สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

การประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ (1)หลักปรัชญาของ "เศรษฐกิจพอเพียง"หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP) เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับคนไทยเพื่อเป็นหลักคิดในการใช้ชีวิต ที่สำคัญหลักคิดนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกระดับ ทุกบทบาทในสังคม อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอาจมีความเข้าใจผิดว่า หลักการนี้เหมาะสำหรับประชาชนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น หรือไม่เหมาะกับโลกธุรกิจ

ในการประชุม G-77 ที่เพิ่งผ่านไป ถือเป็นโอกาสดีที่หยิบยกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นัยต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นมิติที่มีการกล่าวถึงค่อนข้างจำกัด ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการประชุม เพื่อยกระดับความเข้าใจและขยายมุมมองต่อหลักปรัชญานี้ในระดับสากล



หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคและการดำเนินธุรกิจนี้แบ่งเป็น3ส่วนหลักๆ คือ 1.วิกฤตเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทำให้เราเห็นและกระตุ้นให้เราคิดถึงอะไร ? 2.หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทยอย่างไร ? 3.เราสามารถนำหลักปรัชญานี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคที่โลกไม่เหมือนเดิมได้อย่างไร ?

วิกฤตเศรษฐกิจ
ทั้งในและต่างประเทศ


หากมองย้อนประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจหลายเหตุการณ์รวมถึงวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้ฉุกคิดถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์หรือวิกฤตที่เกิดขึ้น และทำให้เราได้หันมาทบทวนถึงวิถีการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ หรือการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นบทเรียนในการวางแผนในระยะต่อไป

ผมอยากกล่าวถึงตัวอย่างบางตอนของภาพยนตร์เรื่อง "The Big Short" บทประพันธ์ของ Michael Lewis ที่เขียนจากเรื่องจริงในปี 2548 (ค.ศ. 2005) ของชาย 4 คน ที่เชื่อว่า มีฟองสบู่ในตลาดบ้านของสหรัฐ และคาดว่า ฟองสบู่นี้จะแตกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสื่อต่าง ๆ ยังมองไม่เห็นพวกเขาจึงพยายามหาทางทำกำไรจากสินทรัพย์ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก (ขาย Short หรือซื้อ Credit Default Swap) ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้กำไรมหาศาลจากราคาสินทรัพย์ที่จะตกลงในอนาคต

และก็เป็นอย่างที่พวกเขาคาด อีก 2 ปีต่อมาฟองสบู่ในตลาดบ้านของสหรัฐแตก ตามด้วยปัญหาสินเชื่อตึงตัว ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง จนเป็นเหตุสำคัญนำไปสู่วิกฤตการเงินโลก

ผมไม่แน่ใจในความรู้สึกของคนเมื่อได้ชมภาพยนตร์ดังกล่าว แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวกับประชาชนสหรัฐ ในปี 2551 (ค.ศ. 2008) คือสาเหตุที่เกิดวิกฤตครั้งนี้ขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะทุกคนใช้จ่ายเงินเกินฐานะและความสามารถในการหารายได้จริง ผู้บริหารของบริษัทมีความโลภ นักการเมืองใช้จ่ายเงินทั้งที่รัฐบาลไม่ได้มีเงิน คนปล่อยกู้หลอกให้คนซื้อบ้าน ทั้งที่พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าบ้านได้ และแย่ไปกว่านั้น คนซื้อบ้านบางคนรู้ตัวว่าไม่สามารถจ่ายค่าบ้านได้ แต่ก็ยังจะซื้อ

ก่อนวิกฤตพวกเราอยู่ในยุคที่เงินทองเป็นของหาง่าย ถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แทนที่จะเก็บออม แต่ยุคนี้เราต้องวางแผนการใช้เงิน โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญของรายจ่าย และมีวินัยในการใช้จ่ายตามแผนที่วางไว้ การรักษาวินัยเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมจริยธรรมใหม่ในเรื่อง "ความรับผิดชอบ"

กลับมาที่ประเทศไทยปี 2540 ถ้าย้อนกลับไปดูในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจไทยมีความเจริญรุ่งเรือง จนได้รับการยกย่องเป็น "ตัวอย่างของความสำเร็จ" แต่ทว่า "ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเปราะบาง" เพราะตั้งอยู่บนยอดของ "บันไดเมฆ" เพียงไม่กี่เดือนที่เราถูกโจมตีจากนักเก็งกำไร เงินบาทอ่อนค่าจนต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว มีผลให้ไทยก้าวสู่วิกฤตทางการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ธนาคารและสถาบันการเงินหลายสิบแห่งถูกปิด บริษัทหลายร้อยแห่งเผชิญกับภาวะล้มละลาย ประชาชนและชุมชนต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อนทั่วหน้า โดยเฉพาะในยุคนั้นเราแทบไม่มีกลไกทางสังคมที่ช่วยปกป้องหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนนัก

ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมอบแนวทางแก้ปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

"...การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตนเองได้ให้มีพอเพียงกับตนเอง ..."

"...การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์..."

