สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตง.ชี้ ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบทำรัฐเสียหาย 3.2 หมื่นล้าน จี้ คลัง-พลังงาน เอาผิดอดีตรมว.

สตง.ชี้ "ปตท." คืนท่อก๊าซไม่ครบทำรัฐเสียหาย 3.2 หมื่นล้าน จี้ คลัง-พลังงาน เอาผิดอดีตรมว.

จากประชาชาติธุรกิจ

คตง.ลั่น “ปตท.” คืนท่อก๊าซไม่ครบทำรัฐเสียหายกว่า 3.2 หมื่นล้าน จี้รมว.คลัง-รมว.พลังงานเอาผิดอดีตขุนคลัง “หมอเลี๊ยบ” รวมเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ 3 ราย-ปตท.2 ราย ภายใน 60 วัน


นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีมติชี้ว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินของการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 (ท่อก๊าซ) ไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา และ ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ส่งผลให้รัฐเสียหายไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท เนื่องจากการที่บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยไม่ปรากฏการแบ่งแยกทรัพย์สินมูลค่า 32,613.45 ล้านบาทดังกล่าว

“เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าว ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง” นายพิศิษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ คตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า การรายงานต่อศาลว่าได้ดำเนินการตามคำพิพากษาแล้วนั้น ไม่ได้มีการระบุถึงเรื่องท่อก๊าซในทะเล ทำให้การคำนวณค่าเช่าไม่ถูกต้อง

นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า คตง. ยังได้มีมติให้ สตง. ดำเนินดังนี้ 1) แจ้ง ครม. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่า การบังคับคดีที่ผ่านมา ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำ ที่ ฟ.47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2550 เพื่อให้ ครม. ดำเนินการเพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป

2) แจ้งนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

3) แจ้งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังคนปัจจุบัน เพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัย ตามนัยมาตรา 44 และ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

4) แจ้ง รมว.พลังงาน เพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยตามกฎหมาย หรือตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนด ตามนัยมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

5) แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดีตามนัยมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

6) แจ้งผลการตรวจสอบให้ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ก.พ. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

และ 7) แจ้งผลการตรวจสอบให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอก เงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก่บุคคลที่กระทำความผิดต่อไป

“เรื่องดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของนายธนกร ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนิติกร 7 ว. กับนายนิพิฐ อริยวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ และนายอำนวย ปรีมนวงศ์ ที่ขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมธนารักษ์ และปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมธนารักษ์ แล้วก็มี รมว.คลังขณะนั้น ก็คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่เป็นผู้อนุมัติให้รับเอามูลค่าท่อก๊าซที่ไม่ได้เป็นไปตามมติ ครม. และไม่เป็นไปตามคำพิพากษา รวมถึงฝ่าย ปตท. ก็คือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. และนายสุพจน์ เหล่าอาภา ที่ขณะนั้นเป็นผู้จัดการสำนักกฎหมาย ซึ่ง สตง. จะดำเนินการตามมติ คตง. ต่อไปภายใน 60 วัน” นายพิศิษฐ์กล่าว

ผู้ว่าการ สตง. กล่าวด้วยว่า การดำเนินการจะต้องแบ่งแยกเรื่องค่าเสียหาย กับการดำเนินการทางอาญากับผู้ที่รับผิดชอบเป็นคนละส่วน โดยเรื่องค่าเสียหายหากมีการชดใช้ก็น่าจะบรรเทาลงได้ ซึ่งสามารถดำเนินการให้ถูกต้องได้โดยไปเพิกถอนคำบังคับเดิมที่ไม่ถูกต้อง แล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องเสีย เพื่อหยุดความเสียหายจากค่าเช่าที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งค่าเช่าจะต้องคำนวณรวมกับค่าท่อที่คำนวณไว้ไม่ครบด้วยนั่นเอง

“ที่พูดนี่อย่าไปตกใจ ไม่ได้กระทบกับฐานะของ ปตท. ไม่กระทบต่อราคาหุ้น คนที่อยู่ในวงการตลาดหุ้นรู้ดีว่า ตรงนี้ทาง ปตท. อยู่ในฐานะที่จ่ายได้ เพียงแต่ควรต้องจ่าย เมื่อถึงเวลานี้ที่การตรวจสอบชี้ชัดออกมาแล้ว ทั้งนี้ การคืนท่อ ไม่ใช่ว่าเอาคืนมาแล้วไม่ให้เขาใช้ เพราะท่อก็ยังอยู่ที่เดิม แต่คืนเป็นตัวเลขทางบัญชี แล้วก็เอามาคำนวณว่า เมื่อไม่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ก็ต้องเช่า ก็มาคิดค่าเช่ากันใหม่” ผู้ว่าการ สตง.กล่าว


คตง.ส่ง ป.ป.ช.เชือดอดีต รมว.คลัง-บิ๊ก ปตท.คืนท่อก๊าซขาด 3.2 หมื่นล้าน

โดย MGR Online

       คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีมติ ส่ง ป.ป.ช.สอบสวนเอาผิดทางอาญา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.และพวก ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่ดำเนินการคืนท่อก๊าซฯ ปตท.ที่ยังขาดอยู่ 3.2 หมื่นล้าน แก่กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด พร้อมจี้นายกฯ-ครม.ปัจจุบันดำเนินการคืนให้ครบใน 60 วัน

       วันนี้ (10 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ได้แถลงข่าวผลการพิจารณาและมติ คตง.กรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะยื่นคำร้องให้คณะกรรมการตรวจเงิน แผ่นดินตรวจสอบว่ามีการฝ่าฝืนมติ ครม.ในการส่งมอบท่อก๊าซ ปตท.ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ และมีข้าราชการและหน่วยราชการใดที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ โดยประธาน คตง.ได้แถลงว่า สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ดำเนินการให้ ปตท.คืนท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินให้รัฐบาล และ ครม.ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ให้กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท,ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยดำเนินการคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลัง และให้ สำนัหงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูก ต้องในการส่งมอบคืน
       
       ต่อมาวันที่ 25 ธ.ค. 2551 บริษัท ปตท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าได้มีการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษา เรียบร้อยแล้ว และวันรุ่งขึ้น 26 ธ.ค. 2551 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่ามีการคืนทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว ต่อมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวก 4,450 คน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ปตท. และกระทรวงการคลัง ว่า มีการส่งมอบท่อก๊าซคืนไม่ครบถ้วน ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 กว่าล้านบาท ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องให้ส่งมอบคืนให้ครบถ้วน แต่ศาลปกครองสูง มีคำสั่งที่ 800/2557 ว่า การส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วนเป็นการฝ่าฝืนมติ ครม. เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี
       
       มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับคณะ จึงมีหนังสือขอให้ คตง.วินิจฉัยว่า กระทรวงการคลัง และ ปตท.กับพวก ฝ่าฝืนมติ ครม.หรือไม่ คตง.จึงมีคำสั่งให้ สตง.ดำเนินการตรวจสอบ เมื่อ สตง.ตรวจสอบยแล้วได้เสนอผลการตรวจสอบต่อ คตง. และ คตง.ได้ประชุมกันในวันนี้ โดยมีมติดังนี้
       
       1. ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลเป็นสมบัติสาธารณะของแผ่นดิน เพราะได้มาจากการประกอบกิจการและใช้เพื่อกิจการปิโตรเลียมของการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ก่อนการแปรรูปและส่งมอบให้บริษัท ปตท.
       
