สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนี ร้อน ไปนอน น่าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี


เที่ยวน่านด้วย 3 ล้อ ผ่อประเพณีปี๋ใหม่เมือง เยือนถิ่นไทลื้อ
 
คะเนตามสายตาตามลวดสลิงที่ผูก เป็นสะพานข้ามไปฝั่งตรงข้าม กับความโคลงเคลงของไม้กระดานดูจะไม่ใช่ปัญหาเท่ากับความสูงที่มองเห็นคนข้าง ล่างเหลือตัวเท่านิ้วหัวแม่มืออย่างนี้

"แน่ใจเหรอ...ไม้ข้างล่างมันผุแล้ว นะ" เสียงเตือนจากแนวหลังให้คิดถึงสภาพเนื้อไม้ที่ระบุถึงอายุการใช้งานมา "นาน" พอสมควร

ถึงมือจะถือกล้อง และจินตนาการถึงภาพมุมสูงกลางสะพานจะถ่ายทอดเส้นสายของแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านโดยมีแนวภูเขาเป็น ฉากประกอบที่ลงตัวผลักใจให้ก้าวออกไปหยิบวิวนั้นใส่เฟรมแล้ว แต่อีกอารมณ์ก็อดประหวั่นไม่ได้

"ตกลงไปต้องมีอะไรในตัวหักแน่ๆ " ใครอีกคนเสริม แม้จะมีเสียงเล่าว่าหน้าฝนน้ำจะสูงขึ้นมาเกือบปริ่มตัวสะพาน แต่น้ำน่านช่วงนี้ขอดลงแค่หน้าแข้งเท่า นั้น

เสียงถอนหายใจยาวหลังคำสำทับถึงความน่า หวาดเสียวให้พาตัวกลับมาเพื่อความปลอดภัยจะดีกว่า ก่อนนึกปลอบใจตัวเองว่าคงไม่เสียหายเท่าไหร่ หากจะลงไปคว้าภาพมุมเรียดผิวน้ำแทน

...อีกอย่างหนึ่ง อากาศร้อนอย่างนี้ น้ำเย็นๆ "เมืองน่าน" น่าจะดีกว่าอะไรๆ เป็นที่สุด

นั่งสามล้อ "ผ่อ" เมือง

 
ถึงวันนี้ "นันทบุรี ศรีนครน่าน" จะปรากฏกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เริ่มจะ "ฮิป" ขึ้นเรื่อยๆ จนใครต่อใครพากัน "เสียวใจ" ว่าหากปล่อยให้กระแส "อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" ล้นทะลักเข้ามาเรื่อยๆ ต่อไป อีกไม่นาน "น่าน" จะ "เสียสาว" เหมือนอย่าง "เอื้องเหนือ" รายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็เป็นได้

การสร้าง "วัฒนธรรมการท่องเที่ยว" ในแบบ "ชื่นชมธรรมชาติ ชื่นบานวัฒนธรรม" เพื่อรักษาอัตลักษณ์เมืองน่าน และพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนจึงมักถูกหยิบ ขึ้นมาเน้นย้ำอยู่เสมอ

อันที่จริงแล้ว เสน่ห์ของเมืองน่าน อยู่ที่ความ "ดั้งเดิม" ของสภาพบ้านเมืองโดยเฉพาะ "หัวแหวน" หรือ "เมืองเก่าน่าน" เป็นเขตเมืองประวัติศาสตร์ชั้นในแห่งดินแดนด้านภาคเหนือฝั่งตะวันออกมาแต่ อดีตนั้น นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามแล้ว ยังซ่อนเร้นปรัชญาแห่งวิถีพุทธเอาไว้มากมาย จนเคยมีคำกล่าวว่า น่าน เป็น

เมือง 7 ประตู 1 ร้อง 2 หนอง 12 วัด

วลีดังกล่าว ญาณ สองเมืองแก่น ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจังหวัดน่าน อธิบายถึงความหมายของสำนวนดังกล่าวไว้ว่า 1 ร้อง คือ ร้องพญาม๊ก ควาย อยู่บริเวณสามแยกถนนมหาพรหมตัดกับถนนเจ้าฟ้า (สามแยกด้านเหนือของวัดศรีพันต้น) คำว่า 2 หนอง คือ หนองแก้ว อยู่บริเวณด้านหลังร้านซิงเกอร์ กับร้านชูชีพสุโกศล และหนองขี้ม้า อยู่บริเวณ สภ.เมืองน่าน