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระราชดำรัสเตือนพวกเรามาก่อนหน้านี้หลายครั้ง แต่พวกเรากลับไม่เข้าใจ จนกระทั่งปี 2540 พวกเราถึงเข้าใจในพระราชดำรัสเตือนของท่านอย่างลึกซึ้ง พระราชดำรัสของท่านเสมือน "เสียงระฆัง" ที่ปลุกสติคนไทยให้ตื่นขึ้น และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้เข้ามาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอย่างจริงจัง จนทำให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นก้าวสำคัญของการแสวงหาแนวทางการสร้างความเจริญเติบโตอย่างสมดุลให้กับประเทศ

เศรษฐกิจพอเพียง
นำมาประยุกต์ใช้อย่างไร


ตั้งแต่ปี2540 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ แม้แต่การประยุกต์ใช้หลักปรัชญานี้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งภายใต้กรอบของหลักปรัชญานี้มี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ความพอประมาณ (Moderation) 2.ความมีเหตุมีผล (Reasonableness) 3.ความมีภูมิคุ้มกันในตน (Prudence)

ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทย ให้ความสำคัญใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรก-การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจจริง (Strengthening Resilience of Domestic Real Sectors) ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คนไทยใช้เงินเกินกว่าฐานะและศักยภาพที่จะหาได้จริง มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็นเกินกว่าที่ควร และมองโลกแง่ดีด้านเดียวจนขาดสมดุล บริษัทหลายแห่งลงทุนมากเกินตัวและก่อหนี้ต่างประเทศมาก แต่โชคดีที่พวกเราเจ็บแล้วจำ

หลังวิกฤต ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินปฏิรูปและปรับตัวเองอย่างมาก เพื่อให้ฐานะการเงินกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง กล่าวคือข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ลดลงจากร้อยละ 43 ในปี 2540 เหลือประมาณร้อยละ 2 ในปี 2558 และสัดส่วนหนี้ต่อทุนของภาคธุรกิจลดลงจาก 5.1 เท่า ในปี 2540 เป็น 1.3 เท่า ในปี 2558

สิ่งที่อยากเน้น คือ หนึ่ง-หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้อง ประหยัดรัดเข็มขัดอยู่ตลอดเวลา แต่ที่จริงแล้วคุณสามารถซื้อสินค้าที่ชอบได้ ตราบใดที่มีรายได้สุทธิมากพอ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เราต้องมีความพอประมาณ ไม่ใช้จ่ายเงินเกินกว่าฐานะที่แท้จริง สอง-แม้ว่าหลักปรัชญานี้จะมีต้นกำเนิดจากภาคเกษตร และภาคชนบท แต่หลักปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับภาคเศรษฐกิจอื่น อาทิ ภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การค้าระหว่างประเทศ

ส่วนที่สอง-การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
(Financial System Development for SustainableGrowth) ประเทศไทยมีเส้นทางการพัฒนาระบบการเงินที่ยาวนาน และมีความคืบหน้าในการพัฒนาที่สำคัญใน 5 มิติ คือ ประสิทธิภาพ (Efficiency) ธรรมาภิบาล (Governance) การกระจายตัว (Diversification) การเข้าถึง (Access) และการเชื่อมโยง (Connectivity)

ขอขยายความในเรื่อง "การเชื่อมโยง"หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการปิดประเทศจากเวทีโลก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในปัจจุบัน ระบบต่าง ๆ มีการเชื่อมโยงและรวมตัวกันมาก เราควรจะมองหาโอกาสและใช้ประโยชน์จากพัฒนาการนี้ ซึ่งที่ผ่านมา เราเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินของโลก เพราะรู้ว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้น แน่นอนว่า โลกาภิวัตน์(Globalization) เป็นความจริงของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และไม่มีประโยชน์ที่จะไปฝืน หรือทวนกระแส

ส่วนที่สาม-การสร้าง "สถาบัน" ที่แข็งแกร่งขึ้น
(Building up Strong Institutions) บทเรียนอันเจ็บปวดอีกอันที่เราได้เรียนรู้จากวิกฤต คือเราเปิดเสรีระบบการเงินโดยไม่มีการเตรียมเครื่องมือที่จะดูแลระบบการเงินเพียงพอ และไม่มีกรอบนโยบายที่เหมาะสม

ความล้มเหลวนี้ทำให้นึกถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสไว้ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า "...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน...เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..."

ช่วง หลายปีที่ผ่านมาไทยมีความพยายามอย่างมากในการทุ่มเทเพื่อพัฒนาและวางรากฐาน ระบบการเงินให้มีความเข้มแข็งสามารถรองรับต่อแรงกระแทกหรือแรงเสียดทาน จากShocksต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือการนำกรอบนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเงินเฟ้อ แบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) มาใช้ในปี 2543 ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่น และทำให้ประชาชนมั่นใจว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง มีกระบวนการพิจารณาและตัดสินใจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

ส่วนที่สี่-การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความเท่าเทียม และความยั่งยืน
(Pursuing Growth with Macro-stability, Equity and Sustainability) การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาช่วยยกระดับประเทศไทย จากประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง กล่าวคือในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณ 14 เท่า ความยากจนลดลงอย่างมาก และมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนไทยในภาพรวมดีขึ้นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี การพัฒนาก็ใช่ว่าจะไม่มีต้นทุนเลย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประมาณการว่า ระหว่างปี 2516 ถึงปี 2552 ป่าไม้ของไทยลดลงถึงร้อยละ 43 ขณะเดียวกันปี 2556 Credit Suisse จัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับ 6 ของประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุด

ซึ่งประเมินว่า คนรวยสูงสุด 10% แรกของประเทศถือสินทรัพย์มากถึงร้อยละ 75 นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงพอใจ

ที่สำคัญ จากประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก โอกาสที่คนในสังคมจะแตกความสามัคคีก็จะมีมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไขและให้ความสำคัญ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ (1)

view