       2. อดีต รมว.คลัง(นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) และกรรมการผู้จัดการใหญ๋บริษัท ปตท.(นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์) และพวก (อาทิ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รักษาการอธิบดีกรมธนารักษ์ ) ฝ่าฝืนมติ ครม.และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขาดไป 32,000 ล้านบาทเศษ และทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่าที่พึงได้รับ นอกจากนี้ ยังยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดว่าได้ดำเนินการส่งมองท่อก๊าซ คืนครบแล้ว โดยไม่รอผลตรวจสอบและรับรองจาก สตง.ตามมติ ครม.ก่อน และไม่เสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 44 ก่อน
       
       3. ให้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินคดีอาญา อดีต รมว.คลัง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.กับพวก เนื่องจากมีพฤติกรรมอันน่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดด้วย
       
       4. คตง.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44, 46 และ 15 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ขอให้นายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมว.พลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซที่ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษ แก่กระทรวงการคลัง และให้ ครม.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วน ต่อไปภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก สตง. มิฉะนั้น คตง.จะดำเนินการตามมมาตรา 17,63 และ 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และปรมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ควารมผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ต่อไป
       
       “กระทรวงการคลังมีหน้าดูและรักษาทรัพย์สินแผ่นดิน ท่อก๊าซธรรมชาติมูลค่า 32,000 ล้านบาทเศษ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน นายอดิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซให้ครบถ้วนไม่ได้ ส่วนเมื่อมีการส่งมอบแล้วกระทรวงการคลังจะให้บริษัท ปตท. หรือจะให้ผู้ใดเช่า เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของกระทรวงการคลังต่อไป” ประธาน คตง.ระบุ
       
       ต่อมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้แถลงข่าวเพิ่มเติม ดังนี้(คำต่อคำ)
       
       ขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า ในวันนี้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ตั้งแต่เช้า จนกระทั่งเกือบบ่ายโมงถึงจะเลิกประชุม แต่ความจริงก่อนที่จะมีการพิจารณาในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็มีการประชุมไปหลายครั้งกว่าจะได้ข้อสรุปนี้
       
       ข้อสรุปก็คือว่า จากการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีการตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งแยก ทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือท่อก๊าซ ก็มีประเด็นที่เรามีการตรวจสอบ และมีข้อสรุปก็คือ 1. การแบ่งแยกทรัพย์สินท่อก๊าซมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามคำพิพากษา
       
       ถ้าเราย้อนไปดูคำพิพากษา คือคำพิพากษาตัวผู้ถูกฟ้องคดีที่หนึ่งก็คือคณะรัฐมนตรี ที่สองก็คือนายกรัฐมนตรี ที่สามก็คือรัฐมนตรีพลังงาน ที่สี่ก็คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดนี้ในคำพิพากษาก็คือให้รวมกันไปพิจารณาแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็น สาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน อันนี้ก็เป็นไปตามคำพิพากษาที่ต้องทำการทีเดียวทั้งสี่ส่วนนี้
       
       สี่หน่วยนี้ก็คือ ครม. นายกฯ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ ปตท. ขณะเดียวกัน นอกจากไม่เป็นไปตามที่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยให้ปฏิบัติแล้ว เราก็ตรวจสอบไปว่าการไม่แบ่งแยกทรัพย์สินมีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 ธันวาคม 2550 มติ ครม.บอกว่า มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ไปร่วมกันดำเนินงานแบ่งแยกทรัพย์สิน โดยให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมาย ก็ให้หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา จากการตรวจสอบก็ไม่ได้มีตัวเลขที่มีการแบ่งแยกทรัพย์สิน ไม่ได้ทำตามแนวมติ ครม.ที่ว่านี้ ก็คือ ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบไปพบว่า ทางกรมธนารักษ์ โดยท่านรองอธิบดีในขณะนั้น ได้มีการดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ คือนิติกร กับ ผอ.สำนัก ในการดำเนินการเสนอให้มีการจัดทำร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สิน ซึ่งร่างบันทึกที่จัดทำขึ้นมา สุดท้ายก็ได้มีการนำไปสู่การลงนามในข้อบันทึก ก็จะปรากฏชื่อผู้รับผิดชอบ รวมทั้งมีบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ก็คือมีฝ่าย ปตท.ด้วย ก็ร่วมกันลงนามกับทางรองอธิบดีกรมธนารักษ์ อย่างหลักฐานที่ปรากฏนี้ ซึ่งถามว่าเป็นไปตามมติ ครม. เป็นไปตามคำพิพากษามั้ย ก็ไม่
       
       เสร็จแล้วก็ไปร่วมกันทำหนังสือที่ไปยื่นในวันที่ 20 ที่ศาลปกครองมีการตัดสินไป ก็คือหนังสือคำร้องฉบับนี้ ซึ่งดูจากข้อความต่างๆ ก็มีพูดไปถึงว่าทั้ง 4 หน่วย ก็คือผู้ถูกต้องคดีทั้งหมด ทำให้เราเข้าใจว่าเรื่องนี้จะต้องเห็นพ้องต้องกันมาเรียบร้อยแล้ว น่าจะเป็นไปตามคำพิพากษา แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นไปตามคำพิพากษา เพราะจากการที่เราตรวจสอบมายังไม่เห็นเกี่ยวอะไรถึง ครม. เกี่ยวอะไรถึงรัฐมนตรีพลังงาน ก็ไม่มีเรื่องนี้เลย แล้วที่สำคัญ มติ ครม.ก็บอกว่า ต้องให้ สตง. รับรองในเรื่องตัวเลขของการแบ่งแยกทรัพย์สิน ก็ไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น สตง. เมื่อทราบแล้ว สตง.ก็พยายามที่จะทำการรับรองตัวเลขให้เสร็จ แต่ก็ไม่มีใครเอาตัวเลขนี้ไปใช้เลย จนกระทั่ง สตง.ก็ต้องทำหนังสือไปถึงศาลปกครอง ถ้าเราดูท้ายข้อความต่างๆ จะเห็นว่า กล่าวอ้างในลักษณะที่ไม่ตรงข้อเท็จจริง ก็คือบอกว่ามีการพิจารณาโดยทั้งสี่ผู้ถูกฟ้องคดีบ้าง อะไรบ้าง ซึ่งข้อเท็จจริงก็อย่างที่เห็นจากหลักฐานชัด ๆ เลย ก็มีฝ่าย ปตท. กับฝ่ายธนารักษ์ ซึ่งก็โดยการอนุมัติของรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็คือท่านรัฐมนตรีสุรพงษ์ สืบวงษ์ลี ให้ดูหลักฐานตัวอนุมัตินะ
       
       ถ้าจากหลักฐานการอนุมัติก็ปรากฏชัดว่า ในส่วนนี้ซึ่งถ้าว่าตามกฎหมายแล้ว อันนี้ก็คือที่ท่านสุรพงษ์อนุมัติไป ซึ่งโดยหลักกฎหมายแล้ว เรื่องนี้ การแบ่งแยกทรัพย์สินต้องเสนอถึง ครม.ด้วย นี่ก็ไม่ได้มีการเสนอต่อ ก็อนุมัติเรื่องนี้ จบ ก็กลายเป็นว่าทางศาลก็มีการสั่งบังคับตามที่มีการเสนอว่ามีตัวเลขที่จะขอให้ บังคับกัน เพียงเท่านี้
       
       ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ท่านประธานได้สรุปแถลงแล้ว โดยทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็จะต้องดำเนินการก็คือ แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการกับผู้ปฏิบัติ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้การรับคืนมูลค่าท่อแก๊สไม่ครบถ้วน เป็นผลให้การที่จะคิดค่าเช่าไม่ครบถ้วนด้วย ซึ่งแม้ว่าตัวเลขค่าเช่าอาจจะ เมื่อเทียบกับฐานะรายได้ของ ปตท. อาจจะไม่มาก ซึ่งอาจจะไม่ส่งผลมากนักกับราคาหุ้นแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นความผิดที่มีการละ ละเว้น ไม่ทำตามคำพิพากษา ไม่ทำตามมติ ครม. จนเป็นเหตุให้รัฐไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างครบถ้วนจาก ปตท. ก็อยู่ในความรับผิดชอบของนายธนพร ซึ่งขณะนั้นรักษาการตำแหน่งนิติกร 7 ว. กับนายนิพิฐ อริยวงศ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ และนายอำนวย ปรีมนวงศ์ ขณะนั้นทำหน้าที่เป็นรองอธิบดีกรมธนารักษ์ และปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมธนารักษ์ อย่าง ที่เมื่อกี้เราเห็นหลักฐานไป แล้วก็มีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ก็คือนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้รับเอามูลค่าท่อแก๊สซึ่งไม่ได้เป็นไปตามมติ ครม. ไม่ได้เป็นไปตามคำพิพากษา รวมถึงฝ่าย ปตท. ก็คือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และนายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ที่ขณะนั้นเป็นผู้จัดการสำนักกฎหมาย ที่ได้รับมอบหมายจากคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ปตท.
       
       ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ สตง. จะต้องดำเนินการต่อไปตามมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่ท่านประธานได้แถลงแล้ว มีอะไรเชิญครับ
       
       ถาม - ขออนุญาตเรียนถามว่า ถ้าเกิดทางรัฐบาลโดย ครม. หรือ ปตท. ไม่ดำเนินการตามที่ สตง. และ คตง. ได้ประกาศในวันนี้ จะดำเนินการต่อไปอย่างไร
       
       ตอบ - เมื่อกี้ท่านประธานก็ได้แถลงให้ทราบแล้วว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินนอกจากแจ้งตามมาตรา 44 และมาตรา 46 แล้ว ก็ยังแจ้งตามมาตรา 15 ประกอบมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจไว้กับคณะกรรการตรวจเงินแผ่นดิน ในการเสนอแนะต่อหน่วยรับตรวจ หรือว่าง่าย ๆ ก็คือคณะรัฐมนตรี รวมถึงท่านนายกรัฐมนตรี ในการที่จะต้องดำเนินการเพื่อรักษาประโยชน์ทางราชการ และท่านก็ได้ย้ำแล้วว่า การไม่ดำเนินการจากนี้ไป ก็จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาใหม่ ซึ่งผมเชื่อว่าอาจจะไม่น่าจะเป็นถึงขนาดนั้น เพราะว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นในรัฐบาลที่แล้วๆ มา ส่วนรัฐบาลปัจจุบันเมื่อได้รับทราบข้อมูลและความเสียหายทางราชการที่ต้อง เยียวยาแก้ไข ก็เชื่อว่าท่านคงจะดำเนินการ
       
       แต่ในส่วนของ ปตท. ปัจจุบันนี้ผู้บริหาร CEO ก็เปลี่ยนแปลงไป จริงๆ แล้วถ้าจะดำเนินการสิ่งที่เป็นประการสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของความเสียหาย ถ้าความเสียหายได้มีการบรรเทา เยียวยา ก็คงจะทำให้เรื่องนี้ในแง่ความรับผิดชอบ ทุเลาไปส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่าเราต้องแบกแยกเรื่องของความเสียหาย กับเรื่องของการดำเนินการในเรื่องทางอาญากับผู้ที่รับผิดชอบ นั่นมันเป็นคนละส่วนกัน ในส่วนความเสียหายถ้าได้มีการบรรเทาเยียวยาแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็น่าจะสามารถผ่อนคลายได้
       
       วิธีการเยียวยาก็อย่างที่ทางคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยท่านประธานก็ได้แนะนำแล้ว ว่าเรื่องนี้จะต้องให้มีการไปเพิกถอนจากคำบังคับไว้เดิม ซึ่งบังคับไว้ไม่ถูกต้อง ก็บังคับให้ถูกต้อง ทั้งสองฝ่ายเมื่อมีการบังคับให้ถูกต้องแล้วก็ดำเนินการให้ถูกตัอง ตัวเลขที่ถูกต้องก็คือตัวเลขที่ สตง.ได้ตรวจสอบแล้ว
       
       ถาม - หมายถึงว่าตามขั้นตอนแล้ว หลังจากที่ส่งไปทางรัฐบาลแล้ว หน้าที่ของรัฐบาลคือต้องยื่นต่อศาลปกครองก่อนใช่ไหม
       
       ตอบ - ใช่ เพื่อให้มีคำบังคับที่ถูกต้อง จะได้ดำเนินการทุกอย่างได้ถูกต้อง ทางฝ่าย ปตท.เองก็จะได้ไม่อ้างว่าเป็นการบีบบังคับ หรือทำด้วยความไม่เต็มใจ เพราะว่าจะต้องอาศัยคำบังคับที่ถูกต้องเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ส่วนจะใช้เป็นนโยบายทางรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดมีการเยียวยาแก้ไข หรือชำระให้มันถูกต้อง แล้วก็จ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้นให้ถูกต้อง นั่นก็เป็นวิธีการที่ลัดหน่อย แต่ว่ากระบวนการจริงๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้คำสั่ง เพราะว่า ปตท.เป็นบริษัทมหาชน การทำอะไรก็ต้องอาศัยตัวบทกฎหมาย อย่างเช่นคำบังคับที่ถูกต้อง แต่ถ้าจะสามารถยอมรับได้ในทางปฏิบัติ แก้ไขเยียวยาได้ มันก็ยิ่งดี เพราะว่าความเสียหายของรัฐจะได้รีบ ๆ บรรเทาไป ขณะนี้ยังถือว่าเสียหายอยู่ เพราะว่าเมื่อคืนท่อไม่ครบถ้วน ค่าเช่าที่ชำระให้กับกระทรวงการคลัง ชำระให้แก่รัฐบาล ก็ยังไม่ถูกต้องอยู่ดี รายได้ส่วนนี้ยังไม่ได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นต้องรีบทำ
       
       ถาม - ค่าเช่าที่ขาดเท่าไร
       
       ตอบ - ค่าเช่าที่ขาดไป ก็คือตัวเลขที่จะต้องรับคืนมาอีก 3 หมื่นกว่าล้าน ก็จะต้องมีการคิดคำนวณค่าเช่าเพิ่ม แต่ที่ผ่านมามีการยอมรับไปแค่ค่าท่อเพียงหมื่นกว่าล้าน เพราะงั้นก็ยังไม่ครบ ต่างกันเกือบ 2 เท่า จริง ๆ ถ้าพูดถึงฐานะ ปตท. ไม่ได้กระทบอะไรเลยนะ ที่พูดนี่คืออย่าไปตกใจ เดี๋ยวจะเป็นว่า ผลจากการตรวจจะทำให้กระทบกระเทือนกับราคาหุ้น คิดว่าคนที่อยู่ในวงการตลาดจะรู้ดีว่า ตรงนี้ ปตท.อยู่ในฐานะที่จ่ายได้ เพียงแต่ว่าควรจะต้องจ่าย เมื่อถึงเวลานี้ เพราะการตรวจสอบทุกอย่างมันชี้ชัดออกมาแล้ว
       
       ถาม - กรณีนี้ต้องมีการพิจารณาย้อนหลังด้วยไหมว่าส่วนที่เขาไม่ได้จ่ายตั้งแต่แรกเลย จะต้อง..???..
       
       ตอบ - ใช่ครับ คือในหลักการคืนท่อไม่ได้แปลว่าเอาท่อกลับมา ไม่ให้เขาใช้นะ คือท่อก็ยังอยู่ที่เดิม คืนเป็นตัวเลขทางบัญชี แล้วก็เอามาคำนวณว่าเมื่อไม่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ก็ต้องมาขอเช่า ก็เช่าแล้วก็คิดค่าเช่าตั้งแต่ที่ใช้มา ก็คือคิดย้อนหลังไป แต่ที่ผ่านมาคือคิดจากมูลค่า ค่าท่อที่ยังคิดไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเมื่อคิดถูกต้องแล้วก็ต้องมาหาว่าส่วนต่างที่ยังจ่ายไม่ ... ค่าเช่าที่ยังควรจะต้องจ่ายยังอีกเท่าไหร่ แล้วคำนวณเสร็จก็จ่ายให้มันครบ ย้อนหลังให้มันครบถ้วนจนปัจจุบัน แล้วก็ในอนาคตด้วย
       
       ถาม - มีตัวเลขไหมว่าต่างกันเท่าไหร่
       
       ตอบ - ตัวเลขต้องไปคำนวณอีกที แต่ว่าก็ไม่น่าตกใจนะ ในฐานะทางการเงินระดับ ปตท.
       
       ถาม - สรุปแล้วมีรายชื่อรัฐมนตรีกี่คน
       
       ตอบ - ขณะนี้มีรัฐมนตรีท่านหนึ่ง คือท่านสุรพงษ์ ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้อนุมัติตามหลักฐาน แล้วก็ที่เหลือ ทั้งหมดรวมแล้ว 6 คน ก็มี ปตท. 2 คน ที่เหลือก็ทางธนารักษ์ ตั้งแต่รองอธิบดี รวมถึง ผอ.สำนัก รวมถึงเจ้าหน้าที่นิติ ผู้จัดประโยชน์ รวมแล้ว 6 คน ตามรายชื่อที่เมื่อกี้สรุปไป
       
       ถาม - ..???..
       
       ตอบ - เราแจ้งให้ท่านไปดำเนินการนะ รัฐมนตรีปัจจุบัน ท่านก็จะต้องไปดำเนินการในเรื่องนี้ให้มันถูกต้องต่อไป สิ่งที่ คตง.มุ่งเน้นก็คือ เรื่องของการที่ขอให้มีการเพิกถอนที่บังคับไว้ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขอให้บังคับใหม่ให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนนี้ก็คงต้องเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยก็ดี ครม.ก็ดี กระทรวงการคลัง รวมทั้ง ครม.ด้วย จะต้องไปดำเนินการในส่วนนี้
       
       ถาม - 6 คนที่โดนดำเนินคดีหมายถึงว่า กรณีนี้ทาง สตง. ...
       
       ตอบ - เห็นว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะถ้าชอบก็ต้องทำให้ถูกต้องตามมติ ครม. ถูกต้องตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาแต่แรกว่าให้ไปร่วมกันในการแบ่งแยกให้ถูก ต้อง
       
       ถาม - จะยื่น ป.ป.ช. ..???..
       
       ตอบ - อันนี้ก็ต้องยื่น ป.ป.ช. เพราะว่า สตง.เรามีหน้าที่ตรวจสอบ รวบรวมหลักฐาน แล้วพบว่ามีการปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามอาญาแผ่นดิน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานหน่วยงานของรัฐ ปี 02 สตง.ก็มีหน้าที่ต้องส่งต่อให้ ป.ป.ช.ไปดำเนินการไต่สวนต่อไป
       
       ถาม - คตง.ได้มีการพิจารณาถึงกรณีที่กรรมการที่ทำหน้าที่แบ่งแยกทรัพย์สิน ..???..
       
       ตอบ - อันนี้ที่เราตรวจสอบมา มีในส่วนที่ตามลำดับเหตุการณ์ ตามเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ส่วนนอกเหนือจากนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่มีความบกพร่อง หรืออย่างไร อันนั้นยังเป็นประเด็นรอง แต่ประเด็นหลักจริงๆ ก็คือมุ่งในแง่ที่ให้รับผิดชอบในเรื่องคดีอาญา และเน้นในเรื่องที่จะมาเยียวยาแก้ไขปัญหานี้ โดยการเพิกถอน และขอบังคับใหม่ให้ถูกต้อง มิฉะนั้นเกินเลยจากนั้นก็ต้องไปหาคนรับผิดชอบ
       
       รสนา - ท่านผู้ว่าฯ คะ ในมติ ครม.วันที่ 18 ธันวาคม 2550 มีการมอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีพลังงาน และ ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในส่วนนี้ท่านพิจารณาเฉพาะกระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบที่จะต้องพิจารณาตรงนี้ หรืออย่างไร และอีกประการหนึ่งก็คือว่า ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการตรวจสอบและพบว่าทรัพย์สินที่จะต้องคืน คือ 68,000 ล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างจาก สตง. สตง.อยู่ที่ 58,000 ล้าน ในตัวเลขเหล่านี้มันจะมีวิธีการพิจารณาอย่างไรที่จะครบถ้วน และอีกประการหนึ่ง ทั้ง สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้พูดถึงหุ้นในบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นหุ้นที่รัฐเป็นเจ้าของ เพราะเนื่องจากว่าเป็นกิจการที่ร่วมทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย หุ้นในส่วนนั้นก็ยังไม่ได้คืน และไม่มีการพูดถึงเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ สตง. ในกรณีแบบนี้มันจะมีการพิจารณามากไปกว่านี้ไหม เพราะท่านพูดอย่างนี้ แสดงว่าคืนเฉพาะส่วนที่ สตง.พิจารณา ในขณะที่ประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในเรื่องนี้ เราเห็นว่าทรัพย์สินในความหมายที่ศาลบอกว่าได้มาโดยอำนาจมหาชนนั้น มันยังมีมากกว่านี้
       
       ตอบ - ตอบประเด็นคำถามว่า เฉพาะเรื่องที่เราพูดอยู่นี้ คือเรื่องของการคืนท่อแก๊สที่ไม่ถูกต้อง ประเด็นที่เรามุ่งเน้นไปในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นในเรื่องท่อแก๊สนี้เราก็ได้มีคำตอบแล้ว ว่าจำนวนท่อแก๊สที่คืนไม่ถูกต้อง ในส่วนของ สตง.ตรวจสอบมา ก็มีส่วนต่างอยู่ 32,000 กว่าล้าน ที่จะต้องมีการเรียกคืนมาเสียให้ครบถ้วน ในความเห็นที่ สตง.ได้มีการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ทั้งท่อบนบก ผ่านที่ เวนคืน หรือแม้กระทั่งไปซื้อมาเอง หรือแม้กระทั่งอยู่ในทะเลหลวง ทั้งหมดนี้เราถือว่าท่อเป็นเส้นเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องคืนมาหมด เพราะงั้นในส่วนนี้ก็ต้องเป็นตัวเลขที่ทาง สตง.ได้ตรวจสอบแล้ว ส่วนจะแตกต่างจากทางผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างไร นั่นก็คือว่าเป็นเรื่องข้อมูลใหม่ที่เราจะต้องไปดูกันภายหลัง แต่ในส่วนนี้เฉพาะที่คำพิพากษาตัดสิน ที่ยังบังคับไม่ครบถ้วน เราก็ดำเนินการในส่วนนี้ก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ความรับผิดชอบของส่วนที่คืนท่อแก๊สไม่ถูก ต้อง ส่วนเรื่องอื่นที่เป็นเรื่องบริษัทที่อยู่ ถือหุ้น หรืออะไร นั่นก็ต้องเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องหาข้อสรุปต่อไป แต่สำหรับเรื่องนี้เราเน้นเฉพาะเรื่องคืนท่อ ซึ่งมีการปฏิบัติที่ไม่ชอบ จนก่อให้เกิดความเสียหาย อันนี้เฉพาะในส่วนนี้เท่านั้นเอง
       
       รสนา - หมายถึงว่าคืนในส่วน 32,000 ล้าน นี่ยังไม่ยุติใช่ไหม หรือว่าคืนอีก 32,000 ล้าน ถือว่ายุติหมดแล้ว
       
       ตอบ - คือ ในส่วนนี้เฉพาะค่าท่อที่ สตง.ตรวจสอบแล้ว และในส่วนอื่นที่ยังไม่ได้ตรวจก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ต้องเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะว่าประเด็นที่เราตรวจเรื่องนี้ ที่เราชี้มูลเรื่องนี้ คือเฉพาะเรื่องคืนท่อที่ไม่ครบ
       
       ถาม - ถ้าภายใน 60 วัน แล้วไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้ ถือว่าละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ไหม แล้ว สตง.จะมีการดำเนินการอย่างไร
       
       ตอบ - ที่เรากำหนดเวลานี่ เรากำหนดเวลาตามมติ คตง. และตามกฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน และรัฐบาลปัจจุบันไม่มีอะไรที่เป็นส่วนได้เสีย เราก็เชื่อว่าจะต้องช่วยกันรักษาประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เมื่อได้รับแจ้งจาก สตง. ขณะนี้ท่านเองก็รอฟังข้อเท็จจริงการตรวจสอบจาก สตง. อยู่ เมื่อเราแจ้งข้อเท็จจริงให้ท่านทราบ และมีข้อเสนอแนะในการดำเนินการ และเสนอแนะโดยกฎหมายด้วย ก็เชื่อว่าท่านต้องทำ คิดว่าประเด็นที่เราบอกว่าภายใน 60 วัน ถ้าไม่ทำก็เป็นการละเว้น แต่ผมก็เชื่อว่ามันไม่เกิดขึ้นนะ เราลองดูว่า เมื่อ สตง.แจ้งไปแล้ว แล้วเราลองไปถามท่านดูว่าจะทำยังไง เมื่อกี้ท่านประธานก็ได้แถลงแล้วว่า ให้เวลาประมาณ 60 วัน เพราะว่าความเสียหายของรัฐมันต้องรีบบรรเทาเยียวยาอยู่แล้ว
       
       ถาม - ..???..
       
