สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เที่ยว อย่างไรให้ลดคาร์บอน ? ตราดโมเดล Climate Friendly Tourism

จากประชาชาติธุรกิจ

รายงาน



กระแสการ อนุรักษ์และวิกฤต โลกร้อน ทำให้หลายองค์กร ตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะหมายถึงการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ทุกวันนี้ธุรกิจต่าง ๆ จึงพยายามออกแบบให้เป็น "มิตรกับสิ่งแวดล้อม" โดยรวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวในรูปแบบของ "กรีนทัวร์" ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนด้วย

"ตราด" เป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่ได้รับเลือกเข้าโครงการการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาในอากาศไม่ให้เกินมาตรฐาน ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานความร่วมมือทาง วิชาการของเยอรมัน (GTZ) และ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

"นางสาวจารุวรรณ จินตกานนท์" นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการลดปริมาณคาร์บอน ภายใต้แบรนด์ การท่องเที่ยวเป็นมิตรกับภูมิอากาศ หรือ "Climate Friendly Tourism" ที่เริ่มปฏิบัติการนำร่องในพื้นที่หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง

นายก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราดแจกแจงรายละเอียดว่า สมาคมเป็นแกนนำร่วมกับ อพท. เพราะต้องการทำให้สำเร็จก่อนที่จะหมดวาระนายกในเดือนสิงหาคม 2554 นี้ จึงเป็นงานที่ต้องรีบทำให้เห็นผลในระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด

ตั้งแต่ ปี 2552 ทาง GTZ ได้ศึกษาการวัดร่องรอยคาร์บอน (carbon foot print) ดูจากข้อมูลการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะช้างและ พื้นที่เชื่อมโยง พบว่าโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร เป็นส่วนที่ใช้พลังงานและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยมีการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอน 19.74 กิโลคาร์บอน/วัน/คน ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 15 กิโลคาร์บอน/วัน/คน

ดังนั้นผู้ประกอบ การจะต้องช่วยกันหาวิธีลดคาร์บอน เช่น การเดินทางไปเกาะช้างด้วยเรือโดยสารเฟอร์รี่ ปกติใช้น้ำมันดีเซล อาจจะมีการเพิ่มเรือโดยสารที่เป็นเรือไม้ (เรือประมงดัดแปลง) ที่มีขนาดเล็ก ใช้น้ำมันน้อยกว่า บรรทุกเฉพาะผู้โดยสาร และลดปริมาณการนำรถไปยังเกาะช้าง

การขนส่งวัตถุดิบมาปรุงอาหาร ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักจะไปซื้อสินค้าที่ห้างแม็คโคร จันทบุรี น่าจะใช้วิธีซื้อในจังหวัดหรือบนเกาะ ซึ่งตอนนี้สมาคมได้ประสานกับสหกรณ์จังหวัดตราดขยายสาขามาที่เกาะช้างแล้ว หรือการลดปริมาณขยะบนเกาะช้างที่มีปริมาณถึงวันละ 20-25 ตัน หรือทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน การผลิต รวมทั้งการใช้พลังงานทางเลือกที่ เกาะกูด โดยอาจจะใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แทนการใช้จากโรงไฟฟ้าที่ปั่นด้วยน้ำมันดีเซล

"ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราหวังเพียงแค่ปัญหาหนักเป็นน้อยลง ไม่ได้หวังผล 100% หากมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการและสามารถนำไปโรดโชว์งาน IBT ที่เบอร์ลิน ในปี 2554 ได้ 2-3 แห่งก็พอใจแล้ว คาดว่าน่าจะได้การตอบรับจากนักท่องเที่ยวแถบยุโรปที่ให้ความสำคัญกับการเป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อม จุดนี้จะเป็นการประเมินผลความสำเร็จของโครงการอย่างชัดเจน"

จารุ วรรณบอกว่า จะชูจุดขายการ ท่องเที่ยวที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอน ซึ่งเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ภายใต้แบรนด์ "Climate Friendly Tourism" ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจริง ๆ แล้วจังหวัดตราดน่าจะทำได้ไม่ยากนัก เนื่องจากมีต้นทุนที่ดี 2 ส่วน คือมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ และสามารถบูรณาการกับแนวทางการพัฒนา การท่องเที่ยวของหน่วยงานอื่น ๆ ที่ ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น มูลนิธิใบไม้เขียวได้ส่งเสริมโรงแรมมาตรฐานด้านรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยฉลากใบไม้สีเขียว

หรือแนวการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแนว คิด 7 green (การท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพียงแต่การลดปริมาณคาร์บอนเป็นของใหม่ที่อาจจะมองไม่เห็นชัดเจนเท่า ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไป ซึ่ง GTZ จะมีการเทรนนิ่งให้ผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ มัคคุเทศก์และชุมชน ให้เกิดความเข้าใจ ความตระหนัก

ความสำเร็จของ โครงการลดปริมาณคาร์บอนภายในปี 2554 นี้ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1) ต้องใช้ความร่วมมือจากผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวเอง รวมทั้ง ททท. อพท. องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น และจังหวัดตราด ที่ต้องร่วมมือกัน สร้างความตระหนักในเรื่องนี้ และหาแนวร่วม เข้าโครงการ โดย GTZ จะสนับสนุน งบประมาณด้านงานวิชาการและวิจัย

2) ฝ่ายการตลาด คือ ททท. และ GTZ สนับสนุนนำสินค้าของผู้ประกอบการไปโรดโชว์ที่งาน ITB 2011 ซึ่งจะคัดเลือกโรงแรมที่เป็น "Climate Friendly Tourism" ไปเปิดบูทขายห้องพักที่งานมุมกรีนทัวร์

หากจังหวัดตราดทำได้ เชื่อว่าจะได้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่เดินทางเข้ามาใหม่และกลุ่ม ที่กลับมาเที่ยวซ้ำ ส่งผลให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงนิเวศของจังหวัดตราดเป็น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งระดับรากหญ้าและผู้ประกอบการ

อย่างไร ก็ตามทุกวันนี้ เกาะช้างมีปัญหาสะสมที่ยังแก้ไขไม่ได้ ทั้งปัญหาการกำจัดขยะที่มีปริมาณถึงวันละ 20-25 ตัน ปัญหาน้ำเสียที่มีการปล่อยลงสู่ทะเล ปัญหาระบบการขนส่งบางแห่งยังไม่ถูกต้อง ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ ปัญหาการมีใบอนุญาตประกอบการโรงแรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ซับซ้อนและต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขและจัดระบบให้ถูกต้อง

view