สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปมปริศนา ทรัมป์-อุษาคเนย์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ASEAN SECRET โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ในวันที่ 20 มกราคมนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลสะเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับภูมิภาคต่าง ๆ รอบโลก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นเขตอิทธิพลหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

กระนั้นก็ตาม การที่ทรัมป์ไม่ได้กล่าวถึงนัยสำคัญของรัฐอุษาคเนย์มากนักในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จึงทำให้ภาพปฏิสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนกลายเป็นปมปริศนาที่ยากจะเฟ้นหาคำตอบในเร็ววัน จากกรณีดังกล่าว ผู้เขียนได้รวบรวม 2 ปมปริศนาหลักและ 2 ปมปริศนาย่อยที่น่าจะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนหรือแม้กระทั่งกับเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.รูปแบบนโยบายต่างประเทศสหรัฐ : การเปลี่ยนขั้วอำนาจจากรัฐบาลโอบามาไปสู่รัฐบาลทรัมป์ ย่อมส่งผลต่อลักษณะนโยบายต่างประเทศสหรัฐที่มีต่อภูมิภาคอาเซียน

สะท้อนให้เห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงตามโครงสร้างบริหารและประเพณีกำหนดนโยบายต่างประเทศ

การตั้งทีมที่ปรึกษาการทูตความมั่นคงชุดใหม่ บวกกับมุมมองและพื้นความรู้ของประธานาธิบดีคนใหม่เกี่ยวกับภูมิภาคต่าง ๆ

ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบนโยบายต่างประเทศ ทว่า หลักการดำรงความเป็นหนึ่งทางการเมืองโลกของสหรัฐที่ถูกสานต่อจากระบบการทูตยุคหลังสงครามเย็นจนถึงช่วงรัฐบาลโอบามา ก็อาจแสดงให้เห็นถึงความสืบเนื่องของนโยบายที่ช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลทรัมป์ที่แม้จะมีแนวทางโดดเดี่ยวนิยมหรือมีแผนที่จะลดบทบาทสหรัฐลงในบางภูมิภาค อาจจำเป็นต้องดำเนินกุศโลบายบางอย่างเพื่อคงอิทธิพลสหรัฐสืบต่อไป โดยเฉพาะในเขตภูมิศาสตร์ที่มีความเปราะบางทางยุทธศาสตร์หรือมีนัยสำคัญต่อผลประโยชน์สหรัฐ

ต่อกรณีดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ที่นโยบายต่างประเทศสหรัฐจะสะท้อนให้เห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เกิดจากการริเริ่มของประธานาธิบดีทรัมป์พร้อมทีมที่ปรึกษาชุดใหม่ และความสืบเนื่องของนโยบายที่เป็นมรดกตกทอดจากผลงานการทูตของรัฐบาลชุดก่อน ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย (Pivot of Asia) ที่อาจถูกลดระดับความสำคัญลงไปบ้างตามแนวทางอนุรักษนิยมของทรัมป์ แล้วหันมา

สร้างความเข้มแข็งภายในให้กับสหรัฐ แต่กิจกรรมการทูต-ความมั่นคงของสหรัฐเอง ก็อาจถูกเก็บรักษาไว้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ก็เพื่อคงอิทธิพลสหรัฐมิให้ถูกตีทะลวงจากมหาอำนาจชาติอื่นในระดับที่ทำให้ขีดอำนาจสหรัฐต้องห่างชั้นจากรัฐคู่แข่งมากนัก

2.การแข่งขันกับจีนและโครงสร้างอำนาจในเอเชียอาคเนย์ : แม้สหรัฐจะรั้งตำแหน่งเอกอภิมหาอำนาจโลก (Supreme Power) แต่บนสนามแข่งขันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อำนาจสหรัฐกลับถูกท้าทายด้วยความใกล้ชิด

