สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้นำยามวิกฤติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

พอใจ พุกกะคุปต์
ถอดรหัส ธุรกิจ


เหตุการณ์ วุ่นวายทั้งหลายที่ชาวไทยต้องประสบ ต้องพบอย่างจำใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตอกย้ำชัดเจนว่า... ผู้นำสำคัญอย่างไร

ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ หรือสภาวะคับขันที่เกิดจากฝีมือกันและกันเองเฉกเช่นปัจจุบัน ทั้งทีมงาน องค์กร หรือประเทศ ยิ่งมีความต้องการผู้นำกว่ายามปกติเป็นหลายเท่าทวี คูณ

การวิจัยเรื่องการจัดการสถานการณ์วิกฤติ โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าผู้นำองค์กรมีภาระหน้าที่ที่ต้อง ทำหลากหลายประการในช่วงสภาวะวิกฤติที่สำคัญที่สุดมี  2 ประเด็น คือ

 1. ทำให้ทุกคนตระหนักว่า ผู้นำไม่ทอดทิ้งและอยู่กับเขาใน ยามวิกฤติ

ตัวอย่างเช่นยามไฟไหม้ ลูกพี่ต้องไปอยู่ยังสถานที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสุขุม และมีสติ
เมื่อมีลูกพี่มาร่วมทุกข์ด้วย ลูกน้องย่อมอุ่นใจว่าไม่ต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ทั้งยังมั่นใจว่ามีคนดูแล มีคนตัดสินใจ ไม่ปล่อยให้เขาเหวอๆ ชี้นิ้วกันเองไปมา งงๆ ว่าใครต้องทำอะไร ขณะที่สถานการณ์อาจเลวร้ายลงทุกขณะจิต
การสื่อสารอย่างชัดเจนและต่อ เนื่องเพื่อให้เขารู้ความเป็นไป รู้ว่าต้องทำอะไร รู้ว่าผู้นำกำลังทำอะไร ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจเพื่อทำให้ทุกคนตระหนักว่าผู้นำไม่ทอดทิ้ง ไม่นิ่งดูดาย  เป็นที่พึ่งได้   

2. กล้าตัดสินใจ

ในสภาวะที่คับขัน ภายใต้แรงกดดันด้านเวลา และปัญหาที่อาจกระจายบานปลาย กลายเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงขึ้น ผู้นำยามนั้นต้องกล้าตัดสินใจ

พูดง่าย...ทำยาก

การตัดสินใจหลายครั้ง แม้ยามสถานการณ์เรื่อยๆ เรียบๆ เป็นปกติ ยังยากนักหนา

มิต้องพูดถึงยามฉุกเฉิน ที่การตัดสินใจยิ่งยากขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ เพราะเวลามีจำกัด ทั้งข้อมูลก็ยากที่จะมีพร้อม ปัญหายังคลำไม่พบจะๆ แต่เวลาก็ไม่มีให้คุ้ยให้แคะแกะหาข้อเท็จจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ในเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีข้อแนะนำ 2 วิธีเพื่อให้การตัดสินใจยากน้อยลง

วิธีแรก คือ การทำการบ้านและดำเนินการก่อนเกิดวิกฤติ โดยระบุว่าองค์กรมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ความเสี่ยงใดมีโอกาสเกิดสูง และหากเกิดความเสียหายมีสิทธิ์รุนแรง หรือความเสี่ยงใด แม้โอกาสที่จะเกิดไม่สูงมาก แต่ความเสียหายถึงขั้นที่องค์กรไม่น่าจะรับได้ องค์กรจะต้องรีบชิงวางแผนรับมือกับความเสี่ยงนั้น  ต้องกันไม่ให้มันเกิด หรือแม้จะเกิด ก็พร้อมแก้ และลดความเสียหายให้น้อยที่สุด

       ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออัคคีภัย หากไฟไหม้อาคาร ความเสียหายย่อมมีสิทธิรุนแรง ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิด เช่น มีระเบียบการจัดเก็บวัสดุไวไฟ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน แม้กันแล้ว เจ้าไฟร้ายก็ยังอาจเล็ดรอดแผลงฤทธิ์ อาคารจึงเตรียมระบบลดความเสียหายไว้ ก่อน จะเกิดเพลิงไหม้ อาทิ มีถังดับเพลิง มีระบบน้ำดับไฟอัตโนมัติ

ที่สำคัญอีกหนึ่งประเด็นที่จะทำให้ผู้นำสามารถตัดสินใจและแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ การซ้อม การฝึก เพื่อลับฝีมือ ก่อนเหตุการณ์เกิดจริง

       ตัวอย่าง เช่นการซ้อมดับไฟ หรือการซ้อมหนีไฟ เป็นต้น เมื่อเจอของจริงจะได้ไม่ถึงกับนึกไม่ออกว่าต้องวิ่งไปทางใด ต้องไปรวมตัวกันที่ไหน เป็นต้น

วิธีที่สอง คือการตั้งทีมบริหารวิกฤติ

วิธีการรองรับวิกฤติที่ไม่สามารถคาดเดาและทำแผนกันหรือแก้ไว้ก่อน คือ การเตรียมทีมเจ๋งๆ ขนาดกระทัดรัดประมาณ 5 - 6 ท่าน ซึ่งมักมีฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายบุคคล และฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของทีมบริหารวิกฤติ ไม่ว่าจะมารูปแบบใด

หากมาในรูปที่เราคาดเดาและเตรียมพร้อม ตลอดจนซักซ้อมไว้ก่อน ยิ่งง่ายขึ้นในการจัดการ

หากมาในรูปแบบใหม่ ไม่ได้นึกได้ฝันถึง อย่างน้อยผู้นำก็มีทีมพร้อมสู้ มีหัวสมองและประสบการณ์ของคนอีกหลายคนที่พร้อมจะรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว มีกระบวนการที่ซักซ้อมกันไว้ก่อน ว่ายามฉุกเฉินทีมนี้จะติดต่อกันอย่างไร ที่ไหน ต้องแบ่งงานกัน ร่วมกันวิเคราะห์ และตัดสินใจอย่างรวดเร็วอย่างไร

หากทำได้เช่นนี้  รับรองว่า ผู้นำและองค์กรของท่านผู้อ่าน จะพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินกว่าองค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทย

ยามบ้านเมืองร้อนระอุ ไม่แน่ว่าไฟจะปะทุเมื่อไร กรุณาเตรียมพร้อมรับวิกฤติไว้

กันไว้ย่อมดีกว่าแก้แน่นอนค่ะ

view