สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐที่ล้มเหลว : ใช่หรือไม่...ใครกำหนด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
เจ้าของคอลัม ภ์นิสต์ BUSINESS&SOCIETY


เหตุการณ์บ้าน เมืองมีความขัดแย้งอย่างชัดเจนและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้เกิด ความรู้สึกในสังคมว่าไทยใกล้จะเป็นรัฐที่ล้มเหลวเข้าทุกที

วันนี้ ผมจึงต้องมาคุยกับคุณผู้อ่านว่า “รัฐที่ล้มเหลว” นั้น หมายถึงอะไร และ ใครเป็นผู้กำหนด

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา องค์กรแห่งหนึ่งของอเมริกาซึ่งมีชื่อว่า Fund for Peace ร่วมกับนิตยสารที่มีชื่อว่า Foreign Policy ได้ร่วมกันจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่าประเทศใดบ้างที่ถือว่าอยู่ในกลุ่ม “รัฐที่ล้มเหลว” หรือ “Failed States” และจากนั้นก็ได้มีการปรับเปลี่ยนอันดับมาทุกปีตามสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ของแต่ละประเทศ
 ปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมา ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เป็นรัฐที่ล้มเหลว อันดับที่ 1 ก็คือ โซมาเลีย โดยมี ซิมบับเว ตามมาเป็นอันดับที่ 2 นอกจากนั้น ก็มีชื่อของประเทศที่เราคุ้นเคยต่างติดอันดับกันตามลำดับ เช่น อันดับ ที่ 6 อิรัก อันดับที่ 10 ปากีสถาน อันดับที่ 12 ไฮติ อันดับที่ 13 พม่า อันดับที่ 19 บังกลาเทศ เป็นต้น และไปจบลงที่อันดับสุดท้าย คือ อันดับที่ 38 ได้แก่ ประเทศอิหร่าน

การจัดอันดับโดย Fund for Peace และนิตยสาร Foreign Policy นั้น เป็นการพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน โดยมีปัจจัยหลักๆ เช่นรัฐบาลกลางอ่อนแอจนไม่สามารถบริหารหรือควบคุมพื้นที่ส่วนมากของประเทศ ได้ มีการคอร์รัปชันและการก่ออาชญากรรมอย่างกว้างขวาง พลเมืองอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศ หรือมีภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างเลวร้าย เป็นต้น

ถ้าหากพิจารณาอย่างนี้ ประเทศไทยก็คงจะก้ำกึ่งอยู่เหมือนกัน เพราะรัฐบาลเริ่มควบคุมพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพหรือหัวเมืองบางแห่งไม่ค่อย ได้ การคอร์รัปชันก็ได้รับการจัดอันดับสูงตลอดเวลา แต่ประเทศเรายังไม่เลวร้ายถึงขนาดที่คนไทยอพยพออกนอกประเทศ หรือเศรษฐกิจตกต่ำอย่างร้ายแรง

ถ้าพิจารณารายละเอียดลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง ก็จะพบว่ากระบวนการในการจัดอันดับความเป็นรัฐที่ล้มเหลวนั้น ประกอบด้วย ดัชนีชี้วัด 12 รายการ ด้วยกัน แยกออกเป็น ปัจจัยทางสังคม 4 รายการ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ 2 รายการ และ ปัจจัยทางการเมือง 6 รายการ

เพียงแค่นี้ก็พอจะเข้าใจแล้วว่า น้ำหนักของปัจจัยทางการเมืองนั้นมีมากกว่าปัจจัยอื่นๆ และเมื่อมาคำนึงถึงภาวะการเมืองของไทยในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดปัญหาวนเวียนและสถานการณ์รุนแรงและเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ก็คงจะต้องเริ่มทำใจ ว่า ไม่ช้าไม่นาน ปัจจัยนี้ อาจจะนำประเทศไทยเข้าสู่ ความเป็น รัฐที่ล้มเหลว จริงๆ ก็ได้

ก็เลยนำมาสู่ประเด็นต่อไปว่า แล้ว ณ เวลานี้ ประเทศไทยของเรานั้นจัดอยู่ในกลุ่มไหน และใกล้ที่จะหลุดเข้าไปเป็นรัฐที่ล้มเหลวหรือไม่เพียงใด

คำตอบก็คือ ณ ปี ค.ศ. 2009 ประเทศไทยของเราติดอยู่ในกลุ่มที่สอง ซึ่งเรียกว่า กลุ่ม “Waiting” ครับ ซึ่งแปลว่าเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ใน คิว ต่อๆ ไป กล่าวคือ ถ้าหากเหตุการณ์ผันผวนไปในทางที่เลวร้ายจนทำให้ดัชนีบางรายการใน 12 รายการนั้น เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญก็มีสิทธิที่จะหลุดเข้าไปติดอันดับรัฐที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 2010 นี้ กับเขาด้วย

