สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่ายุทธศาสตร์เศรษฐกิจ...ภาคอีสาน เรือธง ข้าวหอมมะลิ-การค้า-ท่องเที่ยว

จากประชาชาติธุรกิจ

ยุทธศาสตร์ 5 ภาคของหอการค้าไทย ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ภาคเอกชนได้ร่วมกันวางแผนให้เห็นถึงทิศทางที่จะเดินหน้าไประยะยาวอย่างเป็นระบบ ภายใต้ศักยภาพที่โดดเด่นของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะจุดแข็งในฐานะเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดีส่งออก การเป็นเมืองค้าชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายจังหวัดเชื่อมโยงไปยังระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกทั้งมีจำนวนประชากรมาก ทำให้การค้าการลงทุนถาโถมเข้ามาไม่ขาดสาย 

วาดฝัน ศก.อีสานโตปีละ 7%

"ประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร" ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสานปี 2560 จะเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโอท็อปโดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยการแปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิ การพัฒนาพันธุ์ข้าว ช่วยเพิ่มผลผลิตและหารายได้ ผลักดันการขยายการค้าชายแดน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน



สำหรับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวไปจนถึงปี 2020 นั้น จะเร่งพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1.การบริหารจัดการน้ำภายใต้บริบทภัยแล้ง ให้มีน้ำเพียงพอต่อเกษตรกรรม เพราะจะช่วยทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานปรับตัวดีขึ้น เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่ภาคการเกษตร ถ้าน้ำดี ผลผลิตออกสู่ตลาดดี เศรษฐกิจจะดีตาม 

2.การพัฒนาภาคเกษตรกรรมต้องมองถึงเกษตรกรรายย่อยไปสู่เรื่องของการพัฒนาในระดับพืช ปศุสัตว์ และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ 3.การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม 

4.การพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน
 การลดความเหลื่อมล้ำ เพราะภาคอีสานถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมค่อนข้างสูง โดยแผนงานทั้งหมดนี้จะต้องให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งผลักดันสินค้าชุมชนเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พัฒนาศักยภาพหัตถกรรมสิ่งทอ อีกทั้งยังเดินหน้าพัฒนาสนามบินร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลิงนกทา (ยโสธร) และเลย


เปิดด่านสายตะกู-อานม้า

ขณะที่วิสัยทัศน์อีสาน 2020 อีสานเปลี่ยนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การเกษตรและบริการ เชื่อมโยงภูมิภาคและอนุภูมิภาค สังคมเข้มแข็ง อยู่ดีมีสุข และเป็นธรรมอย่างยั่งยืน

ในส่วนของเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภาคอีสานต่อ GDP ของประเทศ กำหนดอยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี ส่วนเรื่องของความอยู่ดีของประชาชนเป็นตัวชี้วัดควบคู่ไปกับการจัดการความสมดุลของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังได้วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอีสาน (Gross Regional Product : GRP) โดยจะลงไปขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องของทรัพยากรมนุษย์รองรับเศรษฐกิจโต ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับสถาบันอาชีวะจัดทำหลักสูตร 10 หลักสูตร สร้างแรงงานเพื่อตอบสนองการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน รองรับการขยายตัวเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV ตามกรอบการร่วมมือ GMS ซึ่งภาคอีสานมี สปป.ลาว และกัมพูชาเป็นชายแดนติดต่อกัน และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การค้าขายเติบโตต่อเนื่อง 

ในอนาคตเตรียมเปิดด่านศุลกากรสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ และจุดผ่อนปรนช่องอานม้า อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เชื่อมไปยังเส้นทาง R3A เข้าสู่ สปป.ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้

ดันข้าวหอมมะลิ 3 แสนล้าน

ด้านการเกษตรและอาหาร ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิกว่า 90% ของผลผลิตทั้งหมดทั่วประเทศ หรือประมาณ 10 ล้านตัน มูลค่ากว่า 125,000 ล้านบาท ในปี 2020 จะยกระบบทั้งซัพพลายเชนการผลิตข้าวหอมมะลิ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว แปรรูป การตลาด ผลักดันให้มีมูลค่าตลาด 250,000-300,000 ล้านบาท 

แผนงานที่ต้องเร่งพัฒนาคือ เรื่องของ Smart Farmer เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรปลอดภัยไปสู่เกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิเป็น Flagship Project ที่สำคัญมาก จะมีการพัฒนาวิจัยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน การวางระบบตลาดใหม่ การเชื่อมโยงซัพพลายเชนระหว่างโรงสีกับแหล่งผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวส่งออก 

นอกจากนี้จะผลักดันโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์ สร้างมาตรฐานการผลิตเนื้อโคขุน โครงการอาหารปลอดภัย GAP แปรรูปสินค้าเกษตร สร้างทายาทเกษตรรุ่นใหม่ รวมทั้งเดินหน้าส่งเสริมผลิตภัณฑ์สิ่งทอผ้าย้อมคราม

สำหรับด้านท่องเที่ยวและบริการ ภาคอีสานมีจุดแข็งคือความหลากหลายทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม มรดกโลก การท่องเที่ยวชุมชน สร้างอีสานสู่ครัวโลกผ่านเทศกาลอาหารกลางวันแซ่บเวอร์ เปิดเส้นทางท่องเที่ยวจักรยานท่องเที่ยวเส้นทางอารยธรรมขอมเชื่อมลาวใต้ และจะต้องพัฒนาด้านบริการให้มีคุณภาพรองรับการท่องเที่ยวที่จะเติบโต

แผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอีสานระยะยาวปี 2020 ที่จะนำพาให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคให้ขยายตัว 15% ซึ่งหมุดหมายที่เอกชนเน้นย้ำพัฒนาคือ ข้าวหอมมะลิ เกษตรแปรรูป การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว หัวรถจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอีสาน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผ่ายุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ภาคอีสาน เรือธง ข้าวหอมมะลิ การค้า ท่องเที่ยว

view