สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ : จุดเริ่มต้นของรัฐแห่งการพัฒนา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สิงคโปร์หลากมิติ โดย ดร.มณเฑียร สติมานนท์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงเวลา 50 ปีนับจากแยกตัวจากมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์สามารถพัฒนาประเทศโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่เปลี่ยนแปลงตนเองจากประเทศโลกที่สามเป็นประเทศโลกที่หนึ่งได้ในช่วงเพียงสองช่วงอายุคน

จากสถิติของธนาคารโลกพบว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเติบโตโดยเฉลี่ยถึงเกือบร้อยละ 10 ซึ่งเรียกได้ว่าเกือบสูงที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในศตวรรษที่ 20 และทัดเทียมประเทศที่เคยผ่านช่วงเวลาของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในอดีต อาทิ เดนมาร์ก สวีเดน แคนาดา และเนเธอร์แลนด์

การพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือเกิดจากความสามารถของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงบุคคลเดียว แต่เกิดมาจากหลายสาเหตุที่สำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นไปที่การ เจริญเติบโตเป็นหลักอย่างสิงคโปร์และการพัฒนาในด้านสังคมศิลปวัฒนธรรม เมือง และการศึกษาเป็นส่วนเสริมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย



ใน บริบทของวิชาเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจหรือวิชาว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ นับเป็นสาขาวิชาที่ค่อนข้างใหม่ โดยได้ขยายออกมาจากแนวคิดดั้งเดิมของเศรษฐศาสตร์ในการสร้างความมั่นคงของ ชาติที่มุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์รายได้ประชาชาติเพียงอย่างเดียวอย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่สอง โดยเฉพาะภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประชากรส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจโลกประสบปัญหาความยากจน การขาดแคลนอาหาร การรู้หนังสือและการศึกษา ความเสื่อมโทรมของโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ที่ถูกทำลายหลังจากสงคราม และการมีสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ในกรณีของสิงคโปร์ การพัฒนาเศรษฐกิจอาจสามารถเริ่มนับตั้งแต่ยุคอาณานิคมที่ถูกปกครองโดยโปรตุเกส และฮอลันดา เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1819 เป็นต้นมา โดยการพัฒนาในรูปแบบของ เมืองท่าขนส่งสินค้า ที่สำคัญ และ ฐานทัพเรือ ของจักรวรรดิอังกฤษ เนื่องจากไม่สามารถใช้ท่าเรืออื่น ๆ ในภูมิภาคที่ถูกยึดครองโดยฮอลันดาได้ การเป็นเมืองท่าที่สำคัญในจุดยุทธศาสตร์ และการอยู่ภายใต้ปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ ทำให้สิงคโปร์และผู้อยู่อาศัยในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนมาเลย์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ หรือคนจีนอพยพได้ประโยชน์จากเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท่าเรือของจักรวรรดิอังกฤษ นอกจากนี้ ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษตั้งแต่ปี 1819-1942 ทำให้สิงคโปร์มีข้อได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคในแง่ของผลผลิตภายในประเทศที่สูง

อย่างไรก็ตาม สภาวะดังกล่าวรวมทั้งอิทธิพลของจักรวรรดิอังกฤษได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ เมื่อกองกำลังของจักรวรรดิพ่ายแพ้และยอมจำนนต่อการรุกรานของจักรวรรดิ ญี่ปุ่นในปี 1942 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหลังจาก สิงคโปร์กลับมาสู่อาณัติของอังกฤษ หลังการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1942-1945 การปกครองสิงคโปร์ของประเทศญี่ปุ่นมีทั้งการกวาดล้างชนชาติจีนที่น่าจะเป็น ปฏิปักษ์ของกำลังทหารญี่ปุ่นทั่วทั้งคาบสมุทรมลายูภาวะเงินเฟ้อและสินค้าขาด แคลนรวมทั้งความพยายามครอบสิงคโปร์โดยวัฒนธรรมและระบบการศึกษาและโรงเรียน ของจักรวรรดิญี่ปุ่น

การถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นและการพ่ายแพ้ของอังกฤษ ได้จุดประกายให้เกิดกระแสชาตินิยมและความต้องการปลดแอกออกจากการเป็นอาณานิคม

การพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์หลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษอาจนับได้ตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคPAP และพรรคคอมมิวนิสต์ของ ลี กวน ยู ในปี 1959 อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศรัฐบาลของลี รวมทั้งตัวลีเองยังคงมีความเชื่อที่ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการพึ่งพาประเทศอื่น ดังคำกล่าวของลีในปี 1957 ที่ว่า "the idea of an independent Singapore was a "political, economic, and geo-graphical absurdity" นั่นคือ เศรษฐกิจสิงคโปร์ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ การจ้างงาน และตลาด ไม่ว่าจะเป็นจากการยึดครองของอังกฤษ หรืออีกนัยหนึ่งการที่คณะรัฐบาลภายใต้การนำของลี ผลักดันให้มีการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐมลายู เพื่อพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและตลาดสินค้าในมาเลเซีย

มูลเหตุหลักที่ทำให้ลีและผู้นำทางการเมืองของสิงคโปร์ในช่วงนั้นเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ เนื่องจากความขาดแคลนทรัพยากรของสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่ดินที่มีเพียง 580 ตารางกิโลเมตร ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือทุน รวมทั้งโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ถูกทำลายไปเป็นส่วนใหญ่จากภาวะสงคราม รวมทั้งสิงคโปร์ต้องพึ่งพาตลาดภายนอกที่เป็นหลักโดยเฉพาะในด้านอาหาร พลังงาน และน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และท้ายที่สุดการที่คนสิงคโปร์ประสบปัญหาการว่างงาน และภาวการณ์ทำงานที่นำไปสู่การประท้วงของแรงงาน ที่มีจำนวนบ่อยครั้งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 และต้นทศวรรษที่ 1960

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจโดยการพึ่งพิงทรัพยากรของประเทศอื่น ๆ กลับไม่สามารถอยู่ได้อย่างจีรังยั่งยืน เมื่อความขัดแย้งทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และวิธีการปกครอง ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์นำไปสู่การที่สิงคโปร์ได้รับการโหวตด้วยคะแนน 126-0 เพื่อให้แยกออกจากสาธารณรัฐมลายูในปี 1965 ได้ตัดความเชื่อมโยงของสิงคโปร์กับทรัพยากรในมาเลเซีย นอกจากนี้ นโยบายเผชิญหน้า (confrontasi) ของอินโดนีเซียในช่วงทศวรรษ 1960 ทำให้สิงคโปร์แทบจะถูกโดดเดี่ยวออกจากทรัพยากรที่จำเป็นเพิ่มขึ้นไปอีก และที่สำคัญ การประกาศการถอนกำลังทหารของอังกฤษออกจากสิงคโปร์ในปี 1968 ทำให้ปัญหาการว่างงานพุ่งสูงขึ้นไปอีก พร้อมทั้งทำให้เศรษฐกิจในสิงคโปร์หดตัวไปถึงร้อยละ 20

การขาดแคลนทั้งทรัพยากรและความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศ กลับกลายเป็นแรงผลักให้รัฐบาลของลี กวน ยู จำเป็นต้องสร้าง พันธมิตร ที่ทั้งมีความกว้างและลึก (broad and deep coalition) ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน และพรรคคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ เพื่อก้าวข้ามความขาดแคลนและความเปราะบางของประเทศ เนื่องจากคนในยุคของลี กวน ยู โดยเฉพาะครอบครัวของลีที่เป็นผู้มีฐานะในสิงคโปร์ ดังจะเห็นได้จากการที่เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 1950 รวมทั้งคนสิงคโปร์ทั้งที่มีฐานะและไม่มีฐานะ ล้วนผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการยึดครองของญี่ปุ่น สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโต และเป็นหนึ่งในตัวแบบของรัฐแห่งการพัฒนา ที่เทียบเคียงได้กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 1960 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญและตรงกันข้ามกับความรู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยนั้น ได้แก่ การปรับฐานนโยบายเศรษฐกิจจากการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าไปเป็นการผลิตเพื่อส่งออก การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ทุนระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม

ความขาดแคลน ความเปราะบางของประเทศ และการยึดโยงกับทรัพยากรภายนอก รวมทั้งความกลัวสถานการณ์ความยากลำบากในช่วงการยึดครองของประเทศญี่ปุ่น เป็นแรงผลักที่สำคัญของคนสิงคโปร์ในยุคของลี กวน ยู ในการพัฒนาประเทศเพื่อให้ผ่านพ้นความกลัว และก้าวข้ามปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้เป็นแค่การดำเนินนโยบายเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญหลักที่ทำให้สิงคโปร์สามารถเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจในช่วงปี 1960-1970 ได้

ก็คือการเผชิญปัญหาที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การปรับแก้ไขแผน การประสานแผน และการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ จุดเริ่มต้นของรัฐ การพัฒนา

view