สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Industry Curse of Knowledge

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ครู พัก ลัก จำ โดย เธียร อัจฉริยะ

ผมเป็นคนที่มีโอกาสได้เปลี่ยนงานในหลากหลายอุตสาหกรรมอยู่หลายครั้ง ทั้งงานประจำและการเป็นกรรมการและที่ปรึกษา ทุกครั้งที่ผมเข้าไปในอุตสาหกรรมใหม่ในฐานะคนนอกก็จะได้พบกับคนเก่ง ๆ ที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งมีความรู้ความสามารถและทำงานในวงการนั้นเป็นระยะเวลานาน ๆ ถามอะไรก็ตอบได้หมดและมีความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มาก

ความรู้และความเคยชิน รวมถึงความสำเร็จที่ได้รับเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ผู้บริหารที่ผมเคยเจอมักจะมีความเชื่อที่แรง ๆ อย่างหนึ่งว่า แนวคิดหรือวิธีการในการปรับปรุงธุรกิจหรือบริการที่ตัวเองทำอยู่นั้น เป็นเรื่องที่เฉพาะทางมาก ๆ คนที่เขาเหล่านั้นเลือกที่จะรับฟังมักจะเป็นคนในวงการเดียวกัน พอมีคนต่างอุตสาหกรรมมาก็จะหูดับ หรือจะมีประโยคทองประมาณว่า ธุรกิจนี้ปราบเซียน ไม่เหมือนธุรกิจอื่น ๆ แล้วก็มักจะไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ เวลาจะวัดมาตรฐาน ความเก่ง ก็มักแต่จะเทียบกับคู่แข่งฝั่งตรงข้ามที่เห็นกันมาหลายสิบปี

แต่ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทำได้อย่างรวดเร็วจนเท่าทันกันหมด ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากการผสมผสานข้ามสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี จนถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่นำสิ่งที่ดีที่สุดจากอุตสาหกรรมอื่นมาประยุกต์ใช้ ไม่มีอุตสาหกรรมไหนหรือธุรกิจไหนที่จะเก่งไปได้ทุกอย่างและอยู่ในโลกปิดและแข่งกับคู่แข่งเดิม ๆ ได้อีกต่อไป...

..........................

ในคอลัมน์ธุรกิจพอดีคำของ คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เคยเล่าถึงหมอคนหนึ่ง ที่เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลเกรต ออร์แมน สตรีต ที่อังกฤษ คุณหมอเฝ้าดูและขบคิดถึงกระบวนการผ่าตัดที่สับสนวุ่นวาย ในห้องสนธยาที่เรียกว่า "ICU" รวมถึงความวุ่นวายในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ความไม่มีระเบียบ สับสนของคุณหมอและพยาบาลหลายท่าน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของโรงพยาบาล และโรงพยาบาลนี้ก็ไม่ได้ต่างจากโรงพยาบาลอื่นเท่าใดนัก

วันหนึ่งคุณหมอได้ดูการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน และได้เห็นถึงทีมงานกว่าสิบชีวิตที่ใช้เวลาไม่ถึงห้าวินาที โดยไม่ได้คุยกันเลยในการเข้าพิตสต็อป และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คุณหมอเลยเชิญทีมเฟอร์รารี่มาที่โรงพยาบาล ขอให้มาเฝ้าดูกระบวนการช่วยชีวิตคนของโรงพยาบาล

หลังจากนั้น ทีมเฟอร์รารี่ให้คำแนะนำจากประสบการณ์ในมุมของทีมแข่งรถ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคนหน้างาน การกระจายงาน การทำเช็กลิสต์ต่าง ๆ รวมถึงการหาผู้นำกระบวนการหนึ่งคน

การนำทีมสุดยอดต่างอุตสาหกรรมมาประยุกต์ ทำให้ความผิดพลาดลดลงถึง 50%...