มาถึงตรงนี้ ก็คงเริ่มเกิดอาการวิตกพอสมควรแล้วใช่ไหมครับ เพราะทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ต้องติดตามสถานการณ์กันเป็นรายวัน ว่าชีวิตวันนี้จะเดินทางไปทำงานกันอย่างไร เส้นทางไหน เพราะพื้นที่บางแห่ง ในกรุงเทพฯ และในบางจังหวัดก็ตึงเครียดเหลือเกิน ประเดี๋ยวกลุ่มนั้นออกมาประเดี๋ยวกลุ่มนี้ออกมาวนเวียนกันไม่มีวันจบสิ้นจน กระทบชีวิตประจำวันรวมทั้งธุรกิจและการท่องเที่ยวไปทั่วหมดแล้ว

ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็เห็นทีจะต้อง “ลุ้น” กันตัวโก่ง ว่าอันดับของเราในปีนี้จะได้รับเกียรติ ให้ ขยับกลุ่ม ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประเทศโซมาเลียเป็นผู้นำหมายเลขหนึ่งหรือไม่

ความจริงการอยู่ในกลุ่มปัจจุบันก็ถือว่าหมิ่นเหม่ และไม่น่าภาคภูมิใจอยู่แล้ว จึงต้องขอบอกคุณผู้อ่านว่าประเทศผู้นำในกลุ่มของเราและประเทศอื่นๆ มีใครกันบ้าง กลุ่ม Waiting นี้ นำด้วย ซีเรีย แล้วถัดๆ ลงมา (ขอข้ามบางประเทศไปบ้าง) ก็มี อียิปต์...ลาว...เขมร... กัมพูชา...ฟิลิปปินส์...อินโดนีเชีย...ไทย... เวียดนาม ฯลฯ

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2009 มีการฆ่าหมู่อย่างเลือดเย็นและทารุณเกิดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้รับการเตือนว่า ถ้าหากสถานการณ์การฆ่าหมู่อย่างทารุณยังเกิดขึ้นเช่นนี้อีก โดยรัฐบาลควบคุมไม่ได้ ประเทศฟิลิปปินส์ ก็อาจจะถูกจัดให้เป็นรัฐที่ล้มเหลวในปีนี้ เช่นกัน

ผมเองเคยอยู่ในวงการจัดอันดับเครดิต มาเป็นเวลานาน ขณะนี้ก็เริ่มมีความวิตกกังวลจากผู้บริหารภาครัฐว่ามูดดี้ส์ กำลังจะเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อทบทวนอันดับเครดิตประเทศไทย และถ้าหากปัจจัยทางการเมืองยังเป็นเช่นนี้และมีแนวโน้มเลวร้ายลง ก็อาจจะถูกปรับอันดับเครดิตลดลงก็ได้

ผมอยากจะบอกว่า อันดับเครดิตก็ดี อันดับรัฐที่ล้มเหลวก็ดี คนที่ทำหน้าที่จัดอันดับให้เรานั้น เป็นสถาบันต่างชาติ และเมื่อลดอันดับลงไปก็มีผลกระทบต่อประเทศเรา เช่น ต้นทุนทางการเงินจะแพงขึ้น และการลงทุนจากต่างประเทศอาจลดลง เพราะไม่มีใครอยากลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเงิน สังคม และการเมือง เช่นนี้

แต่ถ้าถามว่าทำไมอันดับของเราจึงถดถอยลง ก็ต้องตอบว่า สถาบันต่างชาติเหล่านั้น เขาก็แค่จัดอันดับตามกติกาซึ่งเขาประกาศไว้อย่างชัดเจน เท่านั้น คนที่ทำให้อันดับของประเทศเราลดลงหรือมีแนวโน้มว่าจะถดถอยลงนั้น ไม่ใช่พวกเขาหรอกครับ คนที่กำหนดอันดับจริงๆ ก็คือพวกเรากันเอง ทั้งนั้นแหละ

หยุดทำร้ายตัวเองกันเสียทีเถอะครับ ทำไปแล้วได้อะไรหรือ สะใจกันนักหรือ ถามจริงๆ

 

พบกับหนังสือเล่มใหม่ "คำตอบที่ต้องถาม" รวมบทความที่คัดสรรแล้วจากคอลัมน์นี้ ได้ที่ร้านซีเอ็ดและร้านหนังสือทั่วไป

view