สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดสูตรสร้างคน กันตนา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ธนภัทร คงศรีเจริญ


อุตฯ การผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน เป็นงานศิลปะ หากเราต้องการเป็นฮับในภูมิภาค คนของเราต้องมีความคิดสร้างสรรค์และฝีมือการทำงานดีเยี่ยม

     ขึ้นชื่อเป็นเบอร์ใหญ่ในธุรกิจบันเทิงมานานสำหรับ “กันตนากรุ๊ป” สร้างคนและผลงานมาแล้วมากมายทั้งแวดวงภาพยนตร์ และโทรทัศน์ มาคราวนี้ กันตนา ก้าวไปอีกขั้นกับภารกิจการสร้างขุมพลัง “คน” บนเส้นทางการศึกษา โดยอาศัยฐานรากที่ปูทางไว้แน่นในภาคธุรกิจ และโนว์ฮาวที่สั่งสม กลั่นออกมาเป็น “หลักสูตร” ปั้นคนในแบบฉบับของตัวเอง

     การก้าวเข้าสู่เส้นทางการศึกษาครั้งนี้ มาในนาม “สถาบันกันตนา” โดยเลือกหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน เป็นการเปิดตัว

     อาศัยจุดแข็งที่มีด้านธุรกิจ และประสบการณ์ ทำให้ก้าวย่างบนเส้นทางการศึกษาของกันตนา ไม่ธรรมดา และ ก่อประโยชน์แบบ Win-Win ให้กับทุกฝ่าย

     เด็ก ได้เรียนในสิ่งที่ชอบและก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพด้านภาพยนตร์และแอนิเมชันที่ เลือก ส่วนกันตนาเองก็มีตัวเลือกมากขึ้น สำหรับบุคลากรหน้าใหม่ที่จะดึงเข้ามาร่วมทีม

     "แม้จะมี 3 มือ ก็ทำไม่ทัน พอจะรับเด็กเข้ามาทำงาน ก็หายาก เด็กที่จบมาหลายคนไม่สามารถเริ่มงานได้ทันที จากที่ตั้งเป้าผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันปีละเรื่อง ตอนนี้สร้างได้แค่ 3 ปีต่อหนึ่งเท่านั้น"

      เสียงสะท้อนของ อัจฉรา กิจกัญจนาสน์ ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน ก้านกล้วยทั้ง 2 ภาค และทีวีซีรีส์เรื่อง ซน 100% 

      แรงงานที่ขาดแคลน สวนทางกับ ความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน กลายเป็นช่องว่าง ให้สถาบันกันตนาถือกำเนิดขึ้น

      ผศ.ปนัดดา ธนสถิตย์ อธิการบดี สถาบันกันตนา (Kantana Institute) บอกว่า สถาบันกันตานา เกิดขึ้นจากการต่อยอดองค์ความรู้ของกันตนา ซึ่งมีความเข้าใจลักษณะการทำงานของอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์และแอเนมิชัน เป็นอย่างดี

      ในปีการศึกษา 2553 ได้เปิดสอน 2 สาขา ประกอบด้วย สาขาการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน เน้นเรียนแบบเจาะลึก และเข้มเรื่องภาคปฏิบัติ

      โดยในสาขาการผลิตภาพยนตร์ จะมีวิชาที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น วิชาการถ่ายทำภาพยนตร์ สตูดิโอภาพยนตร์  การอำนวยการสร้างและการจัดการ  เวิร์คชอปกำกับนักแสดง  การจัดแสงเพื่อถ่ายภาพยนตร์ หรือ การออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ 

      และสาขาการผลิตแอนิเมชัน มีวิชาเรียน เช่น การวาดสิ่งมีชีวิต  ทฤษฎีสีและการออกแบบ  การเขียนแบบเบื้องต้น  การออกแบบตัวละคร  หรือแอนิเมชัน 3 มิติ  โดยทุกวิชาจะเน้นการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

      "สถาบันกันตนา ต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ เป็นมืออาชีพด้านการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน ที่จบออกมาแล้วทำงานได้เลยทันที  โดยหลักสูตรจะเน้นการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเรามี  กันตนา มูฟวี่ ทาวน์  พุทธมณฑล  เป็นสถานีที่ฝึกงาน"

      นอกจากนี้ กันตนา ใช้จุดแข็งด้านบุคลากรที่มีประสบการณ์ชำนาญงาน  มาต่อยอดมาเป็นจุดขายของสถาบัน 

