สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจ พนา ทองมีอาคม จาก กสช. ถึง กทช. 4 ปีที่สูญเปล่า-ทีวีดาวเทียม และ กสทช.

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์



หลังคณะ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ชุดใหม่ จำนวน 4 คน เริ่มเข้าทำงานเป็นทางการในวันที่ 2 มี.ค. 2553 ที่ผ่านมา รวมกับ กทช.เดิมอีก 3 ทำให้ กทช.ชุดนี้ครบองค์ประกอบและมีอำนาจเต็มในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยไม่มีข้อครหาเหมือนชุดเดิมที่อยู่ในสถานะรักษาการ

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา "กทช." ใหม่มีนโยบายสำคัญ ๆ ออกมาหลายเรื่อง เช่น การกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายชั่วคราวระหว่างผู้ให้บริการมือถือที่ อัตรา 0.50 บาท/นาที อัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานกับโทรศัพท์ เคลื่อนที่ที่ 0.49 บาท/นาที เป็นต้น

รวมทั้งการทำหนังสือแจ้งให้ "ทีโอที" จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพิ่มหลังศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และชี้ว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อลดส่วนแบ่งรายได้กับเอไอเอสไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ซึ่งโดยเนื้อแท้ของคำสั่งดังกล่าวคือการบีบให้ทีโอทีดำเนินการเรียกร้องเงิน ส่วนที่ได้ปรับลดส่วนแบ่งรายได้คืนจาก เอไอเอสนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังประกาศเดินหน้าออกใบอนุญาตมือถือ 3G กำหนดกรอบเวลาในการเปิดบริการ "คงสิทธิเลขหมาย" และใบอนุญาต Wi-Max ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะทำได้จริงหรือไม่

"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม" 1 กทช.ชุดใหม่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทั้งเคยได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แห่งชาติ (กสช.) ชุดที่ถูกศาลปกครองเพิกถอนในปี 2549 เนื่องจากมีปัญหาในขั้นตอนการสรรหา ทั้งเคยทำหน้าที่อยู่ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อีก ด้วย

มีรายละเอียดดังนี้

- กม.กสทช.ที่กำลังจะออกมา มีผลกับการทำงานของ กทช.ชุดนี้หรือไม่

การใช้อำนาจของ กทช.เปรียบเสมือนการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อกฎหมายให้อำนาจในการทำงาน ก็ต้องทำหน้าที่ตามที่ตนมีอำนาจดูแล และการผลักดันนโยบายสำคัญ เช่น การออกใบอนุญาต 3G ไม่ จำเป็นต้องทำงานโดยพะวงว่าต้องรอ กม. ใหม่ให้เสร็จ เพราะ ก.ม.เดิมมีผลบังคับใช้อยู่ การรออย่างไม่มีอนาคต สร้างความ เสียหายแก่ประเทศชาติมากกว่า

- กทช.ชุดใหม่ที่มีส่วนผสมของชุดเดิมอยู่เป็นอย่างไร

ผมว่ามีส่วนผสม ที่ดี ตอนนี้เรามีผู้ที่มีความรู้ทางเทคโนโลยี 2 ท่าน คือ ศ.ดร.ประสิทธิ์ (ประพิณมงคลการ) กับ พ.อ.ดร.นที (ศุกลรัตน์) แล้วก็มีอาจารย์ สุธรรม (อยู่ในธรรม) ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่เก่งมาก มีท่านบัณฑูร (สุภัควณิช) เชี่ยวชาญด้านการเงิน การงบประมาณ และการบริหาร มีท่านสุรนันท์ (วงศ์วิทยกำจร) ซึ่งมีประสบการณ์ในฐานะเลขาฯ กทช.มาก่อน ในฐานะผู้บริหารองค์กรแบบนี้ รวมทั้งท่านสุชาติ (สุชาติเวชภูมิ) ที่เป็น ผู้รู้ทางด้านเทคโนโลยีและการประชาสัมพันธ์

การประชุมร่วมกันไม่กี่ ครั้งที่ผ่านมา ผมเห็นที่ประชุมทำงานร่วมกันได้อย่างดี และสามารถตัดสินใจอะไรได้เยอะเลย ถ้าเทียบกับการตัดสินใจขององค์กรอื่น ๆ มีความเป็นนักบริหาร เพราะนักบริหารก็คือการตัดสินใจและแก้ปัญหา

