สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกตะลึงแฟ้มลับ ปานามา เปเปอร์ส แฉกลโกง ผู้นำประเทศ-คนดัง ซุกเงินเลี่ยงภาษี

โลกตะลึงแฟ้มลับ “ปานามา เปเปอร์ส” แฉกลโกง “ผู้นำประเทศ-คนดัง” ซุกเงินเลี่ยงภาษี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกวงการก็ ว่าได้ เมื่อสื่อมวลชนตะวันตกออกมาตีแผ่แฟ้มเอกสารลับกว่า 11 ล้านฉบับของบริษัทกฎหมายปานามา “มอสแซ็ก ฟอนเซกา” (Mossack Fonseca) ซึ่งเปิดโปงพฤติกรรมทุจริตซุกเงินเลี่ยงภาษีของบุคคลระดับผู้นำประเทศ และผู้มีชื่อเสียงหลากหลายวงการ และทำให้ทางการทั่วโลกต้องเร่งตรวจสอบกิจกรรมทางการเงินออฟชอร์ของบรรดามหา เศรษฐีและผู้มีอิทธิพล
       
       สื่อมวลชนกว่า 100 สำนักได้ร่วมกันตรวจสอบชุดเอกสารของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายที่มีฐานในปานามา และมีสำนักงานตั้งอยู่ใน 35 ประเทศทั่วโลก หลังจากหนังสือพิมพ์ ซุดดอยต์ช ไซตุง ของเยอรมนีได้รับเอกสารชุดนี้มาจากแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อ และได้แบ่งปันให้แก่สื่อมวลชนทั่วโลกผ่านทางสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานา ชาติ (International Consortium of Investigative Journalists - ICIJ)
       
       เจราร์ด ไรล์ ผู้อำนวยการ ICIJ ชี้ว่า เอกสารชุดนี้เป็นบันทึกการทำธุรกิจของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา แบบวันต่อวันตลอดระยะเวลา 40 ปี และแม้ธุรกรรมการเงินส่วนใหญ่กระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทว่าการตีแผ่ข้อมูลในครั้งนี้ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบทางการเมืองไม่น้อยต่อ บุคคลที่ถูกอ้างถึง
       
       เอกสารชุดนี้ได้เปิดโปงถึงกลวิธีสารพัดที่บรรดาคนรวยใช้ซุกซ่อน ทรัพย์สินไว้ในต่างแดนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี โดยมีนักการเมืองของประเทศต่าง ๆ ถูกอ้างถึงรวม 143 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคคลระดับผู้นำประเทศถึง 12 คน รวมถึงญาติมิตรและคนสนิทของพวกเขา
       
       แม้การมีทรัพย์สินอยู่ในบริษัทต่างชาติจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในตัว ของมันเอง แต่เอกสารชุดนี้ก็อาจถูกใช้เป็นหลักฐานเปิดโปงการเลี่ยงภาษี การฟอกเงิน การหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมในรูปแบบอื่น ๆ
       
       ชุดเอกสารของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ได้ระบุชื่อสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของจีน (Politburo Standing Committee) ทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างน้อย 8 คน นอกจากนี้ ยังมีชื่อของ “เติ้ง เจียกุย” พี่เขยของประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ซึ่ง ไปเปิดบริษัท 2 แห่งไว้ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จินเมื่อปี 2009 โดยขณะนั้น สี่ ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง และยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดี
       
       บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1987 - 1998 ก็มีชื่ออยู่ในเอกสารปานามา เปเปอร์ส ด้วยเช่นกัน

       สำนักข่าวสารของคณะรัฐมนตรีจีนจะยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลใน “ปานามา เปเปอร์ส” ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งก็ใช้มาตรการ “เซ็นเซอร์” อินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่พาดพิงถึงคณะผู้นำจีน
       
       หนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อแทบลอยด์ทรงอิทธิพลในเครือเดียวกับ พีเพิลส์ เดลี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ลงบทบรรณาธิการกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า ใช้อิทธิพลครอบงำสื่อตะวันตก และนำเอกสารรั่วไหลเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือโจมตีประเทศที่มิใช่ตะวันตก
       
       “สื่อตะวันตกมักจะผูกขาดการตีความทุกครั้งที่มีการเปิดโปงชุดเอกสาร เช่นนี้ออกมา และวอชิงตันก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งในเรื่องนี้... ข้อมูลใด ๆ ก็ตามที่เป็นผลเสียต่อสหรัฐฯ จะถูกปกปิด แต่ถ้าเกี่ยวกับผู้นำที่มิใช่ยุโรป เช่น ประธานาธิบดีปูติน จะถูกกระพือข่าวเสียใหญ่โต”
       
       เอกสารยังได้เปิดโปงเครือข่ายฟอกเงินมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ที่พัวพันไปถึงคนสนิทของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน โดยกระทำผ่านธนาคารรอสสิยา ซึ่งถูกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคว่ำบาตรหลังจากที่มอสโกใช้กำลังผนวกคาบสมุทรไครเมีย

       เงินทุนเหล่านี้ถูกยักย้ายถ่ายโอนผ่านบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ในจำนวนนั้นเป็นบริษัท 2 แห่งของ เซียร์เก โรลดูกิน นักดนตรีอาชีพซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่แนะนำให้ ปูติน ได้รู้จักและแต่งงานกับ “ลุดมิลา” ทั้งยังเป็นพ่อทูนหัวของ “มาเรีย” ลูกสาวคนโตของผู้นำแดนหมีขาว
       
       แม้ไม่มีชื่อของผู้นำเครมลินปรากฏอยู่ในบันทึกใด ๆ ทว่าข้อมูลที่แพร่ออกมาก็เปิดเผยสายสนกลในที่สหายของ ปูติน ใช้โกยเงินนับล้านจากข้อตกลงที่ดูเหมือนจะไม่มีทางเป็นไปได้ หากไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากเขา
       
       นายกรัฐมนตรี ซิกมุนดูร์ เดวิด กุนน์ลอจสัน แห่งไอซ์แลนด์ก็ เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกพาดพิงถึง และกลายเป็นเหยื่อรายสำคัญจากพิษของ ปานามา เปเปอร์ส หลังจากที่เขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากทนแรงกดดันไม่ไหว
       
       กุนน์ลอจสัน และ ภริยา ถูกกล่าวหาว่าซุกซ่อนเงินลงทุนหลายล้านดอลลาร์ไว้ในธนาคารไอซ์แลนด์ในช่วง ที่เกิดวิกฤตการเงิน โดยทำธุรกรรมผ่านบริษัทนอกประเทศแห่งหนึ่ง เอกสารระบุว่า กุนน์ลอจสัน และภริยาได้ซื้อบริษัท วินทริส (Wintris) เอาไว้เมื่อปี 2007 และไม่ได้สำแดงบัญชีระหว่างที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาเมื่อปี 2009 ต่อมาอีก 8 เดือนเขาก็ได้ขายหุ้นวินทริสให้แก่ภริยา ในราคาเพียงหุ้นละ 1 ดอลลาร์
       
       กุนน์ลอจสัน ยืนกรานว่า ไม่เคยซุกทรัพย์สินไว้ในต่างแดน พร้อมอ้างว่าภรรยาได้รับมรดกจากพ่อ และได้ทำการเสียภาษีในไอซ์แลนด์แล้ว

