สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4194 ประชาชาติธุรกิจ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกะปมรัฐธรรมนูญ-ไขรหัส มั่ว อุทธรณ์หรือฟื้นคดียึดทรัพย์ ทักษิณ

จากประชาชาติธุรกิจ



สัมภาษณ์ พิเศษ




หลังคำ พิพากษาคดียึดทรัพย์ "ทักษิณ ชินวัตร" มีคนที่ต้องทำการบ้านเพิ่มไม่น้อยกว่า 5 ฝ่าย

อย่างน้อยมีทนายฝ่าย "จำเลย" ที่ต้องหา "ข้อเท็จจริงใหม่" มาต่อสู้ในขั้นอุทธรณ์

อย่าง น้อยก็มีองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

อย่าง น้อยก็มีผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ-อดีตรัฐมนตรีที่ผูกพันตามคำพิพากษา

นอก จากนี้ยังมีสำนักงานอัยการสูงสุดที่ต้องเตรียมข้อมูลฟ้องร้องกับผู้ที่ เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด จนทำให้ "จำเลย" ร่ำรวยผิดปกติ

1 ใน 5 ฝ่ายที่ทำการบ้านเพิ่มคือ นักวิชาการด้านกฎหมายที่ชื่อ "ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์"

บรรทัดต่อไปนี้คือ "คำตอบ" จากการคร่ำเคร่งค้นคว้า-ความจริง-ไม่อิงขั้วการเมือง

- หลังจากเข้ากระบวนการ 30 วัน ที่ศาลเปิดโอกาสให้อุทธรณ์แล้ว อาจารย์คาดหวังจะเห็นอะไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เข้าใจ และเป็นปัญหากลไกซ่อนรูปในรัฐธรรมนูญและนักกฎหมายหลายคนก็มองไม่เห็น เราพูดเรื่องอุทธรณ์ ว่าพอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว มีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ไปยังที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา อาจารย์หลายคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ บางคนก็บอกว่า นี่ไงมีการประกันสิทธิเสรีภาพ เรื่องการอุทธรณ์ กระบวนการนี้เป็นธรรมเพราะเปิดให้มีการอุทธรณ์ให้ถึงที่สุด แต่เรื่องนี้คนรู้น้อยมากว่ามันใช่การอุทธรณ์หรือไม่ ไปถามในทางสากลจากนักกฎหมายในโลกนี้ทั้งโลก จะรู้ว่าที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 นี่มันไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ แม้จะเขียนว่า "อุทธรณ์" ก็จริง แต่เนื้อหามันไม่ใช่ อันนี้มันซ่อนปมอีกอันหนึ่ง

เพราะสิ่งที่อยู่ใน รัฐธรรมนูญนั้นเป็นลูกผสมระหว่างการอุทธรณ์กับการขอให้พิจารณาใหม่ หรือการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ มันเป็นหลักการสำคัญ ทั้ง 2 อย่างนี้ต่างกัน ยกตัวอย่างคดีอาญา มีบุคคลคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต่อมาพนักงานสอบสวนก็สอบสวนมีการส่งเรื่องไปที่อัยการและอัยการฟ้องไปที่ศาล เมื่อมีการตัดสินคดีแล้วมีการอุทธรณ์ ฎีกา เมื่อศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกายืน คดีถึงที่สุดที่ศาลฎีกา

ต่อมาเมื่อเขาอยู่ในคุก พบพยาน หลักฐานว่าเขาไม่ใช่คนกระทำความผิด ระบบกฎหมายจะเปิดช่องให้เขา ขอให้พิจารณาใหม่ หรือว่ารื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งการอุทธรณ์กับการพิจารณาใหม่มีความแตกต่างกัน เพราะการอุทธรณ์คือ การที่คู่ความในคดีซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลในระดับล่าง โต้แย้ง คำพิพากษาของศาลขึ้นไปยังศาลระดับสูง ซึ่งแน่นอนว่า สามารถอุทธรณ์ได้ในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย หรืออาจให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

