สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บริษัทอันดับเครดิตจ่อคิวผ่าตัด"วอลสตรีต

จาก โพสต์ทูเดย์

รัฐบาลสหรัฐเตรียมยกเครื่องภาคการเงินในวอลสตรีตครั้งใหญ่ที่สุด และอีกภาคส่วนหนึ่งที่คาดว่าจะหนีไม่พ้นการเช็กบิลด้วยคือบรรดา “บริษัทจัดอันดับเครดิต”

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เหมือนว่าบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดกับวิกฤตการณ์ภาคการเงินเมื่อปี 2007 จะโดนเช็กบิลกันไปแล้วอย่างถ้วนหน้า ไล่มาตั้งแต่สถาบันการเงินในฐานะผู้ลงทุนความเสี่ยงสูง รัฐบาลที่ปล่อยปละละเลย เฮดจ์ฟันด์และนักเก็งกำไรที่ได้ประโยชน์บนความล่มสลาย และแม้แต่นักวิชาการที่ไม่กล้าเตือนหรือแสดงความเห็นสวนทางในสมัยฟองสบู่ยัง เฟื่องฟู

วันนี้ที่รัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา เตรียมยกเครื่องภาคการเงินในวอลสตรีตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 อีกภาคส่วนหนึ่งที่คาดว่าจะหนีไม่พ้นการเช็กบิลไปด้วยคือบรรดา “บริษัทจัดอันดับเครดิต” ทั้งหลายที่มีส่วนทำให้ตลาดการเงินต้องพังทลายลงไม่แพ้กัน

ขณะที่ ฟิทช์ เรทติ้งส์ พิจารณาลดอันดับเครดิตแนวโน้มค่าเงินบาทของไทย มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศลดอันดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาลกรีซ และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หั่นอันดับเครดิตของหมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซียในแปซิฟิกใต้ วันนี้ทั้ง 3 บริษัทใหญ่อาจต้องเผชิญกับการถูกพิพากษาเสียเอง

แม้จะไม่ถูกกล่าวโทษหนักเหมือนกับสถาบันการเงินที่เป็นผู้เล่นตัวหลักใน กลไกลงทุนตราสารหนี้ความเสี่ยงสูงทั้งหลาย ทว่าบริษัทจัดอันดับเครดิตเหล่านี้ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ที่ไม่ยอมทำตามหน้าที่อย่างซื่อตรง โดยเฉพาะหน้าที่เตือนและเฉือนเครดิตสถาบันการเงินทั้งหลายที่เริ่มเผชิญความ เสี่ยงสูงในการลงทุนซับไพรม์

จากการสืบสวนสอบสวนของสภาคองเกรสสหรัฐเพื่อหาสาเหตุของวิกฤตการณ์การเงิน ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีนั้น พบอีเมลเป็นการภายในของบริษัทดังกล่าวจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าบรรดาพนักงานต่าง ก็ทราบดีถึงอันตรายจากการลงทุนในสินเชื่อซับไพรม์

แต่ทั้งที่รู้ บริษัทกลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และปล่อยผ่านให้มีการลงทุนดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกตัวในสหรัฐ พร้อมการล่มสลายของซับไพรม์ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2007

“หวังว่าพวกเราคงรวยอื้อกันไปแล้ว และถอนตัวออกมาได้ทันก่อนที่การลงทุนซับไพรม์จะพินาศลง” พนักงานรายหนึ่งของบริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ระบุในอีเมลเป็นการภายในของบริษัทเมื่อเดือน ธ.ค. 2006 ซึ่งถูกนำมาเปิดเผยระหว่างการไต่สวนของสภาคองเกรส
โดยปกติแล้วบริษัทจัด อันดับเครดิตเหล่านี้ต่างมีบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในวอลสตรีต ในฐานะผู้ประเมินความเสี่ยงและจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ให้กับสถาบันการ เงินทั้งหลาย ซึ่งจะสะท้อนศักยภาพของผู้กู้ว่ามีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้เงินกู้มาก น้อยเพียงใด โดยที่อันดับสูงสุดของตราสารหนี้นั้นจะอยู่ที่ระดับ AAA หรือทริปเปิลเอ

