สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัยรุ่นเซ็งการเมือง ขอระบายทางเฟซบุ๊ค

จาก โพสต์ทูเดย์


ความตึงเครียดทางการเมือง ทำให้คนกรุงเทพที่ไม่มีส่วนรู้เห็น ต่างพูดไม่ออก และไม่กล้าแสดงทัศนคติแบบโจ่งแจ้ง แต่หันมาพูดกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

โดย...จิตติมา ชวลิตนิมิตกุล

ความตึงเครียดทางการเมือง ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้คนกรุงเทพที่ไม่มีส่วนรู้เห็น ต่างพูดไม่ออก และไม่กล้าแสดงทัศนคติ หรือแสดงออกแบบโจ่งแจ้ง แต่หันมาพูดกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ค” ที่แม้จะระบายอารมณ์ด้วยความรู้สึกที่ร้อนแรง  ก็ไม่ต้องกลัวไปกระทบกระทั่งกับใคร

วรรณพร นามเสถียร ผู้อาศัยในกทม. อายุ 30 ปี กล่าวว่า ตอนนี้เฟซบุ๊ค เป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นของคนไทยที่มีต่อปัญหาการเมือง ทำให้ทราบว่าเพื่อนๆคิดเห็นกันอย่างไร เพราะในชีวิตจริง เพื่อนๆไม่ได้ไปประท้วง หรือออกไปต่อต้าน หรืออาจจะไม่กล้าคุยกับใคร ก็เลยมาโพสต์ความเห็นในเว็บไซต์

วรรณพร บอกว่า ส่วนตัวยังดีที่เพื่อนๆส่วนใหญ่คิดเห็นไปในทางเดียวกันเลยไม่รู้สึกอึดอัด แต่ก็พอรู้ว่าบางคนที่อาจคิดเห็นแตกต่างก็จะงดคอมเมนท์ เพราะไม่อยากทะเลาะกัน แต่จริงๆก็ไม่อยากให้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะว่ากันไปว่ากันมา ไม่รู้จบ ไม่มีที่สิ้นสุด

“คนหนึ่งมาโพสต์ คนที่เหลือก็จะมาแสดงความเห็นต่อๆกัน ยาวเหยียด ส่วนใหญ่ที่โพสต์กันก็คือ เดินทางไม่สะดวก ไปไหนมาไหนลำบาก ไม่อยากให้ม็อบประท้วง อยากให้กลับไป จริงๆก็ชอบอ่านเพราะได้รู้ว่าใครคิดอะไร แต่ใจหนึ่งก็ไม่อยากให้โพสต์นะ ไม่อยากให้ว่ากัน” น.ส.วรรณพร กล่าว

ณฐวรรณ ฉิมถาวร อายุ 25 ปี กล่าวว่า เฟซบุ๊คตอนนี้ กว่า 80% ของเรื่องที่คุยกันจะเป็นเรื่องการเมือง ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มต่างๆที่ตั้งกันขึ้นมา ทั้ง “we love Thailand”  “กลุ่มหยุดทำร้ายประเทศไทย” “เครือข่ายสันติวิธี” โดยผู้ก่อตั้งกลุ่มเหล่านี้จะอัพข้อมูลเรื่อยๆ ทั้งให้ข้อมูลและแสดงความเห็น ตอนแรก กลุ่มเหล่านี้ขานรับ มีมุมมองเชิงบวกกับการประท้วง แต่หลังๆพอกระแสเริ่มจางกลุ่มเหล่านี้ก็แสดงความเห็นน้อยลง

“ส่วนตัวใช้เฟซบุ๊คบ้างในการแสดงความคิดเห็น แต่บางทีการเมืองมันก็เข้ามาในสังคมโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กมากเกิน บางทีก็ดี ที่ได้เห็นความเห็นคนอื่น แต่บางทีมันก็หนักสมอง เรียกว่า วัยรุ่นเซ็ง” งานการไม่ต้องทำ

จุฑามาศ ปิยจารุลักษณ์ อายุ 21 ปี กล่าวว่า เป็นนักศึกษาเพิ่งเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.เป็นวันแรกที่ถูกเรียกตัวไปเริ่มฝึกงานบริษัทย่านสะพานควาย 3 เดือน ถ้าฝึกงานเสร็จก็จะได้เข้าทำงาน   แต่ปรากฎว่าคุณพ่อไม่ยอมให้ไป เพราะเป็นห่วงกลัวไม่ปลอดภัย ก็เลยยังไม่ได้เริ่มทำงานเสียที

“การชุมนุมประท้วงทำให้เรารำคาญ ถ้าเป็นวัยรุ่นอย่างพวกเรา ก็ไม่ได้รับความสะดวก ถ้าเป็นคนรุ่นพ่อแม่เราที่อายุ 40-50 ปี ก็เป็นห่วงลูก ก็เลยกลายเป็นสร้างความอึดอัดให้วัยรุ่นไป ชาวบ้าน ชาวช่องที่ไม่ได้เป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เดือดร้อน อยากให้เขาไปชุมนุมกันแถวชายแดน เพราะกรุงเทพเป็นเมืองธุรกิจ เศรษฐกิจต้องเติบโต ภาพลักษณ์ไม่ดี ความเชื่อมั่นในประเทศไทยก็ตก” น.ส.จุฑามาศ กล่าว

 

view