       ตอบ - กฤษฎีกาตีความเราส่งไปแล้ว แต่เมื่อกฤษฎีกายังไม่มีคำตอบออกมา ไม่เป็นประเด็นปัญหาเลย เพียงแต่ว่าเราก็ถือตามดุลพินิจที่เราตรวจมาแล้ว คือคำว่ากฤษฎีกา หมายถึงว่ามติ ครม.ครั้งแรกที่บอกว่า ถ้ายังมีข้อสงสัย แต่ตอนนี้เราก็ตรวจจนปราศจากข้อสงสัยแล้ว และเมื่อเราถามไป ขณะนี้แม้ยังไม่ได้รับคำตอบ เราก็ทำไปตามส่วนที่เรามีดุลพินิจเห็นว่าถูกต้องแล้ว เพราะว่าครบถ้วนก็คือบอกว่า มติ ครม.บอกให้ สตง.เป็นคนตรวจสอบ จริงๆ ถ้าไม่ให้ผู้สอบบัญชีของรัฐตรวจสอบ จริงๆ แล้วก็ไม่รู้จะให้ใครตรวจ แล้วเราก็ตรวจแบบรักษาประโยชน์ของทางราชการอย่างถึงที่สุดแล้ว
       
       ปานเทพ - ท่านผู้ว่าฯ ครับขออนุญาตนิดหนึ่งว่า เมื่อกี้คำตอบยังได้ไม่ครบ จากที่คุณรสนาได้สอบถาม ไม่ครบประการที่ 1 ก็คือ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ ปตท.เกี่ยวข้องด้วย เหตุใดการดำเนินคดีในส่วนของ คตง.ที่จะพิจารณา จึงไม่มีส่วนของกระทรวงพลังงานมามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันนี้คำถามที่หนึ่งที่ท่านยังไม่ตอบ ส่วนที่สองที่ผมคิดว่ามีความน่าสนใจ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผมขออนุญาตขมวดไปเลย เพราะมันจะเชื่อมโยงกัน คือผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ากระบวนการที่ยังไม่ปฏิบัติ เกิดขึ้นต่อเนื่อง หลายยุคหลายสมัย ดังนั้นการดำเนินคดีความในส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีหลายบุคคลและหลายท่านต่อเนื่องกัน เหตุใดการพิจารณาของ คตง. และ สตง. จึงไม่พิจารณาในส่วนนี้ ที่จะดำเนินคดีความต่อไป
       
       ตอบ - ในมติคณะรัฐมนตรีมีการมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน แต่ข้อเท็จจริงที่เราตรวจในเรื่องของการละเลย ละเว้นมติ ครม. ว่าง่าย ๆ คือ กรมธนารักษ์ หลังจากที่กระทรวงการคลัง ผ่านท่านปลัด ลงไปถึงกรมธนารักษ์ กรมธนารักษ์ก็ไปชงเรื่องเสนอขึ้นมาว่า ทุกอย่าง เบ็ดเสร็จแล้ว พร้อมที่จะเข้าสู่การอนุมัติของท่านรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีทั้งที่รู้อยู่ว่าเรื่องนี้มันเป็นอำนาจของ ครม. ตามกฎหมายมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แต่ท่านก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เราก็เอาเฉพาะในส่วนนี้ ส่วนเรื่องว่า กระทรวงพลังงานเหมือนถูกลืมไปเลย คือไม่ได้มีบทบาทอะไรในการ ... จะบอกว่าเป็นการละเว้นหรือไม่ เราก็จะดูเป็นอีกเรื่องหนึ่งไป แต่เฉพาะคนที่ทำให้เกิดความเสียหาย เราก็มาออกรายงานก่อน เพราะถ้ามัวแต่ไปรอส่วนนั้น ตรงนี้ก็ไม่ออกสักที นี่ขนาดเรารีบดำเนินการแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลา ใช้ความละเอียดรอบคอบ แล้วคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็ได้มีกระบวนการกลั่นกรองมามาอย่างรอบคอบ แต่ส่วนเรื่องไม่มีกระทรวงพลังงาน คือในหลักฐานไม่ได้เกี่ยวเลย แต่ว่ามีมติให้เขาทำแน่ แต่เขาก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรเข้ามาในส่วนนั้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยว่าตามหลักฐานส่วนนี้ก่อน ส่วนการที่มีมติแล้วกระทรวงพลังงานไม่ได้ทำอะไรเลย จะเป็นละเว้นหรือเปล่า เดี๋ยวเอาไว้อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องมันจะได้ไป เดินหน้าได้
       
       ถาม - ก่อนจะได้มีการพิจารณาตรงจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกทรัพย์สิน (***) เพราะตอนนั้นคนที่ดำเนินการก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น (***) ซึ่งอันนั้นเป็นต้นทาง แต่ คตง.ไม่ได้มีการพิจารณาตรงนั้น
       
       ตอบ - ผมเรียนตอบอย่างนี้ จุดนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้น แต่ก็พ้นไปแล้ว ไม่ได้ทำอะไรอีกแล้ว
       
       ถาม - แต่แนวทางที่เขามาทำ เขาทำตามส่วนนั้น แต่ทำไมจุดเริ่มต้นไม่มี (***)
       
       ตอบ - เมื่อเป็นมติ ครม.ออกมาแล้ว ก็ต้องทำตามในส่วนนั้น ใช่ครับ แต่คนที่เดินต่อ สุดท้ายแล้วไม่ได้ทำตามมติ ครม. เราก็ต้องว่าเฉพาะตรงจุดนั้น แต่คนที่พ้นไปแล้ว และไม่ได้มีบทบาทอะไรที่จะไปทำ บันดาลให้เกิดอะไรขึ้น
       
       ถาม - แบบนี้คนที่อยู่ปลายทางเขาก็อ้างกลางทาง ต้นทาง ที่วางไว้
       
       ตอบ - ต้นทางที่วางมา อย่างไรเสียก็ต้องไปทำตามมติ คือคนสุดท้ายจะปฏิเสธเรื่องมติ ครม.ไม่ได้ แต่เรื่องนี้ข้อเท็จจริงทั้งหมดมันจะอยู่ในสำนวนหมดว่า ใคร เริ่มต้นยังไง เพียงแต่จังหวะที่พอเริ่มต้นปุ๊บ ก็เปลี่ยนงาน เปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนอะไรไป แค่ตรงเสนอขึ้นมาในช่วงนั้นมันไม่ได้ก่อให้เกิดผลตามมาในขณะนี้ แต่คนที่ทำให้การเรียกรับไม่ถูกต้อง คืนไม่ครบถ้วน มันเป็นคนที่เกี่ยวข้องในภายหลัง นี่เราไม่ได้ไปอธิบายเผื่ออะไร แต่ในสำนวนเราเน้นเฉพาะคนที่มีส่วนสำคัญอย่างมากๆ ที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ จนกระทั่งคืนไม่ครบ
       
       ถาม - ตัวพฤติกรรมที่มันเกิดขึ้น ที่ไม่ได้มีการฟัง สตง. มันเกิดขึ้น (***)
       
       ตอบ - อันนี้เข้าใจผิดแล้ว
       
       ถาม - ตอนที่ยื่นเรื่องมาให้กับศาลปกครอง
       
       ตอบ - ไม่ใช่เลย ที่ท่านพูดนี่ไม่มีอยู่ในสำนวน ไม่มีอยู่ในข้อเท็จจริงนะ ผมไม่ได้พูดอย่างนั้นด้วยนะ นี่เป็นคำถามของท่าน แต่ผมไม่มีข้อเท็จจริงอย่างนั้น เราเอาเฉพาะที่อยู่ในข้อเท็จจริง ที่เราตรวจมันไม่มีเหตุการณ์อย่างที่ท่านพูดนะ
       
       ถาม - เมื่อกี้ที่ท่านประธาน คตง.พูดถึง มีการพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องที่ยื่นเอกสารไปยังศาลปกครอง แล้วก็มีการตัดสินก่อนที่จะมีการพิจารณา แต่ตัวเอกสารของ สตง. ช่วงเวลานั้น (***)
       
       ตอบ - ไม่ใช่ ท่านเช็กเวลาใหม่นะ ปี 51 นะ ผมก็ไม่อยากจะพูดว่านายกฯ ใคร แต่ว่าในเมื่อเขายังไม่เกี่ยวข้อง เราก็ยังไม่พูด เดี๋ยวเขาจะกระทบกระเทือนนะ แต่ไม่ใช่ท่านสุรยุทธ์ ไม่ใช่รัฐบาลชุดท่านสุรยุทธ์
       
       ถาม - ตามรายงานที่ถูกวางไว้ตอนรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ทำไมถึงถูกตัดตอนมาได้
       
       ตอบ - ไม่ตัดตอน เพราะว่าการกระทำมันจะต้องดูผลจนกระทั่งสุดท้ายก่อให้เกิดเป็นความผิดสำเร็จ คนที่ทำตามมาแล้วสุดท้ายความผิดมาจบตรงที่ว่า จริง ๆ เรื่องนี้ต้องกลับไปที่ ครม. อีกครั้งหนึ่ง ครม. เขาต้องไปพิจารณาว่ามีมติ ครม. แต่มันไม่ได้เข้า ครม. อันนี้ก็คือถูกตัดตอน ใช่ แต่คนที่เริ่มมา คือเริ่มยังไงได้ แต่ตอนจบมันต้องจบถูกต้อง เพราะถ้าเขาเริ่มแล้วมีผลต่อเขาอีกทางหนึ่ง พอดีเริ่มยังไง แล้วก็พ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะว่าอย่างนี้ก็กลายเป็นว่าไปบอกว่าตรงโน้นผิด แล้วคนหลังนี่ก็ทำตามคนโน้น
       
       ถาม - ประเด็นที่มีการพิจารณา และเป็นประเด็นที่ คตง. พิจารณาในวันนี้ด้วย ก็คือว่า ท่อแก๊สเป็นสาธารณสมบัติ แต่ในครั้งแรกที่เขามีการวางแนวทาง (***)
       
       ตอบ - แนวทางยังไง
       
       ถาม - ..????..
       
