สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รักนิรันดร์ ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        “ต่อให้โลกจะหมุน..ซักเท่าไร เธอยังคงสดใส อ่อนหวานเหมือนเคย ต่อให้ใครจะสวย..แค่ไหน รู้ไหม..ว่าฉันเฉย..เฉย ก็เพราะว่าเธอน่ารัก...ทุกๆ วัน จนไม่อาจเปลี่ยนใจฉัน..ที่มี..ให้เธอได้เลย ฉันก็คง..ต้องบอก ฉันรักเธอ..เหมือนเคย”
       
       บทเพลงเหมือนเคย ของบอย โกสิยพงษ์ เพลงนี้ ถูกนำทำเป็นมิวสิกวิดีโอถ่ายทอดเรื่องราวความรักระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จฯ มาเกือบ 20 ปี ได้ตั้งใจทำถวายในงานพระราชทานเลี้ยง วันเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 6 รอบ ของสมเด็จฯ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        คุณหญิงต้นเผยว่า ได้ฟังเพลงนี้เมื่อไหร่ ต้องนึกถึงความรักของทูลเกล้าทั้งสองพระองค์ที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี และความรักของทั้งสองพระองค์ไม่เคยทำให้พสกนิกรชาวไทยต้องผิดหวัง ทั้งยังคงแพร่ไพศาลมาสู่คนไทยทุกคนตราบจนทุกวันนี้ 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        “รักนิรันดร์” เริ่มจากเกลียดแรกรัก
       
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพบกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ.2491 ครั้งเสด็จเยือนกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์และการแสดงดนตรีของคณะดนตรีที่มีชื่อเสียง โดยในครั้งนั้น ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสและครอบครัวจึงมีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จ
       ในการเสด็จครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) รับสั่งเป็นพิเศษว่า ให้ไปทอดพระเนตรลูกสาวของ ม.จ.นักขัตรมงคลด้วยว่า “สวยน่ารักไหม” และทรงกำชับว่า “เมื่อถึงปารีสแล้วให้โทรบอกแม่ด้วย”
       
       เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงปารีสแล้ว จึงโทรศัพท์ตอบคำถามสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “เห็นแล้ว น่ารักมาก”
       
       ในขณะเดียวกัน ฝั่งของสมเด็จฯ กลับเป็นความเกลียดแรกพบ เมื่อสมเด็จฯ ได้พระราชทานสัมภาษณ์ ในภาพยนตร์สารดี เรื่องขวัญของชาติ ออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ BBC กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระราชทานสัมภาษณ์ถึง “รักแรกพบ” ของในหลวง-พระราชินี มีความตอนหนึ่งว่า “สำหรับข้าพเจ้า เป็นการเกลียดแรกพบมากกว่า รักแรกพบ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าจะเสด็จถึงเวลาบ่าย 4 โมง แต่จริงแล้วเสด็จมาถึง 1 ทุ่ม ช้ากว่านัดหมายตั้ง 3 ชั่วโมง ทำให้ข้าพเจ้าต้องซ้อมถอนสายบัวอยู่จนแล้วจนเล่า จึงเป็นการเกลียดเมื่อแรกพบมากกว่ารักเมื่อแรกพบ” 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        เมื่อเสด็จฯ ถึง ราชเลขาฯ ได้เชิญแต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย แล้วให้เด็กๆ ไปรับประทานอาหารจีนอีกที่ จึงทำให้ ม.ร.ว.สิริกิติ์เคืองอยู่นิดๆ เมื่อตรัสถึงเรื่องนี้ ทั้งสองพระองค์จะทรงพระสรวล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงล้อสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า “เดินตุปัดตุเป๋ หน้างอ คอยถอนสายบัว” สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงกราบบังคมทูลตอบว่า “ที่หน้างอ เพราะให้แต่ผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะเสวย เด็กกลับไล่ไปกินที่อื่น” ณ ที่แห่งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทรงพบสมเด็จฯ พระนางเจ้าสิริกิติ์
       