และการอุทธรณ์คือ การเปิดโอกาสให้ คู่ความได้โต้แย้งตัวคำพิพากษาของศาล โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่ เพราะต้องใช้พยานหลักฐานอันเดิม แล้วอุทธรณ์ว่าศาลตีความกฎหมายไม่ถูก หรือถ้าเป็นการยอมให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ในกรณีที่ศาลฟังข้อเท็จจริงผิด นี่คือการโต้แย้งทุกประเด็น หรือโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายทุกเรื่องขึ้นไป เรียกว่าการอุทธรณ์

พอคดีจบแล้วถึงที่สุดแล้ว เมื่ออุทธรณ์ไม่ได้ เพราะมันจบ หลักก็คือ คำพิพากษาต้องเด็ดขาด ทีนี้เป็นไปได้ว่าคำพิพากษาอาจผิด ซึ่งระบบกฎหมายที่ยอมรับหลักความยุติธรรม เขาต้องยอมรับว่า มันเกิดความผิดพลาดได้เวลาที่ศาลมีคำพิพากษา เพราะฉะนั้นระบบกฎหมายอย่างนี้ได้รักษาไว้ซึ่งความมั่นคง แน่นอน ของคำพิพากษาของศาลซึ่งเป็นที่สุดแล้ว

แต่อีกด้านหนึ่งระบบกฎหมายก็ ต้องรักษาความยุติธรรมด้วย เขาก็จะเปิดช่องเอาไว้ว่าในภายหลังที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มีการพบพยานหลักฐานใหม่ว่า ที่ศาลตัดสินไปนั้นไม่ถูก เขาก็จะเปิดโอกาสให้คนซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วนั้น ยื่นคำร้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่นี้ หลักในทางสากลคือ คดีอาจจบไปแล้วกี่ปีก็ได้ เพียงแต่ว่าถ้าคุณมีพยานหลักฐานใหม่ คุณต้องยื่นเสีย อาจจะภายใน 30 วัน เช่น คดีจบไปแล้ว 5 ปี แล้วคุณบังเอิญเห็นพยานหลักฐานอันนี้ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าคุณไม่ผิด คุณก็นำไปยื่น ตรรกะจะเป็นแบบนี้

แต่รัฐธรรมนูญไทย 2550 ได้สร้างระบบประหลาดขึ้นมา ซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งอาจจะนับว่าเป็นการครีเอตของคนร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ เขาบอกว่า คนที่ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯไปที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน แต่ต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่การอุทธรณ์ในความหมายแท้ ๆ ที่ใช้ในทางกฎหมาย และก็ไม่ใช่การขอให้พิจารณาใหม่ด้วย

ที่ผมบอกว่าไม่ใช่การอุทธรณ์ เพราะว่าคุณไปบีบเขาว่าเขาต้องมีพยานหลักฐานใหม่ภายใน 30 วันนี้ คุณต้องเจอพยานหลักฐานใหม่ มันก็เลยไม่ใช่เรื่องการอุทธรณ์ เพราะการอุทธรณ์ไม่ต้องเจอพยานหลักฐานใหม่ในระบบ ขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่การรื้อฟื้นพิจารณาคดีใหม่ด้วย เพราะคุณไปจำกัดเขาว่าเขาต้องทำภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ไม่ใช่ 30 วันนับแต่วันที่พบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจจะผ่านไป 5 ปี 10 ปี ก็ได้

- การอุทธรณ์จึงมั่ว ๆ ระหว่าง 2 หลัก ?