สำหรับ 12 วัดนั้น ได้แก่ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร, วัดภูมินทร์, วัดพญาภู, วัดมิ่งเมือง, วัดศรีพันต้น, วัดพวงพยอม, วัดอภัย, วัดไผ่ เหลือง, วัดมณเฑียร, วัดมงคล, วัดหัวข่วง และวัดน้อย (อยู่บริเวณใต้ต้นโพธิ์ หน้าอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน)

ส่วน 7 ประตูเมือง ก็คือ ประตู ไชย บริเวณสี่แยกวัดกู่คำ ประตูน้ำเข้ม บริเวณสี่แยกหมอชูศักดิ์ ประตูหนองห่าน บริเวณสี่แยกสำนักงานพาณิชย์ จ.น่าน (หลังวัดศรีพันต้น) ประตู ปล่องน้ำ บริเวณสามแยกกำแพงเมือง (หน้าศูนย์อีซูซุ น่าน) ประตูท่าลี่ บริเวณสี่แยกเรือนจำ (ทางไปบ้านท่าลี่) ประตูเชียงใหม่ บริเวณสี่แยกบ้านพวงพยอม และประตูริม บริเวณหน้าชุมสายโทรศัพท์ ซึ่งปัจจุบันร่องรอยของประตูเมืองเก่ายังมีเหลือให้เห็นบางแห่งเท่านั้น

ความรุ่มรวยโบราณสถานของเมืองน่านนั้น เป็นที่รู้กันในหมู่นักเดินทางว่า เหมาะกับการ "ทอดน่องท่องเมือง" ขนาดไหน แต่สำหรับใครที่ไม่มีเวลาก็สามารถเลือกใช้บริการรถจักรยานสามล้อปั่นชมเมือง ก็ได้เช่นกัน

อดีต "สามล้อปั่น" เคยเป็นพาหนะรับจ้างที่สำคัญในเมืองต่างๆ ของไทย โดยเกิดจากฝีมือการประดิษฐ์ของคนไทยในปีพ.ศ. 2476 ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งดัดแปลงรถจักรยานสองล้อนำมาพ่วงข้างเข้ากับรถลากหรือรถเจ๊ก ก่อนจะพัฒนารูปแบบ และมีใช้แพร่หลายทั่วไป

สำหรับเส้นทาง สามล้อแอ่วเมืองน่านนั้นสามารถแบ่งเส้นทางตาม โครงการ "นั่งสามล้อ ผ่อเมืองน่าน" ของจังหวัด คือ นั่ง สามล้อ ผ่อเก้าวัด เส้นทางนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน และเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นถิ่นผ่านจิตรกรรมฝาผนัง นั่งสามล้อ ผ่อเวียงเก่า เส้นทางย้อนอดีตผ่านโบราณสถาน บ้าน วัด คุ้มเจ้าเมือง และตลาดสด นั่งสามล้อ ผ่อพระธาตุ เส้นทางนมัสการพระธาตุแช่แห้งสำหรับเสริมสิริมงคลให้กับคนปีเถาะ และชื่นชมความงดงามทางศิลปะล้านนากว่า 600 ปี และนั่งสามล้อ ผ่อเขาน้อย เส้นทางสักการะพระธาตุเขาน้อย ซึ่งบรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า และพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน รวมทั้งสามารถชมวิวเมืองน่านมุมสูงจากที่นี่ได้อีกด้วย

 

นันทบุรี ปี๋ใหม่เมือง

หากความสวยงามของโบราณสถาน และสถาปัตยกรรมในบริเวณตัวเมืองน่านถือเป็นของที่ "จับต้องได้" แล้ว ประเพณีพื้นถิ่นที่สะท้อนถึงขนบทางการดำเนินชีวิต และคติความเชื่ออย่างประเพณีสงกรานต์ล้านนา หรือ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ก็ต้องถือเป็นความงามที่ "สัมผัสได้" เช่นเดียวกัน

บทความเรื่อง สงกรานต์ : มองผ่านน้ำและชีวิต โดย อ.สมเจตน์ วิมลเกษม ครู คศ. 3 โรงเรียนสตรีศรีน่าน "หีบธรรมประจำเมืองน่าน" อธิบายคำว่า “สังกรานต์” (อ่านว่าสังขาน) ในล้านนาหมายความตรงกันกับ “สงกรานต์” ในขนบไทยกลาง เพราะมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สงฺกรฺานฺ ติ” ที่แปลว่าเคลื่อนไป หมายความว่า ในแต่ละปีจะมี "สังกรานต์-สงกรานต์" ถึง 12 ครั้ง แต่ครั้งที่มีความหมายที่สุด คือ การที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งปัจจุบันตกประมาณวันที่ 13 เมษายน การเข้าสู่ราศีดังกล่าว ถือเป็นการเริ่มปีใหม่ ทางล้านนาเรียกวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนว่า วันสังกรานต์ล่อง (อ่าน “วันสังขานล่อง”) เมื่อเริ่มเข้าสู่ราศีเมษแล้ว แต่ยังไม่เข้าเต็มราศี เรียกว่า วันเนา ซึ่งชาวล้านนานิยมเรียกว่า วันเน่า ซึ่งนานๆ ครั้งจะมีวันเนาสองวัน ถัดจากวันเนาจึงเป็นวันเถลิงศกที่ล้านนาเรียกว่า วัน พญาวัน