       “จากนั้นก็กลายเป็นความรัก ข้าพเจ้าไม่ทราบมาก่อนว่า พระองค์ท่าน ทรงรักข้าพเจ้า เพราะเวลานั้น อายุเพิ่งย่าง 15 ปี ตั้งใจไว้ว่า จะเป็นนักเปียโนที่แสดงในงานคอนเสิร์ต ตอนพระองค์ท่านประทับที่โรงพยาบาลหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีพระอาการหนักมาก ตำรวจเขาโทรศัพท์ไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมราชชนนี พระองค์ท่านรีบเสด็จไปทันที แต่แทนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระราชปฏิสันถารกับพระองค์ ท่านกลับทรงหยิบรูปข้าพเจ้าออกมาจากกระเป๋า โดยที่ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า พระองค์ทรงมีรูปของข้าพเจ้าอยู่แล้ว พระองค์ก็ตรัสให้นำตัวข้าพเจ้าเข้าเฝ้าฯ พระองค์ทรงรักข้าพเจ้า ตอนนั้นข้าพเจ้าคิดถึงแต่เรื่องที่ จะอยู่กับคนที่ข้าพเจ้ารักเท่านั้นไม่ได้นึกไปไกลถึง หน้าที่ และภารกิจของพระราชินีเลย ….. ฯลฯ ”
       
       ความผูกพันจนก่อให้เกิดความรักของทั้งสองพระองค์นั้น ท่านผู้หญิงบุษบา (กิติยากร) สธนพงษ์ น้องสาวของสมเด็จฯ ได้เล่าไว้ในนิตยสารพลอยแกมเพชร เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ถึงเหตุการณ์หลังจากในหลวงประสบอุบัติเหตุรถยนต์พระที่นั่งชนกับรถยนต์บรรทุกคันหนึ่งที่โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อพระอาการประชวนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ ก็มีรับสั่งให้พลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล เอกอัครราชทูตอังกฤษพร้อมครอบครัวเข้าเฝ้า
       
       “พอไปถึงให้จับพระหัตถ์ท่าน (ในหลวง) ก็จับพระหัตถ์ทุกคน ทีนี้พอถึงสมเด็จฯ (พระบรมราชินีนาถ) ท่านไม่ทรงปล่อย สมเด็จฯ ท่านตกพระทัยมาก เพราะไม่เข้าใจว่าจับพระหัตถ์ท่านไว้ทำไม ไปเฝ้ากันทุกวันเลย พอถึงสมเด็จฯ ท่านก็จับพระหัตถ์ไว้นานๆ ทุกครั้ง ทรงให้สมเด็จฯ อ่านนิยาย หนังสืออาหรับ-ราตรี เป็นภาษาไทยถวาย ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้คิดอะไร
       
       พอถึงเวลาต้องกลับ สมเด็จพระศรีฯ (สมเด็จย่า) มาที่โรงแรมที่เราอยู่ ทรงมาพบคุณแม่ ตอนแรกคุณแม่ก็ไม่รู้อะไร ตอนหลังถึงได้ทราบว่า ท่านทรงขอสิริ(สมเด็จฯ) ศึกษาอยู่ที่สวิส ท่านจะทรงเป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนให้ทั้งหมด แต่ขอให้อยู่ ท่านรับสั่งว่า พระเจ้าอยู่หัวท่านโปรด ท่านทรงพอพระทัย อยากให้อยู่ คุณแม่ท่านรู้สึกไม่สบายใจ ตัดสินใจไม่ได้ ต้องโทรศัพท์ไปหาท่านพ่อ” 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        หลังจากนั้นสมเด็จฯ จึงได้เข้าศึกษาโรงเรียนประจำใกล้ๆวิลล่าวัฒนา และทรงได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำ และบางครั้งพระองค์ก็ทรงมารับที่โรงเรียนเอง จนกระทั่งพระอาการประชวรหาย สมเด็จฯ เสด็จกลับอังกฤษเพื่อประทับกับครอบครัว ทำให้ในหลวงต้องทรงเดินทางกว่า 600 กิโลเมตร เพื่อจะได้ทรงพบกัน
       
       และในวันฉอลงพระราชสมภพครบ 17 ปีของสมเด็จ ณ สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อ วันที่ 12 สิงหาคม 2492 ในหลวงทรงประกาศหมั้นและพระราชทานแหวน (ซึ่งเป็นวงเดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยประทานให้แก่สมเด็จพระบรมราชชนนีในครั้งอดีต) แด่สมเด็จฯ และทรงมีพิธีราชาภิเษกสมรสที่วังสระปทุม ในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        รักแรกพบสู่รักนิรันดร์
       