       ตอบ - คือคุณนิพิฏฐ์ รับผิดชอบอยู่ (***) คือเขาเสนอว่า ที่จะคืน แค่ 1..2..3.. เขาก็เสนอ 1..2..3.. แต่วิธีการคิดที่เขาเสนออย่างไร โดยที่มันไม่ตรงกับสิ่งที่คุณนิพิฏฐ์ต้องทำก็คือ ต้องฟังจาก สตง. ตามมติ แต่ไม่ถาม สตง. ดูเลยว่า ตกลงตัวเลขที่เขาคิดมา 1..2..3.. หัวข้อนี้ เป็นตัวเลขหมื่นกว่าล้าน มันตรงกับ สตง. มั้ย ตรงนี้ต่างหากที่ละเว้น เพราะฉะนั้นแนวคิด แนวทาง ก็คือยังต้องเน้นเรื่องการตรวจสอบของ สตง. อยู่ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ แต่มีคนไม่ทำ ก็คือคุณนิพิฏฐ์ แล้วเริ่มเสนอว่า 1..2..3.. พอ แล้วสุดท้ายก็อย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นเราก็ชี้ตามพฤติการณ์อย่างเดียว ส่วนอะไรที่ยังไม่ถึงชัดแจ้ง เราก็ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เพราะฉะนั้นการกระทำนี่เป็นการกระทำที่ร่วมกันโดยแบ่งแยกกันทำในลักษณะอย่าง นี้ และคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง เราก็กันไว้ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นนี่เรายืนยันได้เราพิจารณาเฉพาะคนที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าเกินเลยจากนี้ ป.ป.ช. อาจจะมีอะไรเห็นมากกว่านี้ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
       
       ถาม - อีกกระแสหนึ่งมีการเขียนว่ายังมีการยื่นเรื่องไปที่ ปปง. ด้วย มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน ??
       
       ตอบ - คือ อันนี้เป็นเรื่องหลักกฎหมาย ว่า ในความผิดที่เกี่ยวกับการที่กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะไปตรวจสอบทรัพย์สินได้ เรื่องนี้ถ้าตราบใด 3 หมื่นกว่าล้าน ยังไม่คืนมา และตราบใดที่ยังไม่ไปเรียกค่าเช่าเพิ่มขึ้นให้มันครบถ้วนย้อนหลังไป ตราบใดยังมีความเสียหาย ตราบนั้น ปปง.มีอำนาจเข้าไปยึด อายัดทรัพย์สิน เพื่อมาตรวจสอบ และมาชดเลยกับความเสียหาย ถ้ายังไม่พอก็ยึดไปเรื่อย ถ้ามีเยอะกว่านั้นก็ช่วยไม่ได้ อาจจะไปเจอเรื่องรวยผิดปกติ
       
       ถาม - นี่คือตรวจสอบเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือตรวจสอบกรณีของ ปตท. ด้วย
       
       ตอบ - คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องรับผิด ผู้เกี่ยวข้องนะ ปตท. นี่ไม่ต้องไปตรวจสอบหรอก ทรัพย์สินเขาเผยแพร่อยู่แล้ว เขาเป็นองค์กรมหาชน ที่ ปปง. ไปดูทรัพย์สินตัวบุคคล ที่กระทำผิด เพราะการกระทำผิดอาญาเป็นเรื่องของตัวบุคคล ปปง.ก็จะไปยึดทรัพย์ และตรวจสอบทรัพย์สิน
       
       ถาม - คดีที่อยู่กับทางศาลปกครอง (***) ถือว่าเป็นคนละส่วนกับกรณีนี้ ..???.. สามารถที่จะดำเนินการได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลปกครองตัดสิน
       
       ตอบ - อันนี้ไม่จำเป็น เพราะในส่วนนี้ สตง. เราเห็นแล้วว่าในข้อกฎหมายตรงนี้สามารถทำได้ แต่ต้องทำโดยที่เป็นผู้เสียหายที่เกี่ยวข้อง อย่างกรณีนี้เราถึงแนะนำว่า ให้เสนอ ให้ ครม. ให้ทางนายกฯ รวมทั้งกระทรวงกาารคลัง จะต้องไปขอให้มีการดำเนินการ เพราะฉะนั้นรัฐบาลในยุคปัจจุบันก็ต้องสั่งการแล้วให้มีการดำเนินการเพื่อจะ เข้าสู่กระบวนการของการเสนอให้มีการเพิกถอนคำบังคับเดิม ที่บังคับไม่ถูกต้อง และขอให้มีการบังคับใหม่ให้ถูกต้อง เท่านั้นเอง
       
       ปานเทพ - ผู้ตรวจการแผ่นดินมีการตรวจสอบและดำเนินคดีความกับหลายคน ที่ในระหว่างนั้น สตง. ได้ท้วงติงว่าคืนยังไม่ครบ อีกหลายคน แต่ปรากฏว่ากระบวนการดังกล่าวกลับหยุดไว้เพียงแค่รัฐมนตรีแค่ท่านเดียว ยุคเดียว อยากจะสอบถามว่า เพราะเหตุใดในกระบวนการดังกล่าวที่เหลือ ในช่วงที่มีการถูกถามไปมากกว่านั้น จึงไม่มีความคิด หรือมติ ที่จะดำเนินคดีความต่อไป
       
       ตอบ - คือขณะนี้ผมพิจารณาตามหลักฐานการตรวจสอบในกระบวนการที่ สตง. ได้มีการรวบรวมหลักฐานมา แต่ในความเห็นส่วนต่างที่ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ในส่วนนั้นเรายังไม่อาจจะไปก้าวล่วงถึงในส่วนนั้นได้ เพราะทางผมก็ยังไม่ทราบในรายละเอียดว่าท่านพิจารณาอย่างไร มีข้อแตกต่างตรงไหน แต่เมื่อมีข้อสังเกต เดี๋ยวเราก็มาลองดู ถ้ามันจะมีก็อาจจะมีเป็นประเด็นใหม่ หรืออย่างไร แต่ในเฉพาะประเด็นที่เราตรวจ ยืนยันผลการตรวจครั้งนี้ของเราว่า ที่เราตรวจและเรายืนยันว่าจะต้องดำเนินคดีเฉพาะในส่วนนี้ ก็ดำเนินการไป แต่ถ้าข้อเท็จจริงที่ผู้ตรวจการฯ จะส่งมาให้ทาง สตง. ประกอบการพิจารณาตรวจสอบต่อไป ยังไง เราค่อยว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง ไม่งั้นเรื่องไม่จบ แล้วเรื่องนี้ก็ต้องช้าออกไปอีกเยอะ
       
       รสนา - ขอถามนิดหนึ่งว่าท่อก๊าซที่ท่านประเมินราคาไว้ 32,000 ล้าน มันเป็นท่อก๊าซที่เป็นมูลค่าตามบัญชีในช่วงของการแปรรูป ปี 2544 แต่หลังจากที่ ปตท. มีการคืนท่อบางส่วนมาแล้ว ได้เอาท่อส่วนที่เหลือไป re-value ใหม่ ไปปรับเพิ่มราคา เนื่องจากว่าอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งมูลค่าของท่อก๊าซเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 ล้าน แต่ท่านยังบอกว่ามูลค่าท่ออยู่ที่ 32,000 ล้าน แต่ว่าเขาอัพราคามาแล้วเป็น 120,000 ล้าน ท่านจะมีประเด็นตรงนี้อย่างไร และค่าเช่าท่อที่เราเก็บจาก ปตท. 550 ล้านต่อปี ในขณะที่เขาเก็บค่าผ่านท่อปีละ 25,000-30,000 ล้าน อันนี้เป็นการค้ากำไรเกินควรไหม และในส่วนนี้ ทาง สตง. จะมีการคิดราคาที่เหมาะสมอย่างไร
       
       ตอบ - อันนี้หลักเกณฑ์การคิดค่าเช่า หลักเกณฑ์ที่ทางกรมธนารักษ์เขาคิดและกำหนดกัน ตามแนวทางของกระทรวงการคลัง แต่ถ้าเราเห็นว่าไม่เหมาะสมหรืออย่างไร อันนั้นต้องเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องคดีที่เกิดขึ้นจากการคืนไม่ครบ และในขณะนั้นมีทฤษฎีการคิดแบบนี้ แต่ถ้าจะให้ไปเสนอแนะว่ายังคิดน้อยไป นั่นเดี๋ยวค่อยไปว่ากันอีกขั้นตอนหนึ่ง
       
       ถาม - ..???..
       
