สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลื่นนี้ไม่มีสี (แถมไม่มีเส้น)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี


ในวันที่วิทยุ ชุมชนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อ "ยุแยง" ให้ "แตกแยก" ก็ยังมีคลื่นวิทยุอีกไม่น้อยที่เป็นคลื่น "เพื่อชุมชน" จริงๆ

นับตั้งแต่ ภาคประชาชนสามารถ "เข้าถึง" คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ได้อย่างเสรี (และอนุญาตให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้ ไม่เกิน 6 นาที/ชั่วโมง เมื่อปลายปีพ.ศ. 2547) ทำให้วันนี้ เรามีสถานีวิทยุชุมชนมากกว่า 7,000 สถานี โดยมีเครือข่ายสถานีวิทยุชุมชนที่ดำเนินการตามหลัก การและหลักเกณฑ์วิทยุชุมชน มีจำนวนเพียง 200 สถานีเท่านั้น

ยิ่งในวันที่หมุนคลื่นไปทางไหนเราก็มักจะได้ยินแต่เสียงโฆษณาขายสินค้า หรือไม่ก็แสดงความเห็นทางการเมือง จนทำให้หลายคนมองว่าคลื่นความถี่กลายเป็นเครื่องมือสนองประโยชน์สำหรับเจ้า ของสถานีไปโดยปริยาย ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น "วิทยุชุมชน" เปลี่ยนให้สังคม "ดีกว่า" ได้อีกตั้งเยอะ

คลื่น "ชุมชน" สู่ "สังคม"

"วิทยุชุมชนเป็นอะไรที่มากกว่า เครื่องมือการสื่อสารเฉพาะกลุ่มคน" น้ำเสียงนั้นย้ำชัดเจน

ไม่ว่ายุคสมัยไหน "สื่อ" ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงอนุภาพที่สุดทางหนึ่งในการเผยแผ่ข้อมูลให้ออกไปสู่ สาธารณะ อย่างที่เขาเคยเจอมากับตัวเมื่อราว 30 ปี ก่อน ปัญหาเรื่องท่อก๊าซไทย-พม่า ในพื้นที่ จ. กาญจนบุรี ก็ถูกสะท้อนออกมาเพราะสื่อชาวบ้านอย่าง "วิทยุชุมชน"

"ตอนที่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีใครเปิดโอกาสให้เรานำเสนอข้อมูลจากฝั่งชาวบ้านเลย เพราะเวลาเขานำเสนอข้อมูลก็ออกตามสื่อต่างๆ ขณะที่เรามีแค่เครื่องขยายเสียง ใบปลิว แผ่นพับ สู้กันตามมีตามเกิด" ภาพการตระเวณขับรถติดเครื่องขยายเสียงไปตามหมู่บ้านเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกรณีท่อก๊าซยังติดตาของ บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี มาจนถึงทุกวันนี้

หลังจาก มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 (ปัจจุบันคือ มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550) ซึ่งมีเนื้อหากำหนดให้คลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ส่งผลทำให้ภาคประชาชนสามารถเข้าไปใช้คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 วิทยุชุมชนเสียงชุมชน จ.กาญจนบุรี ก็เกิดขึ้นในช่วงปลายปีพ.ศ. 2544 โดยเขาและชาวบ้านที่เคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อม กลายเป็นวิทยุชุมชนที่ทดลองออกอากาศเป็น สถานีแรกของประเทศไทย และเป็น "กระบอกเสียง" ของชาวจังหวัดกาญจนบุรีเรื่อยมา จนเกิดเหตุการณ์ "สั่งปิด" สถานีในเวลาต่อมา

"พวกผมก็ดื้อแพ่ง ไม่ยอมปิด ยื้อกันจนสื่อเริ่มให้ความสนใจ เราจึงได้โอกาสชี้แจงถึงข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในเวลาต่อมา" บุญส่งพูดถึงผลของการต่อสู้เรียกร้องในครั้งนั้น

วันนี้ ความเข้มแข็งของสถานีวิทยุชุมชนได้พัฒนาสักยภาพเพิ่ม ขึ้นจนกลายเป็น สถานีวิทยุชุมชนต้นแบบ จ.กาญจนบุรี โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาสถานีเป็นวิทยุบริการสาธารณะ (เช่น ออกอากาศในระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ)  ซึ่งเป็นการออกอากาศในพื้นที่ที่กว้างกว่าระดับชุมชน