ทางภูมิศาสตร์และขีดกำลังที่รุกทะยานขึ้นมาของจีน จนพอเห็นเค้าลางได้ว่าจีนเริ่มก้าวเข้ามาแทนที่สหรัฐ แปลงสภาพขึ้นเป็นเจ้าแห่งภูมิภาคเพียงหนึ่งเดียวที่สิงสถิตอยู่บนยอดสูงสุดของพีระมิดอำนาจในเอเชียอาคเนย์

หรือจีนอาจจะพอใจให้สหรัฐมีสถานภาพเป็นเจ้าแห่งภูมิภาคเบอร์สองที่มีอิทธิพลในอุษาคเนย์ลดหลั่นรองลงมาจากจีน หากแต่ยังอยู่ในช่วงชั้นที่สูงกว่าญี่ปุ่น อินเดีย และอาเซียน หรืออย่างมากก็ปล่อยให้เกิดระบบทวิขั้วอำนาจ คือ ให้สหรัฐอยู่บนระดับเดียวกันกับจีนจนกลายเป็นมหาอำนาจคู่ที่คอยถ่วงดุลซึ่งกันและกัน (แต่จะไม่ยอมปล่อยให้สหรัฐคงสภาพเป็นรัฐมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียว) เพราะฉะนั้น การตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศของทรัมป์จึงมีผลลึกซึ้งต่อจีนและโครงสร้างดุลอำนาจภายในภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น หากทรัมป์ประกาศยกเลิกกรอบหุ้นส่วนพหุภาคีข้ามแปซิฟิก หรือ TPP ขึ้นมาจริง ๆ แล้วคงอิทธิพลเศรษฐกิจเอาไว้แต่เพียงเฉพาะกรอบการค้าทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน

ผลกระทบที่ตามมา คือ สหรัฐยังสามารถรักษาอิทธิพลการค้าไว้ได้บางส่วน การขาดหายไปของกรอบ TPP อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการโยกตัวทางเศรษฐกิจของรัฐอาเซียนที่มีลักษณะโน้มเอียงไปที่การร่วมมือกระชับความเข้มแข็งภายในองค์กรภูมิภาคผ่านกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หรือแม้กระทั่งการหันเข้าไปร่วมวงผ่านข้อตกลงพันธมิตรการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ประกอบด้วยความร่วมมือการค้า

ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ไม่มีสหรัฐอเมริกา) โดยถือเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากจีน

นอกจากนั้น การที่ทรัมป์เริ่มแสดงท่าทีต้านพลังเศรษฐกิจจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจนำไปสู่สภาวะตึงเครียดโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเขตผลประโยชน์ของทั้งจีนและสหรัฐ จนทำให้จีนอาจหันเหสลัดออกจากกรอบโมเดลอำนาจคู่ที่จีนกับสหรัฐปรากฏตัวครองอำนาจร่วมกันบนยอดพีระมิด แล้วหันเข้าไประดมสรรพกำลังและทรัพยากรต่าง ๆ ในอัตราที่เข้มข้นขึ้น เพื่อผลักดันให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าภูมิภาคแต่เพียงผู้เดียว ถือเป็นประเด็นการแข่งขันที่ต้องจับตามองกันต่อไป ทั้งนี้เพราะ ขณะที่

ทรัมป์กำลังแสดงความก้าวร้าวกับจีนอยู่นั้น

ทรัมป์ยังไม่เคยแสดงให้เห็นว่าสหรัฐมีความปรารถนาที่จะเข้ามาแผ่อำนาจเพื่อครองความเป็นผู้นำในอุษาคเนย์ เหมือนอย่างที่รัฐบาลโอบามาเคยแสดงออก ซึ่งย่อมส่งผลบวกต่อการรวบอำนาจของจีนในเอเชียอาคเนย์ หากไม่มีการรุกตอบโต้ในระดับที่สูสีจากรัฐบาลสหรัฐ

