สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจไทยและเอเชียจะ กระอัก แค่ไหน กับภาษี Border Adjustment ของอเมริกา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com

เมื่อตอนที่แล้ว เราได้ทำความรู้จักกับ ภาษี BAT ของอเมริกาตัวนี้มาบ้างแล้ว (หาอ่านได้จากบทความที่ชื่อ รู้จัก "BAT" (Border Adjustment Tax) นโยบายอันตรายของ "ทรัมป์" ที่ถูกมองข้าม) คราวนี้ลองมาดูกันต่อว่า หากภาษีตัวนี้คลอดออกมาได้จริง ๆ จะกระทบกระเทือนเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน ? อย่างไร ?

แรกเลยคือ บริษัทในอเมริกาจะปรับตัวอย่างไร ?

หากภาษีตัวนี้สามารถคลอดออกมาและนำมาใช้ได้จริง ก็หมายความว่าบริษัทอเมริกาที่ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก จะต้องมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Walmart นำเข้ารองเท้ากีฬาที่ผลิตในเวียดนามมาขายในอเมริกา ต้นทุนนำเข้าราคา 100 เหรียญ มาวางขายในร้านที่อเมริการาคา 150 เหรียญ เดิม Walmart ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลจากฐานกำไรหรือส่วนต่าง 150-100=50 เหรียญ แต่ในภาษีระบบใหม่นี้ บริษัท Walmart จะต้องถูกเก็บภาษีจากฐานรายได้ 150 เหรียญ ไม่ใช่แค่ 50 เหรียญ เพราะต้นทุนการนำเข้าจะไม่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายก่อนนำไปคำนวณภาษีได้อีกต่อไป แต่ต้องถูกนำกลับเข้าไปรวมกับกำไรเพื่อคำนวณภาษีที่จะต้องจ่ายให้กับรัฐบาล

คำถามที่สำคัญ คือ ผู้ที่ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในลักษณะเช่นนี้จะปรับตัวอย่างไรในระบบภาษีใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทนำเข้าทั้งหลาย โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์ยังไม่ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเต็มที่
 (หากค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นมาก ต้นทุนนำเข้าสินค้า เช่น รองเท้ากีฬาจากเวียดนามในตัวอย่างนี้ก็จะถูกลง ซึ่งก็จะช่วยชดเชยความเสียหายจากภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น)

ในระยะสั้น บริษัทที่ต้องนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในอเมริกา จะมี 3 หนทางเพื่อรับมือกับระบบภาษีใหม่

ทางแรก คือ ยินยอมที่จะเสียภาษีมากขึ้น 
และทำใจยอมรับกับสภาพกำไรหดลง ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทที่จะยอมรับสภาพนี้ได้นั้น ต้องมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งพอสมควร

ทางที่สอง คือ พยายามหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศอเมริกาเองให้มากขึ้น
พร้อมทั้งย้ายโรงงานเข้ามาผลิตสินค้าในอเมริกาให้มากขึ้น เช่น บริษัทรองเท้ากีฬาต้องหันมาทำตามรองเท้ายี่ห้อ New Balance ที่ผลิตในอเมริกาบางส่วน ไม่ใช่นำเข้ารองเท้ากีฬาสำเร็จรูป หรือบริษัทจำหน่ายรถยนต์ ก็ต้องมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อให้มีสัดส่วนการนำเข้าที่น้อยลง น้ำมันก็ใช้ของในประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม

แต่ทางเลือกนี้ก็ไม่ง่ายสำหรับหลายอุตสาหกรรม เพราะวัตถุดิบหลายอย่างอาจหาได้ยากในอเมริกา ถ้าจะหันมาผลิตในประเทศอเมริกาเองก็จะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นมาก เช่น จะยกโรงงานทำเสื้อผ้าหรือรองเท้ากีฬาจากเวียดนาม บังกลาเทศ กลับมาอยู่อเมริกาทั้งหมดในยุคปัจจุบันก็ยังยาก แม้ว่าเทคโนโลยีจะสามารถลดจำนวนคนงานในโรงงานไปได้มากก็ตาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าสูงก็จะยิ่งลำบากเป็นพิเศษ เพราะธุรกิจเหล่านี้ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่ ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต หากจะผลิตวัตถุดิบขึ้นในประเทศก็อาจทำไม่ได้หรือทำได้ แต่ต้นทุนสูงเกินไป

