเมื่อภาพเหตุการณ์ความรุนแรง คือตัวเร่งเร้าที่ต้องทำให้เกิดการปฏิรูป แทนที่เขาจะไม่ต้องปฏิรูป เพราะถ้าไม่ปฏิรูปภาพแบบนี้ก็จะเกิดซ้ำซากอีก จะต้องทำกันอย่าไปวิตกกังวล

ตอนนี้อยู่ที่รัฐบาล ถ้าหากวางตัวและตัดสินไม่ดี หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะเกิดความวุ่นวาย แล้วถ้าเข้าข้างฝ่ายหนึ่งแล้วไปกดขี่อีกฝ่ายอันนี้จะลำบาก รัฐต้องเชิญตัวแทนฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายกลางที่เป็นนักปราชญ์ทางศาสนา มาพูดคุยกัน แล้วรัฐบาลก็ออกมาชี้แจงกับประชาชนว่ารัฐบาลขอตัดสินใจแบบนี้ เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นแบบนี้ จึงต้องตัดสินใจแบบนี้ คิดว่าดีที่สุด เนื่องจากใครเป็นรัฐบาลก็ลำบากเมื่อเจอสภาพแบบนี้ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

"ประชาชนจะเห็นใจรัฐบาล ถ้ารัฐบาลวางตัวเป็น กลาง แล้วใช้นักปราชญ์ทางศาสนาเข้ามาช่วยคิด ช่วยชี้แจง ช่วยกันพูด  แล้วหากฝ่ายใดไม่ยอมรับก็จะเป็นผู้พ่ายแพ้ศรัทธาทางสังคม ส่วนฝ่ายที่ยอมรับถึงแม้จะแพ้แต่ก็ชนะใจประชาชนว่ารู้จักยอมหยุด"

นอกจากนี้ การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ที่ยังเป็นปัญหาอยู่นั้น พระพยอม กล่าวว่า อยากให้มองว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ไม่มีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชมาหลายปี ก็อยู่กันได้

"ขอให้คิดดูระหว่างความสงบกับการมีสังฆราช ถ้ามีสังฆราชแล้วสังคมไม่สงบ กับถ้าสังคมเกิดความสงบโดยที่ไม่มีการตั้งสังฆราช อย่างหลังก็น่าจะดีกว่า"

ด้าน ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ประธานโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า พระที่ออกมาชุมนุมนั้นมีความเก็บกดเนื่องจากเกิดความไม่เป็นธรรมในวงการสงฆ์ ทั้งนี้หากมองแค่มุมพระออกมาชุมนุมคงไม่เป็นธรรม เราต้องดูที่ข้อเรียกร้องว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างบางข้อที่ต้องการให้มีการตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ตรงนี้ควรทำตาม พ.ร.บ.สงฆ์

"กลับกันภาพที่ออกมานั้นถือว่าไม่เหมาะสมทั้งสองฝ่าย มุมที่ทหารทำกับพระก็ดูรุนแรงเหมือนกัน ส่วนเรื่องการปฏิรูปนั้นควรดำเนินการอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมามีพระสงฆ์ออกมาชุมนุมทางการเมืองมากขึ้น ยังไงสังคมพระก็ต้องมีการพึ่งพารัฐ  ยกเว้นคณะสงฆ์จะปลดแอกตัวเองออกจากรัฐ รัฐก็เข้าไปแทรกแซงไม่ได้ แต่ในความจริงรัฐกับศาสนามีความสัมพันธ์มายาวนาน"

ผู้เชี่ยวชาญศาสนศึกษา กล่าวว่า  ถ้าเราเคารพกฎกติกาทุกเรื่องก็จะสงบ กรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ทางมหาเถรสมาคม (มส.) ได้ข้อสรุปแล้ว แต่ขณะนี้คนที่ตกลงกันไม่ได้คือคนนอกวงการ หรือเป็นลูกศิษย์ ที่ต่างฝ่ายก็เชียร์ฝั่งตัวเอง ซึ่งถ้าเราเคารพกฎก็ต้องว่ากันไปตามกฎ ส่วนความถูกใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  มิฉะนั้นบ้านเมืองเดินไปไม่ได้ ทั้งนี้พระสงฆ์ถือเป็นพลเมืองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจะยึดพระธรรมวินัยอย่างเดียวไม่ได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เบื้องหลัง การสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19

view