       ความรักของทั้งสองพระองค์ มีให้เห็นตามภาพข่าวอยู่เสมอ ภาพเหล่านี้ ยังคงจารึกอยู่ในความทรงจำของคุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ที่เล่าให้ฟังในงาน Night At Museum เมื่อค่ำคืนวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ มิวเซียม สยาม ด้วยความตื้นตันใจว่า คงไม่ต้องเล่าหรือบรรยายความรักของทั้งสองพระองค์ให้ฟังแล้ว ด้วยสายพระเนตรที่ทรงมองกัน ทรงจับพระหัตถ์กันตลอดเวลาดั่งที่เห็นจากในข่าว จะเห็นถึงความรัก ความห่วงใยที่พระองค์ได้มอบให้กันและกัน
       ยกตัวอย่างตอนฉลองราชสมบัติครบ 60 ปี คลิปนั้นทุกคนคงได้เห็นกันเยอะแล้ว ที่ทั้งสองพระองค์ทรงประทับยืนรอรับพระราชอาคันตุกะ ในหลวงทรงทอดพระเนตรสมเด็จฯ ตั้งแต่พระเศียรลงมา ทรงจับที่สายสะพายของสมเด็จฯ ดูความเรียบร้อย ความจริงแล้วก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์นิดนึง คือวันนั้นสมเด็จฯ ทรงสร้อยพระศอทรงน้ำหยด แล้วปรากฏว่าตอนประทับเสวยนั้นเพชรได้หลุดออกจากสร้อย ทีแรกก็ตกพระทัย ไม่แน่ใจว่าเพชรหล่นข้างนอกหรือตกหล่นที่ไหน สุดท้ายก็ทรงทราบว่าหล่นลงไปในฉลองพระองค์ พอทรงหาเจอก็นำมาคล้องกลับเข้าไปในสร้อยเรียบร้อย พระเจ้าอยู่หัวก็ทอดพระเนตรและช่วยเช็คว่า ที่หายไปเนี่ยครบหมดหรือยัง ทรงช่วยเช็กความเรียบร้อย 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        ด้านสมเด็จฯ ก็ทรงอ่อนหวานมาก เวลารับสั่งกับในหลวงก็จะมีพระสุรเสียงไพเราะ พระองค์ทรงดูแลเครื่องเสวย ดูแลฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตลอดระยะเวลาที่ในหลวงประทับที่ศิริราช ก็ไม่มีวันไหนเลยที่สมเด็จจะไม่เสด็จไปประทับด้วย ยกเว้นเพียงช่วงที่ในหลวงเสด็จประทับพักฟื้นอยู่ที่วังไกลกังวลเมื่อ 5-6 ปีก่อน สมเด็จฯ ต้องแยกไปทรงงานที่ต่างจังหวัด ก็จะทรงโทรศัพท์ทูลถามในหลวงทุกวัน
       
       มีอยู่ครั้งหนึ่งในหลวงทรงมีพระปรอทสูงมาก แพทย์อยากให้เสด็จไปโรงพยาบาลศิริราชก็ไม่ทรงยอมไป จนถึงห้าทุ่มกว่า สมเด็จฯ ก็ทรงร้อนพระทัย จึงเสด็จลงไปเชิญเสด็จด้วยองค์เอง ในหลวงถึงจะทรงยอมไป และตอนประทับบนรถยนต์พระที่นั่ง ก็ทรงตรัสบอกสมเด็จพระเทพฯ ให้นำพระสางมาจัดแต่งพระเกศาให้เรียบร้อยเพื่อให้ดูเรียบร้อยต่อหน้าพสกนิกร สมเด็จฯ ทรงห่วงใยและทรงดูแลความเรียบร้อยทุกอย่าง และคืนนั้นก็เสด็จไปศิริราชพร้อมกัน
       
       ความรักของในหลวงที่ทรงมีต่อพระราชินีนั้นมากแค่ไหน พระองค์ทรงถ่ายทอดจากภาพถ่ายที่พระองค์ทรงฉายภาพด้วยพระองค์เอง และนำฟิล์มไปล้างและอัดเก็บไว้ทุกใบไม่เคยทิ้ง เมื่อนักข่าวต่างประเทศทูลถามฉายพระรูป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงไม่โปรดให้ใครมาถ่ายรูปสมเด็จฯ ถ้าไม่ใช่พระองค์เอง 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        ทรงมอบของขวัญให้กันในวันครบรอบวันราชาภิเษกสมรสทุกๆ ปี
       
