สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากรุณาธิคุณแก่วงการกฎหมายไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 กษัตริย์พระองค์ใหม่ของปวงชนชาวไทย ตลอด 44 ปีแห่งองค์พระรัชทายาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชกรณียกิจ พระราโชวาทแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

ในด้านการยุติธรรม ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อวงการนิติศาสตร์เสมอมา ประจักษ์ในพระราโชวาทแก่วงการนิติศาสตร์ไทย ดั่งพระราชดำรัสในโอกาสที่คณาจารย์ด้านนิติศาสตร์จากทุกสถาบันในประเทศ เฝ้าทูลละอองพระบาท ณ พระตำหนักนนทบุรี วันที่ 30 ตุลาคม 2540 ตอนหนึ่ง ว่า


กฎหมายมิใช่เครื่องมือของใครคนใดคนหนึ่ง

"วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพเจ้าออกรับท่านทั้งหลายแทนพระองค์ ข้าพเจ้ายินดีมากที่ได้พบกับท่าน เพราะโอกาสพิเศษที่จะได้พบปะสนทนากับคณาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์อย่างพร้อมหน้ากันเช่นนี้มีไม่มากนัก

ตามที่รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ต้องการทราบความเห็นของข้าพเจ้าเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาวิชานิติศาสตร์ต่อไปในอนาคตนั้น ขอแจ้งว่าข้าพเจ้ามิได้ศึกษามาในทางนิติศาสตร์โดยตรง แต่ก็มีความสนใจและติดตามเรื่องนี้ตลอดมา พอจะให้ความเห็นบางเรื่องได้อย่างกลาง ๆ ส่วนรายละเอียดคงเป็นหน้าที่ของคณาจารย์ทางนิติศาสตร์จะได้ช่วยกันพิจารณาต่อไป

เรื่องนิติศาสตร์หรือวิชากฎหมายนี้เป็นวิชาชีพแขนงหนึ่งทำนองเดียวกับวิชาชีพอย่างอื่น เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แต่ตัวกฎหมายอันปรากฏออกมาเป็นตัวอักษรหรือตัวหนังสือนั้น มีลักษณะเป็นพิเศษ ที่กฎหมายต่าง ๆ นั้นถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่สังคม กฎหมายจึงเป็นสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ"

"เมื่อมีกฎหมายใดออกมาใช้แล้วถือว่ากฎหมายนั้นเป็นสมบัติของส่วนรวมบุคคลทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นจะต้องปฏิบัติตาม ผู้ใดจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แม้ว่าผู้นั้นจะไม่เคยอ่านกฎหมายนั้นเลย จึงต้องถือว่ากฎหมายเป็นเรื่องสำคัญของทุกคนไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือส่วนประชาชน"

กฎหมาย ประกอบด้วย

"ศาสตร์-ศิลป์-ศีล"


"ทุกคนไม่ว่าทางราชการหรือประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่างที่มีการประกาศใช้ ถ้าพิจารณาถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่ามีลักษณะพิเศษ ประกอบด้วยคุณสมบัติสามประการ คือ ศาสตร์ ศิลปะ และศีล กล่าวคือ ผู้ออกกฎหมายต้องอาศัยความรู้พิเศษในวิชานิติศาสตร์ การใช้คำในกฎหมายก็ต้องระมัดระวังใช้คำที่เหมาะสมและชัดเจน และในเนื้อหาของกฎหมายต้องดำรงไว้ซึ่งศีลธรรม มีความเป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไป"

"การที่คณาจารย์ทางนิติศาสตร์รวมตัวกันเพื่อพัฒนาวิชาการทางกฎหมายนี้จึงเป็นการสมควรและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจึงใคร่ถือโอกาสนี้ฝากข้อคิดบางเรื่องบางประการให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันขบคิดพิจารณา ดังนี้

ประการแรก ควรมีการศึกษาและตั้งเป็นหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้รู้ถึงหลักกฎหมายบางอย่างซึ่งได้พัฒนามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนการสอนกฎหมายที่มีมาถึง 100 ปีนี้ ได้มีการพัฒนาไปในทางใด อันจะทำให้เกิดตำราเรื่องประวัติศาสตร์กฎหมายขึ้นอีกวิชาหนึ่ง

ในการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อาจตรวจพบเอกสารหรือวัตถุหลักฐานทางกฎหมายต่างๆ ในสมัยโบราณ และถ้าสามารถทำได้ก็ควรส่งเอกสารและวัตถุเหล่านั้นไปรวมไว้ในหอสมุดแห่งชาติ หรือพิพิธภัณฑสถาน เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป"

ทรงห่วงปัญหาการ 

"ตีความกฎหมาย"


"ประการที่สอง อันกฎหมายต่าง ๆ นั้น เกิดจากการร่างกฎหมายของผู้มีหน้าที่แต่ละสมัย ประกอบกับความรู้ความสามารถของผู้ร่างแต่ละคน ฉะนั้นจึงมีปัญหาเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้กฎหมายอยู่เสมอว่า ถ้อยคำที่ปรากฏในกฎหมายนั้นจะหมายความว่าอย่างไร จึงต้องมีปัญหากฎหมายเกิดขึ้นอยู่เสมอ เรื่องเช่นนี้ถ้าเป็นคดีในศาล ผู้พิพากษาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ แต่ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ไม่ถึงมีคดีในศาล คือ ปัญหาเกิดขึ้นในภาคปฏิบัติ จึงต้องมีการตีความกฎหมาย

เรื่องนี้แม้ทางราชการจะได้มีคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะตีความได้อยู่แล้วก็ตามแต่ทฤษฎีในการตีความมีความสำคัญเป็นอันมาก คือ ต้องมีเครื่องมือในการตีความ ถ้าทางมหาวิทยาลัยจะได้มีความสนใจในเรื่องนี้ และกำหนดเรื่องการตีความกฎหมายเป็นวิชาชีพพิเศษขึ้นอีกวิชาหนึ่ง ก็จะเกิดตำราเรื่องการตีความกฎหมายขึ้น อันจะเป็นผลดีในทางทำให้วิชากฎหมายมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น"

นักกฎหมายต้องมีจรรยาบรรณ

ประการที่สามในการประกอบวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ มีกฎหมายเรื่องระเบียบวินัยควบคุมอยู่ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายแต่ละอย่างประกอบกิจการได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม ตัวอย่างเช่นนี้ก็มีอยู่แล้ว เช่น วินัยของข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ตำรวจ อัยการ หรือจรรยาแพทย์ และประมวลจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ และจรรยาบรรณของทนายความ

"ทำอย่างไรเราจะสร้างวินัยที่ใช้กับนักนิติศาสตร์โดยทั่วไปขึ้นอีกทางหนึ่ง คือ เป็นจรรยาบรรณสำหรับนักกฎหมายโดยทั่วไป เพื่อให้ผู้ใช้กฎหมายระมัดระวังใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง บังคับมิให้ใช้กฎหมายในทางที่ผิด และป้องกันมิให้ใช้กฎหมายในทางให้ผลร้ายหรือเอาเปรียบประชาชน ในเรื่องนี้ อาจารย์ผู้สอนควรจะได้ประพฤติปฎิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ในการถ่ายทอดจรรยาบรรณของนักกฎหมายให้แก่ศิษย์ซึ่งศึกษาวิชานิติศาสตร์ด้วย"


ทำกฎหมายให้

ทันสมัย-เป็นสากล


ประการที่สี่ขอให้ย้อนไปดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาเมื่อ 60-70 ปีมาแล้ว สมัยนั้นเราไม่เคยเห็นเครื่องบินไอพ่น ไม่เคยรู้จักโทรทัศน์ โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็มีเพียงเล็กน้อย แต่มาถึงสมัยนี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงทำให้มีโรงงานผลิตสินค้าต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่กฎหมายไม่สามารถงอกเงยขึ้นได้เอง นอกจากจะมีนักกฎหมายเข้ามาช่วยกันปรับปรุงให้กฎหมายแต่ละอย่างให้ทันสมัย และสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นให้เหมาะสมแก่กิจการบางอย่างซึ่งเราไม่เคยมี ฉะนั้นอาจารย์ทางนิติศาสตร์ควรจะได้มีการศึกษาและติดตามกันว่ากฎหมายใดที่กำลังใช้อยู่มีความล้าหลังควรแก้ไขหรือควรมีกฎหมายใหม่อย่างไรเพื่อให้ทันสมัยบ้าง

