สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตาร์ทอัพสากล อลวนมาตรฐานไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

ผลกระทบของสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและทั่วโลกคงป่วนภาพรวมเป็นระยะ เพราะแนวคิดเปลี่ยนโลกของสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนหลังจากธุรกิจเก่าไม่มีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขจัดปัญหา เป็นธุรกิจที่ทำซ้ำได้ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

จากแนวคิดดังกล่าว จึงทำให้การเปิดให้บริการของสตาร์ทอัพมีผลกระทบตามมามากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป รวมถึงล่าสุดการเปิดตัวของแอพพลิเคชั่นให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างของแกร็บไบค์ (Grab Bike) และ อูเบอร์ โมโต (Uber Moto) ซึ่งถูกกรมการขนส่งทางบกห้ามให้บริการ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายธุรกิจสตาร์ทอัพที่ถูกจับตาว่าอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการขัดข้อกฎหมาย เช่น บริการที่พักของ Airbnb ในบางประเทศเริ่มมีปัญหา เช่น ที่ญี่ปุ่นมีการนำบ้านมาเปิดให้เช่าพัก ทำให้คนในชุมชนนั้นๆ ไม่พอใจ ไกด์นำเที่ยว Takemetour เป็นแอพให้คนในท้องถิ่นทำบริการนำเที่ยว

ด้วยผลกระทบที่จะตามมาอีกมากมายดังกล่าว รัฐในฐานะผู้กำกับดูแลมองปัญหาอย่างกรณีของแกร็บไบค์ อูเบอร์ โมโต อย่างไร พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของแกร็บและอูเบอร์ ต้องมาเริ่มพิจารณาจาก 3 ข้อนี้ คือ 1.การให้บริการรถยนต์แบบนี้มีประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ 2.รูปแบบการให้บริการขัดแย้งกับผู้ประกอบการรายเดิมหรือเปล่า 3.ถ้าตอบสองข้อแรกได้ ก็จะมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น และสามารถที่จะจัดการได้ หากแบ่งปันผลประโยชน์ลงตัวก็สามารถร่วมมือกันแก้ปัญหาได้

“การแก้ไขที่ดีคือ รายใหม่จะต้องไม่ทำให้รายเก่าเสียผลประโยชน์เดิม จึงจะเป็นทางออกและปรับปรุงร่วมกันได้ ซึ่งคนรุ่นเก่าเองก็ไม่ควรปฏิเสธนักพัฒนาชาวต่างชาติไปเสียหมด แต่ควรจะเรียนรู้และเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสบนความขัดแย้งย่อมต้องมีโซลูชั่นที่เหมาะสม แต่คงไม่ถึงขั้นแก้กฎหมายไปเสียหมด เพราะต้องใช้เวลา อาจจะออกเป็นกฎระเบียบมาคุ้มครองการใช้งานมากกว่า” พิเชฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม วงการสตาร์ทอัพ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี มองกรณีนี้ว่า ในมุมของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพเข้าใจดีว่าหน่วยงานภาครัฐต้องรักษากฎหมาย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นขนส่งนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเกิดปัญหาขึ้นทั่วโลก อยู่ที่วิธีแก้ปัญหาของภาครัฐแต่ละประเทศว่าจะเลือกใช้วิธีใด

“ในต่างประเทศจะใช้วิธีเรียกผู้ประกอบการเข้ามาคุย หาข้อสรุปเพื่อให้บริการได้ต่อเนื่อง ทำให้มองย้อนกลับมามองวิธีแก้ปัญหาของบ้านเรา เมื่อเกิดปัญหาสิ่งที่ควรทำคือคุยกัน ไม่ใช่ประกาศห้ามและยึดข้อกฎหมายเดิมมาบังคับหรือยกเลิกการใช้งาน การทำแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ซึ่งผมแนะนำให้ทางผู้ให้บริการเข้าไปคุยกับหน่วยงาน เพื่อหาจุดตรงกลางร่วมกันดีกว่า จะได้แก้ไขปัญหาในระยะยาว” ณัฐวุฒิ กล่าว

กระทิง พูนผล ที่ปรึกษากองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก กล่าวว่า การสนับสนุนสตาร์ทอัพในต่างประเทศนั้น จะยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งค่อยเข้ามาดูเรื่องข้อกฎหมาย เพราะทราบว่าการคุมกฎทุกอย่างตั้งแต่ต้นธุรกิจจะไม่เกิด

“ยกตัวอย่าง ฟินเทคในประเทศไทยนั้น ท่าทีและการเตรียมความพร้อมของแบงก์ชาติมีทิศทางที่ดีมาก คือยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าและยังควบคุมไม่ให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ทำให้ระบบเดิมเสีย คือยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และสตาร์ทอัพที่เข้ามาให้บริการก็จะรู้ข้อจำกัดของตน และเดินหน้าไปตามระเบียบถือว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องแยกกับหน่วยงานภาครัฐ เพราะบางหน่วยงานไม่เข้าใจรูปแบบบริการของสตาร์ทอัพจึงปรับตัวไม่ทัน จึงอยากให้ทุกฝ่ายหาข้อสรุปร่วมกันและหาจุดตรงกลางที่เหมาะสมจะดีที่สุด” กระทิง กล่าวและว่า

“ในต่างประเทศมีการลงข่าวกรณีสตาร์ทอัพในไทยเยอะมาก การห้ามผู้ประกอบการดูสวนทางกับนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีของภาครัฐ ยิ่งมีการเปิดให้บริการแอพพลิเคชั่นที่คล้ายคลึงกันในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการเกิดปัญหา ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของไทยดูเป็นสีเทาเข้าไปอีก จึงควรเร่งแก้ไขปัญหานี้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจสตาร์ทอัพอื่นๆ”