      ผศ.ปนัดดา บอกว่า เราอยู่ในธุรกิจการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชันมานาน มีความพร้อมด้านบุคลากรและเครือข่ายอย่างกว้างขวาง จึงได้นำบุคลากรเหล่านั้นมาถ่ายทอดวิชา เช่น มล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้กำกับการแสดงและผู้เขียนบทอิสระ นิรัตติศัย กัลย์จาฤก ผู้กำกับการแสดง และที่ปรึกษากองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้กำกับแอนิเมชัน เช่น ก้านกล้วย 1 และทาซาน  Character Animator บริษัท บลู สกาย สตูดิโอ สหรัฐอเมริกา และ In-between Animator บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ ฟีเจอร์ อัจฉรา กิจกัญจนาสน์  ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน ก้านกล้วย และ ซน 100% กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน  นักประวัติศาสตร์และวิเคราะห์ภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กรรมการตัดสินภาพยนตร์ และ พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งเพลง ดนตรีประกอบภาพยนตร์และการออกแบบเสียง ผู้ประพันธ์เพลง

      ส่วนการร่างหลังสูตรทั้ง 2 สาขานั้น สถาบันกันตนา อาศัยประสบการณ์ที่เคยร่วมร่างหลักสูตรการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชันให้กับ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้เข้าใจการวางหลักสูตรเป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีการศึกษาหลักสูตรที่เกี่ยวในมหาวิทยาลัยหรือฟิล์มสคูลจาก ต่างประเทศ เช่น University of California , Los Angeles (UCLA)  University of Southern California (USC) และ New York University (NYU) เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับความต้องการด้านแรงงานในบ้านเรา

      "เราไม่สอนให้เด็กๆ ทำเป็นอย่างเดียว แต่สอนให้คิดด้วย เพราะงานในอุตสาหกรรมนี้ เป็นงานศิลปะ ยิ่งหากเราต้องการเป็นฮับในภูมิภาคด้วยแล้ว คนของเราต้องมีความคิดสร้างสรรค์และฝีมือการทำงานดีเยี่ยม"

      นอกจากสาขาการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชันแล้ว ในอนาคตสถาบันกันตนา วางแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา ประกอบด้วย สาขา Sound design and Applied Music ซึ่งเป็นหลักสูตรที่แทบจะไม่มีเปิดสอนในบ้านเรา ในขณะที่กันตนา มี Film Lab และ Sound Lab ของตัวเองอยู่แล้ว

      สาขา Performance Art ซึ่งอาจเพิ่มเติมเรื่องการเต้น (Dance) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเชี่ยวชาญ กันตนา ที่น่าจะพัฒนาขึ้นมาเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาตรีได้

      สาขา Fashion design and Custom เพื่อสร้างคนที่ออกแบบแฟชั่นและจัดคอสตูมให้กับกองถ่ายละครและภาพยนตร์  เพราะทุกวันนี้คอสตูมในกองถ่ายส่วนใหญ่ จะทำหน้าที่แค่เป็นคนจัดหาเสื้อผ้า หรือแค่เพียง ซัก รีด เท่านั้น  ไม่ได้ร่วมออกแบบเสื้อผ้าแต่อย่างใด

      สุดท้ายคือ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ซึ่งในเบื้องต้นอาจเปิดสอนเป็นคอร์สสั้นๆ หลักสูตรประกาศนียบัตร เรียน 9 เดือน หรือ 1 ปี เช่น หลักสูตร Visual Effect เพราะตลาดแรงงานทั้งในประเทศและภูมิภาคยังขาดอยู่มาก จากนั้นจะขยับขยายเปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรี เพื่อรองรับการเป็นฮับด้านการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน รวมถึงป้อนตลาดแรงงานในระดับนานาชาติ

      จุดกำเนิดสถาบันกันตนา เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นเป็นการฝึกพนักงานจำนวน 35-40 คน เพื่อทำงานด้านการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน โดยเปิดสอนเป็นคอร์สระยะสั้น 9-10 เดือน  ต่อมาได้มีโอกาสไปร่วมร่างหลักสูตรด้านการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชันให้กับ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนที่จะมาเปิดสถาบันกันตนา ซึ่งเปิดสอนภาคการศึกษาแรก ในปี 2553 หลักสูตรปริญญาตรี สาขาการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชัน ใช้ระยะเวลาเรียน  4 ปี เรียนจำนวน 139 หน่วยกิต ค่าเรียนภาคการศึกษาละ 142,500 บาท โดยรับนักศึกษาสาขาละ 15 คน

      ประสบการณ์อันยาวนาน ต่อยอดสู่องค์กรการศึกษา สร้างเซียนฝีมือดีมีความคิดสร้างสรรค์ ผลักดัน "กันตนา" เป็นฮับการผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชันระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง

view