       ประธานาธิบดี เมาริซิโอ มากรี แห่งอาร์เจนตินา ซึ่ง เข้ารับตำแหน่งหมาด ๆ เมื่อเดือน ธ.ค. พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะต่อสู้ปัญหาคอร์รัปชันและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับบิดาและน้องชายก่อตั้งบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งที่จด ทะเบียนในบาฮามาส แต่ มากรี ก็ยืนยันว่า “ไม่มีอะไรผิดปกติ” และได้ชี้แจงบัญชีทรัพย์สินต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลภาษีแล้ว
       
       เอกสารของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ยังอ้างว่าบิดาของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ได้ ไปเปิดบริษัทกองทุนในต่างประเทศ และหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในอังกฤษมานานถึง 30 ปี แต่ผู้นำอังกฤษก็ออกมายืนยันความบริสุทธิ์ พร้อมระบุว่าไม่ได้ถือหุ้นหรือมีกองทุนนอกประเทศ รวมทั้งยืนยันว่า ตนเอง ภรรยา และบุตร ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ จากกองทุนนอกประเทศ ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษชี้ว่า ครอบครัว คาเมรอน จะยังครอบครองเงินทุนในต่างแดนอยู่หรือไม่ถือเป็น “เรื่องส่วนตัว” และไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองทุนนี้บริหารงานอย่างผิดกฎหมาย หรือมีการหนีภาษีเกิดขึ้น
       
       ทางด้านนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถานก็ ติดร่างแหข่าวฉาวนี้ด้วยเช่นกัน โดยบุตร 3 ใน 4 คนของเขา รวมถึง “มัรยัม” ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นทายาททางการเมือง ถูกอ้างว่าถือครองอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนผ่านบริษัทต่างชาติที่บริหาร งานโดย มอสแซ็ก ฟอนเซกา
       
       นอกจากนักการเมืองแล้ว แฟ้มลับ ปานามา เปเปอร์ส ยังได้อ้างถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในแวดวงกีฬาและบันเทิง อาทิ “ลีโอเนล เมสซี” ศูนย์หน้าดาวยิงทีมอาร์เจนตินา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกับบิดา ฮอร์เก เมสซี ก่อตั้งบริษัท เมกา สตาร์ เอนเทอร์ไพรส์ อิงค์ ในปานามา ซึ่งเป็นบริษัทเปลือก (shell company) ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยถูกทางการสเปนตรวจสอบการจ่ายภาษี
       
       ครอบครัวของ เมสซี อ้างว่า “บริษัทในปานามาที่ถูกอ้างถึงไม่ได้มีการทำธุรกรรมใด ๆ ไม่เคยมีเงินทุน และไม่ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ด้วย”

        ซูเปอร์สตาร์ฮ่องกง “เฉิน หลง” ก็ถูกเปิดโปงเช่นกันว่ามีบริษัทอย่างน้อย 6 แห่งที่มอบหมายให้ มอสแซ็ก ฟอนเซกา เป็นตัวแทน ขณะที่ “อมิตาภ พัจจัน” ดาราระดับตำนานของวงการภาพยนตร์อินเดีย หรือ “บอลลีวูด” ก็มีชื่อเป็นกรรมการของบริษัทเดินเรือซึ่งจดทะเบียนออฟชอร์อย่างน้อย 4 แห่ง
       
       เอกสารของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ยังระบุชื่อคนไทย 21 คน และอีก 963 บริษัทที่อาจเข้าข่ายมีพฤติกรรมฟอกเงิน โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจและอดีตนักการเมืองดัง เช่น มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัทหลักทรัพย์ เมย์ แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด, พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม, บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล, สุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร, คุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร, บี เตชะอุบล, สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ และ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) เป็นต้น
       
       พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยืนยันว่า ปปง. กำลังเร่งดำเนินการประสานงานไปยังแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จ จริงและความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดก่อน เพราะ ปปง. มีการประสานงานและบูรณาการข้อมูลกับเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการฟอก เงินข้ามชาติทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ หากประเทศใดพบข้อมูลการฟอกเงินของกลุ่มบุคคลใดก็จะมีการส่งข้อมูลที่เกี่ยว ข้องมายังประเทศที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ๆ หรือรายงานข้อมูลให้รับทราบ
       
       บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 5 เม.ย. ยืนยันว่า ตนเอง “ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยติดต่อ ไม่เคยใช้บริการใด ๆ” จาก มอสแซ็ก ฟอนเซกา และไม่เคยมีนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้นในปานามา

      สำหรับ มอสแซ็ก ฟอนเซกา นั้น เป็นผู้ให้บริการก่อตั้งและดูแลบริษัทการค้านอกประเทศ (offshore companies) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยจะเก็บค่าบริการเป็นรายปี
       
       บรรดาเศรษฐีที่ใช้บริการบริษัทกฎหมายแห่งนี้มักจะอาศัย “คนกลาง” หรือ “ตัวแทน” ในการติดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ เลขานุการ, ทนายความ, ธนาคาร หรือบริษัททรัสต์
       
       จากข้อมูลของสื่อที่ได้เห็นแฟ้มเอกสารลับชุดนี้ พบว่า มอสแซ็ก ฟอนเซกา มีบริษัทออฟชอร์ที่อยู่ในความดูแลมากกว่า 300,000 แห่ง และมีความเชื่อมโยงกับ “สหราชอาณาจักร” มากเป็นพิเศษ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ถูกจดทะเบียนในแหล่งเลี่ยงภาษีที่อยู่ภายใต้อธิปไตย ของสหราชอาณาจักร เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เกาะเคย์แมน ดินแดนปกครองตนเองเจอร์ซีย์ และแม้แต่ในอังกฤษเอง
       
       สำหรับคำถามที่ว่า บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในเอกสารลับชุดนี้เข้าข่าย “ทุจริต” ทุกคนหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ใช่” เนื่องจากลูกค้าส่วนหนึ่งเลือกใช้บริการ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เช่น กรณีของนักธุรกิจในรัสเซียและยูเครนที่มักจะนำทรัพย์สินไปฝากไว้ต่างแดน เพื่อป้องกันอันตรายจากพวกอาชญากร และลดข้อจำกัดจากสกุลเงินแข็ง ขณะที่บางรายก็เลือกเปิดกิจการออฟชอร์ด้วยเหตุผลด้านมรดกและการวางแผนส่งมอบ ธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลบางพวกที่อาศัยโครงสร้างบริษัทออฟชอร์ที่สามารถปกปิดตัวตนของเจ้า ของที่แท้จริงในการเลี่ยงภาษี และฟอกเงิน
       
       รามอน ฟอนเซกา หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา ยืนยันผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) ว่า บริษัทไม่เคยทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้นตลอดระยะเวลา 40 ปี และได้ตกเป็นเหยื่อการ “แฮก” ข้อมูลแบบจำกัด แต่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว


เบื้องลึก เบื้องหลัง "เอกสารลับปานามา"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

ในทุกเรื่องที่มีการเปิดเผยออกมา ต้องมีเบื้องหลัง มีที่ไปที่มาเป็นของตัวเอง กรณี “ปานามา เปเปอร์ส” ก็เช่นเดียวกัน

น่า สนใจที่เรื่องใหญ่โตมหึมาชนิดที่สะเทือนแวดวงการเมืองและธุรกิจไปครึ่งค่อน โลกอย่างเช่นกรณีนี้ เริ่มต้นอย่างเล็กๆ เรียบง่าย ด้วยข้อความบรรทัดเดียว สั้นๆ ไปยังหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเยอร์มนี “ซูดดอยตช์ ไซตุง” เมื่อตอนปลายปี 2014

“สวัสดี นี่คือ จอห์น โด สนใจข้อมูลไหม?”

