สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดพิมพ์เขียวปรองดองตั้งสมัชชาปฏิรูปผ่าทางตัน

จาก โพสต์ทูเดย์

ระหว่างกระบวนการปฏิรูปจะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีโอกาสแสดงความ คิดเห็นนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะมีช่องทางให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดในทุกมิติ

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ในบรรดาคณะทำงานที่คลุกวงในร่วมกันร่างพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตามกระบวนการปรองดองแห่งชาติ เพื่อผ่าทางตันปัญหาทางการเมือง ที่นายกรัฐมนตรีเสนอทางออกวิกฤตการเมือง 5 ข้อต่อกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณราชประสงค์ เขาผู้นั้นคือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

นายอภิรักษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน แนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น คือ 1.ไม่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง

2.ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมที่สะสมมานาน ซึ่งทางรัฐบาลได้กำหนดแนวทางอย่างชัดเจนที่จะดึงพลังทางสังคมเข้ามาร่วมการ ปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่บรรดานักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคมได้นำ เสนอแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

3.การปฏิรูปสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากการใช้สื่อมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะฉะนั้นการสร้างประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เข้ม แข็ง ต้องมีกลไกที่จะสร้างความมั่นใจว่าในสังคมไทยจะมีสื่อที่มีเสรีภาพและมีความ รับผิดชอบ เพราะในยุคสมัยใหม่สื่อมีบทบาทอย่างมากในการให้ข้อมูลข่าวสารหรือการสร้าง ความเข้าใจ

4.การตั้งคณะกรรมการอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุปะทะกันระหว่าง กลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมและสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ 5.กระบวนการปฏิรูปการเมืองให้เป็นที่ยอมรับก่อนจะคืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางออกให้กับประเทศ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันเป็นพลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าว ข้ามจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ดีขึ้นและก้าวไปข้างหน้า คือ การสร้างเป้าหมายร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอแผนปรองดองแห่งชาติที่นายก รัฐมนตรีนำเสนอ ที่ต้องการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและวางความฝันร่วมกัน คือ อยากเห็นสังคมไทยร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการด้านการศึกษาและสุขภาพ แม้แต่ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ หรือคนยากคนจนในชนบท

สำหรับการปฏิรูปสื่อจะต้องผลักดันให้สื่อมวลชนด้วยกันเองร่วมกันเป็นเจ้า ภาพหลัก โดยเฉพาะสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญทั้งในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ หรือเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมจรรยาบรรณสื่อด้วยกัน

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของการตั้งสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยคือ การดึงพลังจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการทำงานอย่างบูรณาการ 2 ระดับ กล่าวคือการบูรณาการระดับประเทศ คือ การวางกรอบการปฏิรูปประเทศไทย เช่น การปฏิรูปโครงสร้างให้มีความเท่าเทียม โดยเฉพาะการสร้างระบบสวัสดิการสังคมให้มีความเข้มแข็ง ด้านการศึกษา สุขภาพ ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส ที่อยู่อาศัย การส่งเสริมอาชีพ ซึ่งแต่ละภาคส่วนต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยมีส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย ทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่ภาคเอกชน

นอกเหนือจากการปฏิรูปประเทศไทยในเชิงนโยบายแล้ว จะมีการทำงานบูรณาการในระดับพื้นที่ จังหวัดและชุมชนด้วยเพื่อร่วมกันสะท้อนปัญหา เช่น ปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภัยแล้ง แหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน ปัญหาราคาพืชผล ระบบขนส่ง หรือปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนในภาคอื่นๆ ที่อยู่ในชนบทห่างไกล

อีกทั้งระหว่างกระบวนการปฏิรูปจะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีโอกาสแสดงความ คิดเห็นนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะมีช่องทางให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดในทุกมิติ ซึ่งถือเป็นการร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ทางสังคมในการแก้ไขปัญหาเดิมๆ

