สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศุภชัย ปาจริยานนท์ พี่สอนน้อง ล้มได้-ลุกให้ไว สตาร์ตอัพ อย่างไรให้รอด

จากประชาชาติธุรกิจ

อยู่ในวงการไอทีนวัตกรรมมานาน จนอาจเรียกได้ว่าน่าจะเป็น "สตาร์ตอัพรุ่นแรก" ของไทย สำหรับ "ศุภชัย ปาจริยานนท์" ตั้งแต่สมัยยังเรียนไม่จบแพทยศาสตรบัณฑิตจากศิริราชพยาบาล

ย้อนไปตั้งแต่ปี 2545 เริ่มต้นพัฒนาโปรแกรมดูข้อมูลหุ้นผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นคนแรกในไทย และส่งเข้าประกวดล่ารางวัลในหลายเวที จนเป็นที่มาของบริษัท "First Vision Advantage" ที่มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทในยุคนั้น และอีกหลายธุรกิจด้านนวัตกรรม 

ล่าสุดกับ บริษัท แมคฟิว่า (ประเทศไทย) ดิจิทัลเอเยนซี่ ที่มียักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากญี่ปุ่น NTT Docomo ร่วมลงทุนด้วย "ศุภชัย" ยังเป็นนักลงทุน และผู้ก่อตั้ง RISE Academy สถาบันบ่มเพาะสตาร์ตอัพ ไม่นับบทบาทในฐานะนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)



14 ปีผ่านไป "ศุภชัย" พูดถึงวงการสตาร์ตอัพไทยว่า เปลี่ยนไปมาก มีสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ และมีความสามารถมากมาย มีคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียมีความเข้าใจในการทำธุรกิจที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตดีขึ้นเพียงแต่ยังไปได้ไม่สุด จากจุดอ่อนเรื่องการศึกษา ทักษะด้านภาษาทำให้มีกลุ่มสตาร์ตอัพที่อยู่ในระดับ TOP ก้าวไปได้ไกล กับกลุ่มที่ยังติดกรอบแนวคิดเดิมที่ต้องใช้เวลาพัฒนา

"ลักษณะของสตาร์ตอัพที่ดี คือต้องหาจุดแข็งของตนเองให้เจอ และต้องยอมรับเทรนด์ที่ต้องพัฒนาให้ทันพฤติกรรมของตลาด อย่างผมเองมีจุดเด่นคือ ชอบเรียนรู้ ไม่ยึดติดกับอะไร ไม่คิดว่าตัวเองเลิศสุด ฉะนั้นจะทบทวนธุรกิจตลอดเวลาว่า ต้องปรับต้องเสริมอะไรเพิ่มให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วมาก"

คนรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาในวงการนี้ อยากให้ลองหาประสบการณ์จากเวทีประกวด โครงการอบรมบ่มเพาะเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพราะประสบการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่สตาร์ตอัพทุกคนควรต้องมีคือ "ได้ล้มแล้ว ต้องลุกให้ไว" ไม่มีสตาร์ตอัพทีมไหนในโลกนี้ที่จะคิดไอเดียสร้างผลงานที่สมบูรณ์แบบ เมื่อเข้าสู่ธุรกิจจริง ได้เจอลูกค้าก็ต้องนำความเห็นความต้องการของลูกค้ามาปรับเปลี่ยนงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

อีกสิ่งที่สตาร์ตอัพต้องให้ความสำคัญคือ ทำให้ไอเดียที่คิดไว้ในสมอง ถ่ายทอดออกมาให้นักลงทุนเข้าใจได้ สร้างความน่าสนใจให้เข้ามาลงทุนด้วย ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอจนสร้างออกมาเป็นผลงานต้นแบบสมบูรณ์ 100% ดังนั้นการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะจึงเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างโอกาสที่จะได้ทุนมาต่อยอดผลงาน อย่างโครงการดิจิทัลสตาร์ตอัพของซิป้า เป็นโครงการที่มีเงินรางวัลให้ทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบในแต่ละรอบ ซึ่งเพียงพอที่จะค่อย ๆ นำไปต่อยอดผลงานได้ และเปิดโอกาสให้เข้าร่วมได้ตั้งแต่นิสิตนักศึกษาทุกชั้นปีจึงเป็นโอกาสที่จะเห็นประสบการณ์จริงว่า ทุกอย่างไม่ได้สร้างขึ้นมาได้เพียงวันเดียว 

