สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แค่ นวัตกรรม ยังไม่พอ สารพัด กม.ที่ ฟินเทค ต้องรู้

จากประชาชาติธุรกิจ

“ฟินเทค” ได้รับการจับตาว่าจะเป็นอีกนวัตกรรมเปลี่ยนโลก แต่เมื่อเป็นการคิดสิ่งใหม่ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางการเงิน เป็นเรื่องเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ของผู้คน แค่ไอเดียล้ำ ๆ จึงยังไม่พอ ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด เปิดเวทีเสวนาวิชาการ “รู้ทันประเด็นกฎหมาย เข้าใจนวัตกรรมฟินเทค”

พ.ร.บ.คอมพ์ต้องศึกษาให้ชัด

“กฤติยาณี บูรณตรีเวทย์” ทนายความกลุ่มกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า การสร้างฟินเทคให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่การนำไอเดียมาต่อยอดพัฒนานวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) เพื่อก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด โดยไม่ใช่มองแค่ด้านลิขสิทธิ์ (Copyright) แต่ต้องให้ครอบคลุมทั้งหมดของ IP อาทิ เครื่องหมายการค้า (Trademark) ชื่อทางการค้า (Trade Name)

“ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ เมื่อได้รับความนิยม ผู้คนจดจำ Trademark ได้ พวกนี้ก็เป็นมูลค่าที่จะต่อยอดทางธุรกิจต่อ ๆ ไปได้ หากไม่ได้เตรียมการป้องกันไว้ก่อน เมื่อมีปัญหาจะมาแก้ภายหลังก็จะยุ่งยาก และตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ก็ยอมรับให้ IP เป็นหลักประกันในการกู้เงินได้ด้วย”

ขณะเดียวกันยังมีข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” คือพื้นฐานที่ต้องศึกษาในฐานะเป็นผู้ให้บริการ โดยประเด็นที่สำคัญคือ 1.การไดเร็กต์มาร์เก็ตติ้งที่จะสื่อสารไปยังผู้บริโภค หากเป็นการส่งอีเมล์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ โดยไม่มีฟังก์ชั่นให้ปลายทางแจ้งยกเลิกการรับอีเมล์ได้ จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เว้นแต่จะมีการปฏิบัติตาม 8 ข้อยกเว้น ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เพิ่งประกาศออก ซึ่งฟินเทคต้องศึกษาให้ละเอียด

2.การเปิดพื้นที่ออนไลน์ให้ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบคุยกัน สร้างคอนเทนต์ขึ้นมาเองได้ หากผู้ให้บริการไม่สามารถควบคุมผู้ใช้งานได้ แล้วมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ผู้ให้บริการจะมีความผิดเท่ากับผู้เผยแพร่ข้อมูล

3.ต้องสร้างระบบแจ้งเตือนและนำออก “Notice and Takedown” โดยเป็นแบบฟอร์มให้ผู้ใช้งานร้องเรียนและแจ้งเตือนถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายเพื่อให้ผู้ดูแลระบบนำข้อมูลนั้นออกจากระบบ ซึ่งตามกฎหมายจะมีกรอบเวลากำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้

4.ตาม พ.ร.บ.ใหม่ ข้อมูลบางอย่างแม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ผู้ดูแลก็ต้องนำออก หากคณะกรรมการกลั่นกรองตามกฎหมายระบุว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี

กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะที่ “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ที่กำลังยกร่างอยู่และคาดว่าน่าจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ จะทำให้เกิดสิทธิ์ใหม่ของผู้บริโภค ซึ่งจะครอบคลุมถึงขอบเขตในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจ ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมให้ใช้ข้อมูลตามขอบเขตที่เจ้าของข้อมูลอนุญาต และสามารถถอนความยินยอมให้ใช้ข้อมูลได้ด้วย จึงจะทำให้เกิดขั้นตอนที่ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติ

แต่ที่ต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังให้มาก คือ ตั้งแต่ 25 พ.ค. 2561 สหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคฉบับใหม่ คือ General Data Protection Regulation (GDPR) ซึ่งจะมีผลให้ทุกธุรกิจที่เก็บหรือใช้ข้อมูลของคนใน EU ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด แม้ธุรกิจดังกล่าวจะตั้งอยู่นอก EU ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 20 ล้านยูโร (800 ล้านบาท) หรือ 4% ของรายได้ทั่วโลกของบริษัทที่ละเมิด แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า

