สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลูกน้องต่างสี บริหารอย่างไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

บุญชัย ปัณฑุรอัมพร
CEO Dialogue


สภาพทั่วไปใน กรุงบิชเคกเมืองหลวงของคีร์กีซสถานเต็มไปด้วยความเสียหาย

เหตุรุนแรงครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 68 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 400 คน เช้าวันนี้ยังคงมีเสียงปืนดังประปรายไปทั่วเมืองหลวง ผู้นำรักษาการณ์ของคีร์กีซสถานยืนยันว่าประธานาธิบดี คูร์มันเบค บาคีเยฟ จะได้รับรองความปลอดภัย หากว่าเขายอมลาออกจากตำแหน่ง

ข่าวนี้ถูกเผยแพร่ หลังจากที่ทหารของทางการได้กราดปืนเข้าใส่ฝูงชนจนล้มตายระเนระนาดเต็มหน้าจอ ทีวี ปัญหาผู้คนออกมาประท้วงรัฐบาลในประเทศดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับ ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา แต่ผลลงเอยกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลทั้งสองประเทศคิดและปฏิบัติ ต่อประชาชนไม่เหมือนกัน

ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในทุกสังคมที่มีผู้คนอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าที่บ้าน ครอบครัว ที่ทำงาน ที่บริษัท ในห้องประชุม ในสภา ในพรรคการเมือง กระทั่งความขัดแย้งระดับประเทศ

อันที่จริงความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ดีที่ทำ ให้มนุษย์เราได้เรียนรู้ที่จะเคารพ “ความเห็นต่าง” และอยู่ร่วมกันภายใต้ความขัดแย้ง ความไม่เห็นด้วย ความไม่ลงรอยกัน ตราบใดที่ความขัดแย้งนั้นจะนำพาไปสู่ พัฒนาการที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ

“Both optimists and pessimists contribute to our society. The optimist invents the airplane and the pessimist invents the parachute.” G.B. Stern, British novelist. เห็นไหมครับว่าในขณะที่มีคนคิดผลิตเครื่องบินก็มีคนคิดผลิตร่มชูชีพ ซึ่งล้วนแต่เป็นการสร้างสรรค์ให้มนุษยชาติได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด

ผมเองมักมีข้อโต้แย้งกับลูกค้าชาวตะวันตกอยู่เสมอ ถึงวิธีการคิด การทำงาน การแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน จนมักพูดติดปากกับลูกค้าว่า “I will eat more cheese and you will eat more rice.” หมายถึงผมจะพยายามเข้าใจว่าทำไมคุณถึงคิดอย่างนั้น และในทางกลับกันคุณต้องพยายามเข้าใจผมว่าทำไมผมถึงคิดอย่างนี้

สองจีนที่แยกกันเป็นสองประเทศเป็นจีนแผ่นดินใหญ่และจีนไต้หวัน ลึกๆ ในใจของผู้คนล้วนแล้วแต่คิดว่าเป็นคนจีนด้วยกันอยู่เสมอ ยังรอวันที่จะรวมกันให้ได้ในที่สุด และไม่เคยลืมอดีตอันหวานอมขมกลืนเลยที่ต้องแยกออกจากกันเพราะต่างยึดถือและ ต้องการการปกครองคนละระบบ “เหมาเจอตุง” ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และ “เจียงไคเชค” ผู้นำแห่งจีนคณะชาติ

ปัจจุบันสองชาติพึ่งพาอาศัยกันจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ ไต้หวันเป็นแหล่ง Know How ให้จีน ในขณะที่จีนเป็นทั้งแหล่งผลิตและเป็นตลาดอันใหญ่โตมหาศาลให้กับไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เป็นปัญหาระดับ ประเทศที่เกิดขึ้นในเวลานี้ได้ส่งผลกระทบไปสู่ครัวเรือนและองค์กร ผู้คนนิยมต่างสีกัน สามีภรรยาต่างสี ญาติพี่น้องต่างสี เพื่อนร่วมงานต่างสี หัวหน้าลูกน้องต่างสี เป็นผลกระทบกับประสิทธิภาพของงานไม่มากก็น้อย

ผมเคยถามคำถามกับท่านผู้รู้ทั้งหลายว่าจะทำอย่างไรให้ทำงานร่วม กันได้ คำตอบง่ายๆ สั้นๆ คือ ห้ามถกเรื่องการเมืองกัน ให้ยึดเป้าหมายของงานเป็นหลัก บางท่านขนาดแนะนำง่ายๆ ว่า ให้ไล่ออกจากงาน หากงานนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ .... “ง่ายเกินไปหรือเปล่า” ผมแอบคิดในใจ

ส่วนตัวคิดว่าหากเราปกครองลูกน้องเหมือนเป็นลูก เราต้องคุยกัน ดีกว่าเพิกเฉย และคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะมาถกกันให้เสียเวลา หรือกลัวว่ายิ่งมาพูดคุยกัน ยิ่งจะต้องแตกหักกันไปข้างหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อผลออกมาเป็นงานที่ได้มาจากน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

หลักการเรียบง่ายที่ต้องตกลงกันก่อนพูดคุยควรมี 3 ข้อ คือ 1. ผู้บริหารเองต้องไม่มีสี มีแต่คนไทยด้วยกัน 2.เราต้องคิดให้ได้เช่นนั้นจริงๆ (ข้อนี้ให้ตกลงกับตัวเองก่อน) 3.แนะนำลูกน้องหรือคนคิดต่างให้คิดแบบข้อหนึ่ง แยกแยะปัญหาต่างๆ ออกจากตัวบุคคลที่นิยมชมชอบ ให้มองปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป

การสร้างความเข้าใจให้กับคนในบริษัทเล็กๆ ที่อยู่ร่วมกันถือเป็นการสร้างให้คนในชาติมีความสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น การเล่าถึงประวัติศาสตร์ อุปมาอุปไมยเรื่องราวในอดีตของชาติอื่นๆ รวมทั้งบทเพลง ที่หาโอกาสมาร้องร่วมกัน เน้นย้ำถึงความมีเหตุมีผล คิดอย่างมีตรรกะ พิจารณาความด้วยการไม่ฟังด้านเดียว ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว ในความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ใน บริษัทที่เรายังร่วมกันมาได้เป็นอย่างดีทุกๆ ปี เข้าใจความเป็นอยู่อย่างไทยๆ เข้าใจพื้นฐานของชาติ ที่พวกเรายังควรจะช่วยกันมากกว่า เข้าใจว่าชาติเรายังไม่มี KPI ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (รออยู่)

ที่สำคัญการไม่นำอาวุธออกมาประหัตประหารกันระหว่างความต่างสี เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่คิดเอาชนะ ไม่เห็นต่างสีเป็นศัตรู แต่ให้รู้ว่าเป็นคนไทยด้วยกัน และหากรัฐบาลใช้มาตรการเดียวกันกับที่คีร์กีซสถาน วันนี้เราจะเป็นอย่างไร

"ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง"


นภาลัย (ฤกษ์ชนะ) สุวรรณธาดา 2510

view