นั่นคือข้อความที่ “บุคคลนิรนาม” ส่งถึง “บาสเตียน โอแบร์มายเออร์” ผู้สื่อข่าววัย 38 ปีของ ซูดดอยตช์ ชื่อ “จอห์น โด” ที่บุคคลผู้นั้นใช้บ่งบอกอย่างชัดแจ้งถึงความต้องการปกปิดตัวตนที่แท้จริง ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นความคุ้นเคยอย่างหนึ่งของบาสเตียน เขาไม่คิดอะไรมากตอบตกลงไปทันที…สนซิ

อีกสองสามข้อความที่ได้รับกลับมา เร้าความสนใจของบาสเตียนขึ้นแบบพรวดพราด

จอห์น โด ยินดีที่จะให้ “ข้อมูล” แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข

“ชีวิตฉันกำลังอยู่ในอันตราย เราจะพูดคุยกันผ่านโปรแกรมแชตด้วยไฟล์เข้ารหัสเท่านั้น ไม่มีการพบกัน-เด็ดขาด!”

บา สเตียนตอบตกลงเงื่อนไขที่ว่านั้น แต่เขามีข้อต่อรอง เพื่อความสะดวก จอห์น โด ต้องยินยอมพูดคุยและแชร์ข้อมูลที่ว่านี้กับเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องวัย 32 ปีของเขาอีกคน เฟรเดอริก โอแบร์ไมเออร์

ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี บุคคลนิรนามเริ่มต้นส่งแฟ้มข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบาสเตียนและเฟรเดอริก ผ่านทางช่องทางและรูปแบบที่ตกลงกันไว้ ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในรูปแบบของไฟล์ที่ผ่านการบีบอัด (ไฟล์ซิป) เพื่อให้สะดวกต่อการจัดส่งผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ปีเศษผ่านไป บาสเตียนกับเฟรเดอริก ยอมรับว่าพวกเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า จอห์น โด ผู้นั้นเป็นใคร ไม่รู้กระทั่งว่า คนผู้นี้คือ เขาหรือเธอ หรือแม้กระทั่งความเป็นไปได้ที่ว่าอาจจะเป็นคน “หลายคน”

ที่ไม่รู้มากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ทำไม จอห์น โด ผู้นี้ถึง “เลือก” เขาเป็นผู้รับข้อมูลเหล่านี้

แน่นอน ทั้งคู่รู้อะไรอีกหลายๆ อย่างนอกเหนือจากความไม่รู้เหล่านั้น แต่จำเป็นต้องปกปิด เพื่อไม่ให้กระทบทั้งต่อตัวตนและความปลอดภัยของ จอห์น โด

“เราบอกไม่ได้ว่า เราใช้เวลาในการติดต่อพูดคุยกันกี่ครั้งหรือกินเวลานานมากน้อยแค่ไหน แน่นอน รวมทั้งเรื่องที่ว่าเรายังคงติดต่อกันอยู่หรือเปล่าด้วย” บาสเตียนบอกอย่างนั้น

“ผม บอกได้แต่ว่าเราคุยกันเยอะมาก ผ่านช่องทาง วิธีการหลายๆ อย่าง ทั้งหมดต้องเข้ารหัสโดยไม่มีข้อแม้ ผมยอมรับว่า บางวันผมคุยกับแหล่งข่าวมากกว่าคุยกับเมียเสียอีก”

แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่บอกได้แน่ๆ ก็คือ บุคคลผู้นี้ไม่เคยเอ่ยถึงหรือเรียกร้องเงินทองเป็นค่าตอบแทนการเปิดเผย ข้อมูลต่างๆ ให้กับ ซูดดอยตช์ ไซตุง เลยแม้แต่ครั้งเดียว

ครั้งหนึ่ง บาสเตียนเคยถามบุคคลนิรนามไปว่า ทำไมถึงทำอย่างนี้?

คำตอบที่ได้สั้นและเรียบง่ายอีกเหมือนเดิม แต่ทำให้ทั้งสองคนรู้สึกเหมือนต้องแบกทั้งโลกเอาไว้เพียงลำพัง

“ฉันอยากให้คุณรายงานเรื่องพวกนี้ อยากให้อาชญากรรมเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน”

เหตุผลที่ทำให้บาสเตียนกับเฟรเดอริกรู้สึกเหมือนถูกกดทับด้วยโลกแห่งความรับผิดชอบ มีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกก็คือ ข้อมูล มอสแสค ฟอนเซกา และประดา “ลูกค้า” ทั้งหลายที่พวกเขาได้รับมา ไม่ใช่ข้อมูลประเภทที่ “เผยแพร่ได้ทันที” หรือ “ทำความเข้าใจ” ได้ง่ายๆ ส่วนหนึ่งเป็นบันทึกของธนาคาร อีกส่วนหนึ่งเป็นอีเมล์ โต้ตอบ บางส่วนเป็นภาพถ่ายเอกสารของหน้าพาสปอร์ต ทั้งหมดเต็มไปด้วยตัวเลขและภาษากฎหมาย แฝงด้วยนัยและเจตนาที่บอกออกมาไม่ได้ในทันที

อุปมา ง่ายๆ เหมือนเรากำลังมองและพยายามทำความเข้าใจกับฟิล์มเอกซเรย์ หรือจ้องหน้าจอเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ โดยที่ไม่มีหมอมายืนอธิบายอยู่ข้างๆ ยังไงยังงั้น

เหตุผลประการที่สอง ก็คือ เมื่อคลายการบีบอัดไฟล์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับเหล่านั้นออกมาแล้ว มันสวาปามเนื้อที่ฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของพวกเขาไปจนหมด ในที่สุดต้องจัดการแยกออกมาเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก รวมข้อมูลทั้งหมดแล้วมากกว่า 2.6 เทราไบต์ (2,600 กิกะไบต์)

ข้อมูลเหล่านี้มหาศาลขนาดไหน? ขนาดที่สามารถบรรจุลงหน้าหนังสือเล่มโตๆ ได้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นถึง 4 หมื่นเล่มครับ

พวกเขาจะจัดการกับเอกสารจำนวนไม่น้อยกว่า 11.5 ล้านหน้านี้ได้อย่างไร? ไม่มีปัญญาแน่นอน

หลังผ่านการหารือภายในซูดดอยตช์ไซตุง แล้ว บาสเตียนกับเฟรเดอริกก็หันไปขอคำปรึกษาจากเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวน นานาชาติ (ไอซีไอเจ) ในวอชิงตัน

ทำไมถึงเป็นไอซีไอเจ? องค์กรที่แม้จะเชี่ยวชาญและให้น้ำหนักการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนสูงยิ่ง แต่ก็มีนักข่าวประจำสำนักงานอยู่เพียง 4 คน ที่เหลืออีก 7 คนทำงานจากบ้าน

