สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤต "การบิน" บอกอะไร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ร้อนแรงต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ที่ผ่านมา กรณีปัญหาสายการบินนกแอร์ ยกเลิกเที่ยวบิน ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนนักบิน และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินของไทยที่โผล่ขึ้นมาอีกปมหนึ่ง

ขณะที่ "ปมเก่า" จากปัญหา "ใบแดง" ที่ ICAO (International Civil Aviation Organization) หรือ "องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ" ได้ไล่บี้ ประกาศ "ลดอันดับ" ความน่าเชื่อถือ ด้านความปลอดภัยด้านการบินของไทย

ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งแก้ เร่งล้วงในการปรับองคาพยพปัญหาภายใน

เพราะ ICAO เป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวางระเบียบข้อบังคับ สำหรับกิจกรรมการบินระหว่างประเทศ ฉะนั้นประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามกฎ

โดยเฉพาะการผ่าตัดใหญ่ "กรมการบินพลเรือน" สังกัด "กระทรวงคมนาคม" ออกเป็น 2 ส่วน ด้วยการ 1.จัดตั้ง "สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)" ขึ้นเป็นองค์กรอิสระ ไม่ต้องอยู่ภายใต้ระบบราชการ และ 2.การจัดตั้ง "กรมท่าอากาศยาน" เพื่อดูแลสนามบินที่กรมการบินพลเรือนรับผิดชอบอยู่ รวมถึงฝึกอบรม เพื่อแก้มาตรฐานของบุคลากรด้านต่าง ๆ



ความพยายามของกระทรวงคมนาคมในการเร่งเครื่องแก้ปัญหา เพื่อหวังนำไปสู่การปลดล็อก "ใบแดง" ให้ได้ภายในปี 2560 ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของผู้โดยสารทั่วโลกที่มาใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงอุ่นใจมากขึ้น

แต่ในทางตรงกันข้าม "ผู้มีรายได้ปานกลาง" และ "รายได้น้อย" ที่มาใช้บริการ "รถโดยสารสาธารณะ" ซึ่งมี 2 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมดูแล อย่าง "กรมการขนส่งทางบก" ซึ่งดูแลเรื่องมาตรฐานการขับขี่อย่างปลอดภัย และ "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" หรือ ขสมก. ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการรถเมล์ รวมถึงควบคุมดูแล "รถร่วมบริการ" และ "รถตู้โดยสาร" กลับยังไม่ได้รับการเหลียวแล !

สมมุติหากมี ICAO ระหว่างประเทศ มาตรวจสอบเรื่องความน่าเชื่อถือด้าน "มาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางบก" ภายในประเทศไทย คิดว่า การประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือด้าน "ความปลอดภัย" การขนส่งทางบกของประเทศไทย วันนี้ แค่ "ใบแดง" น้อยไปหรือไม่ ?

เพราะหากวัดจากสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ถึงขั้นมีการจัดลำดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศ 1 ใน 3 อันดับแรกของโลกที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด ! มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการโดยสารรถเมล์ และโดยเฉพาะการโดยสารรถร่วม การโดยสารรถตู้สาธารณะ ซึ่งได้รับการร้องเรียนต่อปี 3,000-4,000 สาย เข้าไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของหลายหน่วยงาน มีอุบัติเหตุนำไปสู่การบาดเจ็บ การเสียชีวิตมากมาย จากที่หลายหน่วยงานเก็บข้อมูลไว้

น่าจะถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาล ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงตำรวจ จะ "ผ่าตัดใหญ่" หน่วยงานด้านการขนส่งทางบกของไทย ?

ถึงเวลาลืมตาขึ้นมาเผชิญกับข้อเท็จจริง ไม่ใช่พิจารณาการแก้ปัญหาจากการรายงานบนเศษกระดาษเสียทีดีมั้ย !

ลองปลอมตัวมานั่งรถเมล์ รถร่วมบริการของ ขสมก. รวมถึงวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่วิ่งฝ่าไฟแดงกันทุกวัน สักครั้งเป็นไร !

หรือการไร้ซึ่งมาตรฐานความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยอย่างสิ้นเชิงในชีวิตของ "คนรายได้น้อย" มันไร้ค่า ! ปัญหาถึงไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมเสียที !

โดยเฉพาะปัญหารถร่วมบริการ รถตู้โดยสารสาธารณะ รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งคนขับ 99.99% ไม่เคยคำนึงถึงชีวิตของผู้โดยสาร ขับรถผิดกฎจราจร แข่งแซงตัดหน้ากันไปมา เพื่อทำเวลา ! เพื่อทำเงิน !

ทำให้ทุกวันนี้ หลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า แค่ "รอดชีวิต" กลับถึงบ้านได้ในแต่ละวัน ก็เป็นบุญแล้ว !!


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิกฤตการบิน บอกอะไร

view