สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจพอเพียง มิใช่ปรัชญาเท่านั้น หากเป็น แบบจำลอง ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ระดมสมอง โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

เมืองไทยได้ผ่านพ้นสภาพการด้อยพัฒนา ความยากจน และความล้าหลังมานานพอสมควรแล้ว แม้โดยถัวเฉลี่ยจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางก็ตาม หากเมืองไทยก็มีเศรษฐี มหาเศรษฐี และแม้กระทั่งอภิมหาเศรษฐี รวม ๆ กันจำนวนนับแสนนับล้านคน ประชาชนพลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร

ขณะที่เมืองไทยมีทุกสิ่งที่เขามีกันบนโลกใบนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทุรนทุรายเพื่อความมั่งคั่ง ร่ำรวย เพียงแต่รักษา "ความพอเพียง" และพยายามก้าวไปข้างหน้าให้ทันโลก ก็น่าจะเหมาะสมแล้ว

แต่สัจธรรมมีอยู่ว่า "พัฒนาการเศรษฐกิจ" นั้นยากจะสมบูรณ์และปราศจากปัญหาที่ตกค้าง ซึ่งการพัฒนากระทำด้วยความเร่งรีบเท่าใด ความสมดุลตามธรรมชาติก็ย่อมจะกระทบกระเทือน ความบกพร่องจะปรากฏในหลายมิติ และหลายปัญหาเชิงโครงสร้างก็มักจะถูกมองข้าม มิได้รับความเอาใจใส่ เหล่านี้อาจเรียกว่า "ผลพลอยเสีย" จากการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งหากมิได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจังและถูกต้องแล้ว การก้าวต่อไปข้างหน้าก็จะมีความยากลำบาก

"ผลพลอยเสีย" ซึ่งเป็นปัญหาตกค้างจากการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองไทย เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง (Structural Problem) มีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ คือ 1.ความเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเมืองไทยตกอยู่ในฐานะที่ ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกประเทศมากเกินไป อาทิ การส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2.ขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี (Technological Self-Reliance) ยังอยู่ใน ระดับต่ำ สำหรับประเทศรายได้ปานกลาง สินค้าอุตสาหกรรมทั้งเพื่อใช้ภายในประเทศและเพื่อส่งออก เป็นสินค้าที่ ผลิตในประเทศไทย มิใช่สินค้าที่ ไทยผลิต

3.เมืองไทยยังพึ่งพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่สมบูรณ์ ทั้งในวัตถุดิบและเทคโนโลยีในการผลิตพลังงาน จึงจำเป็นจะต้องแสวงหา "พลังงานทดแทน" อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานจากพืชทดแทนน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานน้ำที่ใช้กันมา ซึ่งยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังเท่าที่ควร

4.ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของดินน้ำอากาศ ป่าไม้ ทะเล ฯลฯ ยังไม่มีนโยบายดูแลแก้ไขที่มีประสิทธิผล หากกลายเป็นประเด็นที่มีการขัดแย้งกัน 5.การขาดสมดุลทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิตและการตลาดของผลิตผลธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิตในชนบทและความเสื่อมโทรมในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความสมดุลทางเศรษฐกิจมี"รายจ่าย" สูงกว่า "รายได้" ในโครงสร้าง นำไปสู่ภาระหนี้สิน การสูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย สังคมชนบทแตกสลาย อีกทั้งยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับความทุกข์

ปัญหาที่ตกค้างมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 5 ประการนี้ ทุกรัฐบาลย่อมทราบดีและได้ดำเนินการดูแลแก้ไขไป "ตามมีตามเกิด" เสมือนเป็นปัญหาชั่วคราว แต่มีบางรัฐบาลตระหนักว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ไข หากมิได้วิเคราะห์ว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่พึงต้องแก้ไขที่โครงสร้าง บางรัฐบาลก็เดินหน้าพัฒนาประเทศต่อไป โดยมุ่งจะให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงเพื่อ "ปลดกับดัก"ประเทศรายได้ปานกลาง โดยเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะรัฐบาลจะมีรายได้มากขึ้นและมีงบประมาณมากขึ้น ที่จะใช้แก้ไขปัญหา ทั้งนี้โดยไม่สังหรณ์ว่า หากปัญหาที่ตกค้างทั้ง 5 ประการข้างต้นยังมิได้รับการแก้ไข โอกาสที่จะ "ปลดกับดัก" ดังกล่าวก็เกือบจะไม่มีเลย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงสร้าง "ทฤษฎี" หรือ"แบบจำลอง" (Model) จากพระอัจฉริยภาพและประสบการณ์จริง ทรงนำเสนอปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งตนเองไม่ได้ หรือไม่พึ่งตนเอง ภายใต้ชื่อ"เศรษฐกิจพอเพียง" โดยให้ความสำคัญต่อ "แกนหลัก" ซึ่งเป็นหลักคิดในพระพุทธศาสนา 3 ประการ สำหรับการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา

กล่าวคือ "การพึ่งตนเอง" (อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ) "การรู้จักประมาณ"(มัตตัญญุตา สะทา สาธุ) และ "ความไม่ประมาท" (อัปปมาโท อมตัง ปะทัง) ในโมเดลดังกล่าวนี้ การพึ่งตนเอง คือหัวใจของทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งตอบโจทย์ว่าด้วยการพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากเกินไป การด้อยขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี และการพัฒนาพลังงานทดแทน ส่วนปัญหาว่าด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปัญหาการขาดสมดุลทางเศรษฐกิจนั้น วิเคราะห์และแก้ไขด้วย "การรู้จักประมาณ" สำหรับ"ความไม่ประมาท" ใช้เป็นภูมิคุ้มกันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น "แบบจำลอง" หรือ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ยังแยกราษฎรในพื้นที่ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก-เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินเพียงพอและมีขีดความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับหนึ่ง สามารถดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงได้ด้วยตนเองและครอบครัว

เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวนี้จะต้องพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีในการทำนาในการปลูกพืชไร่พืชสวนและในการเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งเพื่อการบริโภคและเพื่อการจำหน่าย ทั้งนี้ เพราะการทำนาแต่เพียงอย่างเดียวไม่อาจดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงได้ในประเทศไทยปัจจุบัน เกษตรกรกลุ่มนี้น่าจะมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 ของเกษตรกรทั้งหมดนับเป็นครัวเรือน

กลุ่มที่สอง-เป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ สำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้ คือ 3 ใน 4 ของครัวเรือนทั้งหมด เป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง หรือหากจะมีบ้าง ก็ไม่เพียงพอในการใช้ดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยตนเองและครอบครัว นอกจากนั้นยังขาดขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีสำหรับประกอบกิจการอย่างอื่น นอกจากการทำนา ดังนั้น เกษตรกรกลุ่มใหญ่นี้จะต้องรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ ในลักษณะของ "สหกรณ์อเนกประสงค์" ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่ร่วมกันผลิต ร่วมกันจำหน่ายผลผลิต และร่วมกันจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่สมาชิก

"สหกรณ์อเนกประสงค์" ดังกล่าวนี้ อาจประกอบการเศรษฐกิจหลายประเภท และหลายขั้นตอน เช่น การทำโรงสี การบรรจุหีบห่อผลิตผลที่คัดเลือกแล้ว การแปรรูปผลิตผลที่เพิ่มมูลค่า หรือแม้กระทั่งการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการให้บริการ "สหกรณ์อเนกประสงค์" มีที่ดินแปลงใหญ่ มีทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น และมีกำลังในการต่อรอง การรวมตัวกันเป็น "สหกรณ์อเนกประสงค์" สามารถทำให้สมาชิกดำเนินชีวิตเศรษฐกิจอย่างพอเพียงได้

"สหกรณ์อเนกประสงค์" อาจก่อตั้งขึ้นได้ทุกตำบลในพื้นที่ชนบท และสามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในระดับอำเภอ จังหวัด ซึ่งเป็นอีกระบบเศรษฐกิจที่คู่ขนานไปกับ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่เป็นระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ นอกจากนั้น ภายในระบบเศรษฐกิจสหกรณ์ชนบทดังกล่าว ก็ควรจะมี "ธนาคารสหกรณ์" ซึ่งเป็นของสหกรณ์และดำเนินการโดยสหกรณ์ ให้บริการทางการเงินแก่บรรดาสมาชิกด้วย

ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิใช่เป็นเพียง "ปรัชญา" ในการดำเนินชีวิตเท่านั้น หากยังเป็น "แบบจำลอง" หรือ "ทฤษฎีพัฒนาการเศรษฐกิจ" ที่มุ่งตอบโจทย์ของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่พึ่งตนเอง หรือยังพึ่งตนเองไม่ได้ อย่างเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยอีกด้วย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจพอเพียง  มิใช่ปรัชญาเท่านั้น  หากเป็น แบบจำลอง ตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย

view