       ตอบ - เชื่อมั่นว่าไม่เลยครับ เพราะในขณะที่เราทำ ก็คือทำให้มันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ในเมื่อกฤษฎีกายังไม่ได้ให้คำตอบออกมา แต่ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบเราเห็นว่าท่อแก๊สที่เราจะต้องคืน มันแน่นอนอยู่แล้ว เราก็มีความรู้พอ เรา ผู้ใช้กฎหมายคนหนึ่ง เราก็ใช้ไป แล้วในขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ก็เป็นผู้ใช้กฎหมาย อัยการก็เป็นผู้ใช้กฎหมาย ศาลก็เป็นผู้ใช้กฎหมาย ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาอุปสรรค
       
       ถาม - ..???.. สตง.ทำหนังสือไปถึงรัฐบาลว่าการคืนท่อก๊าซ ..???.. นายกรัฐมนตรีก็สั่งมาว่าต้องให้กฤษฎีกาให้ความเห็นมาก่อน ในเมื่อเวลานี้กฤษฎีกายังไม่ให้ความเห็น
       
       ตอบ - ไม่เป็นไรครับ ตอนนี้ สตง. เรามีมติ แล้วเราก็มีความเห็น // ใช่ครับ ผมยืนยันว่าเราทำหน้าที่นี้ได้
       
       ถาม - ผมขออนุญาตถามบ้างว่า เอาล่ะ วันนี้ สตง. และ คตง. ได้กรุณาพิจารณาออกมาอย่างนี้แล้ว ในความเห็นของท่าน ท่านคิดว่าการดำเนินการตามกฎหมายอย่างนี้ เป็นการกระทำโดยชอบ ใช่ไหมครับ
       
       ตอบ - ครับ
       
       ถาม - ถ้าเกิดว่า ... อันนี้สมมุตินะ อีกฝ่ายหนึ่งเขาบอกว่าเขายังคงอ้างคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเดิม ว่าเรื่องได้ยุติไปแล้ว ตรงนี้ท่านจะช่วยชี้แจง อธิบาย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ เพราะเราจำเป็นต้องเดินหน้าเรื่องนี้ด้วยเหตุผลใด
       
       ตอบ - ผมคิดว่าเรื่องนี้หลายฝ่ายคงจะช่วยกันอธิบายได้ แต่ในส่วนของ สตง. เราเรียนยืนยันว่า จากประเด็นที่เราตรวจสอบมา เราเห็นว่าที่บังคับมา ด้วยข้อเท็จจริง ข้อมูล ที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง หรือจะเรียกว่าเป็นข้อมูลที่เท็จก็ได้ เพราะไปกล่าวอ้างเลยว่า 4 ฝ่ายเห็นพ้องกันบ้าง อะไรบ้าง ซึ่งมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น และการดำเนินการตามกระบวนการก็ยังไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ ก็คือไม่ทำตามมติ ครม. ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นการละเลย ละเว้นแล้ว เพราะฉะนั้นเราเรียนยืนยันเลยว่า ที่เราตรวจไป เราพิจารณาไปตามหลักฐานและข้อเท็จจริง แล้วก็ยังยืนยันในตัวเลขที่ สตง. ได้ตรวจพบมาว่า ที่ถูกแล้วเราต้องรักษาประโยชน์ทางราชการด้วยตัวเลขระดับหนึ่ง ส่วนตัวเลขค่าเช่าต่อไปจะเหมาะสมหรือไม่ ค่อยพิจารณาไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในครั้งนี้ก็คือ เราเอาเฉพาะส่วนที่มีการละเลย ละเว้น เพื่อให้ดำเนินการไปได้ ทั้งเรียกค่าเสียหายในส่วนอื่นที่จะได้รับชดเชยคืนมา
       
       รสนา - ปัญหาที่ท่านผู้ว่าฯ บอกว่า 32,000 ล้าน นี่คือส่วนที่ สตง. ตรวจ ทีนี้ถ้าสมมุติในกรณีที่เมื่อกี้ดิฉันบอกว่ามันยังมีอีกหลายส่วนที่ สตง. ไม่ได้กล่าวถึง อย่างเช่นเรื่องของหุ้นในบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย ทีนี้ปัญหาคือเมื่อ คตง. มีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันไปดำเนินการ สมมุติว่ามีการดำเนินการแล้ว ก็จะบอกว่าตกลงตอนนี้จบแล้ว ทุกอย่าง ครบถ้วนแล้ว อยากจะขอฟังจากทางผู้ว่าฯ ว่า กรณีนี้ แม้คืนท่อตามที่ สตง. พูด 32,000 ล้าน แต่ยังไม่จบ ใช่ไหม
       
       ตอบ - คือ จบเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่องคืนท่อ แต่เรื่องประเด็นอื่น อย่างเช่นเรื่องถือหุ้น แล้วยังต้องคืนมาอีก นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีข้อมูลมา เรายินดีรับฟัง และยินดีมาดูว่าอะไรบ้างที่ยังเป็นประโยชน์ของรัฐที่ยังขาดตกบกพร่อง ที่ยังจะต้องมีการเรียกชดเชยคืนมา เรื่องอย่างนั้นก็ต้องขอแยกเป็นประเด็น ไม่อย่างนั้นเรื่องที่คาไว้ คดีมันก็ไม่เดินหน้า แล้วความเสียหายอย่างอื่น ถ้ามีก็ขอให้บอกมาก็แล้วกัน เรายินดีที่จะรับฟังเลย เพราะว่าทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีเจตนาที่ตรงกันที่จะร่วมกันรักษาประโยชน์ ผมเรียนนิดหนึ่งแล้วกันว่า ตอนนี้ที่ประชุมกำลังคอย ... คือ สตง.เป็นเจ้าภาพในการขอทบทวนค่าโง่ แล้วเราจะไปยืนยันว่า สตง.จะเป็นผู้ที่ขอได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาล มาเป็นผู้เสียหายแทนประชาชน เพื่อจะไปยื่นฟ้องในเรื่องค่าโง่ใหม่ ที่ประชุมกำลังรอ ตัวต้นเรื่องคือ สตง. ตอนบ่ายสามโมง เพราะฉะนั้นผมขอเวลาอีกนิดหนึ่ง แล้วที่เหลืออาจจะเพิ่มเติมทีหลัง
       
       ถาม - รบกวนขอรายชื่อได้ไหมคะว่า 6 คนมีใครบ้าง
       
       ถาม - ตอนนี้ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติม ทาง สตง. จะตรวจได้เลย หรือว่าเราสามารถที่จะมาร้องให้ตรวจสอบได้
       
       ตอบ - แล้วแต่ข้อมูลเรื่องอะไร บางทีท่านมีประเด็นรายละเอียดลึกลงไป ที่ไม่อาจจะปรากฏในเอกสารหลักฐาน ท่านก็อาจจะช่วยอำนวยความสะดวก จะบอกทางตรง ทางอ้อม วิธีไหนก็ไม่ขัด
       
       เรื่อง ป.ป.ช. เนื่องจากตอนนี้เพิ่งเลิกประชุม แล้วเรายังต้องดูรายละเอียด ก็คงไม่เกินอาทิตย์หน้า เราก็จะส่งไป ขอเวลานิดหนึ่งนะ เพื่อตรวจทานให้รอบคอบ เพราะตัวรายงาน 200 กว่าหน้า กล่องเบ้อเริ่ม เมื่อกี้เราเพิ่งไปส่งคดีของ กทม. ก็กล่องหนึ่งเต็ม ๆ เพิ่งไป ป.ป.ช. เพราะฉะนั้นก็จะตามหลังไป วันไหนจะส่งผมจะแจ้งอีกที
       
       ถาม - (***) ควรจะต้องดำเนินการภายในกี่วัน
       
       ตอบ - ให้เวลาไว้เพื่อเป็นตัวเร่งรัดเท่านั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่ามันไม่เป็นปัญหาหรอก
       
       ถาม - ..???..
       
