สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนตำนานแก้สัญญา ไทยคม ก่อนชี้ชะตา หมอเลี้ยบ-ปลัดไอซีที

จากประชาชาติธุรกิจ

25 ส.ค. 2559 ที่จะถึงนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) ที่ลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (อินทัชปัจจุบัน) ที่ต้องถือใน บมจ.ชินแซทเทลไลท์ (ไทยคมปัจจุบัน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% โดยมิชอบ

หลังจากเมื่อ 16 ก.ค. 2556 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด 1.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) 2.นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที 3.นาย ไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ

"ประชาชาติธุรกิจ" พาย้อนตำนาน



11 ก.ย. 2534 กระทรวงคมนาคม ทำสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ กับ บมจ.ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น) โดยในสัญญากำหนดให้บริษัทต้องจัดตั้งบริษัทใหม่ และถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% เพื่อดำเนินงานแทนตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งคือ บมจ.ชินวัตรแซทเทลไลท์ หรือไทยคม ในปัจจุบัน

24 ธ.ค. 2546 "ไทยคม" ทำหนังสือถึงกระทรวงไอซีที ขอลดสัดส่วนการถือหุ้นของ "อินทัช" ในไทยคม จากเดิมไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% โดยให้เหตุผลว่าต้องหาพันธมิตรเพื่อให้มีเงินทุนพอและขยายศักยภาพการแข่งขันจึงต้องลดหุ้น "อินทัช" ให้พันธมิตรเข้ามาแทน

9 ก.พ. 2547 สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ มีบันทึกถึงปลัดกระทรวงไอซีที เสนอข้อพิจารณาและมีความเห็นว่าแม้จะลดสัดส่วนหุ้นแต่ "อินทัช" ยังรับผิดชอบตามสัญญา และยังรักษาสัดส่วนการถือหุ้นสัญชาติไทย โดยไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ

อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบควรหารือสำนักงานอัยการสูงสุด หากดำเนินการได้ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างสัญญาแก้ไขก่อน

25 ก.พ. 2547 กระทรวงไอซีที โดยปลัดกระทรวง (นายไกรสร พรสุธี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) ทำหนังสือหารือสำนักงานอัยการสูงสุด

3 มิ.ย. 2547 สำนักงานอัยการสูงสุดตอบข้อหารือว่า การขอแก้ไขสัญญาลดสัดส่วนการถือหุ้น ไม่มีกรณีที่รัฐต้องเสียประโยชน์ กระทรวงไอซีที ใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงสัญญาได้ และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่ให้ข้อสังเกตว่า เดิมโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีว่า เป็นโครงการของประเทศ (National Project) คุณสมบัติและความเชื่อถือในฐานะและความสามารถของบริษัทผู้รับสัมปทาน จึงเป็นเงื่อนไขสาระสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้กำหนดเงื่อนไขการถือหุ้นในสัญญา ดังนั้น กรณีจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนี้จึงควรเสนอ ครม.ก่อน

17 มิ.ย. 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที (นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาการลดสัดส่วนการถือหุ้นตามสัญญาไทยคม

20 ส.ค. 2547 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือส่งเรื่องคืนกระทรวงไอซีที โดยให้เหตุผลว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา ประกอบกับ ครม. มีนโยบายลดเรื่องที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณา


2 ก.ย. 2547 ผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงไอซีที (คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์) ระบุว่าเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดตอบข้อหารือว่าการลดสัดส่วนการถือหุ้น ไม่มีกรณีที่รัฐต้องเสียประโยชน์ กระทรวงไอซีทีสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุมัติการแก้ไขสัญญาได้ ประกอบกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา จึงเห็นควรเสนอรัฐมนตรีไอซีที พิจารณาอนุมัติแก้ไขสัญญาฯ

21 ก.ย. 2547 รัฐมนตรีไอซีที (นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) สั่งการท้ายหนังสือที่สำนักกิจการอวกาศฯ เสนอมาว่าให้หารือสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้ง

24 ก.ย. 2547 ไอซีที ทำหนังสือหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดอีกรอบ

13 ต.ค. 2547 อัยการสูงสุดตอบกลับว่า เมื่อสำนักเลขาธิการ ครม. เห็นว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอ ครม. กระทรวงไอซีทีจึงมีดุลพินิจจะแก้ไขสัญญาตามร่างที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจแก้ไว้ได้

14 ต.ค. 2547 ผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ (นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์) ทำบันทึกถึงปลัดกระทรวงไอซีที (นายไกรสร พรสุธี) นำเสนอรัฐมนตรีไอซีทีพิจารณาอนุมัติแก้ไขสัญญาฯ

18 ต.ค. 2547 นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีไอซีที ลงนามอนุมัติท้ายหนังสือ ให้แก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ตามที่เสนอ

27 ต.ค. 2547 ได้มีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทานกิจการดาวเทียมฯ ครั้งที่ 5 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของ "อินทัช" ใน "ไทยคม" เหลือ 40%

30 มิ.ย. 2551 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการกับนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายไกรสร พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ว่า อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ฉบับที่ 5 โดยมิชอบ

คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมี ศาสตราจารย์ ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน

16 ก.ค. 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 2 เสียง ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า เมื่อพิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว ประเด็นการแก้ไขสัญญานี้ เป็นหนึ่งในหลายประเด็นข้อกล่าวหาในคดีที่อัยการสูงสุด ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ทรัพย์สินของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นของแผ่นดิน (คดีร่ำรวยผิดปกติ)

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา เมื่อ 26 ก.พ. 2553 ว่า การแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นโดยไม่ได้เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ เป็นการอนุมัติโดยมิชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้รับสัมปทาน เนื่องจากทำให้ "อินทัช" ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ "ไทยคม" ไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนหุ้น 51% แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลงร้อยละ 11 ย่อมเป็นผลให้ "อินทัช" ได้รับเงินทุนคืนจากการโอนขายหุ้นจำนวนดังกล่าวออกไปด้วย

และแม้ว่า ทั้งอินทัช และไทยคม จะยังต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาสัมปทานอยู่ แต่การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคง ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐองค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ ด้วยเสียงข้างมากว่าการอนุมัติดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทั้ง 2 บริษัท โดยไม่สมควร

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า 1.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 2.นายไกรสร พรสุธี และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ มีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง 3.นายไกรสร พรสุธี และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

พร้อมส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยในวันที่ 25 ส.ค. 2559 ศาลจะนัดอ่านคำพิพากษา


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ย้อนตำนาน แก้สัญญา ไทยคม ก่อนชี้ชะตา หมอเลี้ยบ ปลัดไอซีที

view