"ผมอยากจะขยายกรอบจากการทำเพื่อชุมชน เป็นการทำเพื่อสังคม ซึ่งมันจะกลายเป็นหลักคิดที่ขยายวงกว้างไปได้ไกลกว่าแค่เรื่องของการบอกเล่า ข่าวสารของคนในชุมชน" สิ่งที่เขามุ่งหวังไว้ก็คือ การเปิดบริการให้วิทยุชุมชนกลายเป็นพื้นที่ สาธารณะ เหมือนอย่างที่วันนี้เขา และคณะกรรมการบริหารสถานีกำลังดำเนินการอยู่

"เรื่องร้องเรียน แจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือมีอะไรก็ส่งมาที่นี่หมด มันกลายเป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกคน มันงอกเงยออกไปมากกว่าการเป็นเครื่องมือสื่อสารของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น"

ถึงแม้วันนี้ กรอบการปฏิรูปสื่อของรัฐยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมก็ตาม แต่ในความรู้สึกของบุญส่งมองว่าตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องแสดงความจริงใจกัน แล้ว 

"วันนี้ภาครัฐก็ยังไม่คิดจะเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนเลย ทุกวันนี้วิทยุชุมชนเกิดขึ้นเกือบ 6,000 สถานี เมื่อกรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า วิทยุชุมชนสามารถมีโฆษณาได้ จะมีคนจากบริษัทใหญ่เข้ามาทำกิจการ แต่ผู้ทำวิทยุชุมชนจริงๆ มีอยู่เพียง 200 กว่ารายเท่านั้น มันยังเป็นการสื่อสารภายใต้เงินตรา เป็นการสื่อสารที่ไม่บริสุทธิ์ วิทยุชุมชนต้องทำขึ้นโดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่โดยบริษัทเอกชนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ...อย่างนี้ไม่เรียกวิทยุชุมชนหรอก" เขายืนยัน

    * เปลี่ยน "วิกฤติ" เป็น "โอกาส"

ภายใต้สถานการณ์คับขันมักมีโอกาสที่ยิ่งใหญ่แอบซ่อนไว้อยู่เสมอ คงเป็นคำนิยามที่ค่อนข้างเข้ากับกลุ่มคนทำวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ อยู่พอสมควร

เมื่อหลายปีก่อน ความแปรเปลี่ยนตามยุคสมัยที่ถาโถมเข้าสู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ใช้ชีวิตแอบอิงอยู่กับธรรมชาติ อย่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เองก็ตาม ครั้งหนึ่ง ผลกระทบของ "สมัยใหม่" ได้ทำให้วัฒนธรรมพื้นถิ่นของพวกเขาเข้าขั้น "วิกฤต"

"เด็กๆ รุ่นใหม่ ไม่อยากพูดภาษากะเหรี่ยง ไม่อยากแต่งตัวแบบกะเหรี่ยง เขาอายที่จะบอกว่าตัวเองเป็นโพล่ง" บุญ จันทร์ จันทร์หม้อ คุณครูชาวกระเหรี่ยงโพล่ง (หรือกะเหรี่ยงโปว์) ใน อ.ฮอด เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบรรดาลูกหลานในชุมชนของเขา

ในวันที่ คนที่รู้วัฒนธรรมของกะเหรี่ยงโพล่งเองกลับตีวงเหลืออยู่แค่กลุ่มผู้สูงอายุ ปัญหาวิกฤตเชิงวัฒนธรรมดังกล่าวจึงกลายเป็นประเด็นพูดคุยจนเกิดการรวมกลุ่ม ของคนโพล่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่าง กลุ่มชมรมโพล่ง อ.ฮอด และชมรมโพล่งอ.ดอยเต่า มาเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา กฐิน ผ้าป่า และกิจกรรมที่เน้นย้ำเรื่องวัฒนธรรมของชาวโพล่งถูกหยิบยกขึ้นมารณรงค์อย่าง สม่ำเสมอ แต่ก็ใช่ว่าจะได้ผล เพราะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชุมชนดั้งเดิม ก็ยังวนเวียนอยู่ในชาวโพล่งอยู่ไม่กี่กลุ่ม สถานีวิทยุชุมชน จึงกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารวัฒนธรรมให้ผู้คนหันกลับมาภาคภูมิใจ กับ "รากเหง้า" ของตัวเองอีกครั้ง

"เรามีการทอดผ้าป่าวิทยุชุมชนขึ้นเพื่อใช้สำหรับ ตั้งสถานีเมื่อต้นปีพ.ศ. 2548 ก็จัดรูปแบบรายการ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต เผยแพร่ภูมิปัญญา ภาษา วัฒนธรรม และสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนทั้งพี่น้องไทยและกะเหรี่ยงในพื้นที่ออก อากาศ" เขาบอก