กระทิง กล่าวว่า หากดูประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ใหญ่มาก ยังสามารถผลักดันและควบคุมสตาร์ทอัพเหล่านี้ได้ ดังนั้นไทยก็ควรที่จะเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ด้วยการหาจุดตรงกลางร่วมกันอย่างเหมาะสมเพื่อการแข่งขันที่เท่าเทียม หากต้องการผลักดันสตาร์ทอัพภาครัฐต้องโปร่งใส เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่นักวิชาการ ฉัตร คำแสง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นว่าเหตุผลการเลิก 2 แอพพลิเคชั่นดังกล่าวมาจากทางการเมือง จากผลประโยชน์ โดยเห็นชัดเจนขึ้นจากการที่แอพ GoBike ซึ่งมีลักษณะการทำงานคล้าย Grab Bike แต่ร่วมพัฒนาโดยสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กลายเป็นแอพเดียวที่สามารถดำเนินงานอย่างถูกกฎหมาย ในขณะที่ Grab Bike และ Uber Moto ต้องยุติลง

การยอมให้แอพ GoBike สามารถดำเนินการได้เพียงผู้เดียว โดยอ้างว่าให้บริการโดยวินจักรยานยนต์ที่ถูกกฎหมาย เป็นการรักษาอำนาจให้แก่กลุ่มเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากมีวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้สารพัดวิธีแต่ไม่ได้ทำ

เรื่องทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่าผู้กำหนดนโยบายและผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายมีทัศนคติและเครื่องมือที่ไม่พร้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการใช้กลไกตลาดกับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ดังนั้นแนวคิดและตัวกรอบกฎหมายจึงควรเปลี่ยนแปลง หากต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยจริง ต้องคำนึงถึง 3 ข้อ คือ

1.เปิดให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการในธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นให้ผูกขาด รัฐอาจกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ต้องไม่กีดกันผู้ให้บริการรายใหม่ 2.ความเสมอภาคระหว่างธุรกิจ เช่น การค้าทั่วไปเสียภาษี แต่การค้าออนไลน์ไม่เสียภาษี หรืออย่างการให้เช่าที่พักผ่านแอพ Airbnb ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการประกอบ ธุรกิจโรงแรม และ 3.จุดยืนด้านสวัสดิการแรงงานพื้นฐาน เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้เป็นระบบตัวกลางและมักไม่ได้ว่าจ้างผู้ให้บริการเป็นพนักงานของบริษัท จึงอาจไม่เข้าข่ายกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

ไม่เพียงความเห็นต่างในการแก้ปัญหา ในส่วนของนิยาม ภาครัฐ มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) บอกว่า นิยามของสตาร์ทอัพของรัฐบาลที่ได้หารือกันมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น การพัฒนาโปรแกรม แอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล อาลีบาบา หรือการผลิตไอศกรีมจากเกล็ดหิมะ การผลิตเสื้อผ้าด้วยเทคโนโลยีพิเศษขั้นสูง เป็นต้น กลุ่มนี้เป็นของใหม่ที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ทำธุรกิจด้วยการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งค้าขาย เช่น พวกที่เปิดเว็บไซต์ขายของทำธุรกิจซื้อมาขายไป คือกลุ่มอี-คอมเมิร์ซนั่นเอง กลุ่มนี้จะมีความสามารถในการหาแหล่งขาย

กลุ่มที่สาม จะเป็นผู้ที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม คือเป็นเอสเอ็มอีในท้องถิ่น จะถือว่าเป็นสตาร์ทอัพก็ได้ ผลิตสินค้าออกมาแล้วก็ขายในท้องถิ่นหรือรอนักท่องเที่ยวมาซื้อ

มงคล กล่าวว่า สิ่งที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายไว้ก็คือให้นำเอาสตาร์ทอัพกลุ่มที่ 1 มาเจอกลุ่มที่ 2 และสตาร์ทอัพกลุ่มที่ 3 มาเจอกลุ่มที่ 2 นั่นคือการขยายธุรกิจให้กว้างไกลออกไป กลุ่มที่ 3 เมื่อผลิตสินค้าได้แต่ขายไม่เป็นก็หาช่องทางการขายเพิ่มให้ ส่วนกลุ่มนวัตกรรมนั้นอาจจะคิดได้ไม่มีเงินทุนและไม่รู้จะขยายธุรกิจยังไง ก็ให้ช่วยกันทำให้เขาขยายธุรกิจให้ได้

“รัฐบาลหรือแบงก์รัฐไม่ได้สับสนกับคำว่าสตาร์ทอัพ และยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ” มงคล กล่าว

ขณะที่วงการสตาร์ทอัพ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก มองทิศทางสตาร์ทอัพว่า การเป็นนักลงทุนนั้นจะต้องมองหา
นวัตกรรมที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละธุรกิจที่เลือกเข้าไปลงทุนจะดูที่แผนธุรกิจ วิสัยทัศน์และทีมงานว่าจะสามารถเดินหน้าผ่านแรงกดดันทางธุรกิจไปได้มากน้อยเท่าใด

เมื่อผลประโยชน์แฝงเร้น มุมมองต่อสตาร์ทอัพในดิจิทัลอีโคโนมีของรัฐบาล 4.0 ที่เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนด้วยอินโนเวชั่น เป็นแบบนี้แล้ว จึงเกิดคำถามว่า รัฐกำลังจะสตาร์ทอัพแบบไทยๆ แต่สต็อปดาวน์สตาร์ทอัพสากลใช่หรือไม่?


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สตาร์ทอัพสากล อลวนมาตรฐานไทย

view