สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จอดรถชั้นใต้ดินแล้วน้ำท่วม เหตุสุดวิสัยนี้ใครรับผิดชอบ

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่อง...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ / ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก Nann Kokcharoenpong

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมงจนเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน

โดยเฉพาะผู้พักอาศัยคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านเมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ต้องเจอกับฝันร้าย หลังจากลานจอดรถชั้นใต้ดินถูกน้ำท่วมขัง ทำให้รถยนต์กว่า 30 คันจมน้ำพังเสียหาย

คำถามชวนสงสัยคือ เหตุการณ์นี้จะโทษฝนฟ้าที่ตกลงมาไม่หยุดหย่อน โทษเจ้าของคอนโดที่ไม่ยอมสูบน้ำ โทษเทศบาลที่ไม่วางแผนรับมือ หรือโทษตัวเองที่จอดรถไม่ดูตาม้าตาเรือ...ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

ภัยธรรมชาติหรือการกระทำของบุคคล?

วิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความ เจ้าของเว็บไซต์ tanaiwirat.com มองว่า เรื่องฝนตก น้ำท่วม จะไปโทษฟ้าฝน โทษธรรมชาติอย่างเดียวคงไม่ได้

"โดยปกติ ถ้าจอดรถอยู่ในอาคารคอนโดมิเนียม แล้วรถหาย ถูกขโมย เจ้าของคอนโดต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะอาคารดังกล่าวอยู่ในความคุ้มครองของเขา แต่กรณีฝนตกหนักลงมาต่อเนื่องติดต่อกันหลายชั่วโมง ไม่ได้เกิดจากการกระทำของบุคคล แต่เกิดจากธรรมชาติ จะไปกล่าวโทษธรรมชาติก็คงไม่ได้ ตรงนี้น่าจะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของคอนโดมิเนียม ส่วนเทศบาลต้องรับผิดชอบไหม ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆประกอบด้วยว่าเป็นความผิดของเขาหรือเปล่า  เช่น เรื่องการระบายน้ำ สูบน้ำ แต่ก็ยาก เพราะจะไปห้ามฟ้าห้ามฝนไม่ได้ เมื่อดูสองส่วนนี้แล้ว ก็ต้องไปดูอีกว่ารถคันนั้นทำประกันภัยรูปแบบใด คุ้มครองกรณีฝนตกน้ำท่วมแบบนี้ไหม  เพราะประกันภัยแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน"

ทนายวิรัช แนะนำว่า เบื้องต้น เจ้าของรถควรพิจารณาเลือกสถานที่จอดรถด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ตรงไหนเสี่ยงน้ำท่วม ตรงไหนปลอดภัย เนื่องจากรถยนต์เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง

 

คอนโดมิเนียมต้องมีส่วนรับผิดชอบ

ขณะที่ เกิดผล แก้วเกิด ทนายความ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2551 คอนโดมีเนียมต้องมีส่วนผิดชอบอย่างเเน่นอน แต่การรับผิดชอบนั้นขึ้นอยู่กับสภาพความเสียหายเเละสภาพดั้งเดิมของรถยนต์ด้วย หมายความว่า หากเป็นรถใหม่ป้ายแดงก็ต้องรับผิดชอบมากกว่ารถที่ผ่านการใช้งานมาเเล้วหลายปี

''คอนโดมีเนียมต้องรับผิดชอบ เนื่องจากลานจอดรถเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งในกฎหมายระบุไว้ว่า “ทรัพย์ส่วนกลาง” หมายวามว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม คอนโด หรือนิติบุคคลซึ่งปกติมีการเก็บค่าส่วนกลางอยู่เเล้ว จึงจำเป็นต้องอำนวยความสะดวก บำรุงรักษา เเละป้องกัน พูดง่ายๆ เก็บค่าส่วนกลางเราไปเเล้วก็ต้องรับผิดชอบ หากรถเราพังเสียหายในพื้นที่นั้น โดยเจ้าของรถอย่างเราไม่ได้มีส่วนกระทำให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย"

อย่างไรก็ตาม ทนายเกิดผล แนะนำว่า ก่อนเริ่มก่อสร้างคอนโดมิเนียมนั้น ผู้สร้างพึงคาดหมายได้อยู่เเล้วว่า พื้นที่ก่อสร้างของตนเองนั้นเสี่ยงต่อภัยอันตรายใดๆบ้าง ซึ่งจำเป็นต้องป้องกันดูเเล โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่จอดรถชั้นล่างหรือใต้ดิน สามารถประเมินได้อยู่เเล้วว่า หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นย่อมเสี่ยงมากกับการได้รับผลกระทบตามมา

คิดให้ดีก่อนซื้อประกันรถ 

อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ความเห็นว่า  การหาผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องถามว่า สาเหตุที่น้ำท่วมนั้นเกิดจากอะไร โดยต้องทำการพิสูจน์ว่าคอนโดมิเนียมนั้นประมาทเลินเล่อหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องมองในหลายปัจจัย ตั้งเเต่ระบบการระบายน้ำ ท่อน้ำ ตลอดจนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งอาจเป็นเหตุสุดวิสัย ก่อนทำการวินิจฉัยหาสาเหตุที่เเท้จริง

"บทเรียนดังกล่าวเเสดงให้เห็นว่า สำหรับผู้ครอบครองรถยนต์ ความเสี่ยงนั้นมาได้ทุกเมื่อไม่เฉพาะเเค่บนท้องถนนหรือขณะขับขี่ หากมีความสามารถเเละประเมินอย่างดีเเล้ว เเนะนำให้เลือกทำประกันภัยที่ครอบคลุมความเสียหายรอบด้าน ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องศึกษาให้ดีว่าพื้นที่อาศัยของตนเองนั้น เสี่ยงมากน้อยเเค่ไหนกับภัยธรรมชาติที่ใกล้ตัวคนเมืองอย่างน้ำท่วม"

บทเรียนจากกรณีรถยนต์จมน้ำเสียหายครั้งนี้ น่าจะทำให้หลายคนได้คิดตรึกตรองว่าจะเตรียมตัวรับมืออย่างไร หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้อีกในอนาคต


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จอดรถชั้นใต้ดิน น้ำท่วม เหตุสุดวิสัย ใครรับผิดชอบ

view