- อาจารย์เองก็เชี่ยวชาญด้านบรอดแคสติ้ง

ผมก็มั่นใจว่าอย่างนั้น แต่ว่าพื้นฐานก็ไม่ได้ถึงขนาดสูญเปล่าทางด้านโทรคมนาคม เนื่องจากสื่อหลอมรวมกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของ 3G ตัวบรอดแคสจะมาวิ่งบนเน็ตเวิร์กของโทรคมนาคม

ต้องเข้าใจว่าแต่ก่อน เป็นระบบอนาล็อก ก็วิ่งบนโครงข่ายของใครของมัน แต่พอมายุคดิจิทัล สัญญาณต่าง ๆ ถูกนำมาเข้ารหัส ทำให้เหมือนกันหมด ทั้งภาพ เสียง การเคลื่อนไหว พอกลายเป็นดิจิทัลโครงข่ายเทเลคอม บรอดแคสติ้ง เชื่อมต่อกันหมด ฉะนั้น ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าเคเบิลทีวีให้บริการบรอดแบนด์ได้ ให้บริการโทรศัพท์ได้ ขณะที่โทรศัพท์ก็ให้บริการ บรอดแบนด์ได้ กำลังจะให้บริการ TV ได้ ถ้า 3G เกิดขึ้น

มันอาจเป็นประโยชน์แก่ สังคมมหาศาล ความเชี่ยวชาญของกรรมการ กทช.จำเป็นต้องมีคนที่มีความรู้ด้านบรอดแคสเข้ามาดูด้วย โดยเฉพาะเรื่องคอนเทนต์และธุรกิจด้านบรอดแคสติ้ง

- ทำไมลงสมัคร กทช.

ผมเชื่อมั่นว่ามีความรู้ความสามารถที่จะทำหน้าที่เป็นประโยชน์ แก่ประเทศชาติได้ ประกอบกับเกิดการหลอมรวมของเทคโนโลยี ผมก็มองเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะมาดูแลในช่วงเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างโทร คมนาคมกับกิจการกระจายเสียง ช่วงการส่งถ่ายอำนาจระหว่าง กทช.กับองค์กรใหม่ที่จะเกิดมาในอนาคต

ถ้าเรานึกถึงครั้งที่ศาล ปกครองพิพากษาเพิกถอนการสรรหา (กสช.) ท่านได้แนะนำให้ดำเนินการสรรหา แล้วสำนักงานปลัด สำนักนายกฯในครั้งนั้นก็เตรียมการสรรหาแล้ว แต่กลับมีผู้ขอให้ชะลอไปก่อน เพื่อรอกฎหมายใหม่ ก็ชะลอมาตั้งแต่ปี 2549-2553

นี่คือ 4 ปีที่สูญเปล่า

- ตอนสมัคร กสช.กับ กทช.ต่างกันอย่างไร

ไม่ต่างกันในแง่กระบวนการ แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในแง่ที่ยอมรับความจริง ว่าการเอาแพ้เอาชนะกันไม่ได้นำไปสู่บทสรุปที่ดีของประเทศ กระบวนการที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรชี้ขาดต่าง ๆ ก็มีความเข้าใจถึงผลกระทบ และดำเนินการเร็วขึ้น ในยุคนั้นมีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีคอนเซ็ปต์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของศาลปกครององค์กรอิสระต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มี

ฉะนั้น ถ้าเราใช้การสรรหา กสช.เป็น บทเรียน จะเห็นว่าผลของมันทำให้ประเทศชาติชะงัก ทำให้ไม่มีองค์กรอิสระดูแลด้านวิทยุกระจายเสียงที่มีอำนาจเต็ม นำมาสู่ปัญหาเรื่องวิทยุชุมชนที่มีมากมายเต็มไปหมด นำไปสู่กิจการเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียมที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ถูกต้อง แล้วก็ไม่ได้มีการกำกับดูแล

ในส่วนเนื้อหาเราจะเห็นว่าเป็นบ่อเกิดของโทรทัศน์การเมืองที่เป็น ต้นตอของความแตกแยกและบาดแผลที่อาจจะถาวรในสังคมทุกวันนี้

- เป็นปัญหาจากการล้มกระบวนการสรรหา กสช.

