สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การประยุกต์ใช้ ในการดำเนินธุรกิจ (จบ)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้คัดค้านแนวคิดการสร้างความเจริญเติบโต แต่ก็ไม่ได้มุ่งสนับสนุนการพัฒนาที่เน้นแต่การเติบโตมาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ มีความเท่าเทียม และมีความยั่งยืน คือปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าของประเทศไทยในระยะยาว

การใช้หลักปรัชญานี้ในการดำเนินธุรกิจในยุคที่โลกไม่เหมือนเดิม


ผมได้ไปงานสัมมนาในโอกาสครบรอบ40 ปี ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ หัวข้องานคือ "ธุรกิจไทย ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม" ซึ่งผู้จัดได้เชิญ CEOs ของบริษัทคนไทย 4 ท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

ผมได้อะไรจากท่านเหล่านั้น ?

ซีอีโอท่านแรก
: สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย เพราะเราไม่มีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้ทันท่วงที จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารทะเลของไทยและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง แม้ผู้ประกอบการจะพยายามปรับปรุงตามข้อเรียกร้องอย่างดีที่สุด แต่ผู้บริโภคก็ไม่สามารถแยกความแตกต่างในวิธีปฏิบัติ หรือกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการและผู้บริโภคอยู่ห่างกันเป็นครึ่งโลก

เรื่องนี้บอกอะไรกับเราหรือมีนัยอย่างไร?


ทุกวันนี้การทำธุรกิจซับซ้อนมากขึ้น ในอดีต CEOs มีหน้าที่เพิ่มกำไรให้เป็นที่พอใจของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในโลกยุคที่ไม่เหมือนเดิม CEOs จำเป็นต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ผู้บริโภค ชุมชน ประชาชนของประเทศอื่น พูดง่าย ๆ คือ ต้องคิดถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง "ทุกคน"

ท่านที่สอง
: ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและอาศัยความเร็วในการช่วงชิงความได้เปรียบ ขณะเดียวกัน ก็มี "ความคิด" มากมายผุดขึ้นมาเพื่อจะรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่า "ความคิด" คือการผลักดันให้สิ่งที่คิดสำเร็จได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ท่านที่สาม
: ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การที่ศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายมาอยู่ที่เอเชีย และความตื่นตัวเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนโลกในอนาคต หมายความว่า CEO จะต้องพร้อม "ปรับตัวตลอดเวลา" และ "มีวิสัยทัศน์กว้างไกล"

ท่านที่สี่
: "ภาวะผู้นำ" เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง และสิ่งที่ต้องยอมรับ คือ "การเปลี่ยนแปลง" ไม่ได้เป็น "ทางเลือก" แต่เป็น "ความจริงของชีวิต"

เมื่อพิจารณาสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก CEOs ทั้ง 4 ท่าน จะเห็นว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการปรับตัวของภาคธุรกิจ ในยุคโลกที่ไม่เหมือนเดิม เพราะจุดแข็งของหลักปรัชญานี้ คือ การให้ความสำคัญกับ "องค์รวม" ของสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะบูรณาการ (Holistic Approach)

ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ?

ด้านความครอบคลุม
: หลักปรัชญานี้ไม่เพียงครอบคลุมประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับของสังคมด้วย

ด้านมิติเวลา
: หลักปรัชญานี้ให้ความสำคัญกับธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติธรรมดา และมองไปข้างหน้าถึงอนาคต สอดคล้องกับแนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ด้านทรัพยากรมนุษย์
: หลักปรัชญานี้ให้ความสำคัญกับ "ทรัพยากรมนุษย์" และ "ทัศนคติ" (Mindset) กล่าวคือ นอกจากองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และความมีภูมิคุ้มกันในตน ที่กล่าวมาแล้ว "Mindset" ที่หลักปรัชญานี้ให้คุณค่า คือ การมีความรู้ คุณธรรม ความเพียร ความซื่อสัตย์ การมีสติ ซึ่ง Mindset เหล่านี้เป็นองค์ประกอบของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมี "สติ" (Mindfulness) คือคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้นำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้นำสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและแก้ไขปัญหาได้ถูกทิศทาง แม้อยู่ภายใต้ความกดดัน


หัวใจของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ แนวคิด "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ซึ่งอยู่ในความสนใจของธุรกิจทั่วโลก ในปัจจุบันผู้บริหารในภาคธุรกิจไม่สามารถคำนึงถึงเฉพาะผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น แต่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม รวมทั้งสามารถที่จะคืนกำไรสู่สาธารณะ ยอมรับกันว่าแนวคิดนี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถครองใจผู้บริโภคหรือประชาชนในวงกว้างได้

NiallFitzGerald อดีตซีอีโอของบริษัทยูนิลีเวอร์ เคยกล่าวไว้ "ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นนโยบายทางธุรกิจที่สำคัญ เพราะการทำ CSR ไม่ใช่เพราะอยากเท่ หรือเพราะถูกบังคับ แต่เพราะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจของเรา"

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างอื่นที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มของโลก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เช่น Dow Jones Sustainable Index (DJSI) ซึ่งจัดอันดับบริษัทชั้นนำของโลกที่นำแนวคิดเรื่อง "ความยั่งยืน" มาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ดี หรือในไทย บริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG ที่มีประวัติยาวนานในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการในช่วง5 ปีผ่านมา (2554-2558) DJSI จัดอันดับให้ SCG เป็นที่ 1 ของโลกในสาขาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

หากจะกล่าวว่าที่ผ่านมาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกปรับใช้โดยไม่ถูกวิจารณ์ก็อาจจะเป็นการกล่าวเกินจริง แต่คิดว่าความท้าทาย คือจะนำหลักปรัชญานี้มาใช้อย่างไรให้เกิดประสิทธิผล และสามารถสื่อสาร รวมทั้งอธิบายหลักปรัชญานี้ให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ โดยเฉพาะแนวคิดที่สำคัญ เช่น เรื่อง "ทางสายกลาง"

"ทางสายกลาง"
นัยคือ ไม่น้อยเกินไป (Too little) ไม่มากเกินไป (Too much) หรือไม่สุดโต่งเกินไป (Too extreme) นักวิจารณ์มักจะถามว่า  ตรงกลาว ที่พูดถึงอยู่ตรงไหน ผมขอให้ลองนึกภาพการขับรถ เรารู้ว่าหากความเร็วเกินระดับหนึ่งเราจะไม่สามารถควบคุมรถได้ เราจึงไม่ขับรถเกินความเร็วที่กำหนด ในขณะเดียวกัน เรารู้ว่าถ้าเราขับรถช้าเกินไป รถของเราก็อาจถูกชนท้าย และอาจทำให้รถที่ตามหลังอื่น ๆ ชนกันเป็นลูกโซ่ ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศจึงมีการจำกัดทั้งความเร็วสูงสุดและต่ำสุด สำหรับคนส่วนใหญ่เราเลือกขับที่ความเร็วระดับปานกลาง ไม่เร็วหรือไม่ช้าเกินไป เพราะรู้ว่าอาจเป็นอันตรายได้ถ้าเหยียบหรือถอนคันเร่งมากเกินไป

ที่ผ่านมาโดยทั่วไปยังมีความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคลาดเคลื่อนว่าประยุกต์ใช้ได้เฉพาะในภาคเกษตรหรือในชนบทเท่านั้น แต่หลักปรัชญานี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการจัดการเศรษฐกิจมหภาค และภาคธุรกิจ

ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาค หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้คัดค้าน การสร้างความเจริญเติบโต ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการปิดตัวจากเวทีโลก แต่เพื่อช่วยให้ประเทศเติบโตได้ในระยะยาว ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องคำนึงถึงการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความเท่าเทียมกัน และความยั่งยืน

ในการดำเนินธุรกิจ หลักปรัชญานี้ไม่ได้คัดค้านเรื่องการแข่งขัน หรือสนับสนุนให้ ลดการลงทุน (Divestment) แต่เพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว ซีอีโอจำเป็นต้องคิดเรื่องการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง

การประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคและการดำเนินธุรกิจเป็นนโยบายสำคัญ เพราะการนำหลักปรัชญานี้มาใช้ ไม่ใช่เพราะจะทำให้ดูเท่ หรือเป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้ทำ แต่เพราะการดำเนินงานตามหลักปรัชญานี้ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศและธุรกิจของเรา


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : การประยุกต์ใช้ ในการดำเนินธุรกิจ (จบ)

view