ดังนั้นช่องทางที่จะเปิดรับแนวความคิดนอกจากช่องทางการสื่อสารที่รัฐบาล มีอยู่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ตู้ ปณ.1111 สายด่วน หรือสื่อมวลชนทั่วไปที่สามารถเข้ามาร่วมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เช่น หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเข้ามาร่วมกันเปิดเวทีรับ ฟังความเห็นได้เช่นกัน

สำหรับกระบวนการในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย จะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการดึงองค์กรที่ดูแลและผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เข้ามาเป็นฝ่ายเลขานุการ และทางรัฐบาลจะดึงเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงาน เช่น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ตัวแทนของภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีเครือข่ายผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือเทศบาลต่างๆ

สำหรับโครงสร้างสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมกับดึงตัวแทนจากทุกองค์กรและทุกภาคส่วนร่วมเป็นกรรมการ เช่น ตัวแทนราชการ ตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยจะมีฝ่ายเลขานุการเข้ามาบริหารจัดการกรอบการปฏิรูปให้ออกมาเป็นกระบวนการ ที่ชัดเจนต่อไป

2.เครือข่ายใหญ่ในรูปแบบสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยจะเป็นกระบวนการที่เปิดให้ ทุกภาคส่วนเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยจะให้มีตัวแทนครอบคลุมทุกอาชีพ พื้นที่ และประเด็นปัญหาที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย หรือสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยจะเป็นกลไกในการทำงานภายใต้กรอบระยะเวลาที่ทาง รัฐบาลประกาศไว้

“วันนี้ต้องมองอนาคตเพื่อนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นว่าคนทุกภาคส่วน ได้สะท้อนปัญหาของตัวเองได้อย่างแท้จริง ที่เชื่อว่าเป็นปัญหาที่สะสมมานาน เช่น ความไม่เป็นธรรม หรือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงจนนำไปสู่ความรุนแรงในระยะเวลาหลายปีที่ ผ่านมาน่าจะได้รับคลี่คลายลงไปได้” นายอภิรักษ์ กล่าว

สำหรับกรอบเวลาที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ คือ จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค.นี้ โดยนายกรัฐมนตรีจะรับฟังข้อเสนอแนะจากตัวแทนต่างๆ พร้อมกับวางเป้าหมายการจัดสมัชชาการปฏิรูปประเทศไทยไว้ในวันที่ 20 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ข้อเสนอต่างๆ ที่ได้จากการจัดสมัชชาการปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องต่างๆ จะนำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่จะนำมาใช้ในปี 2555 ถือเป็นการวางกรอบการทำงานและแก้ไขปัญหาประเทศชาติในระยะยาว ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลชุดใดเข้ามาต้องดำเนินการตามกรอบนี้

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นไปด้วยดี ซึ่งเป้าหมายในการทำงานได้มองในภาพใหญ่ แม้ว่าสังคมจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่อยากให้มองในมุมบวกด้วยการนำความคิดที่แตกต่างกันมาสร้างความปรองดองแห่ง ชาติ หรือการสร้างเป้าหมายร่วมกัน


ปชป.ตัวชี้ขาดโรดแมปปรองดอง

จาก โพสต์ทูเดย์

ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่า “โรดแมป” นี้จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่จึงอาจขึ้นอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เองว่า พร้อมจะเดินตามเส้นทางที่ “อภิสิทธิ์” เลือกแล้วหรือไม่

โดย...ทีมข่าวการเมือง

กระแสตอบรับโรดแมป 5 ข้อของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่นำเสนอแผนฝ่าทางตัน เหมือนจะเริ่มเดินหน้าสะสางปมปัญหาชนวนวิกฤตต่างๆ ก่อนจะยุบสภา และนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่วันที่ 14 พ.ย. ได้ไม่ยากเย็น

ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ออกมาส่งเสียงหนุนในหลักการเบื้องต้น หรือประชาชนทั่วไปที่จากผลสำรวจล่าสุดจากเอแบคเรียลไทม์โพลล์ ยืนยันว่า กลุ่มตัวอย่าง 60.5% เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และ 55.6% เห็นด้วยกับวันเลือกตั้งที่กำหนด