เพราะเราล้ม ในครั้งนั้นหลายฝ่ายที่มีความเห็นแย้งกัน ต่างก็ประสงค์จะปฏิรูปสื่อทั้งนั้น แต่ผลจากการขัดแย้งกัน จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา สื่อไม่ได้รับการปฏิรูปและยังเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

- ถ้าตอนนั้นมี กสช.จะไม่มีทีวีเสื้อแดง เสื้อเหลือง

ผมไม่เชื่อว่าจะ มี เพราะมันจะเกิดไม่ได้ ต้องมีคนเข้าไปดำเนินการ นอกจากนั้น ผมมองว่ามันมีปัญหาเรื่องการไม่ยอมดำเนินการต่างหาก อันนี้ผมขอตำหนิองค์กรที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่สรรหา เพราะในขณะที่กฎหมายใหม่ยังไม่มี กฎหมายเก่าย่อมมีผลบังคับใช้ การอ้างว่ารอกฎหมายใหม่เป็นสิ่งที่ไม่ควร ที่ผ่านมาเราเสียเวลาไปหลายปี และไม่มีคนรับผิดชอบด้วย

- ธุรกิจสื่อสารก็มีผลประโยชน์มหาศาล มีผลกับการวางตัวของ กทช.

การระมัดระวังเป็นเรื่องจำเป็นและต้อง มี แต่เราเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร จะไม่เหมือนองค์กรอิสระอื่น ถ้าไปดู ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในด้านตรวจสอบ หรือองค์กรที่เกี่ยวกับตุลาการ ซึ่งต้องเคร่งครัดมาก แต่เราเป็นองค์กรบริหาร ซึ่งไม่สามารถแยกตัวเองออกมาจากสังคมได้ หรือออกจากโอเปอเรเตอร์ หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เราจะเป็นองค์กรที่เปิดมากกว่าองค์กรอื่น แต่ต้องระมัดระวังเรื่อง ผลประโยชน์ขัดแย้ง หรือการกระทำที่มีลักษณะไม่โปร่งใส

ฉะนั้น การกระทำ หรือบริหารของ กทช.ต้องเป็นการกระทำในที่แจ้ง มองเห็นได้ เอกสารต่าง ๆ ของเรา โดยปรัชญาแล้วต้องสอดคล้องกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการ

นอกจากนี้ เรายังเป็นองค์กรที่ถูกตรวจสอบในเบื้องต้นเลย คือวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลองค์กรอิสระอยู่แล้ว อันที่ 2 ถูกตรวจสอบโดย คตง.เรื่องการใช้เงิน และ ป.ป.ช.เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

- ตั้งเป้าหมายการทำงานไว้อย่างไร

ไม่ได้ตั้งเป้าอะไร จะดูว่าตอนนี้บ้านเมืองต้องการเรื่องอะไรมากกว่า ทั้ง 7 คน แบ่งเรื่องที่จะดูแล ส่วนของผมได้รับมอบหมายให้เข้าไปดูเรื่องบรอดแคสติ้ง และ IC (Interconnection charge) การมีอุปสรรคเรื่อง IC จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ทำให้ทรัพยากรของประเทศนำมาใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ถ้าเรามองโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดจะเหมือนกับโครงข่ายทางด่วน ถ้าทางด่วนไม่เชื่อมต่อกัน ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้จากการขนส่งเดินทางจะลดลงไปทันที

การเชื่อม 2 ระบบเข้าด้วยกันไม่ใช่ 1+1 เป็น 2 แต่จะทวีคูณกว่านั้น

- IC ชั่วคราวจึงออกมาได้

จะมีความคืบหน้าไปเรื่อย ๆ เมื่อเคลียร์เรื่องเก่า ๆ ที่ค้าง ก็จะมีปัญหาอื่นตามมาในอนาคต ก็เหมือนกับทำทางด่วนเสร็จแล้ว เชื่อมกันแล้ว แต่ไม่เปิดประตูเข้าหากัน เพราะยังเกี่ยงเรื่องค่าผ่านทาง ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขได้

การ ตัดสินของ กทช.เป็นการตัดสินชั่วคราว เพื่อยังประโยชน์ให้ผู้ใช้บริการ ในระยะยาวเราปรารถนาให้ผู้ให้บริการตกลงกันเอง เราจะสงวนการใช้อำนาจ เมื่อเห็นว่าผู้รับบริการเสียประโยชน์เท่านั้น เรื่องที่ค้างเจรจามาเป็นปี แต่ตกลงกันไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจ

- 3G, MNP และ Wi-Max จะเสร็จ หรือไม่

อาจจะมาถึงจุดที่ใกล้เสร็จแล้วก็ได้

เรา อยู่ในสังคมประชาธิปไตย ความเห็นแย้งมี แต่การรับฟังความคิดเห็น ควรทำโดยความจริงใจ ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาทุกความเห็น บางความเห็นอาจได้รับฟัง และนำไปปฏิบัติบ้าง บางความเห็นอาจถูกเพิกเฉยบ้าง เราต้องใคร่ครวญ เพราะในที่สุดแล้ว กทช.ต้องเป็นคนรับผิดชอบ มันเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง มีการเมืองสูงมาก

ผมยก ตัวอย่างว่าจะมีคนพูดเสมอว่า กทช.ไม่ควรทำ ไม่มีอำนาจอย่างโน้นอย่างนี้ นั่นเป็นความคิดเห็น ถ้าเผื่อคิดว่า กทช.ไม่มี อำนาจ ก็น่าจะนำเรื่องไปสู่องค์กรชี้ขาด ไม่ว่า จะเป็นศาลปกครอง หรืออะไรก็ตาม แต่นี่ไม่ทำ แล้วไปให้ข่าวตลอดสังคมก็สับสน

ความจริง ถ้าคิดอย่างนั้น คุณเดินไปศาลปกครองเลย แล้วจะได้คำตอบ ถ้าศาลชี้ว่า กทช.ไม่มีอำนาจก็จบ สังคมก็ไม่งงไม่สับสน

ทุกอย่างต้องชัดเจน ต้องตอบคำถามได้ กทช.มี 7 คน ก็ถ่วงดุลกันเอง เมื่อใช้ดุลพินิจแล้วต้องตอบสังคมได้ เปิดให้ตรวจสอบได้

- ถ้า กทช.มีเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องโหวต

ใช่ เพราะต้องเดินหน้า การไม่ตัดสินใจ แย่กว่าการตัดสินใจที่ไม่ได้ผลสูงสุดนะ ทำผิดยังดีกว่าไม่ทำ เพราะอย่างน้อยรู้แล้วว่าผิด ในอนาคตจะได้ไม่ทำผิดอีก แต่การไม่ทำเลย ก็จะไม่รู้ตลอดไป

- อะไรเป็นอุปสรรคในการทำงานบ้าง

ตอนนี้ผม มองไม่เห็นข้อจำกัด ใน กรอบอำนาจที่กฎหมายให้มาชัดเจนว่า กทช. ทำงานได้ รักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้

- ตอนเป็นอนุฯมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเมื่อเป็น กทช.จะช่วยอย่างไร

มีปัญหาเรื่องหน่วยปฏิบัติ ตอนนี้ กทช. มอบหมายให้ผมดำเนินการเรื่องโครงสร้างชั่วคราวด้านกำกับกิจการวิทยุกระจาย เสียงวิทยุโทรทัศน์ เพื่อเป็นการสนับสนุนคณะอนุฯ เขาก็ประชุม ๆ แล้วออกประกาศฯ แต่ไม่มีคนรองรับ เหมือนผมเป็นนายพันสั่งโน่นสั่งนี่ แต่ไม่มีนายร้อยนายสิบ สั่งไปก็ทำอะไรไม่ได้ จึงต้องมีหน่วยปฏิบัติ เราจะแยกเป็นส่วนงานต่างหาก อาจมีฐานะเทียบเท่าสำนักใดสำนักหนึ่งของ กทช. เราไม่ได้มองว่าจะให้มีขนาดใหญ่โตจนเป็นภาระองค์กรในอนาคต เอาแค่เพียงพอที่จะรองรับงานของอนุฯในระหว่างที่ยังไม่มี กสทช.

- เรื่องบรอดแคสติ้ง ว่าจะทำอะไรบ้าง

ตั้งใจว่าจะดำเนินการเรื่อง เคเบิลทีวีก่อน เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาตมานาน เขาจะได้ไปขยายงาน เอาไปกู้เงิน เอาไปลงทุน

ในแง่ ก.ม.ชัดแจ้งว่าเป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ และในทางสังคมพวกนี้ก็มีรายการที่จะชอบหรือไม่ชอบ จะดีหรือไม่ดีไปสู่ครัวเรือนเยอะมาก เพราะเคเบิลทีวีเข้าถึง 3 ล้านครัวเรือน 1 ครัวเรือนมีคนดู 4-5 คนโดยเฉลี่ย จำนวนเยอะกว่าทีวีดาวเทียมที่มีประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

ถัดจากให้ใบ อนุญาตเคเบิล ก็คิดจะมาดูทีวีดาวเทียม หมดจากทีวีดาวเทียมก็มาเรื่อง IPTV แล้วต่อด้วยวิทยุบนอินเทอร์เน็ต

พวกนี้เป็นงานของอนุฯ แต่ใช้อำนาจของ กทช. ก.ม.ให้อำนาจ กทช.ทำ แต่ทำผ่านอนุฯ เพื่อให้ความเป็นอิสระเขา เมื่อเรามาเป็น กทช.ก็จะไม่ล้วงลูก แต่จะสนับสนุน ตรงไหนติดขัด เราแก้ให้