คณะอนุกรรมการถาวรของวุฒิสภาสหรัฐที่เป็นผู้นำการไต่สวน นำโดย สว. คาร์ล เลอวิน นั้นได้ย้ำว่า บรรดาบริษัทจัดอันดับเครดิตต่างรู้ดีถึงความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เตือน และปล่อยให้เกิดความเสี่ยงสูงแพร่หลายอย่างกว้างขวาง เพราะไม่ต้องการให้ลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินไม่พอใจ ดังนั้นแม้ตราสารอนุพันธ์จะมีความเสี่ยงสูงขนาดไหนก็ยังมักได้อยู่ในอันดับ AAA-

ในรายงานการสืบสวนสอบสวนของอนุกรรมการนั้น บริษัทจัดอันดับเครดิตทั้ง 3 แห่ง มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวระหว่างปี 2002–2007 หรือช่วงที่การลงทุนในตลาดอสังหาฯ พุ่งถึงขีดสุดก่อนฟองสบู่แตก โดยมีรายได้มากกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 1.98 แสนล้านบาท) รายได้ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนที่ซับซ้อน อาทิ ตราสารอนุพันธ์ซีดีโอ (Collateralized Debt Obligations : CDOs) ที่แพร่ขยายไปทั่วตลาดการเงินในมูลค่านับล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ซีเอ็นเอ็นมันนี่ รายงานอ้างผู้บริหารของเอสแอนด์พี และมูดี้ส์ ที่ต่างยอมรับระหว่างการไต่สวนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บรรดาวาณิชธนกิจหรือธนาคารเพื่อการลงทุน ต่างยินดีที่จะจ่ายผลตอบแทนอย่างงามเพื่อแลกกับอันดับเครดิตสวยๆ ขณะที่ผู้บริหารบางรายถึงกับเห็นด้วยในที่สุดว่าลูกค้าของตนคือวาณิชธนกิจ ไม่ใช่นักลงทุนผู้ซื้อตราสารอนุพันธ์ไป

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เหล่าบริษัทเครดิตจะทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดเพื่อลูกค้า อย่างบรรดาสถาบันการเงิน

และไม่แปลกที่การเห็นแก่ประโยชน์ขั้นต้นโดยหลงลืมประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะคำว่า “ความรับผิดชอบร่วมของสังคม” จะทำให้บริษัทเครดิตอยู่ในลิสต์ต้นๆ ที่รัฐบาลสหรัฐเตรียมพิจารณายกเครื่องไปด้วย

เลอวิน ซึ่งเป็น สว.เดโมแครต รัฐมิชิแกน จึงเสนอให้รัฐเข้าไปจัดระเบียบการจัดอันดับเครดิตของบริษัทเอกชนเสียใหม่ เพราะการทำงานที่เป็นอิสระโดยเฉพาะเป็นการว่าจ้างจากสถาบันการเงินโดยตรง นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการจัดอันดับเครดิตโน้มเอียงเป็นประโยชน์ต่อผู้ ว่าจ้าง และปล่อยให้สินเชื่อความเสี่ยงสูงยังมีสถานะปลอดภัยเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ

ไม่ต่างอะไรกับจำเลยที่จ่ายเงินให้กับคณะลูกขุนในศาล และไม่ต่างอะไรกับคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflict of Interest)
แม้ จะยังไม่มีข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในขณะนี้ ทว่าทางวุฒิสภาก็ได้ศึกษาเรื่องนี้เพื่อเตรียมบรรจุอยู่ในการยกเครื่องร่าง กฎหมายปฏิรูปภาคการเงินครั้งใหญ่ และได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เอสอีซี) ไปศึกษาการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสถาบันการเงินและบริษัทจัดอันดับ เครดิตแล้ว ซึ่งอาจเปิดทางให้บริษัทเครดิตต้องเปิดเผยข้อมูลกับเอสอีซีเพื่อความโปร่งใส หลังจากนี้ไป

เพราะบทเรียนของผลประโยชน์ทับซ้อนที่สะเทือนไปทั้งโลกครั้งนี้ คงไม่มีใครไร้สำนึกพอจะปล่อยให้เกิดขึ้นได้ซ้ำสอง...


view