ทางเลือกสุดท้าย คือ ปรับราคาขึ้นเพื่อทดแทนให้กับรายจ่ายภาษีที่สูงขึ้นโดยจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีอำนาจต่อรองในการขึ้นราคาสินค้ากับผู้บริโภคมากขนาดไหน ยิ่งสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสูง หากขึ้นราคา ยอดขายก็จะยิ่งตกลงมาก เช่น สินค้าคงทนประเภทโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ของเอเชียและไทย


ไม่ว่าบริษัทในอเมริกาจะปรับตัวในรูปแบบไหนผลกระทบต่อการค้ากับเอเชีย คงสาหัสไม่ใช่น้อย หากบริษัทที่ปัจจุบันต้องนำเข้าสินค้าจากเอเชียเหล่านี้เลือกที่จะหาทางใช้ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่ผลิตในสหรัฐอเมริกามาแทนที่การนำเข้ามากขึ้นเพื่อลดภาระภาษีภายใต้ระบบ Border Adjustment Tax (BAT) นี้ และทำได้สำเร็จจริง การซื้อสินค้าจากเอเชียก็จะลดลง และฉุดยอดส่งออกของเราให้ลดลง แต่หากไม่สามารถหาวัตถุดิบในอเมริกาได้ และต้องขึ้นราคาสินค้า เพื่อผลักภาระไปให้ผู้บริโภคในอเมริกาแทน ผลสุดท้ายก็คือการซื้อสินค้าจากเราก็จะลดลงเช่นกัน เพราะราคาสินค้าจะแพงขึ้น ขายได้น้อยลง ก็นำเข้าน้อยลง

หากระบบภาษี BAT ในร่างกฎหมายฉบับล่าสุดที่กำลังถูกนำเสนอเข้าสู่สภาของสหรัฐอเมริกาถูกนำมาใช้จริง ผู้นำเข้าสินค้าในอเมริกาอย่าง Walmart อาจต้องปรับราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 25% หากต้องการจะคงให้ผลกำไรหลังหักภาษีแล้วเหมือนเดิมก่อนที่ระบบ BAT จะถูกนำมาใช้

และหากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง ผลกระทบต่อการส่งออกของเอเชียจะมีความรุนแรงพอสมควร โดยการศึกษาของทีมของธนาคารเครดิตสวิส ได้คำนวณไว้ว่าการส่งออกของเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยรวมอาจลดฮวบลงราว 3-4% มีผลทำให้ GDP ของภูมิภาคนี้ลดลงประมาณ 0.5% โดยประมาณการนี้ดูเพียงผลกระทบทางตรงที่มาจาการที่สหรัฐอเมริกา อาจนำเข้าสินค้าลดลง แต่ยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบทางอ้อมอื่น ๆ
 เช่น ผลกระทบต่อการลงทุนเมื่อการส่งออกอ่อนแรงลง ความไม่แน่นอนสูงขึ้น และความเสี่ยงที่ประเทศใหญ่ ๆ อย่างจีน อาจมีมาตรการตอบโต้สหรัฐอเมริกากันอย่างพัลวัน จนอาจกลายเป็นสงครามการค้าเกิดขึ้น

เศรษฐกิจที่จะถูกกระทบหนักที่สุดในเอเชีย คือ เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยผลกระทบทางตรงจากการค้านี้อยู่ที่ประมาณ 0.5-1% ของ GDP ส่วนประเทศไทยจะอยู่ในระดับกลาง ๆ โดยจะได้รับผลกระทบต่อ GDP อยู่ที่ 0.5%

ทั้งนี้ การส่งออกของแต่ละประเทศจะถูกกระทบมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ข้อแรก คือ เศรษฐกิจของประเทศนั้นพึ่งพาการส่งออกไปยังอเมริกามากน้อยแค่ไหน หรือสัดส่วนของตลาดอเมริกาในการส่งออกทั้งหมดสูงแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือเราต้องดูด้วยว่าสินค้าบางประเภท เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ อาจมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ตลาดอเมริกา แต่สถานีแรกที่ออกจากประเทศเราไป อาจเป็นประเทศอื่น เช่น จีน หรือประเทศอาเซียนด้วยกัน

เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต กล่าวคือ ประเทศไทยอาจผลิตชิ้นส่วนหนึ่ง มาเลเซียผลิตอีกส่วนหนึ่ง แล้วนำมาประกอบกันในจีนเพื่อส่งออกไปขายที่ตลาดอเมริกา หากเราดูแค่สินค้าที่ถูกส่งไปที่อเมริกาโดยตรงจากประเทศไทยอย่างเดียว ก็ย่อมตกสำรวจสินค้าจำพวกนี้ไป ซึ่งมักเป็นกลุ่มสำคัญของเศรษฐกิจในเอเชีย

ปัจจัยประการที่สอง คือ ลักษณะของสินค้าที่เราส่งออกไปยังตลาดอเมริกานั้น มีความสำคัญยิ่งนัก เพราะสินค้าแต่ละประเภทจะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางราคาที่แตกต่างกัน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า price elasticity ของสินค้านำเข้าแต่ละประเภท

ในกรณีของอเมริกา การศึกษาส่วนใหญ่พบว่า สินค้าประเภทสินค้าคงทนและสินค้าทุน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ หรือยานยนต์ มักจะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางราคาสูง คือเมื่อราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ยอดขายจะตกฮวบลง เพราะผู้บริโภคจะตัดสินใจเลื่อนการซื้อสินค้านั้นไปก่อน หรือเลือกข้ามอัพเกรดรุ่นล่าสุดไป ในทางกลับกันสินค้าประเภทพลังงานจะมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่าประเภทอื่น

ด้วยสองปัจจัยนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบจากภาษี BAT มากที่สุด เพราะนอกจากเศรษฐกิจเหล่านี้จะส่งออกไปยังอเมริกาในปริมาณสูงแล้ว สินค้าส่งออกสำคัญยังเป็นสินค้าทุน จำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย จึงทำให้มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางราคาสูง


และแท้จริงแล้ว การศึกษาของเครดิตสวิส ยังค้นพบอีกว่าการส่งออกของประเทศจีนก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะสินค้าจากจีนถูกส่งไปขายในอเมริกาจำนวนมาก และมีลักษณะเป็นสินค้าทุนกับสินค้าคงทนเช่นกัน แต่จีนได้เปรียบสามเศรษฐกิจตรงที่สัดส่วนของการส่งออกเมื่อเทียบกับ GDP แล้ว อยู่ในระดับต่ำ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจากการที่การส่งออกหดตัวลง จึงต่ำกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสามเศรษฐกิจแรก

ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าจะโดนกระทบไม่เท่าเพื่อนบ้านบางราย แต่ก็ถือว่าไม่เบาเหมือนกัน เพราะที่ว่า 0.5% ของ GDP นั้น ยังไม่รวมผลกระทบทางอ้อมต่าง ๆ ที่จะตามมา เช่น ผลลบต่อการลงทุนทั้งจากบริษัทในประเทศ เพราะความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น และทั้งจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หากภาษีนี้ทำให้โรงงานการผลิตบางส่วนในบางอุตสาหกรรมต้องปิดโรงงานหรือลดการลงทุนในไทยเพื่อไปเปิดฐานการผลิตในอเมริกาแทนทั้งหมดนี้อาจทำให้ GDP ของไทยโดนฉุดลงมากกว่านั้น

ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ การส่งออกสินค้าทุน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ยานยนต์ ในขณะที่ สินค้าประเภทอาหาร ที่ไทยส่งไปขายยังตลาดอเมริกามากพอสมควร ก็อาจโดนหางเลขไปด้วยเช่นกัน

ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายแล้วภาษี BAT ของอเมริกานี้จะครอบคลุมทุกสินค้าหรือไม่ หรือจะมีข้อยกเว้นให้กับผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น สินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างอาหาร เพื่อลดผลกระทบต่อครัวเรือนของอเมริกาที่มีรายได้น้อย

ยังมีคำถามอีกมากมายที่เรายังไม่ทราบเกี่ยวกับภาษีBAT ตัวนี้ แต่ที่เราพอจะทราบแล้ว คือ หากเงินดอลลาร์ไม่ได้ขยับปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้นำเข้าสินค้าในอเมริกาแล้ว ผลกระทบของภาษี BAT ต่อการค้าเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้ "การส่งออก" และ "การเติบโตของเศรษฐกิจ" ในเอเชียถูก "Disrupt" ให้กระอักได้ทีเดียว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจไทยและเอเชีย กระอัก แค่ไหน ภาษี Border Adjustment อเมริกา

view