ในตอนเช้ามืดของวันสังกรานต์ล่องนี้ จะมีการจุด สะโพก (อ่าน “สะโป้ก”) กันสนั่นหวั่นไหว ผู้มีปืนว่ากันว่าปืนที่ยิงในวันนี้จะแม่นฉมังนัก นอกจากนี้สำหรับเด็กก็มีเรื่องเล่ากันว่า “ปู่ย่าสังกรานต์” จะ แต่งตัวด้วยชุดแดงทั้งคู่ สะพายย่ามขนาดใหญ่ปากคาบกล้องยาเส้น ถ่อแพล่องไปตามน้ำ ซึ่งเด็กๆ มักไปดักรออยู่ที่ท่าน้ำเพื่อดู “ปู่ย่าสังกรานต์” แต่ก็ไม่มีผู้ใดบอกว่าได้พบเห็น บุคคลทั้งสอง

วันสังกรานต์ล่องนี้ ประชาชนจะรอว่าพระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษเวลาใด เมื่อถึงเวลาจะมีการจุดพลุจุดประทัด ยิงปืนขึ้นฟ้า สมัยก่อนทางวัดจะมีการเคาะระฆังเป็นการเตือนว่าความไม่เที่ยงของโลกของชีวิต ได้เปลี่ยนไปอีกรอบหนึ่งแล้ว บางท้องถิ่นก็จะเตรียมหาน้ำพุทธมนต์หรือน้ำส้มป่อยน้ำอบน้ำหอมไว้เช็ดพรมตาม เนื้อตามตัวหรือใช้สระหัว ที่เรียกว่า "ดำหัว" เรื่องนี้มีตำราอีกต่างหาก เรียกว่าเช็ดกาลกิณีออกทิ้งไป เช็ดจัญไรออกทิ้งไป

บางแห่งก็จะหาค้อนหาไม้ไปเคาะตามต้นไม้ต้นดอก โดยถือว่าถ้าได้เคาะแล้วในปีนั้นต้นไม้ดังกล่าวจะมีลูกดกจะมีดอกบานงามในวัน นั้นหรือวันรุ่งขึ้นเป็นวันเตรียมข้าวของต่างๆ ไว้เพื่อทำบุญในวันต่อๆ ไป สิ่งที่จะต้องเตรียมก็มีเสื้อผ้าเพื่อนำไปคารวะดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ปู่ย่า ตายาย ครูบาอาจารย์ ผู้ที่เคารพนับถือ มีข้าวต้มขนม ผลไม้ ช่อ ทุง น้ำอบน้ำหอมกับเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ดอกไม้ธูปเทียน ด้ายสายสิญจน์ ดอกคำฝอย ดอกสารภี ส้มป่อย ตอนบ่ายจะพากันไปที่ท่าน้ำเพื่อหาทราย ขนทรายไปที่วัดเสร็จแล้วเด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ จะไปชุมนุมกันที่ท่าน้ำเกาะทรายหาดทราย (ถ้ามี) หากหมู่บ้านอยู่ใกล้แม่น้ำชาวบ้านจะมาชุมนุมกันอย่างสนุกสนานมาก มีการสาดน้ำรดน้ำกันด้วย (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ หน้า 6723 -6726)

บรรยากาศของการเฉลิมฉลองตามประเพณีล้านนานี้ อ.สมเจตน์ ยังมองว่าเป็นกุศโลบายของการแสดงออกถึงความมีเมตตาธรรมต่อกัน ของผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีและสร้างขวัญ กำลังใจในการดำรงชีวิตของคนในชุมชน การดูแลสุขอนามัยบ้านเรือน และเป็นประเพณีที่สอนให้คนล้านนารู้จักเตรียมพร้อม เตรียมการล่วงหน้า โดยอาศัยความเชื่อจากคำพยากรณ์สังกรานต์ล่อง

ทั้งหมดเป็น "นัย" ที่ซ่อนหลังความสนุกสนานที่มีมาแต่ช้านาน ซึ่งคนไทยหลายๆ คนอาจจะลืมเลือนไปนานแล้ว

เยือนชุมชนริมน้ำน่าน

นอกจากความน่าสนใจของ "เมืองเก่า" และ "ประเพณี" ที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้ชุมชนอีกหลายๆ แหล่งไม่ห่างจากตัวเมืองสำหรับผู้ที่มีสีเขียวในหัวใจแถมรางวัลการันตีให้ อีกต่างหาก

ที่ บ้านป่าศรีน่าน ในเขตอำเภอเมือง เป็นชุมชนท่องเที่ยวด้านการศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับรัฐ ด้วยการเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านท่ามกลางป่าไม้และไร่ชา เดินศึกษาธรรมชาติผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ชมความงามของน้ำตกดอยหมอก ห้วยหลวง และมีเต่าปูลูเป็นดาราคอยต้อนรับ

สำหรับใครที่ชอบบรรยากาศริมน้ำน่านก็สามารถมาถามหาความสดชื่น ของสายน้ำได้ที่ บ้านหาดผาขน จุดพักการเดินทางของชาวเมืองน่านในสมัยก่อน ที่ต้องมาขนสัมภาระลงบริเวณนี้ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านในที่สุด ร่วมเรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ ผ่านวังปลาทั้ง 6 แห่งในหมู่บ้าน เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาหายาก ล่องแพทานอาหารพื้นบ้านพร้อมชื่นชมความงดงามของสายน้ำน่านตลอดระยะกว่า 6 กิโลเมตร ด้วยความโดดเด่นของชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างนี้ ที่นี่จึงได้รางวัลชุมชนดีเด่นทางการท่องเที่ยวปี 2550 มารับประกันคุณภาพให้ผู้มาเยือนมั่นใจได้

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนไทลื้อที่อพยพมาจาก 12 ปันนา ที่ บ้านร้องแง อำเภอปัวให้กับคนที่ชอบเรื่องราวของวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่นี่มีจุดเด่นอยู่ที่การอนุรักษ์อัตลักษณ์ สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งภาษาถิ่น พิธีกรรมทางศาสนา ประเพณี และสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

..................

เสียงสายน้ำคละเคล้าความสดใสของเด็กๆ ที่กำลังเพลิดเพลินกับการเล่นน้ำดูจะลดอุณหภูมิความร้อนของอากาศกลางวันนี้ ได้เป็นอย่างดี แพหลายลำทยอยเทียบท่าหลังจาก "ครบรอบ" ของการท่องลำน้ำน่านมาหมาดๆ ภาพความงามทางธรรมชาติ และรอยยิ้มของเหล่าเจ้าถิ่นตัวน้อยดูจะทดแทนความเสียดายภาพมุมสูงเมื่อครู่ ได้พอสมควร

เมื่อเก็บความประทับใจได้พอกับความต้องการพลางหันหน้าจะกลับขึ้นฝั่ง ภาพใครบางคนกำลังโพสต์ท่าถ่ายภาพบนสะพานสูง กับเสียงหยอกเอินกันยังดังแว่วมาให้ได้ยินอยู่ตรงหน้าที่คล้ายกับเจ้าของคำ เตือนเมื่อครู่ ก็เปลี่ยนสีหน้าเจ้าของกล้องไปโดยอัตโนมัติ

"ไหนว่ากระดานจะผุไง ตัวเองไปกระโดดอยู่บนสะพานเองซะอย่างนั้น"

 

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ หากเดินทางโดยรถยนต์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32 มาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้เส้นทาง 117 จนถึงจังหวัดพิษณุโลก และจากจังหวัดพิษณุโลกให้ใช้เส้นทางหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร

กรณีที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีรถโดยสารทั้งธรรมดาและปรับอากาศ ออกเดินทางไปจังหวัดน่านทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2537-8055 ส่วนรถโดยสารของบริษัทเอกชน ติดต่อได้ที่บริษัทแพร่ทัวร์ โทร. 0-2245-2369, 0-2245-1679 และบริษัทถาวรฟาร์ม โทร. 0-2282-3341-5 บริษัท สมบัติทัวร์โทร. 054-711-078, 0-2570-9030

สำหรับคนรักรถไฟ ถึงจะไม่มีรถไฟไปน่านโดยตรง แต่มีรถออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) ทุกวัน จากอำเภอเด่นชัยสามารถต่อรถโดยสารประจำทางมาลงที่จังหวัดน่านได้ โทร.0-2621-8701

สะดวกที่สุดเห็นจะเป็นเครื่องบิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิมีสายการบินนกแอร์ เปิดให้บริการวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และ อาทิตย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.1318, 0-2900-9955 หรือ www.nokair.com

view