- เรื่องทีวีดาวเทียมอยู่ในการกำกับดูแลของ กทช.ด้วยหรือ

ตรงนี้มีความเห็นแย้งกัน ระหว่างอนุฯ กับอนุฯ อนุฯ กับ กทช.หรือแม้แต่ กทช. ด้วยกันเอง แต่โดยส่วนตัวมองว่าอยู่ในอำนาจของอนุฯ เพราะใน ก.ม.เขียนว่า การประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ที่ไม่ต้องใช้คลื่นความถี่ ไม่ได้ตีความตามหลักวิศวกรรม เราตีความตามหลัก ก.ม. ถ้าตีความตาม ก.ม.ทีวีดาวเทียม ไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ เพราะไม่ได้ถูกกำหนดให้ต้องขออนุญาตใช้ความถี่ตามกฎหมาย

- ความเห็นแย้งเหล่านี้ ใครต้องตีความ

ก็ต้องเจ้าพนักงานสิ ผมจะฝากหลักคิดให้ ซึ่งนำไปใช้ได้กับทุกเรื่อง เวลาตำรวจจับรถฝ่าไฟแดง ใครเป็นคนบอกว่ารถคันนี้ฝ่าไฟแดง ต้องเป็นเจ้าพนักงาน นี่เป็นกฎหมายปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชนไม่เท่ากัน เจ้าหน้าที่รัฐสูงกว่า แต่ถ้าเป็นกฎหมายเอกชนอย่างกฎหมายแพ่ง ทุกฝ่ายเท่ากัน ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ เราย่อมเป็นคนแรกที่ต้องใช้วิจารณญาณว่าความผิดเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ใช้วิจารณาญาณว่ามีอำนาจหน้าที่ เมื่อบอกว่ามีอำนาจหน้าที่ ก็ต้องดำเนินการไป ไม่ใช่มารอให้คนอื่นบอก หรือจะทำ แล้วคนอื่นมาบอกว่าไม่ใช่ เลยไม่กล้าทำ เจ้าหน้าที่รัฐต้องตัดสินใจก่อนเลยว่า นี่เป็นสิ่งที่ละเมิดหรือยัง ผิดหรือยัง ต้องออกคำสั่งหรือยัง

สั่งแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจหน้าที่ ถ้ายอมรับก็จบ ถ้าไม่ก็ไปอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชา ไม่เป็นผลก็ไปศาลปกครอง ถ้าศาลเห็นว่าผิด ก็จะสั่งให้หน่วยงานดำเนินการเยียวยาแก้ไข หรือเพิกถอนคำสั่ง

- กทช.เดิมจะหมดวาระอีกแล้ว จะเป็นปัญหาในการทำงานหรือไม่

ผมเชื่อว่า ถ้าหมดวาระ ก็ต้องมีคนใหม่เข้ามาอยู่ดี ระหว่างที่คนใหม่ไม่มา คนที่อยู่ก็ยังมีอำนาจเต็ม ถ้าใครคิดว่าไม่มีอำนาจให้ไปถามศาล อย่ามาออกข่าวให้สับสน ผมมองว่าไม่น่ามีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

- มีความเห็นต่อ กม.กสทช.อย่างไร

บรรยากาศการผ่าน กม.เป็นบรรยากาศของการเอาชนะคะคานกัน ทำให้ไม่มีการอภิปรายในรายละเอียด กม.สำคัญผ่านในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งจริง ๆ ควรเปิดโอกาสให้ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปราย น่าเสียดาย แต่ผมก็ศรัทธา และคาดหวังในชั้นวุฒิสภา เพราะไม่ได้มีการเมืองรุนแรงเหมือนสภาผู้แทนราษฎร ก็หวังว่าวุฒิสภาจะใช้โอกาสนี้กลั่นกรองและเติมแต่งในส่วนที่เห็นว่าเป็น ประโยชน์

เช่น กม.ปัจจุบันที่กำหนดให้ กทช.มี 7 คน 3 ปีแรกจับฉลากออก 3 เป็นเรื่องดีที่ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ผมเข้ามาตรงนี้ ผมได้ประโยชน์จากคนเก่าเยอะเลย แต่ กม.ใหม่ให้หลุดทั้งชุด สมมติถ้าเป็นชุด ผมเข้ามาใหม่ทั้ง 7 คนเนี่ย งงเป็นไก่ตาแตกเลยนะ ต้องมานั่งทำความเข้าใจกันใหม่

view