       ย้อนกลับไปในวันที่ 28 เมษายน 2493 งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ตามรูปแบบจารีตประเพณีไทยดั้งเดิมบนชั้นสองของพระตำหนัก ณ วังสระปทุม เสด็จทั้งสองพระองค์ทรงหมอบคลานลงกับพื้นกระดานของพระตำหนัก เพื่อทรงรับถวายน้ำพระมหาสังข์จากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
       
       จากวันนั้นจวบจนที่ทรงครองราชย์ ทั้งสองพระองค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำทุกปี ในวันสำคัญวันนี้ ทั้งสองพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นหลัก เช่นทรงบาตรในช่วงเช้า ทรงไถชีวิตโคกระบือ ฯลฯ นอกจากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงมีของขวัญพระราชทานถวายกันและกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงน่ารัก ไม่เคยทรงลืมเลือกของขวัญให้สมเด็จฯ เลย ซึ่งของขวัญส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครื่องประดับที่แล้วแต่โอกาส ก็มีสร้อยพระศอบ้าง ตุ้มพระกรรณบ้าง บางทีก็มีช่อดอกไม้มาถวาย ส่วนสมเด็จฯก็มีของทูลเกล้าถวายเช่นกัน เช่นฉลองพระองค์ เป็นต้น 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        ความรักเปี่ยมล้น ก่อเกิดจากครอบครัวที่อบอุ่น
       
       แม้ครอบครัวมหิดลจากขาดเสาหลักจากการที่ พระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุเพียงสองพรรษา แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก็ทรงใส่พระทัยในการเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาทั้ง 3 พระองค์อย่างใกล้ชิด โดยทรงอบรมสั่งสอนให้ลูกๆ เป็นคนดี มีธรรมะ ขยัน อดทน ประหยัด และทรงให้การศึกษาเป็นอย่างดี ที่สำคัญพระองค์ทรงสอนให้ลูกๆ รักชาวไทยและแผ่นดินไทย
       
       คุณหญิงต้นเล่าต่อว่า “อยากจะเล่าถึงพื้นฐานของครอบครัวท่านทั้งสองพระองค์ ในหลวงทรงมีสมเด็จพระศรีฯ ทรงเลี้ยงดู แม้จะทรงสูญเสียเสด็จพ่อตั้งแต่ 2 ขวบ แต่ความอบอุ่นในครอบครัว ทรงมีมาก ท่านก็ทรงสอนให้ใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดา มีธรรมะในใจ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่สุรุ่ยสุร่าย มีความเมตตากรุณา มีความรักต่อผู้อื่น
       
       ก็เหมือนกับครอบครัวของ สมเด็จฯ เสด็จในกรม (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับคุณท่าน (หม่อมหลวงบัว กิติยากร) ก็เป็นครอบครัวที่อบอุ่น สอนให้ลูกรู้จักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองครองธรรม ต้องทำงานบ้าน สมเด็จต้องซักผ้าเองเสาร์ อาทิตย์ ซักผ้าปูที่นอน พระองค์ถามเสด็จในกรมเลยว่า ทำไมให้ประทับรถไป ทำไมต้องให้นั่งรถราง หรือบางครั้งต้องเดินไปโรงเรียน ในกรมก็รับสั่งว่า ไม่ต้องอายลูกถ้าเราจะจน แต่ลูกต้องอายถ้าลูกกระทำความผิด ทำความเลว ของแหล่านี้ต้นว่าเป็นพื้นฐาน ทรงได้รับการอบรม และเข้าพระทัยปวงชนชาวไทย จึงทรงเต็มใจที่จะรักและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
       
       ขณะนั้นในหลวงทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียง 18 พรรษา ส่วนสมเด็จฯ ก็เป็นสมเด็จพระราชินีตอนอายุ 17 เอง ทรงอภิเษกสมรสปั๊บ ก็ได้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งหากมองแล้ว พระองค์ทั้งสองยังเป็นวัยรุ่น ถ้าจะทรงหวือหวาไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ คงเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่เป็นอย่างนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงรักประเทศชาติ รักราษฎร สิ่งที่พระองค์ทั้งสองทรงทำนั้น ไม่ได้เรียกว่าเป็นความเสียสละ แต่ทรงทำขึ้นจากความรัก ถ้าไม่รักคงทำให้พวกเราไม่ได้ถึงขนาดนี้ 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ cr.ภาพจากอินสตาแกรม @piyapas
        ความรัก ความใส่ใจ ที่มีต่อข้าราชบริพารเปี่ยมล้น
       
       ครอบครัวของต้นถวายงานในวังกันทั้ง คุณพ่อ (หม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร) และคุณแม่ (ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา) ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาททั้งสองพระองค์ คุณแม่เป็นพระสหายรุ่นพี่ของสมเด็จฯ ทั้งแต่ประทับอยู่ที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์ พอเสด็จฯ กลับมาเป็นพระราชินี ท่านก็นึกถึงคุณแม่และตามมาให้เป็นนางพระกำนัล คุณแม่ก็ตามเสด็จตั้งแต่วันนั้น และพบรักกับคุณพ่อในวัง พอคุณแม่แต่งงานแล้วก็ได้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ ท่านก็ช่วยดูแลเรื่องฉลองพระองค์ ของใช้ส่วนพระองค์ ดูแลพระตำหนัก ผ้าม่านทรุดโทรม พรมเสีย ก็ต้องปรับเปลี่ยน
       
       เมื่อคุณแม่ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ซูเปอร์พูม่าตกที่ บริเวณเทือกเขาลิจอ จังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ.2540 พร้อมกับท่านผู้หญิงทัดสมัย เศวตเศรณี สมเด็จฯ ก็รับสั่งว่าจะทำอย่างไรดี ได้ปรึกษาท่านผู้หญิงท่านอื่นๆ ก็ตัดสินพระทัยใช้ต้นก็แล้วกัน เพราะคุณพ่อก็ยังอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาคุณพ่อกับคุณแม่ก็ทำงานประสานกัน ต้นก็เคยเห็นอยู่แล้วว่าแม่ทำอะไรบ้าง ถ้ามีอะไรก็มาปรึกษาพ่อ ต้นจึงทำหน้าที่แทนคุณแม่ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
พ่อ มรว.ยงสวาสดิ์ และพ่อสามี จำนงค์ ภิรมย์ภักดี เกิดวันเดียวกัน รับพระราชน้ำมหาสังฆ์ cr.ภาพจากอินสตาแกรม @piyapas
        

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
คุณหญิงต้นรับพระราชทานรางวัลผลการเรียนดี พ.ศ. 2515 cr.ภาพจากอินสตาแกรม @piyapas
        พระเมตตาของในหลวงและสมเด็จฯ เปี่ยมล้น ตอนเด็กๆ ต้นก็เป็นเด็กที่เติบโตในวัง ได้เข้าเฝ้าฯ บ่อยๆ ก็จะเห็นถึงพระกรุณาเมตตาของสองพระองค์ มีครั้งหนึ่งที่เสด็จฯ ไปประทับที่หัวหิน ต้นก็ตามคุณแม่ไปด้วย ได้ขี่จักรยานเล่นแล้วล้มแขนหัก วันหนึ่งสมเด็จฯ ก็รับสั่งให้ไปเข้าเฝ้าฯ ตอนเสวยกลางวัน ทรงถามเราว่า แขนเป็นอย่างไร ทรงสอนว่าให้สวดมนต์นะ เราจะได้หายเร็วๆ ทรงซักถามว่าก่อนนอนสวดมนต์หรือเปล่า สวดบทอะไรบ้าง ต้นซาบซึ้งมาก เราก็เป็นแค่เด็กที่ใส่เฝือกวิ่งเล่นไปมา ท่านก็ยังทรงห่วงใย
       
       สำหรับข้าราชบริพารแล้ว ใครที่ถูกพระองค์ทั้งสองดุนี่ถือว่าถูกหวยอย่างแรง เพราะส่วนใหญ่พระองค์จะทรงสอนมากกว่าที่จะทรงกริ้ว ทรงเข้าใจเหตุผลว่าทำไมเค้าถึงทำแบบนี้ ท่านจะมีเหตุผลด้านดีๆ ของคนนั้นมาบอกเสมอ โชคดีมากๆ ของครอบครัวเราที่ได้ทำงานถวายทั้งสองพระองค์ 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        น้ำพระทัยแผ่ไพศาลต่อปวงชนชาวไทย
       