รายการพูดคุยสลับกับเสียงเพลงจากศิลปินชนเผ่า กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการดึงความสนใจของผู้คน นอกจากนั้น สถานีวิทยุก็ยังเป็นแหล่งกระจายข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และชุมชนให้กับชาวบ้านได้รับรู้อีกด้วย

"ยอดขายเสื้อกะเหรี่ยงสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยครับ" เขายกตัวชี้วัดง่ายๆ

แม้จะมีปัญหาเรื่องของโฆษณาในตอนแรกๆ ของการดำเนินงาน และประสบปัญหาการถูกเรียกร้องการดำเนินการในลักษณะเดียวกับสื่อเชิงพาณิชย์ ทั่วไป อย่างการ ต้องออกอากาศตามที่เจ้าของเงินค่าโฆษณาต้องการ การกระตุ้นให้ผู้ฟังซื้อสินค้า หรือต้องยิงสป็อตตามที่ร้านค้ากำหนด เพราะความไม่เข้าใจของกลุ่มคนทำงาน ข้อตกลงที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาก็คือ การตัดเรื่องของโฆษณาออกไป และเปลี่ยนเป็นรูปแบบของการบริจาคแทน

"เรื่องเงินมันไม่เข้าใครออกใครนี่ครับ" อ.บุญจันทร์ยืนยัน

วันนี้ สถานีวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อน ในความรู้สึกของชาวโพล่งจึงเป็นเหมือนพื้นที่ของการมีส่วนร่วม และทำความเข้าใจ ระหว่างผู้คนในพื้นที่ ภายใต้หลักการ ของ-โดย-เพื่อชุมชน อย่างแท้จริง

    * คลื่นนี้ชื่อ "ละอ่อนเอฟเอ็ม"

"เวทีแห่งความคิด เวทีแห่งความฝัน เวทีที่สร้างพลังให้กับเด็กๆ ...

...วิทยุเด็กและเยาวชน เปิดโอกาสให้เด็กๆ ทุกคน ร่วมสานฝันอันงดงาม"

เสียงสปอตประจำสถานีวิทยุเด็กและเยาวชน จ.เลย จะดังขึ้นทุกครั้งที่เปลี่ยนรายการ ถือเป็นการตอกย้ำ ถึงหัวใจสำคัญของคลื่นที่เปิด “พื้นที่สาธารณะ” สำหรับเด็ก และเยาวชนได้มี "โอกาส" ส่งเสียงตัวเองให้บรรดาผู้ใหญ่ได้ยิน

สถานีวิทยุที่นี่ ใช้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือ/ช่อง ทางในการทำงานกับเด็กและเยาวชน ทั้งการรวมกลุ่ม การพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชน ตลอดจนเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นของเด็กๆ รวมถึงสร้างความเข้าใจระหว่างเด็ก และผู้ใหญ่ ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “เด็กบริหาร เด็กผลิตรายการ"

"เรามีกลุ่มเด็ก และเยาวชนตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงมหาวิทยาลัยมาช่วยกันจัดรายการที่นี่ค่ะ" แสงระวี ดาปะ หรือ เอ็ม นักศึกษาจากรั้ววิทยาลัยอาชีวะศึกษา จ.เลย ที่นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสถานีคนปัจจุบันอธิบายแนวคิดข้างต้น

"ผังรายการของสถานีเราจะมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม พยายามทำให้ครอบคลุมที่สุด ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข กฎหมาย การดำรงชีวิต รายการต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นจากความคิดของสมาชิกเองโดยจะมีพี่เลี้ยงจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กศน. วัฒนธรรมจังหวัด สาธารณสุข มาช่วยดูแลเรื่องรายละเอียดข้อมูลของแต่ละรายการ ที่สำคัญเราไม่เปิดเพลงตลาดตามใจคนดูนะคะ (ยิ้ม)"

ตารางการออกอากาศของสถานีจะมีทุกวันระหว่างเวลา 17.00 - 21.00 น. ซึ่งเธอยืนยันว่า งานส่วนใหญ่ในสถานีนั้นดำเนินงานด้วย 2 มือของเหล่าสมาชิกวัยละอ่อนกว่า 30 ชีวิต ที่โยงใยเป็นเครือข่ายเยาวชนขับเคลื่อนเสียงน้อยๆ ของพวกเขาให้ขยายวงกว้างออกไป และให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

