สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์

พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์

โดย : 

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, วิทยาศาสตร์, เมฆ, ฝน

ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีมากมายเป็นที่ประจักษ์

ผู้เขียนในฐานะคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์รู้สึกชื่นชมในพระอัจฉริยภาพอย่างยิ่ง และใคร่ขอกล่าวถึงพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่านที่คุณผู้อ่านพึงพิจารณาน้อมนำไปปฏิบัติ หรือนำไปเล่าให้ลูกหลานไทยได้รับรู้ ทั้งนี้ในบทความนี้จะขอเอ่ยถึงพระองค์ท่านว่า “ในหลวง” อันเป็นคำเรียบง่ายที่สามัญชนทั่วไปคุ้นเคยและใช้เรียกพระองค์ท่านด้วยความเคารพอย่างสูงสุด


ความช่างสังเกตเป็นนิสัยพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์ โครงการตามพระราชดำริต่างๆ มักมีที่มาจากพระราชจริยวัตรช่างสังเกตนี้ เช่น โครงการฝนหลวง เกิดจากการที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรทางภาคอีสานในปี พ.ศ.2498 และทรงเห็นว่าแม้บนท้องฟ้ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นก็ไม่ตกลงมาเป็นฝน จึงมีพระราชดำริเรื่องวิธีแก้ไขความแห้งแล้งนี้ โดยจัดตั้งเป็น “โครงการค้นคว้าทดลองการทำฝนเทียม” มี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้รับสนองพระราชดำริในการค้นคว้าทดลอง


ในหลวงทรงสนพระราชหฤทัยในความรู้หลายแขนง ทรงเป็นนักคิดนักค้นคว้าพระราชจริยวัตรนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูของพระราชมารดา ในหนังสือ ดุจดวงตะวัน พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระบุว่า “ประการต่อไปที่จะกล่าวคือเรื่อง สารานุกรมสำหรับเยาวชน อันนี้ก็เป็นเรื่องโฆษณา เรื่องนี้ว่ากันจริงๆ แล้วที่มาบรรยายในวันนี้สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่าพระราชทานเกี่ยวกับสมเด็จย่า ท่านสอนให้รู้จักการค้นคว้า และท่านเองก็ค้นคว้าด้วย สมเด็จย่าเล่าว่าเมื่อลูกอยากรู้อะไร ก็พยายามที่จะป้อนให้ได้ จึงไปซื้อสารานุกรมมา ได้ค้นคว้ากันทั้งครอบครัว พอมาในตอนหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะมีสารานุกรมในลักษณะนั้นให้คนไทย…” (หน้า 65 และ 67)


สิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้จำเป็นต้องนำความคิดไปลงมือปฏิบัติ ในหลวงทรงเป็นนักปฏิบัติ ลงมือทำจริงด้วยพระองค์เอง ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย เช่น การที่ทรงใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ตั้งของโครงการส่วนพระองค์ เพื่อจำลองความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของเกษตรกรมาไว้ในบริเวณที่ประทับ และทรงทดลองวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ส่วนภาพที่เห็นอย่างชัดเจน คือการที่ทรงออกแบบและต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง


ในหลวงทรงเป็นครูที่ดี ในหนังสือ ดุจดวงตะวันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เล่าพระราชทานไว้ว่า


“ตัวอย่างความเป็นครูของท่านที่เป็นประสบการณ์ คือ ในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานโดยทางรถยนต์ เมื่อข้าพเจ้ามีอายุได้ประมาณ ๗-๘ ปี และได้โดยเสด็จในรถด้วย ก็มักจะทรงสอนข้าพเจ้าและพี่ๆ ให้รู้จักวิธีการคำนวณเวลาจากระยะทางและความเร็ว สภาพภูมิประเทศที่เห็น ถ้าเป็นเวลากลางคืน ก็จะทรงสอนให้รู้จักดาวต่างๆ ในท้องฟ้า


วันหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าแกล้งถามคนที่อยู่ด้วยว่า ข้าวในกระสอบหนึ่งมีกี่เม็ด ไม่มีใครตอบ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ไปเอาข้าวสารมาลิตรหนึ่ง ทรงให้ข้าพเจ้าตกลงใจยอมรับว่า ค่าที่ได้จะเป็นค่าโดยประมาณ และให้เอาถ้วยตะไลเล็กๆ ตักข้าวตวงดูว่า ข้าวลิตรหนึ่งเป็นกี่ถ้วยตะไล แล้วนับเม็ดข้าวในถ้วยตะไลนั้น ได้แล้วเอาจำนวนเม็ดคูณจำนวณถ้วยได้เป็นจำนวนเม็ดข้าวในลิตร แล้วคูณขึ้นไปก็เป็นจำนวนลิตรในถัง จำนวนถังในกระสอบ ก็จะได้จำนวนเม็ดข้าวในกระสอบ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้ารู้จักจำนวนโดยประมาณ”(หน้า 45-48)


