สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เติบโตด้วย M&A

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดย วีระพงษ์ ธัม www.facebook.com/1

การซื้อหรือควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition, M&A) มักจะได้รับความสนใจเป็นข่าวหน้าหนึ่งของธุรกิจอยู่เสมอ ๆ เพราะเต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น เรื่องราวที่ดูยิ่งใหญ่ ภาพการจับมือของธุรกิจขนาดยักษ์ การฉายแผนการเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 2015 การทำ M&A เติบโตสูงขึ้นทำลายสถิติสูงสุด เดิมในประเทศไทยมีการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ในหลาย ๆ ธุรกิจ คงจะเร็วเกินไปถ้าจะตอบว่าความสำเร็จเป็นอย่างไรในอนาคต แต่ถ้าดูจากสถิติ M&A ในอดีต บทความของ Harvard Business Review คงช่วยตอบได้ว่าทำไมการควบรวมกิจการกว่า 80% จบด้วยความล้มเหลว และเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง

แรงกระตุ้นของการ M&A คือดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ทำให้ต้นทุนการเงินต่ำลงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน และ "ราคาหุ้นบริษัท" ในตลาดหุ้นที่สูง ช่วยให้การซื้อกิจการมีความคุ้มค่าในเชิงตัวเลขทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น ถ้าบริษัทมีขนาด 100 ล้านกำไร 2.5 ล้าน (ซื้อขายบน PE 40 เท่า) แล้วซื้อธุรกิจอื่นในราคา 100 ล้านซึ่งมีกำไรอยู่ 5 ล้าน เมื่อนำมารวมกันมูลค่าแทนที่จะเป็น 200 ล้าน แต่กลับเป็น 300 ล้าน (กำไร 7.5 ล้าน x PE 40 เท่า) มูลค่าหุ้นของบริษัทเพิ่มโดยบริษัทแทบจะไม่ต้องทำอะไร

แต่ความเป็นจริงโลกไม่ได้สวยขนาดนั้นตัวอย่างเช่น สมรภูมิโทรศัพท์มือถือ ช่วงรุ่งเรืองสุดขีดในช่วงปี 2012-2015 ผู้ผลิตซอฟต์แวร์อยากได้ฮาร์ดแวร์เพื่อต่อยอดความเข้มแข็งของตัวเอง ผลลัพธ์ในปัจจุบัน คือ Microsoft บันทึกขาดทุนจากการซื้อ Nokia ไป 97% ของมูลค่าที่ซื้อ Google ขาย Motorola ในราคา 2,900 ล้านเหรียญ จากราคาที่ซื้อมา 12,500 ล้านเหรียญไม่กี่ปีก่อน แต่ในทางกลับกัน Google เคยซื้อบริษัทที่เป็นเจ้าของ Android ในราคาเพียงแค่ 50 ล้านเหรียญ ก่อนที่มันจะกลายเป็นอันดับหนึ่งในระบบปฏิบัติการบนมือถือ อะไรคือความแตกต่างของการ M&A ในสองกรณีนี้

สิ่งแรกคือ บริษัทที่กำลังจะซื้อกิจการอื่น ๆ มักจะคิดว่าตัวเองอยู่ในสถานะ "ขอ" และ "อยากได้" อะไรบางอย่า ตามสถิติของ KPMG อันดับต้น ๆ คือ อยากได้ลูกค้า อยากได้ธุรกิจใหม่ และอยากได้เทคโนโลยี ซึ่งล้วนอยากได้ในสิ่งที่บริษัทตัวเองไม่มีอยู่ จึงทำให้บริษัทที่อยู่เป็นฝั่งผู้ขาย สามารถเรียกราคาขายได้ในราคาแพง โดยนำมูลค่าที่บริษัทฝั่ผู้ขายน่าจะสร้างได้ในอนาคตมาใส่ในราคาขาย และหลายครั้งก็ขายในราคาแพงกว่ามูลค่าเสียอีก