แม้แต่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยังขึ้นเวทีประกาศมติเห็นด้วยกับ “ทางลง” ที่รัฐบาลหยิบยื่นมาให้ ขอแต่ให้นายกฯ ระบุให้ชัดเจนในกรอบเวลายุบสภาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งทางเสื้อแดงก็พร้อมจะสลายการชุมนุม

ทว่าสิ่งที่ยังเป็นห่วงว่าจะฉุดให้กระบวนการหาทางออกให้ประเทศเที่ยวนี้ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน คืออาการ “เสียงแตก” ภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง ถึงขั้นแกนนำ นปช. ออกมาจี้ให้พรรคประชาธิปัตย์ไปตกลงกันให้ได้เสียก่อน

โดยเฉพาะท่าทีไม่เห็นด้วยจาก “ชวน หลีกภัย” ครูใหญ่ ใต้ชายคาพระแม่ธรณี ที่ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการ “ยุบสภา” เพราะรัฐบาลยังสามารถบริหารงานได้เป็นอย่างดี จึงเป็นสิทธิที่รัฐบาลจะอยู่จนถึงปีหน้า เรื่องนี้มีทางให้เดินเยอะแยะ ปัญหาว่าจะเดินไปทางไหนเท่านั้น

“อำนาจการตัดสินใจยุบสภาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนายกฯ แต่จะต้องขึ้นกับดุลยพินิจด้วย ไม่ใช่การถูกบังคับหรือมีใครมาสั่งให้ยุบสภา ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด เพียงแต่การประกาศครั้งล่าสุดยังไม่ได้พูดคุยกันเท่านั้น” นายชวน ตอกย้ำ

สอดรับกับความคิดเห็นภายในประชาธิปัตย์เอง ที่ยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจ “ยุบสภา” ภายใต้แรงกดดัน และอาจส่งผลเสียตามมาต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้อำนาจยุบสภาจะอยู่ในมือนายกฯ แล้วก็ตาม แต่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมพรรค” หรือการสร้างความมั่นใจสำหรับการตัดสินใจเรื่องสำคัญ พรรคประชาธิปัตย์มักจะนำประเด็นเข้าไปถกเถียงกันในพรรคและใช้เสียงในที่ ประชุม “การันตี” ความชอบธรรมต่อการตัดสินใจนั้นๆ

เห็นได้จากประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมพรรคครั้งนั้นมีมติ 82 ต่อ 48 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เห็นสอดรับกับกรรมการบริหารพรรคที่จะไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามความต้องการของพรรคร่วมรัฐบาลที่ส่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้จัดการรัฐบาลมาล็อบบี้ด้วยตัวเอง

แต่สุดท้ายกลับพ่ายแพ้ “กำลังภายใน” ของ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผนึกกำลังอ้าง “หลักการ” ยืนยัน “จุดยืน” ไม่หวั่นไหวไปกับเสียงขู่ จากพรรคร่วมรัฐบาลที่พร้อมจะถอนตัวหากไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ยิ่งในเที่ยวนี้ “อภิสิทธิ์” ยืนอยู่คนละฝั่งกับ “ชวน” จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สำหรับการหว่านล้อม สส. บางส่วน ที่ยังไม่เห็นด้วยกับการ “ยอมแพ้” เลือกเส้นทาง “ยุบสภา” ตามแรงบีบของกลุ่มเสื้อแดง แทนการใช้อำนาจรัฐที่มีในมือดำเนินการตามกรอบกฎหมายยิ่งในวันที่รัฐบาลกำลัง เป็นต่อ

ทว่าย้อนดูข้อดีข้อเสีย การเลือกทางเดินนี้ของ “อภิสิทธิ์” อาจจะเป็นทางเลือกที่ประเมินแล้วว่าดีที่สุดหากมองว่าการอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยมี “เสื้อแดง” ปักหลักชุมนุมกดดันนับวันจะลดคะแนนนิยมรัฐบาลและประชาธิปัตย์กับการไร้น้ำยา จัดการม็อบ

หรืออีกทางหนึ่ง หากเลือกใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ชุมนุม จนเกิดการสูญเสีย “ซ้ำสอง” หรือ การปล่อยให้เหตุระเบิดรายวันซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาบั่นทอนความน่าเชื่อถือรัฐบาล นานวันยิ่งมีแต่จะทำให้รัฐบาลเสียหายหนักขึ้น

การหาทางออกแบบละมุนละม่อม ด้วยเหตุผลสำคัญเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นทางออกที่ลงตัว แม้จะต้องยอมแลกด้วยเวลาอีก 1 ปีที่สามารถใช้สิทธิเป็นรัฐบาลอยู่ต่อได้ แต่อาจจะเป็น 1 ปีที่สภาพทุลักทุเลกว่านี้

ยิ่งดูรายละเอียดกรอบเวลาเลือกตั้งที่กำหนดไว้ 14 พ.ย. ตามเงื่อนเวลากฎหมาย รัฐบาลจะต้องยุบสภาประมาณ 15 ก.ย. ถึงช่วงปลายเดือน นั่นแตกต่างแค่เล็กน้อยจากกรอบ 9 เดือนที่นายกฯ เคยเสนอไว้เป็นตุ๊กตาเมื่อครั้งเปิดโต๊ะเจรจากับเสื้อแดงก่อนจะหาทางออกร่วม กันไม่ได้

และยังอยู่บนพื้นฐานที่รัฐบาลจะมีเวลาจัดทำงบประมาณปี 2554 สามารถสร้างผลงานได้อีกช่วง โดยเฉพาะในแผนต่อเนื่องให้สอดรับกับโครงการไทยเข้มแข็งที่เดินไว้แล้ว รวมไปถึงการจัดวางโผโยกย้ายข้าราชการให้สอดรับกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

แถมนายกฯ ยังระบุไว้ในข้อ 5 แผนปรองดองฯ จะเปิดให้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาแก้ปัญหาเรื่องกติกาการเมือง นั่นเท่ากับ นอกจากเปิดช่องให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งไม่เกี่ยวกับคดีอาญา และอาจเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปัตย์ที่ยังมีคดียุบพรรคอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ข้อเสียจากการเลือกเส้นทางนี้อาจกระทบต่อจุดยืนและท่าทีที่ประชา ธิปัตย์มีมาก่อนหน้านี้ ว่าไม่สนใจกับแรงบีบของเสื้อแดง ทั้งที่รัฐบาลได้วางแผนเตรียมดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุม และดึงให้ดีเอสไอเข้ามาเป็นหัวหอกดำเนินการกับทั้งเครือข่ายผู้ก่อการร้าย และจ้องล้มสถาบัน

ที่สำคัญ ท่าทีที่ปล่อยให้ “เสื้อแดง” ออกมาชุมนุมโดยที่รัฐบาลไม่ยอมดำเนินการขั้นเด็ดขาด ตามเสียงเรียกร้องจากบรรดากองเชียร์รัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงยิ่ง เป็นประชาชนในพื้นที่ สส.ประชาธิปัตย์ด้วยแล้ว และสุดท้ายถึงขั้นยุบสภา นั่นย่อมกระทบต่อเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่า “โรดแมป” นี้จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่จึงอาจขึ้นอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เองว่า พร้อมจะเดินตามเส้นทางที่ “อภิสิทธิ์” เลือกแล้วหรือไม่ ไม่ใช่คู่ขัดแย้งอย่าง “เสื้อแดง” ที่พร้อมจะรับข้อเสนอเดินตามทางลงที่หยิบยื่นมาให้

มิหนำซ้ำยังอาจป่าวประกาศได้ว่าเป็น “ชัยชนะ” ของเสื้อแดงที่ทำให้รัฐบาลต้องยุบสภาก่อนหมดวาระ

view