       คงไม่ต้องให้เล่าว่า ในหลวงและสมเด็จฯ ทรงรักคนไทย รักเมืองไทยมากแค่ไหน ทั้งสองพระองค์ทรงทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตลอด ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2515 ที่บ้านเมืองมีปัญหา ประเทศเพื่อนบ้านก็มีปัญหาเยอะทั้งผู้ก่อการร้ายต่างๆ ไม่ต่างกัน ทั้งสองพระองค์จะประทับต่างจังหวัดถึง 9เดือน และอีก 3 เดือน จะประทับที่หัวหิน ในหลวงทรงบอกว่า มาชาร์จแบต แต่ที่รอบๆ หัวหินก็จะมีโครงการพระราชดำริอยู่ทั่วไป พอตกเย็นก็จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริใกล้ๆ
       
       ด้วยการทรงงาน ในหลวงจะทรงงานด้านความเป็นอยู่โดยรวมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภค การชลประทาน หาน้ำ สร้างเขื่อน ส่วนสมเด็จฯ จะส่งดูแลด้านครอบครัว ความเป็นอยู่ของราษฎร การหาอาชีพเสริม อย่างศูนย์ศิลปาชีพนั้น สมเด็จฯ ทรงรับสั่งว่า ไม่ได้คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ เพียงแต่ตอนนั้นทรงจะสร้างอาชีพเสริมให้ราษฎร ซึ่งตอนนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่สกลนคร และนครพนม ชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้ ปลูกพืชปลุกข้าวไม่ได้ พระองค์ทรงเห็นว่าผ้าไหมสวย ชาวบ้านทอเก่งและมีลายเป็นของตัวเอง ก็น่าที่จะช่วยกันส่งเสริมเป็นอาชีพที่จะขายได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์ศิลปาชีพ
       
       จนตอนนี้ศูนย์ศิลปาชีพฯ กลายเป็นสิ่งที่มีค่าของชาติ งานหัตถกรรมต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเหลือครูที่รู้เรื่องราวการทำไม่กี่คน ทั้งเครื่องเงิน เครื่องถม การทำคร่ำ ของเหล่านี้มันเกือบจะตายไปไหมดแล้ว ครูในหมู่บ้านที่เป็นพ่อแก่แม่แก่ก็ไม่มีใครสนใจเรียน ทำไปก็ไม่รู้จะไปขายให้ใคร ไม่มีใครเอาทุนทรัพย์ หรือวัสดุมาให้ พอสมเด็จฯ ทรงเข้าไปส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ เด็กรุ่นใหม่ๆ อายุ 20 มาทำก็มีฝีมือ เห็นที่เป็นรูปธรรม เช่น โขนพระราชทาน สมบัติของชาติ ศิลปะ วิจิตรศิลป์ วรรณศิลป์ ศิลปกรรมครบถ้วน การสร้างฉากทุกอย่าง ก็อยู่ในมูลนิธิศูนย์ศิลปาชีพ
       
       เรื่องสุขภาพของประชาชน หลายคนก็คงทราบว่ามีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ทุกคนต่างได้รับความสนใจและห่วงใยเท่ากัน ใครที่ต้องรักษาต่อในโรงพยาบาล พระองค์ก็ทรงรับสั่งให้ตัวแทนไปเยี่ยมทุกอาทิตย์ ไปช่วยดูแลญาติผู้ป่วยที่ต้องห่างบ้านมาเฝ้าคนเดียว ท่านไม่ได้แค่ทรงรับสั่งเท่านั้น แต่ยังทรงจำได้ว่า คนไข้คนนี้มาจากไหน รักษาไปถึงไหนแล้ว 

“รักนิรันดร์” ผ่านคำบอกเล่าของ คุณหญิงต้น-หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
        เจริญรอยตามความรักของทั้งสองพระองค์
       
       เราก็อยู่กับท่านมาเจ็ดสิบปี ทั้งสองพระองค์ทรงรักความเป็นไทยมาก แม้จะทรงเติบโตในต่างประเทศ จึงอยากให้คนไทยปัจจุบันถ่ายทอดความรักประเทศชาติ รักความเป็นไทย โลกเปลี่ยนไป แต่ไม่จำเป็นที่เราต้องทิ้งรากเหง้าและลืมว่าเราเป็นคนไทยให้เหมือนที่ทั้งสองพระองค์ได้ทรงเป็นแบบอย่าง เพื่อสนองพระเดชพระคุณที่ทั้งสองพระองค์ทรงรักพวกเราล้นพระราชหฤทัย 

        สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
       เรื่อง: นวพร แนวณรงค์
       ขอบคุณภาพจากอินสตาแกรม @Piyapas

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รักนิรันดร์  ผ่านคำบอกเล่า คุณหญิงต้น หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี

view