ถูกต้อง มันมั่วเลย ไม่ใช่มั่ว ๆ กันอยู่ แต่มันไม่มีหลักอะไรเลยตรงนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องประหลาดมากในทางระบบ อันนี้ต้องอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจ เพราะที่พูด ๆ กันอยู่นี่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง นี่พูดจริง ๆ หลายคนทำให้ผมดูถูกมาก ในทางความรู้ เพราะไม่เข้าใจประเด็น เหล่านี้แล้วพูดไป ทำให้สังคมเข้าใจผิด หลักก็เสียหมด

ประเด็นคือ ถ้าเอาตามตัวบทลายลักษณ์อักษรนี่ ทนายความของทักษิณต้องเจอหลักฐานใหม่จึงจะสามารถอุทธรณ์ เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นธรรมกับคนที่ถูกลงโทษ ต้องให้มีการอุทธรณ์ได้ ครั้นจะสนับสนุนให้เขาอุทธรณ์เต็มที่ คุณก็เกรงอีก ก็เลยเอาเป็นระบบมั่ว ๆ อย่างนี้มาในรัฐธรรมนูญ มันเลยเป็นปัญหา

- เป็นประเด็นขอให้พิจารณาในเนื้อหา ?

ใช่ ๆ เพราะเรื่องแรกที่ต้องฝ่าด่านคือ ว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าหากไปถึงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถ้ามีการอุทธรณ์ เขาต้องดูว่ามีพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ ตามถ้อยคำ ตามตัวบท ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้ก็น่าเห็นใจคนที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการในการ ตีความอยู่เหมือนกัน อันนี้จะไปโทษเขาไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่ต้นทางของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาแบบนี้ คือออกแบบมามั่ว ๆ แบบนี้

- อาจารย์จะภูมิใจหรือเสียใจ ถ้าบทวิเคราะห์ 32 หน้าของอาจารย์ปรากฏอยู่ในคำอุทธรณ์ของคุณทักษิณ

ไม่เป็นปัญหาของผม เลย..ไม่เกี่ยวอะไรกับผม ผมไม่ได้ยุ่งกับคดีนี้ตั้งแต่แรก ไม่เคยเกี่ยวข้อง เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่ผมทำให้กับสังคม

ความมุ่งหมายของผมมี อย่างเดียวคือ ผมต้องการให้สังคมเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่มีการพูดกัน เอาความรู้มาเถียงกัน ผมไม่อยากให้สังคมถูกพัดพาไปโดยกระแสในด้านเดียวเท่านั้นเอง และผมคิดว่า ความจริงคือความจริง ความรู้คือความรู้ ไม่อยากให้ใช้ความเชื่อ ไม่อยากให้ใช้อคติมาก เพราะใช้มาเยอะแล้ว ซึ่งผมพูดในเชิงกฎหมาย ไม่ได้สนับสนุนความชอบธรรมอะไรให้คุณทักษิณ

เพราะเรื่องทางการเมือง ต้องประเมินอีกอย่างหนึ่ง มีเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง เป็นคนละเกณฑ์กัน แต่นี่เรากำลังจะเอา 2 เกณฑ์มาเป็นเรื่องเดียวกัน

ไม่ใช่เรื่องที่ ผมภูมิใจหรือไม่ภูมิใจ และมีคนถามว่า นี่ผมช่วยคุณทักษิณหรือ ? แล้วผมเกี่ยวอะไรกับคุณทักษิณ ผมขอบอกว่า ถ้าจะดูช่วยไปดูที่เนื้อหา สังเกตไหมว่าแถลงการณ์เที่ยวนี้เราพูดเรื่องรัฐประหารน้อยนะ ทั้งที่เป็นประเด็นใหญ่สุดเพราะเป็นต้นสายของทุกอย่างที่ตามมันควรจะใช้ไม่ ได้โดยนัย แต่ที่พูดตรงนี้น้อยเพราะเราต้องการให้ดูเรื่องเนื้อหา เพราะมีการพูดกันว่า อย่าไปเถียงเรื่องรัฐประหารและเอาเป็นว่า ถ้าเข้าสู่ระบบปกติมันผิดไหม คุณลืมเรื่องรัฐประหารไปเลยก็ได้ ผมไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องเทคนิค คิดว่ายุ่งยากซับซ้อนแล้วเชื่อ ๆ ตาม ๆ กันไป