หลังจากนั้น เมื่อผู้บริหารใหม่เข้ามาบริหารเป็นความเสียเปรียบอีก หาก "ผู้บริหารเดิม" ใส่เกียร์ว่าง หรือแย่กว่านั้นคือหายไปทำธุรกิจมาแข่ง

ในทางกลับกันหากฝั่งผู้ซื้อ เป็น "ผู้ให้" เช่นนำเอาประสบการณ์ เอาเทคโนโลยี เอาตลาด ไปแบ่งปันให้กับธุรกิจที่จะซื้อ เรื่องราวจะกลับกันเหมือนที่เกิดขึ้นในกรณีของ Google ซื้อ Android เมื่อ Google นำเอาทรัพยากรที่สำคัญไปให้ Android จนเกิดความเข้มแข็งอย่างรวดเร็ว หรืออย่างในกรณี GE ที่เอาประสบการณ์ของผู้บริหารและเทคนิคการจัดการที่เยี่ยมยอดไปแบ่งปันให้ ธุรกิจใหม่ที่เพิ่งซื้ออย่างธุรกิจการเงินทำให้GECapitalก้าวขึ้นมาเป็น ธุรกิจขนาดใหญ่ของบริษัทได้

หรือในอีกกรณีหนึ่ง เช่น Pepsi ซื้อ Frito Lay ในช่วงปี 1960 ในเวลานั้น PepsiCo ได้ถ่ายทอดทักษะของการจัดการ Logistic ให้ Frito Lay จนทำให้มันฝรั่ง Lay วางอยู่ในชั้นวางสินค้าทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และทำให้มันฝรั่งทอดคู่กับน้ำอัดลมได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่พอเราเปรียบเทียบกับกรณี PepsiCo ซื้อ Quaker ในปี 2000 ทักษะเหล่านี้ไม่ได้ช่วย Quaker เลย เพราะโลจิสติกส์ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น PepsiCo "อยากได้" ธุรกิจ สุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด และจบลงด้วยการเป็น M&A ที่ล้มเหลว

การมอง M&A ที่ดีจึงต้องมองในฝั่ง "ผู้ขาย" มากกว่าว่าผู้ขายอยากได้อะไรจากผู้ซื้อบ้าง และสิ่งนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขาหรือไม่ ถ้าผู้ขายไม่อยากได้อะไรเลยยกเว้นเงินอย่างเดียว การซื้อครั้งนี้จะได้ผลดีต่อผู้ซื้อต่อเมื่อ "เงินทุน" เป็นสิ่งหายาก เช่นในกรณีของธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ๆ ธนาคารไม่ปล่อยกู้ บทบาทของ "เงินทุน" ที่ชาญฉลาดจึงสามารถสร้างดีล M&A ที่ดีได้เช่นกัน แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้ให้อะไรนอกเหนือจากเงินทุนเลย อย่างเช่น เงินจาก Venture Capital

อีกอย่างหนึ่งคือ เราจำเป็นต้องรู้แรงจูงใจของเกม บางครั้งการ M&A ที่ล้มเหลวอาจจะสร้างความเจ็บปวดให้นักลงทุน แต่ไม่ใช่สำหรับผู้บริหาร ซึ่งได้โบนัสก้อนโตไปเรียบร้อย ไม่ว่าดีลนี้จะเป็นดีลที่ยอดเยี่ยมหรือไม่ หรือสำหรับ "นักเก็งกำไร" ข่าว M&A สร้างกำไรได้อย่างงดงาม

แต่สำหรับบริษัทและนักลงทุนระยะยาว การทำ M&A คือการตัดสินใจครั้งใหญ่ ยิ่งดีลใหญ่เท่าไหร่ เรายิ่งต้องให้ความสำคัญ คงไม่มีใครอยากให้งานแต่งงานจบด้วยการหย่าร้าง แต่เราอยากเห็นมันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ด้วยกันต่างหาก


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เติบโตด้วย M&A

view