เหตุผลก็คือ ไอซีไอเจมีเครือข่ายผู้สื่อข่าวที่เป็นสมาชิกและเคยทำงานร่วมกันมาอยู่ในราว 65 ประเทศทั่วโลกราว 190 คน และมีผลงานในเชิงการจัดการกับข้อมูลที่รั่วไหลออกมาให้เป็นที่ประจักษ์อยู่ หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณี “ออฟชอร์ลีคส์” (ร่วมกับวอชิงตันโพสต์ในปี 2013) หรือกรณี เอกสารลับรั่วไหลออกมาจาก เอชเอสบีซี และ ลักเซมเบิร์ก

คนที่ตอบรับคำขอของ ซูดดอยตช์ ก็คือ เจอราร์ด ไรล์ นักข่าวสืบสวนสอบสวนมือดีชาวไอริช-ออสเตรเลียน ที่เป็นผู้อำนวยการคนแรกที่ไม่ใช่อเมริกันของไอซีไอเจ

>เจอราร์ด ไรล์ บินตรงจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา มายังนครมิวนิก เยอรมนี เพื่อพบกับบาสเตียนและเฟรเดอริกและซูดดอยตช์ ไซตุ

เขาใช้เวลา 4 วันเต็มๆ ในการตรวจสอบเบื้องต้นคร่าวๆ ของข้อมูลเหล่านั้น

“ชัด มากๆ เรามีบางอย่างใหญ่โตอยู่ในมือ” เขาบอก แต่ยอมรับด้วยว่าลำพังไอซีไอเจก็จนปัญญาเหมือนกัน แต่ เจอราร์ด ไรล์ มีไอเดีย ซึ่งเขาย้ำว่าต้อง “เดิมพัน” เอาระหว่างความสำเร็จกับล้มเหลว แต่ซูดดอยตช์เห็นพ้องด้วยว่าเป็นหนทางเดียวที่จะจัดการกับข้อมูลเหล่านี้

เจอราร์ด ไรล์ จัดการเปลี่ยนเรื่องที่ทุกคนเห็นเข้าก็อับจนให้กลายเป็นโครงการความร่วมมือ ระหว่างผู้สื่อข่าวด้วยกันครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์งานข่าวสืบสวนสอบสวน

พวกเขาเรียกชื่อโครงการนี้เป็นการภายในตอนแรกว่า โปรเจ็กต์ โพรมีธีอุส

ตามชื่อของเทพผู้ขโมยไฟมามอบให้เป็นแสงสว่างและอำนวยประโยชน์แด่มวลมนุษยชาติ

โปรเจ็กต์ โพรมีธีอุส เริ่มต้นด้วยการได้รับการสนับสนุนและเห็นชอบในเงื่อนไขจาก บีบีซี, เดอะ การ์เดียน, เครือข่ายสื่อสิ่งพิมพ์ แม็คแคลทชี (ในสหรัฐอเมริกา) กับฟิวชั่น สื่อออนไลน์และเคเบิลทีวีในสหรัฐอเมริกา แล้วค่อยๆ ขยายตัวออกไปตามความจำเป็น

ถึงที่สุดแล้ว มีผู้สื่อข่าวรวม 370 คน จากองค์กรสื่อ 107 องค์กรใน 76 ประเทศ ร่วมกันทำงานอยู่ในโครงการนี้ มีไมเคิล ฮัดสัน บรรณาธิการอาวุโสของไอซีไอเจทำหน้าที่บรรณาธิการ และ มารีนา วอล์คเกอร์ จากไอซีไอเจเช่นเดียวกัน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ

ฮัด สันบอกว่า การเลือกสื่อที่จะเข้าร่วมไม่ใช่เป็นการเลือกสุ่มๆ แต่เป้าหมายก็คือเลือกคนทำงานในพื้นที่ที่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับกรณีทำนอง นี้ในท้องถิ่นของตนดีที่สุด เพื่อให้คนเหล่านี้ช่วยไขความกระจ่างที่ผู้สื่อข่าวจากภายนอกมองไม่เห็นออก มา

เพราะตระหนักดีว่าเรื่องใหญ่โตสำคัญๆ ในทุกวันนี้ไม่เพียงซับซ้อนแต่ยังโยงใยออกไปทั่วทั้งโลก จนยากที่การทำงานในแบบเดิมตามสไตล์ในทำนอง “วู้ดเวิร์ด-เบิร์นสตีน” แห่ง “วอเตอร์เกต” เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ทุกคนที่เข้าร่วมอยู่ในโครงการเข้าใจและยินดีทำความตกลงที่ตั้งไว้เป็นเงื่อนไข ว่า ต้องแบ่งปันเงื่อนปมและทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น “ข่าว” ให้รับรู้ทั่วกันทั้งกลุ่ม ต้องไม่ตีพิมพ์เผยแพร่สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไป ก่อนที่จะเผยแพร่ออกไปพร้อมๆ กันในวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา (ตรงกับวันที่ 4 เมษายน ตามเวลาในไทย)

งานของคนข่าวหลายร้อยคนเริ่มจากการระดมกันช่วยกันจำแนก ทำดัชนีเอกสาร และสร้างฐานข้อมูลรวมเพื่อใช้ในการสืบค้น พวกเขาสร้างเครือข่ายติดต่อเป็นการภายในที่มีระบบป้องกันเป็นโซเชียล เน็ตเวิร์กเฉพาะขึ้น เพื่อตรวจสอบ พูดคุย ซักถามข้อมูลซึ่งกันและกัน ผู้สื่อข่าวอังกฤษพบเอกสารที่เป็นภาษาฝรั่งเศส ก็สามารถตรวจสอบความหมายและอื่นๆ จากผู้สื่อข่าวฝรั่งเศส จากเลอมงได้เป็นต้น

นิโคลัส เนฮามาส จาก ไมอามี เฮรัลด์ บอกว่าหลายๆ อย่างที่เคยเป็นเพียงเงื่อนงำต้องสงสัยว่ากำลังเกิดขึ้นในไมอามีที่อยู่ใน หัวของเขา กลายเป็นความกระจ่างชัดขึ้นมา เมื่อได้ถกผ่านแชตรูมเฉพาะกับผู้สื่อข่าวจากบราซิล อิตาลี และอาร์เจนตินา ผ่านโปรเจ็กต์นี้

“ผมพบบางอย่างแล้วก็สงสัยว่ามันจะเป็นเรื่องผิดๆ โพสต์เข้าไปในกลุ่มแชต อีกไม่ถึงชั่วโมงก็มีคำตอบกลับจากเพื่อนอาร์เจนไตน์ทำนองว่า เฮ้ย ไอ้หมอนี่เคยถูกจับข้อหาคอร์รัปชั่นนี่หว่า…อะไรทำนองนั้น”

อลิซ เบรนแนน โปรดิวเซอร์รายการข่าวสืบสวนสอบสวนของฟิวชั่น จำเป็นต้องเดินทางไปปักหลักทำข่าวมอสแสค ฟอนเซกา (ซึ่งถูกทางการปานามาสอบสวนก่อนหน้าเกิดกรณีปานามา เปเปอร์ส) ถึงปานามาเมื่อเดือนที่แล้ว บอกว่าคันปากยุบยิบอยู่ที่นั่น เพราะข้อมูลจากโปรเจ็กต์ที่ไหลเวียนอยู่ในหัวแต่ออกปากบอกกับใครไม่ได้