- ในตอนที่ทักษิณมีอำนาจก็อาจสั่งการโดยไม่ปรากฏหลักฐาน เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ เพราะทุกอย่างถูกควบคุมโดยทักษิณที่วางคนของตัวเองเอาไว้หมด แล้วอาจารย์อาจจะมองไม่เห็น

ผมคิดว่าความคิดแบบนี้อันตราย ถ้าเราใช้ "ความเชื่อ" ลงโทษคน จะเกิดอะไรขึ้น เช่น เชื่อว่าคนขี้ยาฆ่าข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ความจริงเขาอาจจะไม่ได้ทำ แต่คนเชื่อว่ามันฆ่าข่มขืนก็ให้ประหารชีวิตมันไป

ผมเชื่อในมุมนี้ ไม่ได้ไปสร้างความชอบธรรมให้คุณทักษิณ แต่อยากจะบอกแบบนี้ว่า ภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองที่มีกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองจำนวนมากเข้า ร่วมวงต่อสู้ กลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่มต่างต้องการช่วงชิงชัยชนะให้กับตัวเอง ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลด้านเดียว ต่าง ๆ เหล่านี้ทำกันมา คนคนหนึ่งอาจจะทำ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลของการโฆษณาชวนเชื่ออาจจะทำให้คนเชื่อว่าไอ้หมอนี่ทำ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเชื่อนั้นใช้ไม่ได้ในทางกฎหมาย ถ้าคุณจะเชื่ออย่างไรนั้นค่อยไปว่ากันทางการเมือง

ถ้าคุณอยากจะยึด ทรัพย์คุณทักษิณ คุณรัฐประหารล้มเขาแล้ว คุณออกประกาศยึดไปเลย แล้วจะเอาหลักฐานอะไรก็ทำไป ส่วนในอนาคตถ้าคุณจะนิรโทษกรรมอะไร ก็เป็นเรื่องในอนาคตข้างหน้า แต่ถ้าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายก็ต้องเป็นเหตุผล

ผมกำลังจะบอกว่า เรากำลังเอา 2 เรื่องมาปนกัน เพราะการรัฐประหารมันเป็นเรื่องอำนาจ เป็นเรื่องปืน รถถัง มันเถื่อน เพราะมันไม่จำเป็นต้องให้เหตุผล แต่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการตามกฎหมาย มันใช้เหตุผล มันมีหลัก ใช้ความเชื่อไม่ได้ ถ้าไม่อย่างงั้นก็ไม่ต้องเรียน ไม่อย่างงั้นผมก็ไปเรียนวิชายิงปืนสิ ผมจะมาเรียนกฎหมายทำไม และถ้าผมเชื่อว่าใครทำผิดผมก็ยิงมันเลย ถ้ามันชั่วนัก

ผมจะบอกว่า ทั้ง 2 อย่างนี้มันเหมือนน้ำกับน้ำมัน มันไปด้วยกันไม่ได้ และถ้าเอามาผสมกันมันจะสร้างความเสื่อมให้กับตัวระบบที่เราสร้างขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำอะไร คุณก็ทำไปสิ ตั้งแต่ตอนที่คุณมีปืน แล้วคุณก็ยอมรับว่ามันเป็นความเถื่อน ยอมรับว่า ทำด้วยความหวังดี เพราะว่า ไอ้ระบบธรรมดามันใช้ไม่ได้ คุณก็ให้เหตุผลไป ผมจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันเป็นเรื่องของผม แต่เมื่อเข้าสู่กลไกทางกฎหมาย เกิดระบบรัฐธรรมนูญ คุณต้องทำตามหลัก จะเอาความเชื่อมาใช้ไม่ได้ แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าที่เราเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่ถูก นี่เราอยู่ในยุคของการพิสูจน์นะครับ

view