"การบริหารจัดการทั้งกระบวนการของที่นี่เกิดขึ้นโดยตัวเด็กเองทั้งหมด ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายผลิตรายการ และฝ่ายติดตามประเมินผล ก็จะเป็นบรรดาเยาวชนอาสาสมัครที่อาศัยอยู่ใน อ.เมือง มาช่วยกันทำ นอกจากนี้เราก็จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับกลุ่มเยาวชนที่อยู่ตามอำเภอ ต่างๆ ด้วย เพราะเราจะมีกิจกรรมต่อเนื่องนอกเหนือจากตัววิทยุชุมชนที่พวกเราจัดอีก" เอ็มขยายความ

กิจกรรมในความหมายของเธอก็คือ กระบวนการเชิงสังคมต่างๆ เท่าที่เด็กๆ จะสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมเวทีสาธารณะ หรือกิจกรรรมรณรงค์ต่างๆ

"ทำให้เราโตขึ้น มองโลกกว้างขึ้นเยอะเลยค่ะ" เธอมองถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถานี ถึงแม้จะเกิดคำถามอยู่บ้างในตอนแรก แต่เมื่อได้ผ่านการทำงานไปได้สักระยะความสงสัยต่างๆ ก็ถูกลบออกไปจนหมด

ปัญหาของความเป็นเด็ก ทั้งเรื่องเล่น และเรื่องเรียน บางครั้งอาจจะทำให้สถานีวิทยุดูกระท่อนกระแท่นไปบ้าง แต่ก็ถูกทดแทนด้วยความตั้งใจที่มีอยู่ในตัวสมาชิกทุกคน

"เราก็พยายามพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนารูปแบบรายการอยู่ตลอด จะได้เป็นกระบอกเสียงของเด็กออกไปสู่สังคมได้" เอ็มย้ำถึงหัวใจสำคัญของสถานีวิทยุของพวกเธอ

    * ก้าวต่อไปของบ่อนอก

วันนั้น กระสุนหนึ่งนัดที่คร่าชีวิต เจริญ วัดอักษร หนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญในการเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมของวิทยุชุมชนบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เมล็ดพันธุ์ และสำนึกชุมชนที่เขาได้ก่อเอาไว้ทำให้สถานีวิทยุชุมชนบ่อวันนี้ มองข้ามไปไกลกว่าการเป็นกระบอกเสียงของคนในชุมชนเท่านั้น

"วันนี้เราไม่ได้หยุดแค่การจับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับชาวบ้าน เท่านั้น แต่ยังมีมิติของการให้ข้อมูลในแง่อื่นๆ ติดตามมาด้วย" พร พิพัฒน์ วัดอักษร พี่ชายที่มารับช่วงนายสถานีวิทยุชุมชนต่อบอกถึงความเปลี่ยน แปลงหลังจากเหตุการณ์วันนั้น

เขาเล่าถึงบทบาทของวิทยุชุมชนที่เปลี่ยนไปเป็น เหมือนเกลียวเชือกที่คอยเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ พัฒนาชุมชนของตนเองให้ดียิ่งขึ้น โครงการหลายๆ โครงการทยอยเกิดขึ้นโดยมีตัววิทยุชุมชนเป็นฟันเฟืองในการขับ เคลื่อน อาทิ เช่น โครงการสหกรณ์ออมทรัพย์ ร้านค้าชุมชน ธนาคารชุมชน ปั๊มน้ำมันชุมชน เป็นต้น

"แต่เราก็ยังมีการนำเสนอข่าวสารข้อมูลที่น่าสนใจอยู่เหมือนเดิมนะ"

สมาชิกราว 20 คนต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจัดรายการ แน่นอน ทุกคนเป็นอาสาสมัครที่ปลีกตัวจากงานหลักมาช่วยกันจัดช่วยกันทำ ความร่วมแรงร่วมใจที่เขามองว่าถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้วิถีชุมชน และความแข็งแรงของสถานีดำรงอยู่ต่อมาจนถึงวันนี้ได้

การพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปสำหรับตัวพรพิพัฒน์เองเป็นแนวทางที่วางไว้ ถึงวันพรุ่งนี้ของสถานีวิทยุ 8 ปีของการตั้งสถานี ยืนระยะไว้ที่กำลังส่ง 300 วัตต์ กับรัศมีแล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเอื้ออำนวย ถึงจะดูไม่ใหญ่ แต่ก็มั่นคงพอตัว
"ลอยตามลมไปก็ไกลอยู่นะครับ" เจ้าตัวเอ่ยติดตลก

view