เควิน ฮอลล์ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจในเครือแม็คแคลทชี บอกความรู้สึกรวมๆ เอาไว้ว่า ในที่สุดแล้วความรู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนร่วมคณะผจญภัยออกสำรวจโลกใหม่ที่ไม่ เคยมีใครไปถึง เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวทุกคนที่ร่วมอยู่ในกระบวนการเปิดโปงครั้งนี้

แต่นั่นไม่ได้ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายไปเสียทั้งหมด ฮอลลี วัตต์ ผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนของเดอะ การ์เดียนบอกว่า ข้อมูลมันมากเสียจนบางทีละสายตาออกมาถึงกับตาลาย มองทุกอย่างเหลืองพร่าไปหมด

“คุณจะค้นอะไรสักอย่างก็แบบว่า ใส่สิ่งที่ต้องการค้นเข้าไป แล้วทิ้งคอมพิวเตอร์ไว้นิ่งๆ ตรงมุมห้องอย่างนั้น 3 วันเต็มๆ ผ่านไปถึงได้ผลการสืบค้นออกมา”

นั่นทำให้การทำงานดำเนินไปแบบค่อยเป็นค่อยไป เดือนแล้วเดือนเล่า ถึงขนาดครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ของวัตต์ โทรศัพท์มาหาเธอกันให้วุ่น ถามว่าเป็นอะไรไปหรือเปล่าไม่เห็นมีชื่อเขียนอะไรลงในหนังสือพิมพ์มานานหลาย เดือนแล้ว

มารีนา วอล์คเกอร์ ผู้จัดการโครงการ บอกว่า นอกจากต้องรักษาสัญญาตามที่ตกลงกันไว้แล้ว ผู้สื่อข่าวทุกคนในโครงการยังต้องรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างเคร่งครัด

“เราบอกทุกคนว่า ถ้าไม่อยู่ด้วย อย่าเปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้เด็ดขาด ห้ามไปเปิดในร้านกาแฟที่มีไวไฟสาธารณะด้วย” แม้แต่โทรศัพท์หาย ยังต้องแจ้งให้ทางกลุ่มรับทราบ เธอว่า

ไม่ได้มีแค่วอล์คเกอร์เท่านั้นที่วิตก เจอราร์ด ไรล์ ก็กังวลกับความล้มเหลวของโครงการนี้เหลือหลาย เขายอมรับว่า ในการประชุมนักข่าวหลายร้อยคนในโครงการนี้เป็นครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งที่มิ วนิก เพื่อนำเสนอโครงการและเรียกร้องความเป็น “ทีมเวิร์ก” และ “การรักษาความลับสุดยอด” จากทุกคน เขากลัวแทบตายว่าทุกอย่างจะลงเอยเป็นความล้มเหลว

แต่ถึงวันนี้ เฟรเดอริก โอแบร์ไมเออร์ สามารถพูดได้เต็มปากว่า ปานามา เปเปอร์ส พิสูจน์ให้เห็นได้แล้วว่านักข่าวทำงานเป็นกลุ่มใหญ่มหึมาได้ และดีกว่าทำตามลำพังแน่นอน

เวลานี้คบไฟที่ชื่อ ปานามา เปเปอร์ส กำลังโชนแสงสว่างจ้าเข้าไปในซอกมุมที่มืดมิดที่สุดของโลกนี้มากขึ้นและมากขึ้นทุกที


ปปง.เช็กลิสต์ลับ 16 คนส่อเลี่ยงภาษี สืบธุรกรรมการเงินเพิ่ม-คลังสั่งสรรพากรเกาะติด

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ปปง.ล่าข้อมูล ICIJ คุ้ยปมเลี่ยงภาษี นักการเมือง นักธุรกิจ 16 ชื่อ เป็นทั้งหุ้นส่วน ผู้รับประโยชน์ ผู้อยู่เบื้องหลัง เดินหน้าสืบลับธุรกรรมการเงิน รมว.คลังเชื่ออาจมีบุคคลตั้ง "บริษัทออฟชอร์เชิงธุรกิจ" เป็นช่องเลี่ยงภาษี

พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. แถลงข่าวถึงกรณีที่

เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) ออกมาเปิดเผยข้อมูลจากบริษัท Mossack Fonceca ในประเทศปานามา ซึ่งให้การช่วยเหลือทางภาษีแก่คนดัง นักธุรกิจทั่วโลก และปรากฏว่ามีชื่อคนไทย 21 รายรวมอยู่ด้วยว่า ปปง.ได้ส่งหนังสือประสานขอข้อมูลจากเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ข้ามชาติทั่วโลก 150 ประเทศ และ ปปง.ปานามา รวมทั้งเครือข่าย ICIJ ที่วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และหนังสือพิมพ์ Suddeutche Zeitung ของประเทศเยอรมนี ขอความร่วมมือให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมายัง ปปง. เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของ ICIJ พบว่า มีรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลรวม 719 รายชื่อ แบ่งเป็นรายชื่อบุคคลไทย 411 รายชื่อ บุคคลต่างชาติ 262 รายชื่อ นิติบุคคล 46 บริษัท และรายชื่อซ้ำ 61 รายชื่อ ซึ่งเบื้องต้นขณะนี้ ปปง.ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า บุคคลตามข่าวกระทำความผิดหรือไม่ เพราะความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังไม่ชัดเจนจนกว่าจะได้รับคำยืนยันจาก ICIJ และหนังสือพิมพ์ Suddeutche Zeitung ว่าเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เป็นเพียงข่าว

"ส่วนที่ปรากฏในปานามา เปเปอร์ส ที่ปรากฏชื่อคนไทย 21 รายชื่อนั้น จากการตรวจสอบของ ปปง.จากฐานข้อมูลเดิมมีเพียง 16 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง นักธุรกิจชื่อดังรวมอยู่ด้วย โดยมีทั้งเป็นหุ้นส่วนบริษัท เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง แต่บริษัทเหล่านั้นไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย บุคคลและนิติบุคคลดังกล่าวอาจเป็นนักลงทุนที่สนใจลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีผลกำไรมากกว่าการลงทุนในประเทศไทย ก็เป็นไปได้ แต่ ปปง.ก็ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เช่น ธุรกรรมทางการเงินที่มีเหตุอันควรสงสัยไปตามปกติก่อน ยังไม่ถึงขั้นอายัดทรัพย์" พ.ต.อ.สีหนาทกล่าว

พ.ต.อ.สีหนาทกล่าว ว่า ปปง.ได้ดำเนินการเชิงลับ จึงไม่สามารถชี้แจงได้ว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบบุคคลใด ซึ่งหากมีความชัดเจน ปปง.จะดำเนินการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานเสนอคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อนำไปสู่การยึด หรืออายัดหรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ตาม กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีกระแสมีรายชื่อคนไทยจำนวนหนึ่งปรากฏใน "ปานามา เปเปอร์ส" กับการตั้งบริษัทนอกประเทศ (Offshore Company) ว่า ในแง่การประกอบธุรกิจถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องภาษีจะต้องดูว่า ประเทศนั้น ๆ มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กรมสรรพากรดูแลอยู่ อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าอาจจะมีบุคคลหรือนักการเมืองที่อาศัยวิธีการนี้เป็นช่องในการเลี่ยงภาษีอยู่บ้าง