"การจะทำให้เกิดธุรกิจได้จริง ต้องอาศัยทักษะหลายด้านรวมกัน ไม่ใช่เก่งคนเดียว ทุกอย่างต้องเป็นทีมที่จะผสานทั้งด้านนวัตกรรมและการตลาดร่วมกัน ตามโครงการเหล่านี้ยังเป็นโอกาสที่จะเจอกับวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามาช่วยปรับแต่งไอเดียให้กลายเป็นธุรกิจจริง ซึ่งในชีวิตจริงไม่ง่ายที่จะมีโอกาสเจอคนเหล่านี้"

"ศุภชัย" ย้ำด้วยว่า การสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ตอัพเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันส่งเสริมหากตั้งเป้าจะก้าวไปสู่ไทยแลนด์4.0 แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา 

"ในอเมริกาใช้เวลากว่า 20 ปี แต่ไทยเพิ่งเริ่มเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จากความจริงจังของภาครัฐที่จะสนับสนุน รวมถึงเอกชนที่มีเวทีมีพื้นที่เปิดกว้างให้กับวงการสตาร์ตอัพทุกระดับ ตั้งแต่นักศึกษา จนถึงผู้ประกอบการได้มีโอกาสประลองฝีมือ"

สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ Ecosystem Copy กันไม่ได้ ในแต่ละประเทศย่อมมีจุดอ่อนจุดแข็งต่างกัน จะไปปักธงว่าไทยต้องเป็นตามแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้ 

"ประเทศไทยก็มีจุดแข็งของเราเอง อย่างด้านเกษตรกรรม ถ้าจะมุ่งไปเรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ย่อมทำได้ดีกว่าสหรัฐแน่นอน ที่ผ่านมายังมีอุปสรรคสำคัญคือ คนยังไม่เข้าใจว่า Ecosystem สำคัญและมีประโยชน์อย่างไร"

ในส่วนของภาครัฐ นอกจากให้ทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพแล้ว ควรมีนโยบายช่วยส่งเสริมให้สตาร์ตอัพเติบโตง่ายขึ้น อาทิ มีกฎหมายพิเศษช่วยในการทำธุรกิจของสตาร์ตอัพให้ง่ายและเร็วขึ้น 

มีสิทธิพิเศษจูงใจให้นักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมทุนกับสตาร์ตอัพ เลิกการแบ่งงานเป็นรายกระทรวง แต่ให้มองที่ภาพรวมที่ภาครัฐต้องทำ นี่คือความท้าทายของภาครัฐในการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในบทบาทของนักลงทุน นอกจาก จะควักเงินร่วมทุนในบริษัทสตาร์ตอัพที่น่าสนใจแล้ว เขายังก่อตั้งและบริหาร RISE Academy กลไกสำคัญในการบ่มเพาะสตาร์ตอัพที่เน้นการให้ความรู้เพื่อช่วยสร้างระบบนิเวศให้เหมาะสม โดยคาดหวังว่า เมื่อระบบนิเวศสำหรับสตาร์ตอัพในไทย มีความสมบูรณ์มากขึ้น "Mind set" ของสตาร์ตอัพไทยควรมองไปที่การเติบโตและแข่งขันในตลาดโลก เพราะทุกวันนี้ทั้งสตาร์ตอัพ และยักษ์ใหญ่ข้ามชาติต่างบุกเข้ามาในตลาดไทยหมดแล้ว 

ถ้า "สตาร์ตอัพไทย" ไม่เริ่มเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ ก็จะ "แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง" แล้ว

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศุภชัย ปาจริยานนท์ พี่สอนน้อง ล้มได้-ลุกให้ไว สตาร์ตอัพ อย่างไรให้รอด

view