       ตอบ - อันนี้ให้ท่านพิจารณาก่อน แล้วมีข้อเท็จจริงค่อยดูอีกที ผมเชื่อว่าสิ่งที่รอตรวจ ทางรัฐบาลน่าจะรับฟังได้ เพราะที่ผ่านมาเราเองก็เป็นฝ่ายเสนอหลายเรื่องเข้าไปใน ศอตช. เข้าไปใน คตร. ก็ได้รับการตอบสนองดีทุกเรื่อง เราถึงสังเกตเห็นว่าคะแนนธรรมาภิบาลของรัฐบาลชุดนี้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สูงกว่ารัฐบาลในสมัยที่เขามีการหย่อนบัตรเลือกตั้ง แม้ว่าคะแนนเลือกตั้งจะได้ 0 แต่คะแนนธรรมาภิบาลมีแต่ดีขึ้น


คตง.ส่ง "ป.ป.ช." ดำเนินคดีอาญา "หมอเลี้ยบ-ประเสริฐ" กรณีส่งคืนท่อก๊าซ.

จาก โพสต์ทูเดย์

คตง.มีมติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญา "อดีตรมว.คลัง-อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ปตท." พร้อมผู้เกี่ยวข้อง กรณีส่งคืนท่อก๊าซไม่ครบ ทำรัฐเสียหาย

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) แถลงการตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550 ในช่วงรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการส่งคืนท่อก๊าซ ของ บมจ.ปตท. พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการฝ่าฝืนมติ ครม.และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการส่งคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วนทั้งบนบกและทางทะเล มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาทตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด  และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ คตง.มีมติให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท., นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีธนารักษ์ในขณะนั้น, นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย ปตท. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานกฎหมาย ปตท.ในขณะนั้น รวมทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า คตง.เห็นพ้องกับผลการตรวจสอบของ สตง.ว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้นายกรัฐมนตรี, รมว.พลังงาน และ ปตท. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.นี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

จากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ตามคำพิพากษา โดยการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มิได้ถูกนำเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อนการลงนามบันทึกการแบ่งแยกฯ ตลอดจนมิได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาก่อนการยื่นคำร้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.51 และ ไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เข้ามีส่วนร่วมในการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ

นอกจากนั้น การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม. เพราะจากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ของการปิโตรเลียมฯ มิใช่เป็นกรณีที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการตามที่มติ ครม.กำหนด และมิได้ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง 

สำหรับกรณีท่อก๊าซในทะเลซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้น โดย สตง. ได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานทราบ  ซึ่งเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แต่ ปตท.กลับยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดโดยไม่มีการนำเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ รวมทั้งการจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แต่กลับมีกระบวนการเสนอให้ใช้อำนาจของ รมว.คลังในขณะนั้นเห็นชอบร่างบันทึกฯ ทั้งที่มิใช่บุคคลตามบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และครม.มิได้มอบหมายหน้าที่ให้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและเป็นไปโดยมิชอบ นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำร่างบันทึกฯ ก็มิได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

ขณะที่การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด โดยมิได้รอผลรายงานการตรวจสอบของ สตง. เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ร่วมกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน และในประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แต่ในคำร้องดังกล่าวมิได้ระบุถึงเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้ศาลปกครองสูงสุดได้รับทราบข้อเท็จจริง และไม่ได้รายงานว่าประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลนั้น มิได้นำเสนอให้ ครม.พิจารณา

การยื่นคำร้องโดยการกล่าวอ้างข้อความดังกล่าว เป็นผลให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงวันที่ 26 ธ.ค.51 ว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" ดังนั้น การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ

“การที่ ปตท.ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.51 โดยไม่ปรากฏการแบ่งแยกทรัพย์สิน มูลค่า 32,613.45 ล้านบาทให้แก่รัฐ รวมทั้งไม่ได้รายงานทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทำให้มีทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคงเหลือที่ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายขั้นต้นไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท  และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.54 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สินซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง"ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

ทั้งนี้ คตง.มีมติให้ สตง.แจ้ง ครม.ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าการบังคับคดีที่ผ่านมายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ ครม.ดำเนินการเพื่อให้มีการส่งมอบทรัพย์สินให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป พร้อมทั้งแจ้งนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

รวมทั้ง ให้แจ้ง รมว.คลังเพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้ง รมว.พลังงานเพื่อดำเนินการทางอาญาและทางวินัยตามกฎหมายหรือตามระเบียบแบบแผนที่ทางราชการกำหนดแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แจ้งผลการตรวจสอบให้ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ก.พ. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปและแจ้งผลการตรวจสอบให้เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แก่บุคคลที่กระทำความผิดต่อไป


ปตท.โต้คตง.!ยันแบ่งทรัพย์สินคืนรัฐครบตามคำสั่งศาลฯแล้ว

โดย MGR Online

        ปตท.ยืนยันได้ดำเนินการแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินให้แก่รัฐครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแล้ว
       
       นายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความ ยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความเห็นถึงกรณีการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูง สุด และมีการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีนั้น ปตท. ขอยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและมติคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอน พร้อมทั้งได้นำเสนอข้อมูลทรัพย์สินทของ ปตท. ทั้งก่อนและหลังการแปรรูป ต่อศาลฯ เพื่อประกอบการพิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งหลายครั้งว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
       
       ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลฯ ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาล ปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 อนึ่ง ปตท. ไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้รัฐเกินกว่าคำพิพากษาของศาลฯได้
       
       ส่วนในกรณีที่ว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นั้น ใคร่ขอชี้แจงว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติ ครม. แล้ว โดย ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยไม่ต้องรายงาน ครม.
       ก่อนดำเนินการแต่อย่างใด จนเมื่อดำเนินการเรียบร้อย กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจึงได้รายงาน ครม. เพื่อทราบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 โดย ครม. ไม่มีความเห็นแย้งแต่อย่างใด
       
       นอกจากนี้ ในส่วนที่ สตง./ คตง. มีความเห็นว่า ปตท. มิได้รอความเห็นของ สตง. ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 นั้น ขอชี้แจงว่า ปตท. ได้นำส่งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดให้ สตง. พิจารณาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2551 ซึ่ง สตง. ไม่มีความเห็นกลับมายัง ปตท. แต่อย่างใด และ ตามที่ สตง. อ้างว่าได้ส่งรายงานฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้แก่ ปตท. แล้วนั้น ปรากฏว่า รายงานดังกล่าว เป็นเพียงเอกสารแนบท้ายหนังสือของ สตง. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เท่านั้น ซึ่ง สตง. นำส่งให้แก่ ปตท. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 และนำส่งศาลฯ ด้วย ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ศาลฯ มีคำสั่งแล้ว
       
       ทั้งนี้ สตง. ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง ปตท. และศาลฯ อีกครั้งหนึ่ง ระบุว่า “การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ ปตท. ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่จะพิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ” ซึ่ง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้มีหนังสือแจ้งถึง สตง. ว่า “ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามคำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และรายงานให้ศาลฯทราบ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
       
       “ปตท. ขอยืนยันอีกครั้งว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินเป็นไปตามคำพิพากษาและหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มิได้มีการลัดขั้นตอนตามความเห็นของคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินแต่ประการ ใด คำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดย่อมถือเป็นยุติ และไม่อาจมีบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดจะมีอำนาจกลับคำพิพากษาของศาลปกครองสูง สุดได้ อีกทั้ง ข้าราชการ และ/หรือ พนักงานได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดย สุจริต มิได้มีการแสวงหาประโยชน์หรือกระทำการประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐแต่ประการใด” นายชวลิตฯ กล่าวย้ำ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สตง. ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบ ทำรัฐเสียหาย 3.2 หมื่นล้าน คลัง-พลังงาน เอาผิดอดีตรมว.

view