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เพื่อตรวจสอบกรณีมีรายชื่อคนไทยในปานามา เปเปอร์ส หากตรวจสอบพบว่ามีการฟอกเงินจริง ทาง ปปง.ก็จะดำเนินการต่อไปทางด้านกฎหมาย และหากมีส่วนที่เป็นเรื่องในการตรวจสอบภาษีก็จะส่งต่อให้กรมสรรพากรดำเนิน การต่อไป

"การไปเปิดบริษัทในต่างประเทศเพื่อทำธุรกิจต่างประเทศ เป็นเรื่องปกติที่ทุกบริษัทสามารถทำได้ ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายหรือการเลี่ยงภาษี โดยเมื่อปีก่อน

กรมสรรพากรได้แก้ไขกฎหมายให้นักลงทุนที่จดทะเบียนเพื่อทำธุรกิจในต่างประเทศไม่ ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับประเทศอื่น เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาตั้งบริษัทในไทยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทไทยกลับเข้ามาตั้งบริษัทในประเทศแล้วกว่า 30 ราย" นายประสงค์กล่าว


ปปง.แถลงพบ 16 คนไทย-นักการเมือง-ธุรกิจ เกี่ยวปานามาเปเปอร์ส เร่งประสานข้อมูล สอบทางลับ

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ปปง.ระบุพบ 16 รายชื่อคนไทย ฐานข้อมูล ไอซีไอเจ เร่งประสานข้อมูล เดินหน้าสอบทางลับ ยังไม่ยืนยันว่าผิดหรือไม่

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) วันที่ 8 เมษายน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงข่าวกรณีสมาคมผู้สื่อข่าวสอบสวนนานาชาติ ออกมาเปิดเผยเอกสารลับการทำงานของบริษัทแห่งหนึ่งด้านกฎหมายในปานามา ที่ช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ทั้งนักการเมือง และผู้นำประเทศทั่วโลกในการฟอกเงินและหลีกเลี่ยงภาษี โดยมีการเชื่อมโยงกับคนไทย 21 คน ว่า จากข้อมูลของสื่อมวลชนปรากฏมีชื่อคนไทย 21 รายชื่อ นั้น จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของ ICIJ พบว่ามีรายชื่อคนไทย ที่เกี่ยวข้องกับ ปานามาเปเปอร์ส 16 รายชื่อ

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ฐานข้อมูลของ ICIJ มีบุคคลและนิติบุคคล รวมจำนวน 780 รายชื่อ แบ่งเป็นรายชื่อบุคคลไทย 411 รายชื่อ บุคคลต่างชาติ 262 รายชื่อ นิติบุคคล 46 บริษัท และรายชื่อซ้ำ 61 รายชื่อ มีคนไทย 16 รายชื่อ มีทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ ซึ่งบุคคลและนิติบุคคลดังกล่าวอาจเป็นนักลงทุนที่สนใจลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีผลกำไรมากกว่าการลงทุนในประเทศไทยก็เป็นไปได้

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นในขณะนี้ สำนักงาน ปปง. ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าบุคคลตามข่าวมีความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การที่สำนักงาน ปปง.จะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินหรือความผิดฐานฟอกเงินได้นั้น บุคคลที่ถูกตรวจสอบจะต้องมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน

การทำงานของสำนักงาน ปปง.นั้นเป็นการดำเนินการเชิงลับ จึงไม่สามารถชี้แจงได้ว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบบุคคลใด ซึ่งหากมีความชัดเจนสำนักงาน ปปง. จะดำเนินการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อรวบรวบข้อมูลหลักฐานเสนอคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อนำไปสู่การยึดหรืออายัด หรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป

ทั้งนี้ได้ทำหนังสือสอบถามปปง.ไปแล้วได้รับคำตอบว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการ และได้สอบถามไป เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortional Consortium Of Investigative Journalists : ICIJ ) ร่วมกับหนังสือพิมพ์ Suddeutsche Zeitung ของประเทศเยอรมัน เพื่อยืนยันข้อมูล

อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ ปปง.ก็จะตรวจสอบธุรกรรมของทั้ง 16 รายชื่อ ที่ปรากฎ แต่เป็นการกระทำที่ไม่กระทบสิทธิ เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันข้อมูล

ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง. เคยพบบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน ก็ได้มีการดำเนินการลักษณะนี้ มาก่อนแล้ว อาทิเช่น กรณีของอดีตผู้บริหารของบริษัท (ชาวต่างชาติ) รายหนึ่ง มีพฤติการณ์กระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกง และนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานไปเปิดบริษัทลงทุนในต่างประเทศอัน มีลักษณะเป็นการฟอกเงินในกลุ่มประเทศที่เป็นข่าวสำนักงานปปง.จึงได้ ทำการตรวจสอบเชิงลับ และนำมาซึ่งการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดดังกล่าวไปแล้ว และบุคคลนี้ ก็มีรายชื่อในฐานข้อมูลของ ICIJ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การทำงานของสำนักงาน ปปง. นั้นเป็นการดำเนินการเชิงลับ จึงไม่สามารถชี้แจงได้ว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบบุคคลใด ซึ่งหากมีความชัดเจนสำนักงาน ปปง. จะดำเนินการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อรวบรวบข้อมูลหลักฐานเสนอคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อนำไปสู่การยึดหรืออายัด หรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป






ที่มา : มติชนออนไลน์


“สรรพากร” พร้อมสอบรายชื่อ 21 คนไทยในเอกสาร “ปานามาเปเปอร์ส” ยันให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

โดย MGR Online

       “คลัง-สรรพากร” พร้อมสอบรายชื่อ 21 คนไทยโผล่ในเอกสาร “ปานามาเปเปอร์ส” เผยกำลังรอข้อมูลจาก ปปง.เพื่อตรวจสอบในเชิงลึก ลั่นให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ยังไม่ฟันธงเลี่ยงภาษี ยอมรับหลายประเทศไม่มีข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อน เรียกขอเอกสารภาษีลำบาก
       
       นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพากรทำหน้าที่ดูแลการทำธุรกิจในต่างประเทศตามอนุสัญญาภาษีซ้อน และดำเนินธุรกิจสามารถดำเนินการได้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ยอมรับว่า อาจเป็นช่องทางให้นักการเมือง หรือนักธุรกิจอาศัยเป็นช่องว่างในการหลบหลีกเลี่ยงภาษี จึงมอบหมายให้กรมสรรพากรไปตรวจสอบการเสียภาษีอย่างใกล้ชิด
       
       นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรประสานขอข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จัดส่งมาให้ ก่อนทำการตรวจสอบการเสียภาษีของบุคคลผู้มีรายชื่อในปานามาเปเปอร์ส ทั้ง 21 คน หรืออาจจะมีมากกว่านั้น เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นเอกสารหลักฐาน โดยพร้อมให้ความเป็นธรรมต่อบุคคลที่มีรายชื่อ เพราะการตั้งบริษัททำธุรกิจในต่างประเทศมีความเป็นไปได้หลายแนวทาง ทั้งการฟอกเงิน การหลบเลี่ยงภาษี และการทำธุรกิจแท้จริง ซึ่งการตั้งบริษทในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติของภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ เพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ
       
       อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีจริง กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ แม้เป็นข้อมูลปี 2548 แต่มีหลักฐานปรากฎอยู่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการตรวจสอบเอกสารทรัพย์สินในต่างประเทศอาจทำได้ยาก โดยต้องขอให้ ปปง.ประสานขอข้อมูลกับต่างประเทศ เนื่องจากหลายประเทศไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน
       
       ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมสรรพากรมีมาตรการยกเว้น และลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจให้ตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย และสร้างกำไร โดยที่ผ่านมา สามารถดึงบริษัทต่างๆ เข้ามาตั้งในไทยแล้วกว่า 38 แห่ง


“ธีระชัย” เชื่อ “บรรยง” ใช้บริการ “ปานามา” ตั้งบริษัทที่เมืองนอก จงใจเอาเปรียบด้านภาษี

โดย MGR Online

        อดีต รมว.คลัง โต้ “บรรยง” กรณีมีชื่อใน “ปานามา เปเปอร์ส” ระบุการตั้งบริษัทในต่างประเทศเพื่อจัดการรายได้ที่มีแหล่งเกิดในไทย เท่ากับจงใจให้เอาเปรียบทางภาษีบริษัทอื่น เพราะได้ 2 ต่อ กำไรบริษัทก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในไทย จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในไทย ผู้ถือหุ้นก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าไม่โอนเงินกลับมาไทย
       
       วันนี้ (9 เม.ย.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ตอบโต้กรณี นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ ซูเปอร์รัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกรณีที่ นายบรรยง มีชื่อปรากฏในเอกสารลับ “ปานามา เปเปอร์ส” ผ่านทางเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich” ว่า การที่นายบรรยงอธิบายเกี่ยวกับคนไทยที่จัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินของเขา เป็นกรณีที่เดิมบริษัทหลักทรัพย์ภัทรขายหุ้นไปให้แก่ฝรั่ง ต่อมาฝรั่งอยากจะขายคืนให้คนไทย เขาจึงรวบรวมเพื่อนไปซื้อหุ้นคืนมาจากฝรั่ง แต่แทนที่จะขอโอนเงินจ่ายให้ฝรั่งตรง ๆ พวกเขากลับขอโอนเงินออกไปตั้งบริษัทในศูนย์การเงิน และเมื่อได้หุ้นจากฝรั่ง แทนที่จะส่งหุ้นกลับคืนมาเข้าในไทยตรง ๆ พวกเขากลับโอนหุ้นที่ได้รับจากฝรั่ง ไปเก็บไว้ในบริษัทในศูนย์การเงิน
       
       นายธีระชัย วิจารณ์กรณีดังกล่าว ว่า การที่คนไทยจะจัดตั้งบริษัทอยู่นอกประเทศ ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะถ้าใช้เพื่อจัดการรายได้ที่มีแหล่งเกิดในต่างประเทศ เพราะรายได้จากต่างประเทศ ไม่ได้อาศัยการช่วยเหลือดูแลจากรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยไม่เก็บภาษีรายได้นี้ เว้นแต่ถ้ามีการนำรายได้เข้ามาในประเทศไทย จึงจะเก็บภาษี ดังนั้น ถ้าหากเจ้าของรายได้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในไทย ก็สะดวกกว่าที่จะจัดการรายได้ที่มีแหล่งเกิดในต่างประเทศ ไว้ในบริษัทต่างประเทศ
       
       ที่น่าสงสัยคือ กรณีที่จัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินต่างประเทศ แต่ใช้สำหรับจัดการรายได้ที่มีแหล่งเกิดในประเทศไทย เพราะการใช้บริษัทต่างประเทศเพื่อการนี้ ได้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างจากประชาชนทั่วไปในประเทศ ตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อหุ้นจากฝรั่ง แล้วส่งหุ้นกลับเข้ามาถือไว้ในประเทศไทยแบบตรง ๆ โดยตั้งบริษัทขึ้นในไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ที่ถือหุ้น เมื่อหุ้นนั้นจ่ายเงินปันผล ก็จะถือเป็นรายได้ของบริษัทไทยผู้ที่ถือหุ้นนั้น บริษัทไทยผู้ที่ถือหุ้นนั้นจะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐบาลไทย ทอดหนึ่ง และเมื่อใดที่บริษัทไทยดังกล่าวจ่ายเงินปันผลออกไปให้แก่ผู้ถือหุ้นที่แท้ จริงในไทย ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซ้ำอีกทอดหนึ่ง
       
       ทั้งนี้ การที่ต้องจ่ายภาษีดังกล่าว เป็นธรรมแก่ผู้จ่ายและแก่ประเทศครับ เพราะผู้ที่ทำธุรกิจในไทย อยู่ได้โดยอาศัยข้าวแดงแกงร้อนที่รัฐบาลไทยจัดมีไว้ให้สำหรับคนไทยทุกคน
       
       สถานการณ์กลับกัน ถ้าไปจัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินในต่างประเทศ แล้วใช้ชื่อบริษัทต่างประเทศนั้นเป็นผู้ที่ถือหุ้น เมื่อหุ้นนั้นจ่ายเงินปันผล ก็จะถือเป็นรายได้ของบริษัทต่างประเทศ ในการส่งเงินปันผลออกไปนอกประเทศ ก็จะหักภาษี ณ ที่จ่ายเพียงนิดหน่อย แต่บริษัทต่างประเทศนั้นไม่ต้องนำรายได้เงินปันผล มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ประเทศไทย และเนื่องจากเป็นศูนย์การเงิน จะไม่ต้องเสียภาษีที่ศูนย์การเงินนั้นเสียด้วย รวมทั้งในอนาคต เมื่อบริษัทต่างประเทศจ่ายเงินปันผล ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในไทย ถ้าผู้ถือหุ้นที่แท้จริงไม่โอนเงินกลับมาไทย ก็จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่รัฐบาลไทยอีกด้วย เรียกว่ากำไรสองต่อ
       
       อย่างนี้ ถ้าไม่บรรยายว่าการจัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินต่างประเทศ ทำให้ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในไทยชุดเดียวกัน ได้เปรียบทางภาษีมากกว่าชาวบ้าน แล้วจะบรรยายว่าอะไร


ผู้นำปานามาโวยถูก “ฝรั่งเศส” ใส่กลับเข้าบัญชี “แหล่งเลี่ยงภาษี” ชี้ปารีสทำไม่ถูกต้อง

โดย MGR Online

        เอเอฟพี - ประธานาธิบดี ฆวน การ์โลส บาเรลา แห่งปานามา ออกมาตำหนิรัฐบาลฝรั่งเศสว่า “ทำไม่ถูกต้อง” ที่ตอบสนองการเปิดโปงแฟ้มลับ ปานามา เปเปอร์ส ด้วยการใส่ชื่อปานามาลงในบัญชีแหล่งหลบเลี่ยงภาษี (tax havens)
       
       “ผมขอเรียนอย่างชัดเจนว่า การตัดสินใจของรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเรื่องที่ผิดและไม่มีความจำเป็น ในเมื่อผู้นำรัฐทั้งสองยังมีการติดต่อสัมพันธ์กันอยู่ และโลกก็ต้องการความร่วมมือในระดับพหุภาคีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ” บาเลรา ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันศุกร์ (8 เม.ย.) พร้อมระบุว่าจะส่ง ดุลซิดิโอ เดอ ลา กวาเดียร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ไปปารีสในวันอังคารหน้า (12) เพื่อเน้นย้ำให้ฝรั่งเศสเข้าใจว่าปานามา “เป็นชาติที่มีศักดิ์ศรี ควรแก่การให้เกียรติ และพร้อมที่จะเจรจา” ทั้งยังมีเจตนารมณ์ส่งเสริมความโปร่งใสด้วย
       
