สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

180 นาที หลีกหนีอัมพาต

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


โดย : สาลินีย์ ทับพิลา

ปวิตร สุภานันท์ วัย 53 ปี มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง หลังจากกรำแดดร้อนตลอดวัน ตกเย็นเขารู้สึกชาซีกขวาแขนขวาหมดแรง สร้างความตกใจให้กับครอบครัว

มีนาคม ปีที่แล้ว “ปวิตร สุภานันท์” วัย 53 ปี เดินทางจากอยุธยาตั้งแต่ตี 4 เพื่อเข้าประชุมเรื่องการรับเหมาก่อสร้างที่พักผู้ติดตามรัฐมนตรีที่รัฐสภา ในกรุงเทพ การประชุมยืดเยื้อไปจนบ่ายคล้อยจึงเสร็จสิ้น

 ปวิตร พาร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงฝ่าอากาศร้อนแวะนวดจับเส้น ก่อนเข้าที่พักย่านสุทธิสารเปิดแอร์เย็นฉ่ำ แต่กลับพบว่า ร่างกายผิดปกติไป เขารู้สึกชาซีกขวาแขนขวาหมดแรง สร้างความตกใจให้กับครอบครัว ก่อนที่จะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

 “ตอนนั้น ถือว่าโชคดีที่ผมอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล ทำให้รีบมารับการรักษาได้ทันใน 180 นาที ที่โชคดีกว่าคือ ได้เข้ารับการรักษาที่สถาบันประสาทวิทยา หลังตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอพบเส้นเลือดที่สมองด้านซ้ายตีบประมาณ 1 ซม.” อดีตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบบอกเล่า

 ปวิตรได้รับยาละลายลิ่มเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ภายใน 180 นาทีหรือ 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เรียกว่า เส้นยาแดงผ่าแปด หากล่าช้ากว่านั้นเขาอาจเป็นอัมพาตถาวรไปแล้ว

 นพ.มัยธัช สามเสน ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยากล่าวว่า 180 นาทีถือเป็นช่วงเวลาดีเดย์ สำหรับการให้ยาละลายลิ่มเลือด มิเช่นนั้นอาจจะพิการถาวร เสียชีวิตได้

 “แน่นอนว่า คนไข้ส่วนมากมักจะมาไม่ทันเวลา 180 นาที ด้วยเหตุจำเป็นบางประการ บางคนใช้เวลาครึ่งวันหรือ 1 วัน กว่าที่จะถึงมือหมอ แม้จะไม่สามารถใช้ระบบเส้นทางสายด่วนให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ แต่ก็มีหมออภิบาลจากหน่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) มาวินิจฉัยและสังเกตอาการและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและให้การรักษาได้ทันท่วงที” ผอ.สถาบันประสาทวิทยาชี้

 กระนั้น ผู้ป่วยที่สามารถมาทันใน 180 นาทียังต้องผ่านการคัดกรองข้อห้ามหรือเงื่อนไขของการให้ยาละลายลิ่มเลือด ก่อน

 นพ.มัยธัชอธิบายว่า กลุ่มที่จะต้องระมัดระวังในการให้ยาคือ คนที่อาการหนักมาก หรืออาการดีขึ้นในระยะเวลาอันสั้น คนที่ความดันสูงหรือต่ำมากเกินไป คนที่ได้รับการฉีดยาละลายลิ่มเลือดมาแล้วในเวลาไม่นาน และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อนหน้านี้ หากแพทย์ตรวจพบจะไม่ให้ยาดังกล่าว

 ปกติ ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและตรวจเงื่อนไขต่าง ๆ จะใช้เวลาประมาณ 120 นาที แต่สำหรับสถาบันประสาทวิทยาสามารถใช้เวลาเพียง 54 นาทีและมีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพในการรักษาโดยใช้เวลาตรวจให้น้อยลง โดยการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์มาย่นเวลา และเพิ่มศักยภาพการรักษาอย่างเครื่องสแกนซีจี 64 สไลด์

 ผู้เชี่ยวชาญระบบสมองกล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ หญิงที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หญิงวัยดังกล่าวเป็นช่วงอายุที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และความเสี่ยงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง ความเครียด เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง และการสูบบุหรี่

 โรคหลอดเลือดสมองส่งผลต่อคุณภาพชีวิต นอกจากการเสียชีวิตแล้ว ผู้ป่วยบางคนแม้ได้รับการรักษาแต่ก็พิการรุนแรง บ้างไม่รู้สึกตัว บ้างรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ บางคนอาจขยับเขยื้อนได้บางส่วน ช่วยตัวเองได้ หรือทำงานแบบชนิดไม่ต้องใช้แรงมากได้บ้าง เหมือนกับกรณีของคุณปวิตรที่ปัจจุบัน ร่างกายเริ่มมีกำลังแล้ว แต่ยังไม่สามารถบังคับมือ-ขาด้านขวาให้ขยับได้ดังใจต้องการ

 คุณปวิตรยังได้รับกำลังใจจากครอบครัว ทำให้ไม่มีผลต่อจิตใจ ต่างจากผู้ป่วยอีกหลากหลายที่พบว่า เครียด และมีภาวะซึมเศร้าปรากฏอีกด้วย

 “นอกจากผลด้านร่างกายและจิตใจ ยังมีผลกระทบใหญ่นั่นคือ การเงิน” นพ.มัยธัชชี้ เพราะนอกจากค่ารักษา ค่ายาที่แพงระยับแล้ว บางครอบครัวต้องจ้างคนมาดูแลผู้ป่วยอีก เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปเดือนละ1-2 หมื่นบาท

 จากสถิติรวบรวมโดยสถาบันประสาทวิทยาพบว่า ตัวเลขผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 1 เท่าตัวและมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น 60% โดยมากมักเกิดจากความดันโลหิตสูงจากการรับประทานอาหารเค็ม โรคเบาหวานที่เกิดจากการกินหวาน ไม่ออกกำลังกาย รวมถึงความเครียด และการสูบบุหรี่

 “การป้องกันที่ดี ควรจะเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายต่อเนื่อง 30 นาทีต่อวันหรืออย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป รับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใยสูง ลดอาหารเค็ม อาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และบุหรี่” ผอ.สถาบันประสาทวิทยาแนะนำ

 ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ลุงปวิตรวัย 54 ปีในตอนนี้ ที่รักษาร่างกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองจนทำให้ร่างกาย ฟื้นตัวได้เร็ว

 “ตอนนี้ผมดูแลตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ออกกำลังกายเลย อาหารก็กินตามใจปาก ใครเอาอะไรมาให้ก็กิน คิดว่าตัวเองแข็งแรง ไม่ตรวจสุขภาพ ไม่ดูแลตัวเอง แต่ตอนนี้เน้นอาหารเพื่อสุขภาพ งดเค็ม งดทำอาหารด้วยน้ำมัน และออกกำลังกายให้เลือดสูบฉีดตามที่หมอแนะนำ” คุณลุงปวิตรเล่าด้วยสีหน้าสดใส ก่อนที่จะขยับแข้งขยับขาให้ดูเป็นขวัญตาว่า

 อดีตผู้ป่วยที่ดูแลตนเองอย่างดีมีพัฒนาการอย่างไร

view