โดยสาระสำคัญของ GDPR คือ การกำหนดลักษณะการให้ความยินยอมในการให้-ใช้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น สิทธิที่เจ้าของข้อมูลจะให้ผู้บันทึกข้อมูลลบข้อมูลเก่าหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออก การประมวลข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีการบันทึกไว้ให้พร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบเสมอ

“ปัจจุบันแทบไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่มีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ดังนั้น ฟินเทคจำเป็นต้องศึกษา GDPR และต้องรู้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลที่ตัวเองใช้ในระบบเป็นประเภทไหน มีข้อมูลของเด็กหรือไม่ แต่ละส่วนมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางปฏิบัติอยู่

การประมวลผลเพื่อวิเคราะห์ทางธุรกิจบริษัททำเองหรือจ้างผู้อื่นทำ รวมถึงมีการโอนย้ายข้อมูลออกนอกประเทศหรือไม่ พวกนี้ต้องมีการออกแบบและวางมาตรฐานให้ครบ หากจ้างผู้อื่นวิเคราะห์ต้องทำเป็นสัญญาให้บริษัทสามารถเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานได้ด้วย”

เป็นดิจิทัลแต่ยังมี กม.กำกับ

“กุลรัตน์ ผ่องสถาพร” ทนายความ กลุ่มกฎหมายการธนาคารและการเงิน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังได้รับความนิยมจากฟินเทคอย่าง DLT (Distributed Ledger Technology) สมุดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงบล็อกเชน มีประเด็นทางกฎหมายที่นักพัฒนาต้องคำนึง เนื่องจากบริการทางการเงินมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานในหลายส่วน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเก็บข้อมูล ดังนั้น การจะเปลี่ยนรูปแบบมาสู่ดิจิทัล จะต้องคำนึงว่าผู้ให้บริการได้ปฏิบัติครบถ้วนและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องหรือไม่ แม้ว่าปัจจุบันธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับการยอมรับในกระบวนการของศาลไทยแล้ว แต่ DLT รวมถึงบล็อกเชนยังไม่เคยมีเคสในศาล จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อ

“หากจะนำ DLT บล็อกเชนมาใช้ ควรเป็นรูปแบบของ Private DLT ที่ต้องมีการคัดกรองและมีข้อตกลงในการใช้งานก่อนเข้าร่วม เพราะข้อมูลจะต้องถูกแชร์ให้ผู้ใช้ทุกคน และตามข้อตกลงของ GDPR ระบุให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์จะถอนความยินยอมและลบข้อมูลได้ ซึ่งปกติ DLT และบล็อกเชนจะลบหรือแก้ไขข้อมูลได้ จึงจำเป็นต้องมีข้อตกลงและการออกแบบเครื่องมือเฉพาะไว้”

ไร้เกณฑ์คุ้มครองผู้บริโภค

ด้าน “รศ.ดร.พินัย ณ นคร” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นวัตกรรมของฟินเทคคือการเปลี่ยนธุรกรรมจากรูปแบบกระดาษสู่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการใช้อิเล็กทรอนิกส์ ทางกฎหมายจะยอมรับธุรกรรมนั้นเมื่อมีการทำตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ซึ่งมี 4 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคโดยตรง และจำเป็นต้องให้ความสำคัญ คือ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือ หลักเกณฑ์ลายมือชื่อ ต้นฉบับ และการเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ความพร้อมด้านกฎหมายของไทย โดยเฉพาะในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยังมีน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

ที่กำหนดเงื่อนไขการให้ข้อมูลการซื้อขายที่เพียงพอ การให้สิทธิผู้บริโภคในการเลิกสัญญาฝ่ายเดียว โดยกำหนดให้การซื้อขายออนไลน์อยู่ภายใต้ความควบคุมของกฎหมาย เนื่องจากการทำสัญญาได้อย่างรวดเร็ว จึงให้สิทธิผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนใจได้ภายใน 14 วัน

ซึ่งทุกครั้งที่มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับผู้บริโภค ประเด็นเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบมาพิจารณา รวมถึงการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แค่ นวัตกรรม ยังไม่พอ สารพัด กม. ฟินเทค ต้องรู้

view