       มิเชล ซาแปง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ระบุว่า รัฐบาลจะใส่ชื่อปานามากลับเข้าไปในบัญชี “รัฐที่ไม่ให้ความร่วมมือ” ในการแบ่งปันข้อมูลภาษี
       
       ฝรั่งเศสได้ถอนชื่อปานามาออก จากบัญชีรัฐและดินแดนที่ไม่ให้ความร่วมมือ (ETNC) เมื่อปี 2012 หลังมีการบรรลุข้อตกลงทวิภาคีเพื่อต่อสู้การหลบเลี่ยงภาษี การใส่ชื่อปานามากลับเข้าไปในบัญชีนี้ใหม่จึงเท่ากับว่า ธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับปานามาจะถูกตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนทุกครั้ง ว่า มีการฉ้อโกงภาษี จนกว่าจะมีหลักฐานยืนยันเป็นอื่น
       
       ฝรั่งเศสยังเรียกร้องให้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ใช้มาตรการอย่างเดียวกัน
       
       ทางการปานามาออกมาตอบโต้ทันที โดยขู่จะใช้มาตรการแก้แค้นฝรั่งเศส ซึ่งอาจรวมกึงการห้ามชาวฝรั่งเศสเข้าไปลงทุนในประเทศ และระงับสิทธิ์ในการยื่นซองประมูล

       เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงวิธีแก้เผ็ดเมืองน้ำหอม บาเรลา ระบุว่า “ยังไม่อยากพูดถึงตอนนี้” และขอให้ได้มีการเจรจากันเสียก่อน
       
       บาเรลา ยืนยันในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลของเขาพร้อมที่จะแชร์ข้อมูลกับฝรั่งเศส พร้อมประกาศจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความโปร่งใสทางธุรกิจ
       
       บาเรลา และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลได้มีมาตรการปฏิรูปหลายอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้ปานามาถูกใช้เป็นฐานใน การก่อตั้งบริษัทเปลือกนอก
       
       เดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปได้แถลงแผนต่อสู้การหลบเลี่ยงภาษีโดยบริษัทข้ามชาติ ซึ่งปานามาก็ติดอยู่ในโผแหล่งหลบเลี่ยงภาษี 30 แห่งทั่วโลก
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน ก.พ. คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force - FATF) ได้ถอดชื่อปานามาออกจาก “บัญชีสีเทา” ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศที่ยังขาดมาตรการต่อสู้การฟอกเงิน และการระดมทุนอุดหนุนลัทธิก่อการร้าย
       
       ทั้งนี้ หากถูกฝรั่งเศสขึ้นบัญชี ETNC จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อภาคการเงินของปานามา ซึ่งคิดเป็น 7% ของมูลค่าจีดีพี
       
       สื่อมวลชนได้ออกมาตีแผ่แฟ้มเอกสารลับกว่า 11 ล้านฉบับของบริษัทกฎหมายปานามา “มอสแซ็ก ฟอนเซกา” (Mossack Fonseca) ซึ่งเปิดโปงพฤติกรรมทุจริตซุกเงินเลี่ยงภาษีของบุคคลระดับผู้นำประเทศ และผู้มีชื่อเสียงหลากหลายวงการ


2นายแบงก์ใหญ่ยุโรปลาออกเซ่น "ปานามาเปเปอร์ส"

จาก โพสต์ทูเดย์

นายแบงก์ยุโรปทยอยลาออกเซ่นกรณีปานามา ด้านผู้นำอังกฤษรับเคยถือหุ้นแต่ขายหมดแล้ว 

รอยเตอร์ส รายงานว่า จากกรณีการเปิดเผยข้อมูลการตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (ออฟชอร์) หรือ ปานามา เปเปอร์ส ล่าสุดมีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องลาออกจากตำแหน่งเพิ่มแล้วอีก 2 ราย ตามหลังอดีตผู้นำไอซ์แลนด์ คือ ไมเคิล แกรมเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของธนาคารไฮโป แลนส์แบงก์ โวรัลเบิร์ก ในออสเตรีย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับมอสแซ็ค ฟอนเซกา

รายงานระบุว่า ธนาคารไฮโป ซึ่งแกรมเมอร์เป็นซีอีโอมาตั้งแต่ปี 2012 มีส่วนเชื่อมโยงกับการตั้งบริษัทออฟชอร์ผ่านทางบริษัททรัสต์หลายแห่งในประเทศลิกเตนสไตน์ ขณะที่คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินในออสเตรียกำลังดำเนินการสอบสวนว่าธนาคารไฮโป และธนาคารอื่นๆ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนเพื่อป้องกันการฟอกเงินหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แกรมเมอร์ ได้กล่าวย้ำว่า ธนาคารไม่ได้กระทำผิดกฎหมายใดๆ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า เบิร์ท เมียร์สัดท์ ผู้บริหารระดับสูงและกรรมการที่ปรึกษาของ เอบีเอ็น อัมโร ธนาคารรายใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน หลังมีชื่ออยู่ในกรณีของปานามา เปเปอร์ส

ด้านนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ได้กล่าวยอมรับแล้วว่า ตนเองและภรรยาเคยมีหุ้น 5,000 หุ้น อยู่ในบริษัท แบร์มอร์ อินเวสต์เมนต์ ทรัสต์ ในบาฮามาส ที่มีบิดาของตนเองเป็นเจ้าของตามรายงานข่าวจริง แต่ได้ขายหุ้นทั้งหมดในราคาราว 3 หมื่นปอนด์ (เกือบ 1.5 ล้านบาท) ไปตั้งแต่เดือน ม.ค. 2010 ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

“ผมต้องการเคลียร์ให้กระจ่างที่สุดตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะผมไม่มีอะไรปิดบังหรือต้องหลบซ่อน”คาเมรอน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

ขณะที่คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินอังกฤษ ระบุว่า ได้มีคำสั่งให้สถาบันการเงินราว 20 แห่ง ชี้แจงอธิบายความสัมพันธ์กับบริษัทกฎหมาย มอสแซ็ค ฟอนเซกา ภายในวันที่ 15 เม.ย.นี้ เช่นเดียวกับหน่วยงานกำกับดูแลกิจการธนาคารและบริษัทประกันในฝรั่งเศส ที่มีการแจ้งไปยังสถาบันการเงินจำนวนหนึ่งเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าวเช่นกัน 

ทั้งนี้ ปานามา เปเปอร์ส ระบุว่ามีธนาคารเอชเอสบีซีเกี่ยวข้องกับการตั้งบริษัทออฟชอร์ครั้งล่าสุดนี้ถึง 2,300 แห่ง ธนาคารเครดิตสวิส 1,105 แห่ง ธนาคารยูบีเอส 1,100 แห่ง และธนาคารโซซิเอเต เจเนราล 979 แห่ง และยังมีธนาคารทั่วโลกที่ร่วมกับมอสแซ็ค ฟอนเซกา รวมแล้ว 365 แห่งทั่วโลก ทว่าธนาคารที่ถูกระบุชื่อทั้งหมดต่างยืนยันก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่มีการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย 


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โลกตะลึง แฟ้มลับ ปานามา เปเปอร์ส แฉกลโกง ผู้นำประเทศ คนดัง ซุกเงินเลี่ยงภาษี

view