นอกจากนี้ “เมื่อเรียนภูมิศาสตร์แทนการท่องหนังสืออย่างเดียว ก็ทรงส่งเสริมให้ดูสภาพต่างๆ จากของจริงเทียบกับแผนที่ แม้แต่เมฆก็ไม่ได้ให้ท่องแต่เพียงชื่อในหนังสือเท่านั้น ทรงสอนให้ดูเมฆจริงๆ ทีเดียว” (หน้า 53)


มีข้อสังเกตว่าพระองค์ท่านยังมักจะใช้คำศัพท์ง่ายๆ เช่น “ทฤษฎีใหม่” “แก้มลิง” “แกล้งดิน” ตลอดจนการเล่นคำที่แฝงอารมณ์ขัน เช่น (โครงการ) “ชั่งหัวมัน”เป็นต้น สำหรับผู้เขียนแล้ว รู้สึกประทับใจเป็นพิเศษกับคำว่า “เมฆอุ่น” และ “เมฆเย็น” ในโครงการฝนหลวง เนื่องจากสะท้อนความลุ่มลึกในความรู้ความเข้าใจเรื่องน้ำในเมฆของพระองค์ท่านเป็นอย่างดี(“เมฆอุ่น” คือเมฆซึ่งประกอบด้วยหยดน้ำธรรมดา ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าศูนย์องศาเซลเซียส ส่วน “เมฆเย็น” คือเมฆซึ่งประกอบด้วยหยดน้ำเย็นยิ่งยวด หรือ supercooled water droplets ซึ่งเป็นหยดน้ำที่แม้ว่ามีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส แต่ยังคงสถานะเป็นของเหลว)


สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง ประเด็นนี้ ผู้เขียนขอนำประสบการณ์ของนายโชดก วีรธรรม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่ได้เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งในหลวงทรงมีพระราชประสงค์จะส่งน้ำจากภูเขาที่อำเภอปัวมาที่ศูนย์อพยพบ้านป่ากลาง ฝ่ายเจ้าหน้าที่แหล่งน้ำได้ทำพิมพ์เขียวถวาย เป็นโครงการที่ใช้เงินประมาณ 80 ล้านบาท รวม 2 จุด เมื่อทรงรับสั่งถามนายโชดกว่าอย่างนี้เหมาะสมไหม นายโชดกได้พิจารณาแล้วกราบบังคมทูลว่า “ถ้าหากฝนฟ้าไม่ตกบนภูเขาแล้ว ฝายเพื่อส่งน้ำที่จะใช้ไฟฟ้านั้นก็คงทำงานไม่ได้” และถวายความเห็นแย้งว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยเกล้าฯ”


เมื่อในหลวงรับสั่งถามว่า ทำไม นายโชดกจึงกราบบังคมทูลว่า “อาจจะสิ้นเปลืองเกินไป 30 บวก 50 ล้าน รวมเป็น 80 ล้าน ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าน่าจะทำฝายเตี้ยๆ พอให้มีน้ำขังอยู่ แล้วก็ทำท่อต่อท่อเหล็กข้ามภูเขา แม้ว่าจะยาวตั้ง 10 กิโลเมตร ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าน้ำนี่คงจะมาถึงหมู่บ้านป่ากลางได้”


ในหลวงทรงมีรับสั่งถามว่า “ผู้ว่าฯ เรียนจบวิศวะหรือ ผู้ว่าฯ รู้เรื่องเกี่ยวกับการส่งน้ำหรือ”นายโชดกจึงถวายความเห็นว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยเรียนวิศวะ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นพวกชาวเขาหรือชาวบ้านต่อน้ำจากน้ำตก จากลำธาร จากภูเขายาว 7-8 กิโลเมตร ด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก น้ำมาก็มาบ้าง หกเรี่ยราดตลอดทาง แต่ยังถึงหมู่บ้าน เขาเป็นชาวเขา เขายังทำได้ แต่เรามีเงิน มีของ มีความคิด การที่เราจะเปลี่ยนจากโครงการใหญ่ 80 ล้าน มาส่งน้ำด้วยท่อเหล็กเหลือเพียง 10 ล้าน ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าคงจะแก้ปัญหาได้”


ที่เหนือความคาดคิดของนายโชดกก็คือ หลังจากที่ได้ถวายความคิดแย้งออกไปแล้ว ในหลวงทรงเก็บพิมพ์เขียวเหล่านั้น ปิดกระเป๋า แล้วรับสั่งว่า “มาช่วยกันเขียนดูว่าจะทำได้ไหม”


สุดท้าย สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ในหลวงทรงเน้นย้ำและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอคือ ความเพียร ดังปรากฏเด่นชัดในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนกในที่นี้ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2516 มาฝากคุณผู้อ่านดังนี้


“…สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือมันดูครึ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึ ต้องมีความอดทนเวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอน ในความอดทนของตน ในความเพียรของตน ต้องถือว่าวันนี้เราทำยังไม่ได้ผล อย่าไปท้อ บอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ ผลอาจได้ปีหน้า หรืออีกสองปีหรือสามปีข้างหน้า….”



สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์

view