จาก https://www.ddproperty.com/
รัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) โดยเฉพาะมาตรการทางด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เพื่อบรรเทาและแบ่งเบาภาระในช่วงเวลานี้
ท่ามกลางสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด หลายฝ่ายกำลังพยายามหาทางสกัดกั้นไม่ให้ผู้ติดเชื้อขยายในวงกว้างและเพิ่มจำนวนขึ้น ตัวเลขล่าสุด (22 มีนาคม 2563) จากกระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 188 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 599 ราย
ทางภาครัฐจึงได้ออกหลากหลายมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้
ประกันสังคมลดจ่ายเงินสมทบเหลือ 4% เป็นเวลา 6 เดือน
ประกันสังคมปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563 เพื่อช่วยลดภาระ พร้อมขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 3 เดือน แบ่งตามงวด ดังนี้
– งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กรกฎาคม 2563
– งวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 สิงหาคม 2563
– งวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 กันยายน 2563
ลดจ่ายเงินประกันสังคมเหลือ 4% เริ่มสิ้นเดือน มี.ค. 63
หยุดงานเพราะโควิด-19 ชดเชย 50% เลิกจ้าง 70%
นอกจากนี้ ประกันสังคมยังปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ รวมทั้งภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ดังนี้
– ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน ในอัตรา 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
– กรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน ในอัตรา 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
อีกทั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากปัจจัยอื่นใด ประกันสังคมจะจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นแก่ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากกรณีลาออก 45% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง 70% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี
ลาออกจากงานระหว่างขอสินเชื่อบ้านมีผลอย่างไร
ลดค่าไฟ 3%-คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า
การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีแนวทางในการเยียวยาประชาชน 2 ประการคือ
1. ลดราคาค่าไฟฟ้าลง 3% ตลอด 3 เดือน นับตั้งแต่บิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563
2. คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
– มิเตอร์ขนาด 5(15) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 300 บาท
– มิเตอร์ขนาด 15(45) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 2,000 บาท
– มิเตอร์ขนาด 30(100) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 4,000 บาท
– มิเตอร์ขนาด 15(45) เฟส 3 เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 6,000 บาท
สำหรับขั้นตอนการขอรับเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าประชาชนผู้เป็นเจ้าของมิเตอร์สามารถเริ่มลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินคืนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมเป็นต้นไป ผ่านแอปพลิเคชันของการไฟฟ้า หรือที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง สำหรับผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถเดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
หากข้อมูลการลงทะเบียนถูกต้องและตรงกันกับข้อมูลที่การไฟฟ้ามีอยู่ จะได้รับเงินคืนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า
ลดค่าน้ำ 3%-คืนเงินประกันการใช้น้ำ
การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ลดค่าน้ำประปาในอัตรา 3 % ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่รอบการใช้น้ำเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 อีกทั้งขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบใบแจ้งค่าน้ำประปา
นอกจากนี้ยังคืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่พักอาศัย โดยอัตราค่าธรรมเนียมเงินประกันคืนมีรายละเอียดเบื้องต้นดังต่อไปนี้
– มาตรวัดน้ำขนาด 1/2 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 400 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 3/4 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 600 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 1 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 1,500 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 11/2 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 3,000 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 2 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 4,000 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 21/2 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 5,000 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 3 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 10,000 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 4 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 15,000 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 6 นิ้ว คิดค่าประกันมาตรละ 21,000 บาท
– มาตรวัดน้ำขนาด 8 นิ้วขึ้นไป คิดค่าประกันมาตรละ 30,000 บาท
ลงทะเบียนขอเงินประกันการใช้น้ำผ่าน 2 ช่องทางได้แก่
1. แจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ
– การประปานครหลวง แอปพลิเคชัน MWA onMobile หรือ www.mwa.co.th
– การประปาส่วนภูมิภาค แอพลิเคชัน PWA1662 หรือ www.pwa.co.th
2. ติดต่อขอรับเงินคืนที่สำนักงานประปาสาขา
– การประปานครหลวง 18 สาขา
– การประปาส่วนภูมิภาค แจ้งความประสงค์ได้ที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขา ในพื้นที่ใช้น้ำประปา
เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอคืนเงินประกันการใช้น้ำ
ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 0.75% มีผล 23 มี.ค.
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1% เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ ขานรับให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการต่าง ๆ ของแต่ละธนาคารที่แตกต่างกันไป พร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้อง โดยธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารแรกที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลง 0.25% เหลือ 6.62% และลด MRR ลง 0.12% เหลือ 6.50% เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้าของธนาคารโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SME และบุคคลธรรมดา
รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.05% และเงินฝากประจำลง 0.10%-0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
อัปเดตอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อบ้าน MRR MLR MOR
ช่วยลูกหนี้ธนาคาร ลดดอกเบี้ย-พักชำระหนี้
ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงิน กำหนดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ธุรกิจทุกประเภทและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงรุก โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ
– ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม
– พักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว
– ขยายระยะเวลาการชำระหนี้
– ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
– ผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตได้ต่ำกว่า 10%
– เพิ่มวงเงินชั่วคราวสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล
โดยกำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเวลา 2 ปี ระหว่าง 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
เช็กสินเชื่อธนาคารรัฐ-พาณิชย์ ช่วยลูกหนี้โดนผลกระทบโควิด-19
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจในชุดแรกที่มีการประกาศออกมา ซึ่งจากการหารือของกระทรวงต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไฟเขียวแล้วว่าวันที่ 24 มีนาคม 2563 กระทรวงการคลังจะมีการเสนอมาตรการชุดที่ 2 ออกมาให้ความช่วยเหลือ ส่วนจะเป็นอะไรนั้นต้องติดตาม
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน