สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุณเข้าใจความวุ่นวายทางการเมืองแบบไหน?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ทศพร โชคชัยผล


ความขัดแย้งทาง การเมือง ที่ลงลึกไปถึงชีวิตประจำวันของผู้คน "การโต้เถียง ทะเลาะ โกรธเคือง"ระบาดขึ้นไปทั่ว เคยถามตัวเองกันไหมว่าเข้าใจมันแบบไห

ความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ยุคคุณทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาจนถึงยุคคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บางคนบอกว่าเป็นรอยร้าวฝังลึกในจิตใจของผู้คน แต่เราเคยกลับมาถามตัวเราหรือไม่ว่าเราเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิด ขึ้นกันแบบไหน

บางคนหงุดหงิดกับอีกคน บางคนไม่พอใจการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มบางพวก แต่บางคนก็สนับสนุน ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ขอแยกแยะวิธีการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จากนั้นลองถามตัวเองว่าเรามองแบบไหน

1. ระดับโครงสร้าง การมองปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วน มาจากโครงสร้างสังคมการเมืองในอดีต จนส่งผลมาถึงปัจจุบัน คนที่อยู่ในกลุ่มนี้มักเป็นคนที่ถูกเรียก(บางครั้งก็เรียกตัวเอง)ว่าปัญญาชน พวกเขาจะมองอะไรๆกว้างขวาง มีหลักการ มีทฤษฎี(ก็มีหลายๆทฤษฎีเถียงกันไม่รู้จบ)..และเขาก็ชอบเถียงกันมากที่สุด เป็นชีวิตจิตใจ

บางคนก็ทำเป็นใจกว้าง ตามสปิริตทาง"วิชาการ" ยอมรับความเห็นที่หลากหลาย แต่ก็ไม่อดทนต่อความเห็นที่แตกต่าง เมื่อเราไปนั่งฟัง ก็มักจะได้ยินคำว่า "ผมคิดว่า.." "ข้อเสนอของคุณน่าสนใจ แต่ผม.."

บางกลุ่มที่มองย้อนกลับไปในอดีต ก็เชื่อว่าปัญหาประชาธิปไตยในปัจจุบันมาจากอำนาจพิเศษ อำนาจนอกระบบ? เพราะว่าประวัติศาสตร์ที่แท้จริงและของจริงนั้น คือประชาชนเท่านั้น ดังนั้นอะไรที่เกี่ยวกับทหารหรืออำนาจที่เห็นว่าเป็นอำนาจนอกระบบ(อะไร?) ล้วนแต่น่ารังเกียจ ดังนั้นทางออกสำหรับคนกลุ่มนี้ก็คือเสนอให้มีการปฏิรูประบบ เปลี่ยนแปลงระบบ และ...ต่อต้าน

พวกนี้จะถูกครอบงำแบบด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีอดีต มีปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคต

แต่บางกลุ่มก็ไม่ได้มองย้อนกลับไปไกลนัก เพราะหาไม่แล้วก็คงต้องย้อนไปถึงกำเนิดสิ่งมีชีวิตนั่นแหละ พวกเขาจะมองเชิงปฏิบัติ หรือ หาวิธีที่เป็นไปได้มากกว่า เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา คนกลุ่มนี้จะมีตั้งแต่ปัญญาชนนักปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักกฎหมาย นิติศาสตร์ รวมถึงบรรดาข้าราชการ เทคโนเครทต่างๆ ซึ่งก็อาจรวมถึงบรรดานักการเมืองด้วย

พวกนี้จะมีน้ำเสียงแบบ อั๊ว..จะทำงานแก้ปัญหาโลกนี้โว๊ย..ไม่ใช่โลกหน้า หรือโลกในอดีต

ทั้งสองพวกต่างก็นั่งถกเถียงกัน นั่งประณามกัน..ไอ้นี่ ไม่ได้เรื่อง..สู้อั๊ว ม่ายร่าย..ดีที่สุด

2. ระดับตัวแสดง เป็นกลุ่มคนที่เข้าไปมีส่วนได้เสียโดยตรง ซึ่งบางคนก็รวมถึงนักการเมืองในกลุ่มแรกหรือปัญญาชนในกลุ่มแรกด้วย แต่เข้าไปเกี่ยวพันโดยตรงกับสถานการณ์ความขัดแย้ง(ทั้งสีเหลือง-สีแดง) มีตั้งแต่ผู้จัดการม็อบ (รวมถึงผู้ช่วยผู้จัดการ เลขานุการ เหรัญญิก พนักงานธรรมดาๆ หรือบางคนก็ผันตัวไปเป็นกองทหารประจำม็อบ)

คนกลุ่มนี้ เขาจะมีวิธีคิด "พวกกู-พวกมึง" เป็นหลักยึด และเขาคิดกันแบบ"จะๆเห็นๆ" เป็นเรื่องทางโลกล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับการพยายามแสวงหาสังคมที่ดีงามเหมือนพวกปัญญาชน วันๆพวกเขาคิดแต่ว่า "เราจะชนะได้อย่างไร" "เราจะได้ประโยชน์อะไร" ส่วนเรื่องสังคมที่ดีนั้นเอาไว้ก่อน..ขอแก้เฉพาะหน้าก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

เป็นวิธีคิดที่ทำอะไรก็ได้ เพื่อให้ชีวิตนี้ดีขึ้นจากเดิม อาจจะได้มาซึ่งลาภ-ยศ-สรรเสริญ คิดด้วยน้ำเสีบง"อั๊ว..อยู่ในโลกแห่งความ เป็นจริงที่แสนโหดร้าย" "คนเราก็ต้องแย่งชิงกันธรรมดา"..."เป็นโลกแห่งการ เอาตัวรอดเป็นยอดดี..โว๊ย.."

คนระดับตัวแสดง เขามักจะโดนด่าว่าชอบ"สร้างภาพ"(ก็มันจำเป็นนี่หว่า) โดยเฉพาะจากคนที่ไม่ชอบขี้หน้า แต่เขาไม่สนใจ ด้วยคติ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ....เขาต้องมีจิตวิญญาณแบบนักฉวยโอกาสตัวยง แต่ถึงอย่างไรเขาก็ชอบแสดงบทบาท เป็นผู้รู้ ผู้เสียสละอยู่ตลอดเวลา

3.ระดับคนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆ อาจเรียกว่าเป็น"ผู้ชม "ก็ไม่ผิดนัก นักการเมืองคนโน้นคนนี้เราก็ชอบอยู่หรอก พรรคการเมืองนี้ก็ช๊อบ..ชอบ แต่ไม่ขอไปยุ่งกับความวุ่นวายก็แล้วกัน เพราะลำพังการทำมาหากินก็ยุ่งตายโหงแล้ว แต่บังเอิญที่คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมเสียด้วย

แต่ไม่น่าเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ทั้งม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดง กลับมาลากเอาชีวิตของผู้คนเข้าไปพัวพันนัวเนียจนวุ่นไปหมด แม้แต่นอนป่วยอยู่โรงพยาบาลก็ไม่วายถูกลากออกมาด้วย

เมื่อมาลากคนส่วนใหญ่เข้าไปยุ่งด้วย เรื่องก็วุ่นนะซิ แทนที่จะเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กฟัดกันเหมือนในอดีต ทีนี้ก็มาลากคนส่วนใหญ่เข้าไปด้วย(พวกปัญญาชนกลุ่มแรกเขาอธิบายว่าเกิดการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม) เรื่องก็ทำท่าไม่จบเอาง่ายๆ เพราะจากการ"กลุ่มคน"แบบทั่วๆไป กลายเป็น"ม็อบบ้าคลั่ง"(ของสารพัดม็อบ)

ที่นี้ก็มาถึงจุดที่ว่าใครชอบใคร ใครอยู่ข้างไหน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะยืนตรงไหน ขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องวิชาชีพ พื้นฐานการศึกษา พื้นฐานครอบครัว บางคนบอกว่าเป็น"ชนชั้น" แต่สรุปก็คือว่าคุณจะยืนอยู่ฝั่งไหน ขึ้นกับคุณเป็นคนระดับไหนในสังคมและมีตำแหน่งอะไร

คนขับแท็กซี่กับนายธนาคาร ย่อมมองปัญหา"ความยุติธรรม"ต่างกัน และเป็นไปได้ยากที่คนทำนา จะมานั่งเล่นอินเตอร์เน็ตหามรุ่งหามค่ำ...มุมมองชีวิต ขึ้นกับคุณเป็นใคร

คนกลุ่มนี้ มีวิธีคิดแบบ"ปฏิบัตินิยม"เสียยิ่งกว่ากลุ่มที่สอง เพราะกลุ่มที่สอง ครอบครองลาภ-ยศ-สรรเสริญ โดยใช้เทคนิคต่างๆแบบ"นายหน้า" แต่คนธรรมดาๆที่ต่อสู้ในชีวิตประจำวัน เป็นนักปฏิบัตินิยมตัวจริงเสียงจริง งานคือสิ่งที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดและเพื่อชีวิตที่ดีกว่า...ชอบประธิปไตย ที่กินได้(แต่อย่าโกงนะโว้ย แต่บางพวกก็บอกว่าโกงไม่เป็นไร แต่แบ่งกูด้วย)

นักการเมืองบางคนบอกว่าคนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย"หลอกง่าย" แต่คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยก็ตระโกนว่า"มึงอย่าวุ่นวายมากนะโว๊ย..เพราะชีวิต ของตูมีระเบียบแบบแผนที่ดี" "ตูทนไม่ไหวแล้วโว๊ย.."

คนกลุ่มนี้ ถ้าบ้าขึ้นมา อะไรก็คุมไม่อยู่ เพราะมีจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างมาก หากใครคิดจะมาชวนคนกลุ่มนี้ทำอะไร

โธ่..ม็อบที่อุตส่าห์ปั้นมากับมือ เมื่อเกิดอารมณ์ฮึกเฮิมขึ้นมา บอกมันก็ไม่ฟัง

โดยสรุป การมองโลกทางการเมือง สถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้น มันขึ้นกับว่าเรายืนอยู่จุดไหน ดังนั้นเมื่อมีคนออกมาพูด ออกมาโวยวาย ก็อย่าไปถือสาหาความมาก แต่พึงกลับมาคิดว่าความเห็นที่เราได้ยินกันแทบทุกวันมันมีฐานมาจากวิถีชีวิต ของแต่ละคน

ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบความเห็นของแต่ละฝ่าย ก็ควรยิ้มรับกันไว้ หากเรายังต้องการเหมือนที่ปากพูดว่า"ประชาธิปไตย" นั้น..สุดยอดแห่งระบอบการปกครองที่มนุษย์เคยคิดค้นกันมา

ไชโย..

หมายเหตุ : ข้อเขียนชิ้นนี้ประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับคิด(เล่นๆ) ในท่ามกลางความสับสนของ"ไอเดีย" ในขณะที่ความเป็นจริงย่อมมีความซับซ้อนกว่านี้มากๆ

view