สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เร่งสร้าง ภูมิคุ้มกัน อย่ามโนขีดความสามารถแข่งขัน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ท่ามกลางการแข่งขันในโลกธุรกิจ นับวันมีแต่รุนแรงมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า "การทำสงครามทางการค้า" ผู้อ่อนแอย่อมล้มหายตายจาก

โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

ยิ่งเมื่อบรรดาประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ต่างออกกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศแปลกๆใหม่ๆ ขึ้นมา

นัยหนึ่งคนทั่วไปทราบกันดีว่า เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศมหาอำนาจดังกล่าวที่แอบแฝงซ่อนเร้นมา

บาง ครั้งเกมทางการค้ายังส่งผ่านในการบริหารนโยบายทางด้านการเงินการคลังส่งผล ต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนความเคลื่อนไหวของหุ้นอัตราดอกเบี้ย

ทำให้เวลาเพียงชั่วข้ามคืนอาจส่งผลให้ธุรกิจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ตอกย้ำในเรื่องผลสะท้อนว่าผู้ประกอบการไทยปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่?

ปรากฏชัดเจนจาก"ตัวเลขการส่งออก"ที่ติดลบต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยและของโลก ซึ่งเผชิญกับศึกใหญ่มาอย่างหนักหน่วงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนภาพมุมมองต่อการแก้ปัญหาการส่งออกของไทยไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

หลังจากประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในTier3ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ของสหรัฐ และถูกสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ทำให้ช่วงที่ผ่านมาบริษัทที่ประกอบธุรกิจอาหารทะเลเลิกกิจการไปก็ไม่น้อย บริษัทที่ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ต้องเร่งปรับตัว นี่เป็นสัจธรรมว่าธุรกิจนี้ทั่วโลกมีแต่ผู้เล่นน้อยลง คนที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่ได้

วันนี้การเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมีมาก สามารถทำให้บริษัทที่เคยเข้มแข็งกลายเป็นอ่อนแอได้ชั่วข้ามคืน ไม่มีใครตอบได้ และไม่มีใครที่จะชะล่าใจได้ ทุกคนต้องตื่นตัวตลอดเวลา และพยายามสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งภูมิคุ้มกันของแต่ละองค์กรต้องสร้างเผื่อไว้เยอะ ๆ เวลาถูกผลกระทบแล้ว ภูมิคุ้มกันจะได้ช่วยให้มีเวลาเพียงพอที่จะปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์ได้

อย่างการส่งออกของไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกติดลบ ยังเชื่อหรือว่า สาเหตุมาจากค่าเงิน จริง ๆ อยากให้พิจารณาว่า มันมากกว่านั้นแล้ว ผู้ประกอบการจะเดินกันอย่างไรต่อไป ต้องมาสะท้อนกลับไปถึงข้อเท็จจริง พื้นฐานต่าง ๆ เพื่อจะได้ปรับตัว และแก้ไขสถานการณ์ได้ถูกทาง เพราะถ้าคิดว่าเป็นผลมาจากค่าเงิน ไม่ต้องทำอะไร รอเงินบาทอ่อนอย่างเดียว แต่ผมคิดว่า ให้ค่าเงินบาทอ่อนอีกก็ไม่เชื่อว่าการส่งออกจะเติบโตมากขึ้น

3 ปีมานี้ทั้งที่ค่าเงินบาทอ่อน การส่งออกไม่ไปไหนเลย เพราะเราไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง สุดท้ายถ้าไม่มีความแตกต่าง ก็เล่นกันที่ราคาเป็นหลัก ซึ่งวันนี้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีต้นทุนในการผลิตถูกที่สุดในโลกอีกแล้ว แล้วจะแข่งอย่างไร

"เรากำลังคุยกันถึงการแข่งขันในตลาดโลก ไม่ใช่เฉพาะการแข่งขันในประเทศไทย ถ้าเราทำเรื่องนวัตกรรมได้ดีขึ้น จะสร้างความแตกต่าง ผมคิดว่าเราจะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้สูงขึ้นได้" ธีรพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาครัฐได้พูดเรื่องการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันมาเนิ่นนาน หลายหน่วยงานที่มีการจัดอบรม ได้แต่นับโชว์รายงานตัวเลขคนที่มาเข้าร่วมรับฟังกันต่อปีมากมายมหาศาล เพื่อขอเงินงบประมาณในการจัดอบรมปีต่อไป

แต่ดูเหมือนคำว่า "การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน" ยังไม่สะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ เพราะสะท้อนจากตัวเลขการส่งออกช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 ที่ยังไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้นมา

จึงหวังให้หน่วยงานของภาครัฐที่ เกี่ยวข้องได้ปฏิวัติรูปแบบการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกันเสียใหม่ ก่อนที่ตัวเลขการส่งออกของประเทศใน CLMV จะแซงหน้าประเทศไทยขึ้นไป


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เร่งสร้าง ภูมิคุ้มกัน อย่ามโน ขีดความสามารถแข่งขัน

view