"ประการที่ห้า เป็นที่ทราบกันว่าเวลานี้โลกของเราแคบลงทุกที บรรดาอาชีพต่าง ๆ และกิจการอุตสาหกรรมตลอดจนวิชาชีพในสาขาวิชาต่าง ๆ เราสามารถศึกษาได้จากต่างประเทศ บรรดากิจการของต่างประเทศนั้น เขาย่อมมีกฎหมายเป็นเครื่องมือรองรับ ฉะนั้นเพื่อให้การพัฒนาประเทศไทยได้เป็นไปเท่าเทียมกับนานาประเทศ ควรที่คณาจารย์ทางกฎหมายจะได้ศึกษาและติดตามความเคลื่อนไหวของกฎหมายต่างประเทศเพื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของเราเท่าที่มีอยู่แล้วว่าควรแก้ไขกฎหมายของเราหรือมีกฎหมายใหม่ในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้เหมาะสมแก่ประเทศไทยและทำการวิจัยกฎหมายเหล่านั้น ให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องนำไปพิจารณา เรื่องนี้ถ้าสามารถทำได้เป็นหลักสูตรเรื่องกฎหมายต่างประเทศขึ้นก็อาจเป็นผลดี"

ใช้กฎหมายผิดเจตนารมณ์

เป็นภัยอย่างใหญ่หลวง


พระราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 7 สิงหาคม 2545

"ท่านทั้งหลายศึกษาวิชากฎหมายก้าวหน้ามาได้ถึงเพียงนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่า กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอยู่ได้หรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้เป็นสำคัญ คือ ถ้าใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้านำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ ด้วยอคติหรือมีเจตนาอันไม่สุจริตแล้ว กฎหมายก็จะเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพจะเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง"

พระราโชวาทในโอกาสที่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 6 เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานวุฒิบัตรและเข็มวิทยฐานะ ณ วังศุโขทัย วันที่ 29 ตุลาคม 2546

"กระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งเป็นหลักประกันสิทธิความเสมอภาคของทุกคนภายใต้กฎหมาย การที่กระบวนการยุติธรรมจะอำนวยประโยชน์ดังกล่าวได้ จำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีความทันสมัยและเป็นธรรมเป็นกรอบในการดำเนินการ ต้องมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือจะต้องมีบุคลากรที่มีความรอบรู้ในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีจิตใจที่เที่ยงตรงเป็นยุติธรรม"

ต้องไม่ข้องแวะอามิสสินจ้าง

นอกจากวงการวิชาการกฎหมายและผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเนติบัณฑิตแล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงแผ่พระเมตตาไปถึงวงการตำรวจไทย ดั่งพระราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ ว่าที่ร้อยตำรวจตรี ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2538 และพระราชทานประกาศนียบัตรกับเข็มแก่ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 3 เมษายน 2539 ตอนหนึ่ง ว่า

"ทุกวันนี้ มีเหตุหลายอย่างก่อให้เกิดปัญหาและความยุ่งยากต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ทำให้ตำรวจต้องรับภาระหนักในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเฉพาะในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แต่ละคน นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถในด้านปฏิบัติการสูงแล้ว ยังจะต้องมีจิตใจที่มั่นคงแข็งแกร่งถึงขนาดด้วย จึงจะสามารถอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบาก รวมทั้งอามิสเครื่องเย้ายวนให้ประพฤติผิดต่อหน้าที่ มิฉะนั้นจะไม่อาจรักษาความสุจริต ยุติธรรมและวินัยอันดีงาม ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือความดีของตำรวจไว้ให้เหนียวแน่นตลอดไปได้"


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระมหากรุณาธิคุณ วงการกฎหมายไทย

view