นอกเหนือจาก 2 ประเด็นปริศนาที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว ยังมีปมคำถามอื่น ๆ

ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเมือง การทูต และความมั่นคงภายในภูมิภาค อาทิ

1.การที่ทรัมป์ประกาศให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเตรียมพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามเกาหลีเหนือและจีน พร้อมถือเป็นการลดกำลังพลและค่าใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐลง จะส่งผลต่อภูมิทัศน์

ความมั่นคงของเอเชียอาคเนย์อย่างไรบ้าง เช่น หากมีการปล่อยให้รัฐอาเซียนอย่างเวียดนาม ที่เริ่มเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์กับสหรัฐที่แนบแน่นขึ้น แต่กลับต้องเผชิญหน้าทางทหารกับจีนเรื่องเขตแดนทะเลจีนใต้จนอาจต้องหันไปใส่ใจกับกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยแนวคิดเรื่องนิวเคลียร์ของทรัมป์ บวกกับความจำเป็นในการป้องกันตนเองของรัฐอาเซียนบางรัฐ จะส่งผลต่อหลักสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEANWFZ อย่างไร หรือแม้กระทั่งมีแรงสั่นสะเทือนแค่ไหนต่อการถกเถียงเรื่องนิวเคลียร์และการปรับวิธีการสร้างสมแสนยานุภาพทางทหารในกรอบเวทีความมั่นคงอย่าง ARF ที่มีทั้งสหรัฐ จีน รัสเซีย และอาเซียนเป็นสมาชิกรวมอยู่ด้วย

2.ทรัมป์ได้แสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำแบบอำนาจนิยม-อนุรักษนิยม ซึ่งได้รับความชื่นชมจากผู้นำบางประเทศหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับสไตล์บริหารปกครองของผู้นำบางท่านในเอเชียอาคเนย์ เช่น สมเด็จฮุน เซนในกัมพูชา และดูเตอร์เตในฟิลิปปินส์ นอกจากนั้น แนวคิดการจัดระเบียบความมั่นคงของทรัมป์ เช่น การสร้างกำแพงเขตแดนระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก การเนรเทศแรงงานผิดกฎหมายออกจากสหรัฐ หรือการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิมอย่างจริงจัง ก็ล้วนทำให้เกิดแนวโน้มคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับท่าทีของทรัมป์ในกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยหรือกระบวนการบริหารจัดการความขัดแย้งและการต่อต้านการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กล่าวโดยสรุป สัมพันธภาพระหว่างสหรัฐกับอาเซียนใต้ การคืบคลานเข้ามาของศักราชทรัมป์ ถือเป็นจุดทางแพร่งที่เต็มไปด้วยสภาวะคลุมเครือพร่ามัวจนยากต่อการทำนายทายทัก ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบุคลิกภาพของทรัมป์ที่ดูจะ "Unpredictable"

และส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะท่าทีของรัฐอาเซียนเองหรือแม้กระทั่งจีนที่ต้องการดำเนินนโยบายแบบ "Wait and See" ไปก่อนจนกว่าจะมีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนออกมาจากทางวอชิงตัน ดี.ซี.

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนที่สุดในเวลานี้ ก็คือ อุษาคเนย์ยังคงมีสภาพเป็นเขตอิทธิพลและเขตผลประโยชน์ของสหรัฐสืบต่อไป เพียงแต่ว่า รัฐบาลทรัมป์จะมองเห็นคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของกระดานอาเซียนได้ชัดเจนแค่ไหน หรือรัฐบาลทรัมป์จะบริหารความสัมพันธ์กับรัฐเอเชียอาคเนย์เพื่อถ่วงดุลกับจีนได้เหมาะเจาะเพียงไร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็น

ปมปริศนา "ทรัมป์-อุษาคเนย์" ที่คงต้องมีการสืบสวนหาคำตอบกันต่อไป


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปมปริศนา ทรัมป์-อุษาคเนย์

view