กวีวุฒิยังให้แนวความคิดว่า ถ้าเรามีปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาคงคลัง การบริหาร Inventory เราควรจะมองถึงคนที่เก่งที่สุดด้านนี้ เช่น ร้านดอกไม้ หรือร้านซูชิ ซึ่งผมเองก็แอบนึกถึงซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายของกินที่ต้องมีของทิ้งของเสียของหมดอายุทุกวัน ที่น่าจะเป็นทางเลือกในการเรียนรู้ได้ดีทีเดียว

ผมเพิ่งมีโอกาสได้คุยกับพ่อเลี้ยงอ้วนแห่งกรีนบัส เชียงใหม่ เราคุยกันสัพเพเหระหลายเรื่อง จนถึงหัวข้ออุบัติเหตุจากการขับรถยาว ๆ ซึ่งดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะธุรกิจพี่อ้วนที่ทำด้านรถบัสขนส่งระหว่างจังหวัดไกล ๆ มีเรื่องหนึ่งพี่อ้วนเล่าว่าธุรกิจพี่อ้วนเดิมมีอุบัติเหตุอยู่บ้าง ต่อให้จะพยายามปรับปรุง ปรับระบบได้ดีแค่ไหน เข้มงวดคนขับแค่ไหนก็ตาม 

จนมาวันหนึ่ง พี่อ้วนได้ผู้บริหารคนหนึ่งมาช่วยออกแบบระบบ Road Transport Safety ใหม่ ผู้บริหารคนนี้ออกแบบตั้งแต่ เลือกคนขับ ทดสอบสมรรถภาพ อบรม ออกแบบเส้นทาง กระบวนการตรวจสอบ รวมถึงการสำรวจทางอันตรายต่าง ๆ และเมื่อใช้ระบบใหม่นี้แล้ว พี่อ้วนบอกว่าความปลอดภัยตอนนี้อยู่ระดับสูงสุด คือแทบไม่มีอุบัติเหตุเลย และไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเลยมาหลายปี

ผมถามว่าพี่อ้วนได้ผู้บริหารนี้มาจากที่ไหน พี่อ้วนบอกว่ามาจากเอสโซ่ และเคยวางระบบขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงมาก่อน

ทำให้ผมนึกถึงอุบัติเหตุรถตู้ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้นมาทันที...

..........................

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลาย ๆ อุตสาหกรรมตกใจไม่รู้จะรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หันไปมองคู่แข่งด้วยกันก็ไม่เคยเจอสิ่งแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะต้องคิดแบบไหน ต้องปรับองค์กรอย่างไร ในหลักคิดเดียวกัน ถ้าจะคิดถึงใครซักคนหนึ่งที่เจอเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมาอย่างโชกโชน ผมจะนึกถึง คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งแกรมมี่ ที่ผ่านมาตั้งแต่เทปคาสเซต กลายเป็นซีดี โดนแผ่นเถื่อน ไปถึงโดนลูกค้าตัวเองปั๊มได้เอง จนถึงเอ็มพีสามที่โหลดฟรี ไปถึงกลายเป็นริงโทน มาถึงฟังแบบเหมาจ่าย จนถึงยุคสมัยฟังฟรีหมดแบบสมัยนี้ ไม่พูดถึงประสบการณ์ทางทีวีที่กลายเป็นช่องทางดิจิทัล คุณไพบูลย์ทำใจได้อย่างไร เดินหน้าต่ออย่างไร ปรับตัวอย่างไรจนเหลือรอดผ่านคลื่นเทคโนโลยีได้อยู่รายเดียว ถ้าผมเป็นเจ้าของธุรกิจที่เจอคลื่นเทคโนโลยีในตอนนี้ ผมต้องหาทางเข้าไปขอคำแนะนำอากู๋ให้ได้แน่ ๆ

เรื่องการเรียนรู้จากอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมดทั้งปวงนี้ต้องมีจุดเริ่มต้น และผมคิดว่าทุกอย่างเริ่มต้นได้ด้วยการยอมรับความจริงว่า โลกข้างนอกนั้นใหญ่กว่าโลกที่เราอยู่อย่างคุ้นชินที่ครอบเราอยู่มากมายนัก

แล้วเริ่มออกไป "ถาม" มากกว่ารอ "ตอบ" อยู่ที่ทำงานเดิม ๆ ของเรา...


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Industry Curse of Knowledge

view